ขนบธรรมเนียม ประเพณี วัฒนธรรม อารยธรรม >>
เพลงพื้นบ้าน
นายบุญเสริม แก่นประกอบ ครู โรงเรียนบ้านชงโค
เพลงพื้นบ้านประเภทเพลงผู้ใหญ่
เพลงผู้ใหญ่ประเภทเพลงกล่อมเด็ก
การแสดงอารมณ์ในเพลงกล่อมเด็ก
การแสดงอารมณ์ในเพลงกล่อมเด็กนี้จำแนกvออกเป็นหลายประเภท คือ
1. กลอนแสดงความรักความเข้าใจเด็ก
ซึ่งอาจจะไม่ได้ขึ้นต้นด้วยการใช้คำว่ารักอย่างตรงไปตรงมาเท่านั้น แต่จะพรรณนาถึงรูปร่างและลักษณะที่น่าเอ็นดูของเด็ก และการร้องปลอบโยน อันแสดงถึงความห่วงใยและความเข้าใจอัธยาศัยของเด็ก ในการพรรณนาความน่าเอ็นดูมักจะเน้นความเจ้าเนื้อ ความแข็งแรง อ้วนจนแก้มเป็นพวงอ้วนจนเอวกลม
เจ้านกเอี้ยงเอย ขนปีกเจ้าเกลี้ยงหางกลม
จับอยู่ที่ท้ายสนม เอวกลมเจ้าคนเดียวเอย
นอนไปเถิด
นอนไปเถิดแม่จะกล่อม นวลละม่อมแม่จะไกว
ทองคำแม่อย่าร้องไห้ สายสุดใจเจ้าแม่เอย
นอนเสียเถิด
นอนเสียเถิดเอย ขวัญเข้าเจ้าเกิดในดอกบัว
เลี้ยงไว้หวังจะได้เป็นเพื่อนตัว ทูนหัวเจ้าคนเดียวเอย
เจ้าเนื้อละมุน
เจ้าเนื้อละมุนเอย เนื้อเจ้าอุ่นเหมือนสำลี
แม่มิให้ผู้ใดต้อง เนื้อเจ้าจะหมองศรี
ทองดีเจ้าคนเดียวเอย
โอละเห่
โอ้ละเห โอ้ละเห่ ใครจะขวั้นสายเปลให้ลูกนอน
ใครจะป้อนยาสอ ใครจะบดข้าวป้อน
ใครจะต้มน้ำอาบ ใครจะอาบน้ำร้อน
พ่อแม่ก็อยู่ไกล ใครจะไกวลูกนอน
บางบทเป็นการปลอบโยน แสดงถึงธรรมชาตินิสัยของเด็กที่อุ้มมากมักจะเคยมือ หรือชอบให้พาไปดู ไปเล่นในที่ต่างๆ เช่น
ไปดูช้าง ไปเล่นตามหาดทราย ซึ่งผู้เลี้ยงดูจะต้องระวังให้มากในบทพัดกระดาษ
แสดงถึงอัธยาศัยของเด็กอีกอย่างหนึ่งคือ ความเสียดายของเจ้าพัดกระดาษเอย
ขาดแล้วจะซื้อใช้ สำเภาเงินสำเภาทอง เขาจะล่องเข้ามาใหม่ แม่จะซื้อมาใช้ให้
เจ้าพัดกระดาษเอย
2. กลอนแสดงความรักระหว่างชายหนุ่มหญิงสาว
กลอนแสดงความรักระหว่างชายหนุ่มหญิงสาว มีปนอยู่ในเพลงกล่อมเด็กเป็นจำนวนมาก มารดาหรือผู้ร้องอาจจะเก็บตกมาจากเพลงในประเพณีการร้องเล่นโต้ตอบระหว่างหนุ่มสาวหรือวรรณกรรมชิ้นที่ตนรู้จัก บางเพลงเนื้อเพลงเป็นเรื่องที่ไม่เหมาะสมกับเด็กเลย เข้าทำนองบทชมนาง บทผูกรัก บทลักพาหนี บทจาก และชิงชู้ของเพลงปฏิพากย์ เช่น เพลงเดือนหงาย แสดงถึงความรักในธรรมชาติ และอารมณ์ของผู้ที่ตกอยู่ในความรัก
เดือนเอ๋ยเดือนหงาย ดาวกระจายทรงกลด
อุ้มเจ้าขึ้นใส่รถ ว่าจะพาไปชมเดือน
พิศแลดูดาวไป ดาวก็ไม่งามเหมือน
พิศแลดูเดือน เหมือนนวลอุแม่นา
ใจความจะเป็นการเกี้ยวพาราสีให้หญิงรับรักชาย บางเพลงแสดงการนัดแนะว่าจะหนีตามกันไป ดังเพลง
โอ้ละเห่เห้เห่ ลูกสาวของชาวทะเล
ว่ายน้ำตามเรา จะจอดเรือไว้รอท่า
จะราเรือคอยรับเอา จะรับขวัญนวลเจ้า
มาเข้าในห้องนอนเอย
มีบางบทที่แสดงการพลัดพราก ดังบทหนึ่งจากปักษ์ใต้
พี่ไปเหอ ฝากแก้วแววไวไว้ไคเหลย
สาดนอนหมอนเกย ฝากไว้ไคเหลยนางนงนุช
ฝากไว้ใต้น้ำสากกลัวปลา ฝากไว้นาคาสากลัวครุฑ
ฝากไว้ไคเลยนางนงนุช กลัวครุฑอี้พา
เอ้อเหอไป
3. กลอนแสดงอารมณ์กดดัน
เพลงกล่อมเด็กบางบทแสดงอารมณ์กดดัน ความคับใจของผู้ร้องที่ไม่สามารถแสดงได้อย่างเปิดเผย จึงเก็บมารำพึงรำพันกับตนเอง ดังบทหนึ่งที่แสดงถึงความคับใจของลูกที่ถูกพ่อแม่ขายไปเป็นทาส
นกเขียวเหอ เกาะเรียวไม้พุก
พ่อแม่อยู่หนุก โลกไปใช้นาย
ฝนตกฟ้าร้อง พ่อแม่เขาอยูหนูกบาย
โลกไปใช้นาย นั่งกินแต่น้ำตา
นอกจากนี้มีบางบทที่แสดงอารมณ์ในใจของหญิงหม้ายความว้าเหว่ ขาดที่พึ่ง ขาดแรงงานสำคัญของครอบครัวความไม่เทียมหน้าเทียมตาเพื่อนบ้าน เพราะลูกขาดพ่อ ลูกใครได้กินเนื้อกินปลา ลูกตนเองก็เฝ้ามอง
คั้นเพินได้กินซิ่นเจ้ากะเหลียวเบิงต๋า
คั้นเพินได้ป๋าเจ้ากะสิเหลียวเบิงหน้า
มูพี่น่องเฮี้ยนใก้เพินกะซัง (ภาคอีสาน)
4. กลอนแสดงอารมณ์กระทบกระเทียบ
กลอนแสดงอารมณ์กระทบกระเทียบ มีทั้งล้อและเสียดสี คือ ทั้งเพื่อความขบขันและเพื่อประณามส่วนมากจะล้อเรื่องความผิดพลาดด้านชู้สาว หรือเรื่องภายในครอบครัว มิได้ลามออกไปถึงสถาบันอื่น ซึ่งแสดงว่าเรื่องราวในครอบครัวในหมู่บ้านเล็กๆ มักจะเป็นที่สนใจและกล่าวขวัญถึงว่า สามีภรรยาคู่ไหนเป็นอย่างไร ลูกสาวบ้านนี้เป็นอย่างไร เพลงกล่อมเด็กปักษ์ใต้บทหนึ่งกล่าวถึงความใจเร็วด่วนได้ข้องหญิง ว่ายังไม่ถึงวัยอันควรก็แสดงว่าอยากแต่งงาน
โลกสาวเหอ โลกสาวบ้านนอก
นมไม่ทันงอก บอกแม่เอาผัว
เดียวกอนแล้อีสาวเหอ ให้อ้ายบ่าวมึงหลบแตแลงั่ว
บอกแม่เอาผัว ดอกบัวไม่ทันบาน
