สังคมศาสตร์ รัฐศาสตร์ การเมือง เศรษฐศาสตร์ >>

กฎหมายมหาชน

วิวัฒนาการระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตย

1. การปกครองแบบประชาธิปไตยสมัยเริ่มแรกนั้น เกิดในนครรัฐเอเธนส์ของกรีกโบราณ เมื่อประมาณ 500 ปีก่อนคริสตกาล เป็นการปกครองแบบประชาธิปไตยโดยตรง กล่าวคือ ประชาชนชาวเอเธนส์ทั้งหมดเป็นผู้ใช้อำนาจในการปกครองโดยตรง ด้วยการประชุมร่วมกัน

2. หลังจากที่ประชาธิปไตยโดยตรงได้ล่มสลายไปจากนครเอเธนส์ การปกครองแบบประชาธิปไตยหยุดชะงักไปนับพันปี จึงได้เริ่มก่อรูปขึ้นในยุโรป โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศอังกฤษ

3. วิวัฒนาการของการปกครองระบอบประชาธิปไตยในประเทศอังกฤษ สืบเนื่องมาจาก

  1. สภาพสังคมผู้ปกครองในอังกฤษเวลานั้น เป็นสังคมศักดินา บรรดาขุนนางเจ้าที่ดินมีหน้าที่รับใช้กษัตริย์ และเป็นผู้มีอภิสิทธิ์ในทางการเมือง
  2. ในคริสต์ศตวรรษที่ 16 อังกฤษส่งแกะเป็นสินค้าออกประมาณปีละ 8 ล้านตัว ด้วยเหตุนี้ บรรดาขุนนางเจ้าที่ดินต่างหันมาเลี้ยงแกะในที่ดินของตน และได้ประกอบธุรกิจร่วมกับพ่อค้าและนายหน้าตัวแทน ซึ่งเป็นชนชั้นกลาง จนในที่สุดกลายเป็นพวกเดียวกัน
  3. ทัศนคติแบบศักดินาของบรรดาขุนนางเจ้าที่ดินทั้งหลายเริ่มเปลี่ยนไปเป็นทัศนคติแบบนายทุน ที่ดินกลายเป็นทุนในการผลิตและเป็นแหล่งที่มาของรายได้
  4. ชนชั้นกลางจึงมีบทบาทและอำนาจในรัฐสภาเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากมีบรรดาขุนนางเจ้าที่ดินเป็นพวกด้วย รัฐสภาได้เปลี่ยนแปลงบทบาทไปเป็นเครื่องถ่วงดุลอำนาจกษัตริย์มากขึ้น จนเกิดระบบการปกครองที่เรียกว่า “ระบบกษัตริย์มีอำนาจจำกัด” กล่าวคือ

    - กษัตริย์ยังคงเป็นประมุขของประเทศ และเป็นหัวหน้ารัฐบาล
    - กษัตริย์ต้องยอมรับอำนาจอิสระของผู้พิพากษาและของรัฐสภา
  5. ปี ค.ศ.1647 พระเจ้าชาร์ลที่ 1 ถูกดำเนินคดีและถูกประหารชีวิต รัฐสภามีวิวัฒนาการไปอีกรูปแบบหนึ่ง โดยเปลี่ยนรูปแบบการปกครองจากกษัตริย์มีอำนาจจำกัด ไปเป็นระบบรัฐบาลแบบรัฐสภา กล่าวคือ มีองค์กรที่เรียกว่า “คณะรัฐมนตรี” ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นหัวหน้ารัฐบาลบริหารประเทศ
  6. ต้นคริสต์ศตวรรษที่ 18 กษัตริย์ยอมสละอำนาจในการลงนามในกฎหมายที่รัฐสภาเสนอ และนับแต่นั้นมา รัฐสภามีอำนาจเต็มที่ในการบัญญัติกฎหมาย ส่งผลให้ในเวลาต่อมา ประเทศอังกฤษมีการปกครองในระบอบประชาธิปไตย
  7. ภายหลังการปฏิวัติใหญ่ในสหรัฐอเมริกาและฝรั่งเศส การปกครองในระบอบดังกล่าวจึงแพร่หลายไปทั่วในประเทศยุโรปตะวันตก

ความหมายของระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตย

1. ระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตย ตามความเห็นของ ดร.กมล สมวิเชียร หมายถึงการปกครองที่มีหลักเกณฑ์ขั้นต่ำ 3 ประการ คือ

  1. ผู้ปกครองจะต้องได้รับความยินยอมจากผู้ใต้ปกครอง
  2. ผู้ใต้ปกครองจะต้องมีสิทธิเปลี่ยนตัวผู้ปกครองได้เป็นครั้งคราว
  3. สิทธิมนุษยชนขั้นมูลฐานของประชาชนจะต้องได้รับการปกป้องคุ้มครอง

2. แนวความคิดประชาธิปไตย ซึ่งก่อให้เกิดรูปแบบและวิธีการปกครอง ตามความเห็นของ ดร.ชัยอนันต์ คือ

  1. มนุษย์มีความสามารถ มีสติปัญญา รู้จักใช้เหตุผล ทำให้เกิดรูปแบบและวิธีการปกครองที่ใช้หลักการประชุมปรึกษาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างกัน
  2. ความเป็นอิสระและเสรีภาพของมนุษย์ ทำให้เกิดรูปแบบและวิธีการปกครองที่มีการวางขอบเขตอำนาจและหน้าที่
  3. ความเท่าเทียมกันของคนก่อให้เกิดการคุ้มครองทางกฎหมายแก่บุคคลอย่างเท่าเทียมกันโดยไม่มีการเลือกปฏิบัติ
  4. อำนาจอันชอบธรรมทางการปกครอง เกิดจากการให้ความยินยอมของประชาชน
  5. อำนาจอธิปไตยมาจากปวงชน
  6. สิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นเป็นสิ่งสำคัญ

3. โดยสรุป หลักเกณฑ์ใหญ่ๆ ของระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตย คือ

  1. เป็นระบอบการปกครองที่ประชาชนเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย
  2. เป็นระบอบการปกครองที่ประชาชนมีสิทธิเสรีภาพ

องค์ประกอบของระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตย

1. องค์ประกอบของระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตย ได้แก่

  1. การเลือกตั้ง
  2. หลักการแบ่งแยกอำนาจ
  3. หลักการว่าด้วยความถูกต้องแห่งกฎหมาย

2. ฌอง ฌาคส์ รุสโซ นักคิดทางการเมืองคนสำคัญได้อธิบายในหนังสือ “สัญญาประชาคม” ไว้ว่า อำนาจอธิปไตยหรืออำนาจสูงสุดในการปกครองประเทศเป็นของประชาชาติ และมีอยู่ในมนุษย์ทุกคน

3. หลังการปฏิวัติใหญ่ในฝรั่งเศสเมื่อปี ค.ศ.1789 แนวความคิดที่ว่าอำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชน ได้แพร่หลายไปในประเทศต่างๆ จนเป็นที่ยอมรับกันว่า อำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชน

4. ในทางปฏิบัตินั้น ประชาชนเจ้าของอำนาจอธิปไตยไม่สามารถใช้อำนาจของตนได้อย่างทั่วถึง ประชาชนจึงมอบอำนาจให้แก่บุคคลกลุ่มหนึ่งเพื่อทำหน้าที่ปกครองในประเทศแทนประชาชน การมอบอำนาจดังกล่าวเรียกว่า “การเลือกตั้งผู้แทนราษฎร” ซึ่งถือเป็นองค์ประกอบสำคัญของการปกครองแบบประชาธิปไตย

5. การเลือกตั้งตามระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตย จะต้องมีหลักเกณฑ์ดังนี้

  1. การเลือกตั้งต้องกระทำโดยเสรี ไม่มีการบังคับหรือจ้างวานหรือใช้อิทธิพลใดๆ
  2. การเลือกตั้งต้องมีการกำหนดสมัยเลือกตั้งไว้แน่นอนชัดเจ
  3. การจัดการเลือกตั้งต้องบริสุทธิ์ยุติธรร
  4. การออกเสียงเลือกตั้งต้องให้ประชาชนมีโอกาสใช้สิทธิเลือกตั้งอย่างแท้จริง ไม่มีข้อจำกัดกีดกัน
  5. แต่ละคนมีคะแนนเสียงเพียงเสียงเดียว และทุกคะแนนเสียงย่อมมีน้ำหนักเท่ากัน
  6. การลงคะแนนเสียงต้องไม่มีการใช้อิทธิพลบังคับ ข่มขู่ หรือให้สินจ้างรางวัล

6. ระบบการเลือกตั้งผู้แทนราษฎร แบ่งออกเป็น 3 รูปแบบ คือ

  1. การเลือกตั้งโดยทางตรงและทางอ้อม
  2. การเลือกตั้งแบบแบ่งเขตและแบบรวมเขต
  3. การเลือกตั้งตามเสียงข้างมากและแบบสัดส่วน

7. ประเทศไทยเคยมีการเลือกตั้งแล้ว 2 รูปแบบ คือ การเลือกตั้งโดยทางตรงและทางอ้อม และการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตและแบบรวมเขต

8. การแบ่งแยกอำนาจ มีจุดมุ่งหมายสำคัญคือ ป้องกันมิให้มีการใช้อำนาจซึ่งเป็นอธิปไตยของชาติตกไปอยู่กับองค์กรใดองค์กรหนึ่ง ไม่ว่าโดยตรงหรือโดยอ้อม

9. มองเตสกิเออ นักคิดทางการเมืองคนสำคัญชาวฝรั่งเศสได้อธิบายในหนังสือ “เจตนารมณ์ของกฎหมาย” ไว้เกี่ยวกับการแบ่งแยกอำนาจอธิปไตยออกเป็น 3 อำนาจ คือ อำนาจนิติบัญญัติ อำนาจที่จะปฏิบัติกิจการต่างๆ ซึ่งขึ้นอยู่กับกฎหมายมหาชน และอำนาจที่จะปฏิบัติกิจการต่างๆ ซึ่งขึ้นอยู่กับกฎหมายเอกชน

10. มองเตสกิเออ ได้แสดงความเห็นไว้ว่า “องค์กรที่มีอำนาจหน้าที่ทั้ง 3 องค์การ ต้องแยกจากกันและเป็นอิสระไม่ขึ้นแก่กัน เสรีภาพของประชาชนจะมีไม่ได้หรือมีเป็นส่วนน้อย ถ้าหากอำนาจเหล่านี้ไปรวมอยู่องค์กรใดองค์กรหนึ่ง”

11. ความเห็นของมองเตสกิเออ มีอิทธิพลต่อระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยของประเทศสหรัฐอเมริกา และถือเป็นหลักในการจำแนกระบบการปกครองของประเทศต่างๆ ว่าเป็นระบบประธานาธิบดี หรือระบบรัฐสภา

12. หลักการแบ่งแยกอำนาจ มีข้อพิจารณาดังนี้

  • เป็นการจัดระเบียบอำนาจในลักษณะที่ไม่ให้มีการรวมการปฏิบัติหน้าที่ของรัฐ
  • ไม่จำเป็นเสมอไปที่ต้องให้องค์กรผู้ใช้อำนาจทั้งสามอำนาจมีความเท่าเทียมกัน
  • ไม่จำเป็นต้องแบ่งแยกอำนาจจากกันโดยเด็ดขาด โดยเฉพาะอำนาจนิติบัญญัติและอำนาจบริหาร

13. การที่รัฐสภาจะถ่วงดุลอำนาจรัฐบาลได้อย่างมีประสิทธิภาพได้นั้น จำเป็นที่รัฐสภาต้องมีความเป็นอิสระในการปฏิบัติหน้าที่ ดังนี้

  1. ความเป็นอิสระของสมาชิกรัฐสภา ซึ่งมีองค์ประกอบในการพิจารณา คือ

    - การเข้าสู่ตำแหน่งของสมาชิกรัฐสภาที่มาจากการเลือกตั้ง
    - สถานส่วนตัวของสมาชิกรัฐสภา ต้องได้รับเอกสิทธิ์คุ้มครองจากการปฏิบัติหน้าที่
  2. ความเป็นอิสระในการดำเนินงานของรัฐสภา

    - สมัยประชุมของรัฐสภา ต้องมีการกำหนดสมัยประชุมไว้แน่นอน
    - องค์กรภายในของรัฐสภา มีการจัดตั้งคณะกรรมาธิการชุดต่างๆ เพื่อพิจารณาร่างกฎหมาย หรือตรวจสอบการดำเนินงานของฝ่ายบริหาร
    - อำนาจของรัฐสภา ซึ่งต้องมีอย่างน้อย 3 ประการคือ

    * อำนาจในการจำกัดขอบเขตการปฏิบัติหน้าที่ของฝ่ายบริหาร
    * อำนาจในการควบคุมฝ่ายบริหาร
    * อำนาจในการเรียกร้องและคัดค้านการปฏิบัติหน้าที่ของฝ่ายบริหาร

14. หลักการที่ว่าด้วยความถูกต้องตามกฎหมาย มีความหมาย 2 ประการ ดังนี้

  1. ผู้มีอำนาจปกครอง ซึ่งหมายถึงฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติ จะใช้อำนาจปกครองตามอำเภอใจไม่ได้ การใช้อำนาจปกครองจะต้องสอดคล้องถูกต้องตามกฎหมายทั้งหลายที่ใช้บังคับอยู่
  2. รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายที่มีลำดับศักดิ์สูงสุด กฎมายที่มีลำดับศักดิ์รองลงมาจะมีบทบัญญัติขัดแย้งกับรัฐธรรมนูญไม่ได้

รูปแบบของรัฐบาลในระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตย

1. รัฐบาลในระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตย แบ่งออกเป็น 3 ระบอบ คือ

  1. ระบบการปกครองแบบรัฐสภา
  2. ระบบการปกครองแบบประธานาธิบดี
  3. ระบบการปกครองแบบกึ่งประธานาธิบดี

2. ระบบการปกครองแบบรัฐสภา มีข้อพิจารณาดังนี้

  1. เป็นระบบการปกครองที่อำนาจขององค์กรฝ่ายบริหารและองค์กรฝ่ายนิติบัญญัติเท่าเทียมกัน
  2. ทั้งสองฝ่ายต่างควบคุมซึ่งกันและกัน
  3. มีการประสานงานกันในการดำเนินการต่อกัน
  4. ฝ่ายบริหารมีส่วนในการเสนอร่างกฎหมาย

3. ฝ่ายบริหารตามระบบการปกครองแบบรัฐสภา แบ่งออกเป็น 2 องค์กร คือ

  1. องค์กรประมุขของรัฐ

    - เป็นกษัตริย์ที่สืบทอดราชวงศ์ต่อๆ กันมา หรือประธานาธิบดีซึ่งมาจาการเลือกตั้งทางอ้อม
    - ประมุขของรัฐมีฐานะหรือบทบาทในทางพิธีการเท่านั้น
  2. องค์กรคณะรัฐมนตรี หรือรัฐบาล

    - มีนายกรัฐมนตรีเป็นหัวหน้ารัฐบาล หรือหัวหน้าฝ่ายบริหาร
    - คณะรัฐมนตรีต้องรับผิดชอบทางการเมืองต่อรัฐสภาร่วมกัน
    - รัฐสภาสามารถลงมติไม่ไว้วางในรัฐบาล ในขณะที่นายกรัฐมนตรีมีอำนาจยุบสภา

4. การจัดตั้งรัฐบาล หรือคณะรัฐมนตรี มีวิธีการ 2 วิธี คือ

  1. วิธีการแรก สภามีส่วนร่วมในการจัดตั้งรัฐบาล

    - เป็นวิธีการที่ใช้กันแพร่หลาย โดยรัฐสภามีส่วนร่วมในการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีก่อน
    - นายกรัฐมนตรีเป็นผู้เลือกบุคคลมาร่วมเป็นคณะรัฐมนตรี
    - ต้องแถลงนโยบายต่อรัฐสภาก่อนเข้าบริหารงานเพื่อขอมติไว้วางใจ
  2. วิธีที่สอง สภาไม่มีส่วนร่วมในการจัดตั้งรัฐบาล

    - เป็นวิธีการที่ใช้กันแพร่หลายในประเทศแถบสแกนดิเนเวีย
    - การตั้งรัฐบาลไม่จำเป็นต้องได้รับความไว้วางใจจากรัฐสภา
  3. ระบบการปกครองแบบประธานาธิบดี มีข้อพิจารณาดังนี้
    - เป็นระบบการปกครองที่ประธานาธิบดี เป็นทั้งประมุขของรัฐและหัวหน้ารัฐบาล
    - รัฐมนตรีที่ประธานาธิบดีแต่งตั้งมีฐานะเพียงที่ปรึกษาของประธานาธิบดีในการบริหารบ้านเมือง
    - รัฐมนตรีรับผิดชอบต่อประธานาธิบดีแต่ผู้เดียว
    - ฝ่ายบริหาร (ประธานาธิบดี) และรัฐสภา ต่างทำหน้าที่เป็นอิสระต่อกันและกัน
    - ฝ่ายบริหารไม่มีอำนาจเสนอร่างกฎหมายต่อรัฐสภาโดยตรง แต่สามารถใช้วิธีการทางอ้อมได้ โดยวิธี สำคัญ คือ “สุนทราพจน์ของประธานาธิบดีที่กล่าวต่อรัฐสภา” (State of Union)

6. “The Impeachment” เป็นวิธีการคานดุลอำนาจระหว่างรัฐสภาและประธานาธิบดี ในระบบการปกครองแบบประธานาธิบดี เนื่องจากเป็นรูปแบบการปกครองที่แบ่งแยกอำนาจกันอย่างเด็ดขาด ซึ่งในทางปฏิบัตินั้น ประธานาธิบดีมีอำนาจยับยั้งกฎหมายที่ผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภาแล้ว แต่รัฐสภาก็มีอำนาจดำเนินคดีกับประธานาธิบดีด้วยวิธีการนี้

7. ระบบการปกครองแบบกึ่งประธานาธิบดี มีข้อพิจารณาดังนี้

  1. เป็นระบบการปกครองที่ใกล้เคียงกับระบบการปกครองแบบรัฐสภามากกว่า
  2. รัฐสภาสามารถถอดถอนหัวหน้ารัฐบาลและคณะรัฐบาล ในขณะที่ฝ่ายบริหารมีอำนาจยุบสภา
  3. ฝ่ายบริหารแบ่งออกเป็น 2 องค์กร คือ องค์กรประธานาธิบดี และองค์กรคณะรัฐมนตรี โดยองค์กร คณะรัฐมนตรีต้องรับผิดชอบทางการเมืองต่อรัฐสภา
  4. ประธานาธิบดีมาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน
  5. ตัวอย่างประเทศที่มีระบบการปกครองแบบนี้คือ ฝรั่งเศส ออสเตรีย ฟินแลนด์ ปอร์ตุเกส ไอร์แลนด์ และไอซ์แลนด์

» กำเนิดแนวความคิดกฎหมายมหาชน

» พัฒนาการของกฎหมายมหาชนในประเทศภาคพื้นยุโรป

» พัฒนาการของกฎหมายมหาชนในประเทศคอมมอนลอว์

» พัฒนาการของกฎหมายมหาชนในประเทศไทย

» ความหมายของกฎหมายมหาชน

» ประเภทของกฎหมายมหาชน

» บ่อเกิดของกฎหมายมหาชน

» บทบาทของนักปรัชญาในการพัฒนากฎหมายมหาชน

» นักปรัชญาสมัยกรีก

» นักปรัชญาสมัยโรมัน

» นักปรัชญาสมัยฟื้นฟูศิลปวิทยา

» นักปรัชญาหลังสมัยฟื้นฟูศิลปวิทยา

» วิวัฒนาการแนวความคิดเรื่องกำเนิดของรัฐ

» องค์ประกอบของรัฐ

» ปรัชญาว่าด้วยอำนาจอธิปไตย

» ประวัติของรัฐธรรมนูญ

» อำนาจการจัดให้มีรัฐธรรมนูญ

» รัฐธรรมนูญไทย

» การแก้ไขและยกเลิกรัฐธรรมนูญ

» โครงร่างของรัฐธรรมนูญ

» รูปของรัฐและรูปแบบของประมุขของรัฐ

» วิวัฒนาการระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตย

» ระบอบการปกครองแบบเผด็จการ

» แนวความคิดเกี่ยวกับองค์กรนิติบัญญัติในระบอบประชาธิปไตย

» ลักษณะของรัฐสภา

» การเลือกตั้ง

» พรรคการเมือง

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย