ขนบธรรมเนียม ประเพณี วัฒนธรรม อารยธรรม >>

เพลงพื้นบ้าน

นายบุญเสริม แก่นประกอบ ครู โรงเรียนบ้านชงโค

เพลงพื้นบ้าน คือเพลงของท้องถิ่นใดท้องถิ่นหนึ่ง และเป็นที่รู้จักกันดีเฉพาะถิ่นนั้นๆ ลีลาการขับร้องหรือการฟ้อนรำจึงมีอิสระทั้งในด้านรูปแบบและเนื้อหา จึงเป็นที่นิยมของชาวบ้าน ด้วยสาเหตุที่เพลงพื้นบ้านใช้ภาษาถิ่น ใช้ทำนองสนุก จังหวะเร้าใจ เนื้อหาถ่ายทอดความรู้สึกนึกคิด อุดมการณ์ ความเป็นอยู่และภูมิปัญญาชาวบ้าน

เพลงพื้นบ้านถือว่าเป็นวรรณกรรมชาวบ้านประเภทหนึ่งที่ใช้ร้องเล่นในสังคมท้องถิ่น ถ่ายทอด สืบทอดกันมาโดยใช้ความจำ ไม่มีการบันทึกให้ทราบถึงผู้แต่ง ที่มาของเพลงหรือแม้กระทั่งระเบียบวิธีการเล่นก็ใช้จดจำสืบต่อกันมา จึงเรียกได้ว่าเป็นวรรณกรรมปากเปล่าหรือวรรณกรรมมุขปาฐะ เป็นวัฒนธรรมทางด้านความบันเทิงของชาวบ้านในท้องถิ่น แล้วแพร่กระจายจากถิ่นหนึ่งไปยังอีกถิ่นหนึ่ง มีความสัมพันธ์กับวิถีชีวิตเป็นอย่างมาก

เพลงพื้นบ้านเป็นวิวัฒนาการทางการใช้ภาษาในระดับสูงขึ้นมา เพราะเมื่อสังเกตดูเพลงพื้นบ้านจะเป็นสื่อถ่ายทอดเรื่องราวอันเกิดขึ้นในสังคมชาวบ้านทุกระดับจากระดับชาวบ้านในหมู่บ้าน ตำบล เมือง จนกระทั่งถึงระดับชาติ เมื่อถึงระยะหนึ่งจะมีผู้คิดประดิษฐ์คำให้เรื่องเหล่านั้นมีคำที่ไพเราะ ถ้อยคำคล้องจอง เมื่อถึงระยะหนึ่งก็จะมีผู้คิดใส่ทำนองร้องและใส่เครื่องดนตรีประกอบ ทำให้เพลงพื้นบ้านมีความไพเราะ มีคุณค่าทางด้านให้ความบันเทิงและสะท้อนสภาพสังคมทุกด้าน เราสามารถจะศึกษาชีวิต ความเชื่อ ค่านิยม ภาษาและวัฒนธรรมอื่นๆจากเพลงพื้นบ้านได้ทั้งสิ้น

วิวัฒนาการชั้นสูงสุดของเพลงพื้นบ้านก็คือ กลายเป็นวรรณคดีประจำชาติจากตำนานพื้นบ้าน นิทานร้อยแก้ว นิทานร้อยกรอง วรรณคดี เล่าเป็นนิทาน ตัวอย่างเช่น ตำนานขุนช้าง ขุนแผน นิทาน เสภา วรรณคดีเรื่อง ขุนช้าง ขุนแผน เล่าตำนานชาดก นิทานชาดก กลอนเทศน์ วรรณคดีมหาเวสสันดร ชาดก เล่าตำนานพระลอ นิทาน ขับซอ วรรณคดีลิลิตพระลอ เล่า
และวิวัฒนการเช่นนี้ ก็พบในทุกชาติที่มีวัฒนธรรมดั้งเดิมประจำชาติและจากการเล่นพื้นบ้านก็กลายเป็นมรสพประจำชาติได้เช่นเดียวกันและมีผู้ให้ความหมายไว้หลายแนวทางดังนี้

มนตรี ตราโมท กล่าวว่า เพลงพื้นบ้าน หมายถึง เพลงของชาวบ้านในท้องถิ่นต่างๆ ซึ่งแต่ละท้องถิ่นประดิษฐ์แบบแผนการร้องเพลงของตนไปตามความนิยม และสำเนียงภาษาพูดที่เพี้ยนแปร่งแตกต่างกันไป เพลงแบบนี้มักจะนิยมร้องกันในเวลาเทศกาลหรืองานที่มีการชุมนุม ผู้คนในหมู่บ้านมาร่วมรื่นเริงกันชั่วครั้งชั่วคราว เช่น ตรุษ สงกรานต์ ขึ้นปีใหม่ ทอดกฐิน ทอดผ้าป่า และในการลงแขกเอาแรงกันในกิจอันเป็นอาชีพ เช่น เกี่ยวข้าว นวดข้าว

ประเทือง คล้ายสุบรรณ์ ให้ความหมายไว้ว่า คือ เพลงที่ชาวบ้านในท้องถิ่นต่างๆ คิดรูปแบบการร้องและการเล่นขึ้น เพื่อความรื่นเริงสนุกสนาน

จารุวรรณ ธรรมวัตร ให้ความหมายไว้ว่า คือเพลงที่แพร่หลายในแต่ละชุมชน มีเนื้อร้องทำนองเป็นสมบัติของชุมชนโดยปัจเจกบุคคล หรือสังคมสร้างขึ้น และสมาชิกในชุมชนยอมรับร่วมกันว่าเป็นเอกลักษณ์ของท้องถิ่นตน

จึงถือได้ว่าเพลงพื้นบ้านเป็นเพลงที่ชาวบ้านในแต่ละท้องถิ่นคิดประดิษฐ์รูปแบบ เนื้อร้อง ทำนองขึ้นเอง ทุกคนยอมรับและนำไปใช้ร่วมกัน

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย