ศาสนา ลัทธิ ความเชื่อ นิกาย พิธีกรรม
» พระสูตร
พระไตรปิฎกฉบับประชาชน
เล่มที่ ๙
ชื่อทีฆนิกาย สีลขันธวัคค์
๙ . โปฏฐปาทสูตร สูตรว่าด้วยการโต้ตอบกับโปฏฐปาทปริพพาชก
พระผู้มีพระภาคประทับ ณ เชตวนาราม ใกล้กรุงสาวัตถี. เช้าวันหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเสด็จสู่กรุงสาวัตถีเพื่อบิณฑบาต ทรงเห็นว่า ยังเช้านัก จึงเสด็จและไปที่มัลลการาม อันเป็นที่อยู่ของโปฏฐปาทปริพพาชก พร้อมด้วยบริษัทปริพพาชกประมาณ ๓,๐๐๐ คน โปฏฐปาทปริพพาชกได้กล่าวต้อนรับและนิมนต์ให้นั่งบนอาสนะ ตนเองนั่งเหนืออาสนะที่ต่ำกว่า.
ครั้นแล้วโปฏฐปาทปริพพาชกได้ตั้งคำถามเกี่ยวกับอภิสัญญานิโรธ ( การดับความจำได้หมายรู้อันยิ่งใหญ่) โปรดดูในข้อความน่ารู้จากไตรปิฎก หมายเลข ๒๐๐ ประกอบด้วย) ซึ่งเคยเป็นปัญหาถกเถียงกันในหมู่สมณพราหมณ์เจ้าลัทธิต่าง ๆ มาแล้ว รวม ๔ ประเด็น คือ -
๑. สมณพราหมณ์บางพวกเห็นว่า สัญญา ( ความจำได้หมายรู้ - ในที่พึงสังเกตว่า ในสมัยนั้นบัญญัติเรียกสภาพที่ครองชีวิตร่างกายต่าง ๆ กัน เรียกว่าอัตตา ตัวตนบ้าง , ชีวะ สภาพที่เป็นอยู่บ้าง , สัตตะ สภาพที่มีที่เป็นบ้าง, สัญญา ความจำได้หมายรู้หรือสภาพที่จำได็หมายรู้บ้าง ) ของคน เกิดขึ้นบ้าง ดับไปบ้าง โดยไม่มีเหตุปัจจัย เมื่อเกิดขึ้นคนก็มีสัญญา เมื่อดับไปคนก็ไม่มีสัญญา.
๒. พวกอื่นกล่าวคัดค้านว่าไม่เป็นเช่นนั้น สัญญานั้นแหละเป็นอัตตาตัวตนของคน อัตตานั้นเข้ามาบ้าง ออกไปบ้าง เมื่อเข้ามาคนก็มีสัญญา เมื่อออกไปคนก็ไม่มีสัญญา.
๓. พวกอื่นคัดค้านว่าไม่เป็นเช่นนั้น ที่แท้มีสมณพราหมณ์ที่มีฤทธิ์มาก มีอานุภาพมาก สมณพราหมณ์เหล่านั้นนำเข้าได้ นำออกได้ซึ่งสัญญาของคน เมื่อนำเข้าคนก็มีสัญญา เมื่อนำออกคนก็ไม่มีสัญญา.
๔. พวกอื่นคัดค้านว่าไม่เป็นเช่นนั้น ที่แท้เทพผู้มีฤทธิ์มาก มีอานุภาพมาก เทพเหล่านั้นนำเข้าได้ นำออกได้ซึ่งสัญญาของคน เมื่อนำเข้าคนก็มีสัญญา เมื่อนำออกคนก็ไม่มีสัญญา.
โปฏฐปาทปริพพาชกกล่าวต่อไปว่า ( ระหว่างที่ฟังเขาโต้เถียงกันนั้น ) ข้าพระองค์ระลึกถึงพระผู้มีพระภาคว่า เป็นผู้ฉลาดในธรรมเหล่านี้ เป็นผู้รู้ปกติของอภิสัญญานิโรธ อภิสัญญนิโรธเป็นอย่างไร
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า สมณพราหมณ์ที่กล่าวว่าสัญญาของคนเกิดขึ้นดับไปโดยไม่มีเหตุปัจจัยนั้น นับว่ามีความผิดพลาดแต่เบื้องต้น เพราะสัญญาของคนเกิดขึ้นดับไปโดยมีเหตุปัจจัย คือสัญญาอันหนึ่งย่อมเกิดขึ้นเพราะสิกขา ( การศึกษา หรือสำเนียก ทางพระพุทธศาสนาแบ่งออกเป็น ๓ คือ สัญญาอันหนึ่งย่อมดับไปเพราะสิกขา การรักษาในศีล จิตตสิกขา การศึกษาในสมาธิ และสัญญาสิกขา การศึกษาในปัญญา ) สัญญาอันหนึ่งย่อมดับไปเพราะสิกขา.
๑ . ครั้นแล้วตรัสพรรณนาถึงการที่กุลบุตรออกบวช ตั้งอยู่ในศีล ( ๓ ชั้นตามที่กล่าวแล้วในสามัญญผลสูตร) บำเพ็ญสมาธิจนได้ฌานที่ ๑ เมื่อได้ฌานที่ ๑ แล้ว กามสัญญา ( ความจำได้หมายรู้ในกามคืออารมณ์ที่น่าใคร่ ) ที่เคยมีก็ย่อมดับไป สัญญาอันละเอียดอันเป็นจริงในปิติ ( ความอิ่มใจ ) และสุขอันเกิดแต่ความสงัด ย่อมมีในสมัยนั้น นี้คือสัญญาอันหนึ่ง ย่อมดับเพราะสิกขา.
๒. ในฌานที่ ๒ สัญญาอันสุขุม อันเป็นสัจจ์ ( อันละเอียดเป็นจริง ) ในปิติ และสุข ย่อมดับไป สัญญาอันสุขุม อันเป็นสัจจ์ในปิติสุข อันเกิดแต่สมาธิ ย่อมมีในสมัยนั้น.
๓. ในฌานที่ ๓ สัญญาอันสุขุม อันเป็นสัจจ์ ในปิติและสุขอันเกิดแต่สมาธิ ย่อมดับไป สัญญาอันสุขุม อันเป็นสัจจ์ในอุเบกขา ( ความวางเฉย ) และสุขย่อมมีในสมัยนั้น.
๔. ในฌานที่ ๔ สัญญาอันสุขสุขุม อันเป็นสัจจ์ในอุเบกขา และสุข ย่อมดับไป สัญญาอันสุขุมอันเป็นสัจจ์ในความไม่ทุกข์ไม่สุข ย่อมมีในสมัยนั้น.
๕. ในอรูปฌานที่ ๑ ( เอกาสานัญจายตนะ ) รูปสัญญา ( ความจำได้หมายรู้ในรูป ) ย่อมดับไป สัญญาอันสุขขุม อันเป็นสัจจ์ในอากาสาณัญจายตนะ ( อรูปฌานที่มีอากาศไม่มีที่สุดเป็นอารมณ์ ) ย่อมมีในสมัยนั้น.
๖. ในอรูปฌานที่ ๒ ( วิญญาณัญจาตนะ ) สัญญาอันสุขุม อันเป็นสัจจ์ในอากาสานัญจายตนะย่อมดับไป สัญญาอันสุขุม อันเป็นสัจจ์ในอวิญญาณัญจายตนะ ( อรูปฌานที่มีวิญาณไม่สิ้นสุดเป็นอารมณ์ ) ย่อมมีในสมัยนั้น.
๗. ในรูปฌานที่ ๓ ( อากิญจัญญายตนะ ) สัญญาอันสุขุม อันเป็นสัจจ์ในวิญญาณัญจายตนะ ย่อมดับไป สัญญาอันสุขุม อันเป็นสัจจ์ในอากิญจัญญายตนะ ( อรูปฌานที่มีความคิดว่าไม่มีอะไรแม้เล็กน้อยเป็นอามรมณ์ ) ย่อมมีในสมัยนั้น.
๘. ภิกษุที่มีสัญญาของตน พ้นจากสัญญานั้น ๆ แล้วก็ถูกต้องสัญญาอันเลิศ ( ขึ้นไป ) โดยลำดับ เมื่อตั้งอยู่ในสัญญาอันเลิศแล้ว ก็คิดว่า การคิดไม่ดี ไม่คิดดีกว่า เพราะเมื่อคิดปรุงแต่ง สัญญาอันเลิศก็ดับไป สัญญาอันหยาบก็จะเกิดขึ้น เธอจึงไม่คิด ไม่ปรุงแต่ง เมื่อไม่คิด ไม่ปรุงแต่ง สัญญานั้น ( หมายถึงสัญญาอันเลิศ ) ก็ดับไป สัญญาหยาบอันอื่นก็ไม่เกิดขึ้น เธอจึงชื่อว่าถูกต้อง ( ได้บรรลุ ) นิโรธ ( ความดับ).
( หมายเหตุ ) ข้อความเป็นลำดับมาแต่ข้อ ๑ ถึง ๘ แสดงการที่สัญญาอันหนึ่งดับไป สัญญาอันหนึ่งเกิดขึ้นแทน ดีขึ้นกว่าสัญญาเดิมเรื่อย ๆ จนในที่สุด เมื่อเลิกคิด เลิกปรุงแต่ง สัญญาก็ดับไป เป็นอันตอบปัญหาของโปฏฐปาทปริพพาชกที่อยากรู้ความดับอภิสัญญา คือสัญญาใหญ่ หมายถึงสัญญาชั้นสูง อย่างชัดเจน ตามหลักวิชาปฏิบัติทางรูปฌาน และอรูปฌาน ).
เมื่อตรัสอธิบายอย่างนี้แล้ว จรึงตรัสถามโปฏฐปาทปริพพาชกว่า ท่านเคยได้ยินได้ฟังมาก่อนหรือไม่ถึงการเข้าสมาบัติ ทั้ง ๆ ที่มีความรู้สึกตัว ในการดับอภิสัญญาตามดับชนิดนี้ ซึ่งปริพพาชกตอบว่า ไม่เคยได้ยินได้ฟังมาก่อน เพิ่งมาได้ทราบตามที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงอย่างนี้.
เล่มที่ ๙ ชื่อทีฆนิกาย สีลขันธวัคค์ เป็นพระสุตตันตปิฎก(เล่ม ๑)
ข้อซักถามเพิ่มเติม
โปฏฐปาทปริพพาชกกราบทูลถามเพิ่มเติม และพระผู้มีพระภาคตรัสตอบเป็นข้อ ๆ ดังต่อไปนี้-
๑ . ทูลถามว่า ทรงบัญญัติสัญญาอันเลิศ อันเดียวหรือมาก ตรัสตอบว่า บัญญัติทั้งอันเดียว ทั้งมาก ตาม ( ความจริง) ที่จะถูกต้อง ( บรรลุ ) นิโรธได้.
๒ . ทูลถามว่า สัญญา ( ความจำได้หมายรู้ ) เกิดก่อน ญาณ ( ความรู้ ) เกิดทีหลัง หรือว่าญาณเกิดก่อนสัญญาเกิดทีหลัง หรือว่าสัญญา กับญาณเกิดพร้อมกัน ตรัสตอบว่า สัญญาเกิดก่อน ญาณเกิดทีหลัง
๓ . ทูลถามว่า สัญญาเป็นอัตตา ( ตัวตน ) ของคนหรือว่าสัญญากับอัตตาเป็นคนละอัน ( ไม่ใช่อันเดียวกัน) ตรัสซักว่า อัตตาที่ท่านเข้าใจเป็นอย่างไร . ทูลตอบว่า อัตตาตามที่ตนเข้าใจ คือมีรูปประกอบด้วยธาตุ ๔ กินอาหารเป็นคำ ๆ ตรัสว่า อัตตาของท่านเป็นอัตตาอย่างหยาบ ถ้าเป็นเช่นนั้น สัญญาก็เป็นอย่างหนึ่ง อัตตาก็เป็นอีกอย่างหนึ่ง เพราะอัตตายังตั้งอยู่นั้นแหละ สัญญาอันหนึ่งเกิดขึ้น อีกอันหนึ่งดับไป. ( ในข้อนี้ปริพพาชกชี้อัตตาไปที่ร่างกาย จึงตรัสตอบตามที่เขาชี้ว่า ถ้าเป็นอย่างนั้น สัญญา กับอัตตาก็คนละอันกัน )
๔. ทูลต่อไปว่า ตนเข้าใจว่าสัญญาสำเร็จขึ้นจากใจ มีอวัยวะน้อยใหญ่ทั้งปวง มีอินทรีย์ . อันไม่บกพร่อง ตรัสตอบว่า ถ้าอย่างนั้น สัญญาก็เป็นอย่างอื่น อัตตาก็เป็นอย่างอื่น . เพราะอัตตาที่สำเร็จด้วยใจยังตั้งอยู่นั้นแหละ สัญญาอันหนึ่งเกิดขึ้น อีกอันหนึ่งก็ดับไป ( ในข้อนี้ปริพพาชกพูดอธิบายเพิ่มเติม ลักษณะของอัตตาตามความเข้าใจของตนว่า อัตตาเกิดจากใจ ).
