ศาสนา ลัทธิ ความเชื่อ นิกาย พิธีกรรม
» พระสูตร
พระไตรปิฎกฉบับประชาชน
เล่มที่ ๙
ชื่อทีฆนิกาย สีลขันธวัคค์
๓.อัมพัฏฐสูตร สูตรว่าด้วยการโต้ตอบอัมพัฏฐมาณพ
พระผู้มีพระภาคเสด็จจาริกไปในแคว้นโกศล พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ เสด็จแวะพัก ณ หมู่บ้านพราหมณ์ชื่ออิจฉานังคละ ใกล้เมืองอุกกัฏฐา ซึ่งโปกขรสาติพราหมณ์ได้รับมอบหมายจากพระเจ้าปเสนทิให้เป็นผู้ครอบครอง .
โปกขรสาติพราหมณ์ได้ยินกิตติศัพท์สรรเสริญพระพุทธเจ้า จึงใช้อัมพัฏฐมาณพผู้เป็นศิษย์ให้ไปเฝ้าเพื่อสังเกตดูว่าจะมีมหาปุริลักษณะครอบตามคัมภีร์มนต์ของตนหรือไม่.
อัมพัฏฐมาณพไปแสดงอาการอวดดี คือพระผู้มีพระภาคประทับนั่ง แต่ตนเดินบ้าง ยืนบ้าง สนทนาด้วย เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสเตือน จึงประกาศตนว่าเป็นพราหมณ์ ควรแสดงอาการอย่างนี้ต่อคนชั้นไพร่ศีรษะโล้น ซึ่งเกิดจากเท้าของพระพรหม ( เป็นความนิยมของพวกพราหมณ์ว่า ถ้าโกนศีรษะจะถูกเหยียดหยามเป็นคนชั้นต่ำ) และเพิ่มความโกรธเคืองยิ่งขึ้น เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสว่า อัมพัฏฐมาณพยังไม่จบพรหมจรรย์ของพราหมณ์ แต่สำคัญตนว่าจบแล้ว จึงด่าสกุลศากยะว่าเป็นสกุลทาสสกุลไพร่ ไม่เคารพพราหมณ์.
เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า ศากยสกุลเคยทำผิดอะไรไว้ จึงเล่าว่า ครั้งหนึ่งตนเดินทางไปกรุงกบิลพัสดุ์ด้วยธุระบางอย่างของโปกขรสาติพราหมณ์ ได้เข้าไปสู่อาคารโถงของเจ้าศากยะ เจ้าศากยะและศากยกุมารมากหลายนั่งบนอาสนะสูง ในอาคารโถง ต่างซิกซี้จี้ด้วยนิ้วมือ ชะรอยจะหัวเราะตนก็เป็นได้. ไม่มีใครสักคนหนึ่งกล่าวเชิญตนด้วยอาสนะ การไม่เคารพนับถือ ไม่อ่อนน้อมพราหมร์ของเจ้าศากยะไพร่ ๆ อย่างนั้นเป็นการไม่สมควร. นี่เป็นการประณามศากยสกุลว่าเป็นไพร่ครั้งที่ ๒.
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า แม้นกไส้ เมื่ออยู่ในรังของตนก็ยังส่งเสียงร้องตามชอบใจ เจ้าศากยะเหล่านั้นถือว่ากรุงกบิลพัสดุ์เป็นของตน จึงยังไม่นับถือโทษด้วยเหตุเพียงเล็กน้อยเท่านี้.
อัมพัฏฐมาณพอ้างเหตุผลต่อไปว่า ในวรรณะทั้งสี่นั้น วรรณะทั้งสาม คือ กษัตริย์ แพศย์ ( พ่อค้า) และศูทร ( คนงาน) ย่อมตกอยุ่ในฐานะเป็นผู้บำเรอพวกพราหมณ์ การที่เจ้าศากยะไพร่ ๆ ไม่เคารพนับถือไม่อ่อนน้อมพราหมณ์ จึงเป็นการไม่สมควร นี่เป็นการประณามศากยสกุลว่าเป็นไพร่ครั้งที่ ๓.
พระผู้มีพระภาคเห็นอัมพัฏฐมาณพกล่าวรุกรานศากยะสกุลอย่างหนักเช่นนั้น จึงตรัสถามว่า ท่านสกุล ( โครต ) อะไร เมื่ออัมพัฏฐมาณพกราบทูลว่า กัณหายนโครต พระองค์จึงตรัสเตือนให้ระลึก ( ประวัติศาสตร์ ) ว่า ต้นสกุลของศากยะ คือพระเจ้าโอกกากราช ซึ่งเป็นกษัตริย์ แต่ต้นตระกุลของกัณหายนะ คือนางทาสีของพระเจ้าโอกกากราชผู้มีนามว่า ทิสา ก็เมื่อต้นสกุลศากยะเป็นลูกกษัตริย์ ต้นสกุลกัณหายนะ เป็นลูกนางทาสีเช่นนั้น ก็จงระลึกถึงสกุลดั้งเดิมดูเถิด.
มาณพทั้งหลายที่ตามมาด้วย ก็พูดอื้ออึง ห้ามพระผู้มีพระภาคว่า ขอพระโคดมอย่าได้กล่าวหาว่าอัมพัฏฐมาณพเป็นลูกนางทาสีเลย เพราะอัมพัฏฐมาณพมีชาติอันดี สดับตรับฟังมาก มีถ่อยคำอันดีงาม และเป็นบัณฑิต.
พระผู้มีพระภาคจึงตรัสถามอัมพัฏฐมาณพว่า ที่พระองค์ตรัสอย่างนี้ เป็นความจริงหรือไม่ อัมพัฏฐมาณพนิ่งอึ้ง พระผู้มีพระภาคตรัสย้ำถามถึงครั้งที่ ๓ จึงยอมรับว่าเป็นความจริง.
มาณพที่มาด้วย จึงอื้ออึง ประณามว่า อัมพัฏฐมาณพเป็นลูกทาสี มีชาติไม่ดี พระสมณโคดมพูดเป็นธรรม เราหลงรุกรานว่าพูดไม่ถูก.
พระผู้มีพระภาคทรงเห็นมาณพเหล่านั้นกลับไปรุกรานอัมพัฏฐมาณพเช่นนั้น ก็ตรัสห้าม และทรงเล่าถึงความยิ่งใหญ่ของกัณหะ ( บุตรทาสี) ผู้เดินทางไปเรียนพรหมมนต์ ณ ชนบทภาคใต้ แล้วกลับมาขอพระราชธิดาของพระเจ้าโอกกากราชนามว่า มัททรูปี ครั้งแรกพระเจ้าโอกกากราชไม่พระราชทาน ในที่สุดก็พระราชทาน เพราะเกรงฤทธิ์ของกัณหะ ( เป็นการตรัสช่วยแก้หน้าให้แก่อัมพัฏฐมาณพ).
ต่อจากนั้นตรัสถามถึงประเพณีนิยม เพื่อให้อัมพัฏฐมาณพตอบเป็นข้อ ๆ เกี่ยวกับกษัตริย์ กับพราหมณ์ใครจะสูงกว่ากัน ( เพื่อให้คลายความถือดี) คือ-
๑. บุตรที่เกิดจากบิดาเป็นกษัตริย์ มารดาเป็นพราหมณ์ จะได้อาสนะ ( ที่นั้ง) และน้ำ ในพวกพราหมณ์หรือไม่ ตอบว่า ได้. พวกพราหมณ์จะยอมให้บริโภคอาหารในพิธีสารท ( อาหารอุทิศให้ผู้ตาย) ในพิธีถาลิปากะ ( อาหารเนื่องในงานมงคล) ในยัญญพิธี ( อาหารในการบูชายัญ) และในปาหุนะ ( อาหารต้อนรับแขก) หรือไม่ ตอบว่า ย่อมให้บริโภค . พวกพรามหณ์จะสอนมนต์ให้หรือไม่ ตอบว่า สอน. จะห้ามผู้นั้นแต่งงานกับสตรีพราหมณ์หรือไม่ ตอบว่า ไม่ห้าม . จะได้รับอภิเษกเป็นกษัตริย์หรือไม่ ตอบว่า ไม่ ถามว่า เพราะเหตุใด ตอบว่า เพราะยังไม่บริสุทธิ์ฝ่ายมารดา.
๒. บุตรที่เกิดจากบิดาเป็นพราหมณ์ มารดาเป็นกษัตริย์ จะได้ที่นั่ง ได้น้ำ เป็นต้นหรือไม่ ตอบว่า ได้ จะห้ามผู้นั้นแต่งงานกับสตรีพราหมณ์หรือไม่ ตอบว่า ไม่ห้าม . จะได้อภิเษกเป็นกษัตริย์หรือไม่ ตอบว่า ไม่. ถามว่า เพราะเหตุไร ตอบว่า เพราะยังไม่บริสุทธิ์ฝ่ายบิดา.
( ตรัสสรุปเพียงชั้นนี้ก่อนว่า นี่แหละเมื่อเปรียบหญิงกับหญิง เปรียบชายกับชายกันแล้ว กษัตริย์ก็ประเสริฐกว่า และพราหมณ์เลวกว่า. ( เพราะอัมพัฏฐมาณพยอมรับรองตามประเพณีนิยมว่า กษัตริย์มาเกี่ยวข้องกับพราหมณ์ ทำให้กษัตริย์ไม่บริสุทธิ์ ).
ครั้นแล้วตรัสถามต่อไปว่า
๓. พราหมณ์ที่ถูกลงโทษโกนศีรษะ ถูกเอาขี้เถ้าโรยศีรษะ ถูเนรเทศจากรัฏฐะ หรือจากนครจะได้นั้งและน้ำในพวกพรามหณ์หรือไม่ ตอบว่า ไม่ได้. จะร่วมบริโภคอาหารในพิธีกรรมต่าง ๆ หรือไม่ ตอบว่า ไม่ได้. พราหมร์จะสอนมนต์ให้หรือไม่ ตอบว่า ไม่. จะถูกห้ามแต่งงานกับสตรีพราหมณ์หรือไม่ ตอบว่า ถูกห้าม.
๔. กษัตริย์ที่ถูกลงโทษโกนศีรษะ ถูกเอาขี้เถ้าโรยบนศีรษะ ถูกเนรเทศจากรัฏฐะ หรือจากนครจะได้ที่นั้งและน้ำในพวกพราหมณ์หรือไม่ ตอบว่า ได้. จะได้ร่วมบริโภคอาหารในพิธีกรรมต่าง ๆ หรือไม่ ตอบว่า ได้. พราหมณ์จะสอนให้หรือไม่ ตอบว่า สอน . จะถูกห้ามแต่งงานกับสตรีพราหมณ์หรือไม่ ตอบว่า ไม่ห้าม.
จึงสรุปให้เป็นว่ากษัตริย์ประเสริฐกว่าพราหมณ์ แล้วตรัสรับรองภาษิตของพรหมชื่อสนังกุมารที่ว่า
ในหมู่ชนที่ถือโคตร กษัตริย์ประเสริฐสุด แต่ผู้ใดสมบูรณ์ด้วยวิชชาและจรณะ ( ความรู้สึกและความประพฤติ) ผู้นั้นประเสริฐสุดในเทวดาและมนุษย์ . ( สุภาษิตนี้ ถือว่าความรู้ความประพฤติสำคัญกว่าชาติสกุล ).
เมื่ออัมพัฏฐมาณพกราบทูลถามว่า ความประพฤติและความรู้นั้นเป็นอย่างไร จึงตรัสตอบเป็นใจความว่า
ใครก็ตามยังถือชาติ ถือโคตร ถือตัว ถืออาวาหะ วิวาหะ คนเหล่านั้นย่อมอยู่ห่างไกลจากความรู้และความประพฤติอันยอดเยี่ยม ต่อเมื่อละความถือชาติ ถือโคตร ถือตัว ถืออาวาหะ วิวาหะได้ จึงจะทำให้แจ้งได้ซึ่งความรู้และความประพฤติอันยอดเยี่ยม.
ครั้นแล้วตรัสอธิบายถึงการที่กุลบุตรออกบวชตั้งอยู่ในศีลธรรม บำเพ็ญฌาน ๔ และวิชชา ๘ ( ดังที่กล่าวแล้วในสามัญญผลสูตร) ว่า ชื่อว่าสมบูรณ์ ด้วยความรู้และความประพฤติอย่างยอดเยี่ยม ไม่มีความรู้ความประพฤติอื่นยิ่งกว่า
ครั้นแล้วได้ทรงแสดงปากทางแห่งความเสื่อม ๔
ประการของความสมบูรณ์ด้วยความรู้และความประพฤตินัน
คือสมณพราหมณ์ผู้มิได้บรรลุความรู้และความประพฤตินั้น
๑. หาบบริขารของนักบวชออกป่ากินผลไม้ที่ตก
๒. ทำอย่างข้อ ไม่ได้ จึงถือจอบและตะกร้าออกป่ากินเผือกมันผลไม้
๓. ทำอย่างข้อ ๑ - ๒ ไม่ได้ จึงสร้างโรงบูชาไฟที่ท้ายคามหรือนิคม บำเรอไฟอยู่ (
คอยหาเชื่อเพลิงใส่ไฟมิให้ดับ เป็นการบำเรอไฟหรืออัคนีเทพ)
๔. ทำอย่างข้อ ๑ -๒ -๓ ไม่ได้ ก็ปลูกบ้าน มีประตู ๔ ด้าน ในถนน ๔ แยก
เพื่อคอยบูชาสมณพราหมณ์ซึ่งเดินทางมาแต่ ๔ ทิศ ตามกำลังความสามารถ. (
อรรถกถาอธิบายว่า เอาดีทางคุณธรรมชั้นสูงไม่ได้ ก็เอาดีทางบวชเป็นดาบส).
ครั้นแล้วตรัสถามอัมพัฏฐมาณพว่า ตัวอัมพัฏฐมาณพพร้อมทั้งอาจารย์ สมบูรณ์ด้วยความรู้และความประพฤติดังกล่าวหรือเปล่าเมื่อตอบว่า เปล่า และยังห่างไกลจากคุณสมบัติเช่นนั้น จึงตรัสถามต่อไปว่า เพียงกระทำแบบดาบส ๔ ประเภทนั้น ทำได้หรือเปล่า ตอบว่า ทำไม่ได้ จึงตรัสสรุปให้ฟังให้ฟังว่า ตัวอัมพัฏฐมาณพพร้อมทั้งอาจารรย์ เสื่อมจากความสมบูรณ์ด้วยความรู้ความประพฤติ ( วิชชาจรณะ) อันยอดเยี่ยมและเสื่อมจากปากทางแห่งความเสื่อม ๔ อย่างของความรู้และความประพฤตินั้น ( เป็นการเตือนให้เห็นว่าที่ทนงตนมาแต่เดิมนั้น ที่แท้ก็ไม่มีอะไรเป็นชิ้นเป็นอันเลย แม้ขนาดคุณสมบัติชั้นเลว ๆ ของผู้ไม่สามารถมีความรู้ความประพฤติอันยอดเยี่ยมนั้น คือเพียงแค่ทำอย่างดาบส ก็ทำไม่ได้).
ครั้นแล้วทรงแสดงถึงความผิดพลาดของโปกขรสาติพราหมณ์ผู้เป็นอาจารย์ของอัมพัฏฐมาณพ ) ๒ ประการ คือ ๑. พูดว่า สมณศีรษะโล้นเป็รไพร่ เป็นพวกดำ เป็นผู้เกิดจากเท้าพรหม จะเจรจากับพราหมณ์ ผู้รู้วิชชา ๓ ( รู้ไตรเพท) ได้อย่างไร. แต่ตัวเองก็เสื่อมหรือไม่มีวิชชานั้นบริบูรณ์อะไรเลย . ๒ บริโภคของพระราชทานจากพระเจ้าปเสนทิโกศล แต่พระเจ้าปเสนทิโกศลก็ไม่โปรดให้โปกขรสาติพราหมณ์นั้นอยู่ในที่เฉพาะพระพักตร์ เมื่อจะทรงปรึกษาอะไรด้วยก็ทรงปรึกษาโดยมีม่านกั้น. โปกขรสาติพราหมณ์รับภิกษาที่เป็นของพระราชทานโดยธรรม แต่ทำไมเล่าพระเจ้าปเสนทิโกศลจึงไม่ทรงอนุญาตให้พราหมณ์นั้นอยู่ในที่เฉพาะพระพักตร์. .
แล้วตรัสถามอัมพัฏฐมาณพว่า เพียงที่คนวรรณะศูทรหรือทาสของศูทรยืนในที่ซึ่งทรงพระเจ้าปเสนทิประทับบนคอช้าง หรือประทับยืนบนเครื่องลาดเพื่อเสด็จขึ้นสู่รถ หรือในที่ซึ่งทรงปรึกษาเรื่องอะไร ๆ กับมหาอำมาตย์ผู้ใหญ่หรือกับเจ้านาย แล้วคนวรรณะศูทรหรือทาสของศูทรเหล่านั้นกล่าวถ้อยคำว่า พระเจ้าปเสนทิโกศลมีพระราชดำรัสอย่างนี้ ๆ ( พูดเลียนพระราชดำรัส) จะทำให้ศูทรหรือทาสของศูทรกลายเป็นพระราชาหรือราชมหาอำมาตย์ไปได้หรือไม่ . เมื่ออัมพัฏฐมาณพตอบว่า เป็นไม่ได้ จึงตรัสเปรียบเทียบให้ฟังว่า พวกพราหมณ์สมัยนี้พากับสวดหรือกล่าวตามบทแห่งมนต์เก่าแก่ ซึ่งพวกฤษีรุ่นก่อน ๆ ได้เคยสวดมาแล้ว เช่น ฤษีอัฏฐกะ วามเทพ เวสสามิตต์ (วิศวามิตร) ยมตัคคี อังคีรส ภารัทวาชะ วาเสฏฐ กัสสปะ ภคุ ตัวอัมพัฏฐมาณพ พร้อมด้วยอาจารย์ก็เรียนมนต์เหล่านั้น เพียงเท่านั้นจะทำให้อัมพัฏฐมาณพเป็นฤษีหรือหรือผู้ปฏิบัติเพื่อเป็นฤษีได้หรือไม่. อัมพัฏฐมาณพตอบว่า เป็นไม่ได้.
แล้วตรัสถามว่า พวกฤษีรุ่นก่อน ๆ เพียบพร้อมไปด้วยกามคุณ ๕ บริโภคอาหารดี ๆ มีสตรีผู้ประดับด้วยผ้าและสายรัดเอวคอยบำเรอ ขี่รถเทียมด้วยม้า ใช้ปฏักยาว ๆ แทงสัตว์พาหนะ เที่ยวไปในที่ต่าง ๆ มีบุรุษผูกสอดดาบยาวคอยอารักขาในนคร ซึ่งมีเครื่องอุปกรณ์พร้อมสรรพ มีคูอันขุดไว้ มีซี่เหล็กอันยกขึ้นไว้ ( ที่ประตู) เหมือนอย่างตัวท่าน ท่าน พร้อมด้วยอาจารย์ในสมัยนี้หรือไม่. อัมพัฏฐมาณพตอบว่า ฤษีรุ่นก่อน ๆ ไม่ทำอย่างนี้ จึงสรุปให้เห็นว่า อัมพัฏฐมาณพ พร้อมทั้งอาจารย์มิได้เป็นฤษี หรือผู้ปฏิบัติเพื่อเป็นฤษี.
อัมพัฏฐมาณพได้สังเกตพระพุทธลักษณะ แต่ยังมีอยู่บางข้อที่เห็นไม่ได้ เช่น พระคุยหฐาน ตั้งอยู่ในฝัก และพระชิวหา (ใหญ่ยาว) พอจะปิดพระพักตร์ และช่องพระนาสิกพระโสตได้ พระผู้มีพระภาคจึบทรงแสดงอิทาภิสังขาร ( แสดงฤทธิ์) และทรงกระทำให้เห็นได้.
อัมพัฏฐมาณพกลับไปเล่าให้โปกขรสาติพราหมณ์ฟังทุกประการ โปกขรสาติพราหมณ์โกรธที่อัมพฏฐมาณพไปรุกรานพระผู้มีพระภาค จึงใช้เท้าเตะ และใครจะไปเฝ่า แต่พวกพราหมณ์ค้านว่าค่ำแล้วควรไปในวันรุ่งขึ้น.
แต่โปขรสาติพราหมณ์คงไปจนได้ โดยให้จุดคบเพลิง เมื่อไปเฝ่ากราบทูลถามเรื่องที่โต้ตอบกับอัมพัฏฐมาณพแล้ว จึงกราบขอโทษแทนอัมพัฏฐมาณพ ซึ่งพระผู้มีพระภาคก็มีพระพุทธดำรัสว่า อัมพัฏฐมาณพจงเป็นสุขเถิด.
โปกขรสาติพราหมณ์พิจารณาพระพุทธลักษณะและได้เห็นครบ ๓๒ ( ต้องตามลักษณะมนต์ของตน) แต่ ๒ ข้อเห็นไม่ได้ พระผู้มีพระภาคต้องทรงแสดงฤทธิ์และทำให้เห็น แล้วจึงอาราธนาพระผู้มีพระภาคพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์ไปฉันในวันรุ่งขึ้น และเช้าวันรุ่งขึ้น เมื่อถวายภัตตาหารแล้ว ได้สดับพระธรรมเทศนาเรื่องอนุบุพพิกา . และอริยสัจจ์ ได้ดวงตาเห็นธรรม จึงประกาศตน พร้อมทั้งบุตร ภริยา บริษัทและอำมาตย์เป็นอุบาสกถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะตลอดชีวิต.
- ชื่อทีฆนิกาย สีลขันธวัคค์
- พรหมชาลสูตร สูตรว่าด้วยข่ายอันประเสริฐ
- สามัญญผล สูตรสูตรว่าด้วยผลของความเป็นสมณะ
- อัมพัฏฐสูตร สูตรว่าด้วยการโต้ตอบอัมพัฏฐมาณพ
- โสณทัณฑ สูตรสูตรว่าด้วยพราหมณ์ชื่อโสณทัฑะ
- กูฏทัตสูตร สูตรว่าด้วยกูฏทันตพราหมณ์ (พราหมณ์ฟันเขยิน)
- มหาลิสูตร สุตรว่าด้วยการโต้ตอบกับเจ้าฉวีชื่อมหาลิ
- ชาลิยสูตร สุตรว่าด้วยข้อความที่ตรัสโต้ตอบชาลิปริพพาชก
- มหาสีหนาท สูตรสูตรว่าด้วยการลือสีหนาท
- โปฏฐปาทสูตร สูตรว่าด้วยการโต้ตอบกับโปฏฐปาทปริพพาชก
- สุภสูตร สูตรว่าด้วยการโต้ตอบกับสุภมาณพ โตเทยยบุตร
- เกวัฏฏสูตร สูตรว่าด้วยการแสดงธรรมแก่บุตรคฤหบดีชื่อเกวัฏฏะ
- โลหิจจสูตร สูตรว่าด้วยการโต้ตอบกับโลหิจจพราหมณ์
- เตวิชชสูตร ว่าด้วยไตรเวท