กลอนที่กล่าวกระทบกระเทียบถึงสาวๆ นี้ มีพบในเพลงกล่อมเด็กทุกภาค แสดงให้เห็นว่าสังคมไทยไม่นิยมหญิงที่ชิงสุกก่อนห่าม หรือผู้หญิงที่ไม่เก่งงานบ้าน ทำงานบ้านไม่เป็น หุงข้าวแฉะ สิ้นฟืนเป็นเกวียน ไม่เป็นแม่บ้านแม่เรือนที่ดี ดังตัวอย่างเพลงลูกสาว
ลูกสาว
ลูกเอ๋ยลูกสาว ลูกของชาวเมืองเหนือ
ทาขมิ้นเป็นเนื้อ ทำอะไรก็ไม่เป็น
หุงข้าวแต่ละหม้อ สิ้นฟืนก่อเป็นเกวียนเข็น
บ้างก็สุกบ้างก็ดิบ หน้าทะเล้นไม่มีอายเอย
มีกลอนบางบทที่กล่าวเสียดสีผู้ชายที่แก่แล้ว แต่ยังทำตนเป็นเฒ่าหัวงู
งูสายพายเหอ ยอนขึ้นแม่คอก
ไอเฒ่าหัวหงอก อวดตัวอีเลี้ยงเมียสาว
แลเห้อแลดู ไอ้เฒ่าหัวงูหมั้นทำบาล
อวดตัวอีเลี้ยงเมียสาว เฒ่าแล้วไม่คิด
เห้อ
หงอก
นอกจากหญิงสาววัยรุ่น ชายแก่แล้ว แม่หม้ายก็เป็นบุคคลอีกพวกหนึ่ง
ที่สังคมเพ่งเล็ง ไม่ว่าจะทำอะไร ดังในเพลง ฝนตกแดดออก และเพลงกล่อมเด็กปักษ์ใต้
ฝนตกแดดออก นกกระจอกเข้ารัง
แม่หม้ายใส่เสื้อ ถ่อเรือไปดูหนัง
ไปบ้านออกเหอ ไปแลโลกกรอกหมันไตราว
แม่หม้ายทำสาว อี้งามอี้แม่สักแค่ไหน
ตัวของเรานี้ รู้ดีอยู่ในใจ
อี้งามอี้แงสักแค่ไหน แม่หม้ายหมันทำสาว
บางบทยังแสดงถึงผู้ชายที่เจ้าชู้ ย่อมที่จะได้รับความเดือดร้อนจากความรัก เช่น
เพลงไกรทอง
ไกรทอง
ไกรเอย ไกรทอง เมียทั้งสองเจ้าก็รักไม่เท่ากัน
รักเมียหลวงเท่าท่อนอ้อย รักเมียน้อยเท่าท่อนจันทน์
รักก็ไม่เสมอกัน บาปนั้นจะมาถึงตัวเอย
การแสดงอารมณ์ต่างๆ ของมนุษย์ในเพลงกล่อมเด็ก นับเป็นสิ่งที่น่าชมมากกว่าตำหนิ เพราะผู้แต่งเปรียบเหมือนเป็นกวีที่สะท้อนสภาพของสังคมรอบตัว ไม่ว่าจะเป็น เหตุการณ์ บุคคล สถานที่ ประเพณี ความเชื่อ ลงในเพลงกล่อมเด็ก เช่นเดียวกับวรรณคดีแบบฉบับ ไม่ว่าจะเป็นลิลิตพระลอ อิเหนา ขุนช้างขุนแผน ล้วนสะท้อนภาพสังคมที่กวีมีส่วนเกี่ยวข้องในแต่ละสมัยทั้งสิ้น เพลงกล่อมเด็กจึงเป็นเพลงที่สะท้อภาพสังคมชาวบ้านในแต่ละภาคให้เราเห็นได้อย่างดีเยี่ยม
- เพลงกล่อมเด็กภาคอีสาน
- ประโยชน์ของเพลงกล่อมเด็ก
- เพลงกล่อมเด็กภาคเหนือและภาคอีสาน
- คำขึ้นต้นเพลงกล่อมเด็ก
- การแสดงอารมณ์ในเพลงกล่อมเด็ก
- คุณค่าของเพลงกล่อมเด็กภาคอีสาน
- เพลงแข่งขัน
- เพลงเกี่ยวกับการประกอบอาชีพ
- เพลงปฎิพากย์
- เพลงประกอบการเล่นพื้นบ้าน
- เพลงประกอบพิธี
- เพลงกล่อมเด็ก