๕. ทูลต่อไปว่า ตนเข้าใจว่าอัตตาไม่มีรูป เป็นของเกิดแต่สัญญา ตรัสตอบว่า ถ้าอย่างนั้นสัญญาก็เป็นอย่างอื่น อัตตาก็เป็นอย่างอื่น เพราะอัตตาไม่มีรูป เป็นของเกิดแต่สัญญา ยังตั้งอยู่นั้นแหละ สัญญาอันหนึ่งเกิดขึ้น อีกอันหนึ่งก็ดับไป.
๖. ทูลถามว่า ตน ( ผู้ถาม ) อาจหรือไม่ที่จะรู้ว่า สัญญาเป็นอัตตาของคน หรือสัญญาเป็นอย่างอื่น ตรัสตอบว่า โปฏฐปริพพาชกมีความเห็นอย่างอื่น มีความชอบใจอย่างอื่น ( คนละศาสนา) จึงยากที่จะรู้ได้. ทูลถามต่อไปตามแนวทิฏฐิ ๑๐ ที่เกี่ยวด้วยส่วนสุดว่า ถ้าอย่างนั้น โลกเที่ยงหรือไม่เที่ยง , โลกมีที่สุด หรือไม่มีที่สุด , ชีวะ กับสรีระ เป็นอันเดียวกัน หรือเป็นคนละอัน, สัตว์. ตายแล้วเกิดหรือไม่เกิด, สัตว์ตายแล้วทั้งเกิดทั้งไม่เกิด หรือว่าเกิดก็ไม่ใช่ ไม่เกิดก็ไม่ใช่. ( แบ่งออกเป็น ๕ หมวด หมวดละ ๒ ข้อ จึงเป็น ๑๐) ตรัสตอบเป็นข้อ ๆ ว่า พระองค์ไม่ทรงพยากรณ์ . ปัญหานั้น เพราะไม่มีประโยชน์ ไม่เป็นไปเพื่อนิพพาน.
ทูลถามว่า ถ้าอย่างนั้น ทรงพยากรณ์อะไร ตรัสตอบว่า ทรงพยากรณ์เรื่องทุกข์
เหตุให้ทุกข์เกิด ความดับทุกข์ ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์
เพราะมีประโยชน์และเป็นไปเพื่อนิพพาน.
แล้วพระผู้มีพระภาคก็เสด็จลุกจากอาสนะไป.
ต่อมาอีก ๒ - ๓ วัน จิตตะผู้เป็นบุตรแห่งนายควาญช้าง กับโปฏฐปาทปริพพาชก
ได้ไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค. โปฏฐปาทปริพพาชกกราบทูลเล่าว่า เมื่อพระองค์เสด็จกลับ (
ในวันที่เสด็จไป ณ มัลลิการามนั้น ) พวกปริพพาชกพากันกล่าวแดกดันข้าพระองค์ว่า
ไม่ว่าพระองค์ตรัสอะไร ข้าพระองค์กราบทูลรับรองไปหมดว่าอย่างนั้น พระเจ้าข้า
อย่างนี้ พระเจ้าข้า. พวกเขาไม่เห็นเลยว่า พระองค์ทรงแสดงธรรมแง่เดียว (
บอกยืนยันให้แน่ลงไปในแง่เดียว ) ว่าโลกเที่ยงหรือไม่เที่ยง เป็นต้น .
ข้าพระองค์ตอบไปว่า เมื่อพระสมณโคดมแสดงปฏิทาอันจริงแท้ ถูกต้องตามทำนองคลองธรรม
วิญญูบุรุษข้าพจ้า จะไม่รับรองสุภาษิต โดยความเป็นสุภาษิตได้อย่างไร.
ทรงชี้แจงเรื่องแสดงธรรมแง่เดียวหลายแง่
ตรัสตอบว่า ทรงแสดงธรรมแง่เดียว ( เอกังสิกะ ) ก็มี . ที่ทรงแสดงธรรมหลายแง่ก็คือ เรื่องโลกเที่ยง , ไม่เที่ยง , โลกมีที่สุด , ไม่มีที่สุด เป็นต้น . ที่ทรงแสดงธรรมแง่เดียวคือเรื่องทุกข์ , เหตุให้ทุกข์เกิด , ความดับทุกข์ ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ .
ตรัสเล่าต่อไปว่า พระองค์เคยเสด็จเข้าไปหาสมณพราหมณ์พวกที่มีความเห็นมีวาทะว่า เมื่อตายไปแล้ว อัตตาจะมีความสุขดดยส่วนเดียว ไม่มีโรค แล้วซักถามว่า ท่านรู้เห็นโลกซึ่งมีความโดยสุขโดยส่วนเดียวหรือเปล่า ก็ตอบว่า เปล่า ถามว่า ท่านรู้จักหนทาง หรือข้อปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ เพื่อให้บรรลุโลกที่มีความสุขโดยส่วนเดียว หรือเปล่า ก็ตอบว่า เปล่าอีก . คำพูดของสมณะพราหมณ์เหล่านั้น จึงชื่อว่าไม่มีปาฏิหาริย์มิใช่หรือ โปฏฐหาริย์มิใช่หรือ โปฏฐปาทปริพพาชกรับว่า ไม่มีปาฏิหาริย์ เลื่อนลอย.
ครั้นแล้วทรงเปรียบพวกที่กล่าวว่า เมื่อตายไปแล้ว อัตตาจะมีความสุขโดยส่วนเดียว ไม่มีโรคแต่ไม่รู้อะไรจริงจังเลยกับข้อที่ตนกล่าวนั้น ว่าเปรียบเหมือนคนที่รักหญิงงามชาวชนบท แต่ไม่รู้ว่าเป็นใครชื่ออะไร สกุลอะไร อยู่ที่ไหน หรือเปรียบเหมือนคนตังบันใดขึ้นบนทางสี่แพร่งเพื่อจะขึ้นปราสาท แต่ไม่รู้ว่าปราสาทอยู่ในทิศไหน สูงต่ำหรือปานกลางอย่าง .
ต่อจากนั้นทรงแสดงการได้อัตตา ๓ ปราเภท คือการได้อัตตาหยาบ ซึ่งมีรูปประกอบด้วยธาตุ ๔ กินอาหารเป็นคำ ๆ , การได้อัตตามีรูป ซึ่งเกิดจากใจ , การได้อัตตาที่ไม่มีรูป ซึ่งเกิดจากสัญญา . ( โดยใจความคือทรงแสดงการได้อัตตาภาพในกามภพ เช่น มนุษย์และสัตว์ทั้วไป รวมทั้งเทพชั้นกามาวจร เป็นประเภทอัตตาหยาบ , ทรงแสดงการได้อัตตภาพในกามภพ คืออัตตาของรูปพรหม และทรงแสดงการได้อัตตภาพในอรูปภพคืออัตตา . ของอรูปพรหม พรหมไม่มีรูป ) แล้วทรงชี้ให้เห็นว่า ทรงแสดงธรรม เพื่อให้ละอัตตา ๓ ประเภทนั้น เมื่อปฏิบัติแล้ว ก็จะละธรรมที่ทำให้เศร้าหมองและมีธรรมอันผ่องแผ้วเจริญยิ่ง ทำให้บรรลุความเป็นผู้สมบูรณ์ไพบูลด้วยปัญญาในปัจจุบัน และแม้จะมีใครกล่าวว่า การได้บรรลุสภาพเช่นนั้น ทำให้เป็นทุกข์ก็ทรงแสดงได้ว่า มีความปราโมทย์ ความอิ่มใจ ความสงบ มีสติสัมปชัญญะ และความอยู่เป็นสุข. ( ประเด็นสำคัญในตอนนี้มีอยู่ว่า มีสมณพราหมณ์บางพวกกล่าวว่า เมื่อตายแล้วอัตตาจะเป็นสุข แต่ตัวเองไม่รู้ไม่เห็น และไม่ทราบขอปฏิบัติ ส่วนทางพุทธศาสนาแทนที่จะสอนให้บรรลุอัตตา กลับสอนให้ประพฤติปฏิบัติเพื่อละอัตตา แล้วชี้ได้ด้วยว่า อัตตามี ๓ ประเภท ถ้าละได้ก็จะมีสุข ) .
ทรงเปรียบให้ฟังว่า การสอนอย่างชี้ข้อปฏิบัติเพื่อละอัตตาได้นี้ เปรียบเหมือนตั้งบันใดขึ้นสู่ปราสาทซึ่งมีปราสาทอยู่จริง ๆ ไม่ใช่ชี้ไม่ได้.
ต่อจากนั้นทรงอธิบายรับรองความเห็นของจิตตะ บุตรแห่งนายควาญช้าง ( ซึ่งไปเฝ้าพร้อมกับโปฏฐปาทปริพพาชก ) ที่ว่า เมื่ออยู่ในสภาพใดสภาพหนึ่ง อัตตาก็ไม่อยู่ในสภาพอื่น เช่น เมื่อได้อัตตาหยาบก็ไม่อยู่ในสภาพอัตตา ( ละเอียด ) มีรูปเกิดจากใจ หรือไม่มีรูปเกิดจากสัญญา เมื่ออยู่ในตอนไหนก็จริงในตอนนั้น ตอนอื่นไม่จริง เปรียบเหมือนน้ำนม , นมสัม , เนยข้น , เนยใส . ก้อนเนยใสตอนไหนเป็นอะไรก็ไม่เป็นอย่างอื่น.
ทรงสรุปในที่สุดว่า ถ้อยคำเรื่องอัตตาเหล่านี้เป็นเพียงโลกสมัญญา ( ชื่อทางโลก ) โลกนิรุติ ( คำพูดของโลก ) โลกโวหาร ( โวหารทางโลก ) และโลกบัญญัติ ( บัญญัติทางโลก) ซึ่งตถาคตก็พูดด้วยถ้อยคำเหล่านั้นแต่ไม่ยึดถือ .
เมื่อจบพระธรรมเทศนา โปฏฐปาทปริพาชกสรรเสริญพระธรรมเทศนา แสดงตนเป็นอุบาสกถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะตลอดชีวิต ส่วนจิตตะ บุตรแห่งนายควาญช้างขอบวช แล้วได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์ในกาลต่อมาไม่นาน.
- ชื่อทีฆนิกาย สีลขันธวัคค์
- พรหมชาลสูตร สูตรว่าด้วยข่ายอันประเสริฐ
- สามัญญผล สูตรสูตรว่าด้วยผลของความเป็นสมณะ
- อัมพัฏฐสูตร สูตรว่าด้วยการโต้ตอบอัมพัฏฐมาณพ
- โสณทัณฑ สูตรสูตรว่าด้วยพราหมณ์ชื่อโสณทัฑะ
- กูฏทัตสูตร สูตรว่าด้วยกูฏทันตพราหมณ์ (พราหมณ์ฟันเขยิน)
- มหาลิสูตร สุตรว่าด้วยการโต้ตอบกับเจ้าฉวีชื่อมหาลิ
- ชาลิยสูตร สุตรว่าด้วยข้อความที่ตรัสโต้ตอบชาลิปริพพาชก
- มหาสีหนาท สูตรสูตรว่าด้วยการลือสีหนาท
- โปฏฐปาทสูตร สูตรว่าด้วยการโต้ตอบกับโปฏฐปาทปริพพาชก
- สุภสูตร สูตรว่าด้วยการโต้ตอบกับสุภมาณพ โตเทยยบุตร
- เกวัฏฏสูตร สูตรว่าด้วยการแสดงธรรมแก่บุตรคฤหบดีชื่อเกวัฏฏะ
- โลหิจจสูตร สูตรว่าด้วยการโต้ตอบกับโลหิจจพราหมณ์
- เตวิชชสูตร ว่าด้วยไตรเวท