ขนบธรรมเนียม ประเพณี วัฒนธรรม อารยธรรม >>

เพลงพื้นบ้าน

นายบุญเสริม แก่นประกอบ ครู โรงเรียนบ้านชงโค

เพลงพื้นบ้านประเภทเพลงผู้ใหญ่

เพลงผู้ใหญ่ประเภทเพลงกล่อมเด็ก

คำขึ้นต้นเพลงกล่อมเด็ก

คำขึ้นต้นเพลงกล่อมเด็กในทุกภาค มักจะขึ้นต้นคล้ายคลึงกัน พอจะสรุปได้ดังนี้คือ

1. ขึ้นต้นโดยใช้คำเอ๋ยหรือเอยแทรก พบว่าขึ้นต้นคล้ายคลึงกัน พอจะสรุปได้ดังนี้คือ เช่น แมวเอ๋ยแมวเหมียว วัดเอยวัดสิงห์ วัดเอยวัดโบสถ์ ในภาคอื่นเช่นภาคใต้ให้คำเอ้อเหอ เช่น เอ้อเหอ ลมพัดเหอ ภาคเหนือใช้คำ เน้อ เหย ดังตัวอย่าง นอนเหียลูกเน้อ ภาคอีสาน ใช้คำเด้อ (นะ) นอนสาเด้อ ก็เท่ากับร้องว่า นอนเสียลูก นอนเสียลูกนะ

2. ขึ้นต้นด้วยทำนองกล่อม เช่น ในภาคกลางมีขึ้นต้นด้วยทำนองกล่อม เช่น โอละเห่ โอละเห่เฮ้เห่ (ขุนทะเลละลอก) ภาคเหนือมีเพลงอือ เช่น ขึ้นต้นว่า อือ อือ อือ จา อือ จ้า จา

3. การใช้คำเรียกสิ่งที่พบเห็นรอบๆ ตัว เช่น กล่าวถึงนก แมว ตุ๊กแก ดอกเมละ ต้นปูเล ฝนตกสุยสุย ฯลฯ เป็นสิ่งที่ชาวบ้านพบเห็นในชีวิตประจำวัน มีส่วนเกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวัน เพื่อถ่ายทอดความในใจมาเป็นเพลงจึงปรากฏสิ่งเหล่านี้

นกเอ๋ยนกเอี้ยง
วัวควายก็เลี้ยง อยู่เคียงพร้อมหน้า
จิกเหาจิกขน เวียนวนแข้งขา
ทุกวันก็มา เลี้ยงวัวควายเอย
แมวเอ๋ยแมวคราว
ตัวมันยาวยาว มีขาวมีดำ
มันทำตาปรือ นอนทื่อ บนขนำ
ขี้เกียจประจำ ไม่ทำงานเอย
จิ้งเอ๋ยจิ้งจก
มันร้องจ๊กจ๊ก กระดกหัวร้อง
ค่ำค่ำมันมา ทำท่ามองมอง
คลานคลานย่องย่อง กินแมลงเอย
จิ้งเอ๋ยจิ้งหรีด
มันร้องกรี๊ดกรี๊ด ตัวจี๊ดกระจ้อย
มันอยู่กองไม้ ใครไปก็ถอย
เราต้องค่อยค่อย แอบจับมันเอย
คางเอ๋ยคางคก
ใครว่ามันกก กระดกกระลา
กลางวันมันหมอบ กลางคืนชอบหา
กลัวมันจะมา หลับตาเถิดเอย

ส่วนคำลงท้ายบางบทลงด้วยคำว่าเอย บางบทเป็นการจบความลงเฉยๆ หรือลงท้ายด้วยคำว่าอุแม่นา แต่ในตอนท้ายจะมีการเอื้อนเสียงแทรกเข้าไป ดังตัวอย่าง - แมวเอ๋ยแมวเหมียว แยกเขี้ยวยิงฟัน เสือปลาหน้าสั้น มากัดกันกับแมวเหมียว - วัดเอ๋ยวัดโบสถ์ ปลูกข้าวโพดสาลี ลูกเขยตกยาก แม่ยายก็พรากลูกสาวหนี ต้นข้าวโพดสาลีป่านฉะนี้จะโรยรา - ควายขาวเหอ จับให้น้องจูง ควาย แหล้นเข้าขูง ทำปรือหาพบ มือฟ้ามือขน มือแต่ขี้ลมเสียก้าหมด กำปรือหาพบ ควายขาวน้องทังเหอ โค่ พิศดูเดือนเหมือนนวลอุแม่นา

ใจความของเพลงกล่อมเด็ก มีต่างๆ กัน บางเพลงแสดงถึงความน่ารักน่าเอ็นดูของเด็ก และความรักของมารดาที่มีต่อบุตร เช่น ในเพลงเนื้อเย็น ที่มีใจความห้ามมิให้ลูกออกไปเที่ยวนอกบ้าน ไม่ให้ไปคบเพื่อนชั่ว แม้แต่คำที่ใช้แทนตัวลูกก็ดูเป็นคำที่แทนความรัก ทนุถนอมเอาใจใส่ที่แม่มีต่อลูกเป็นอย่างมาก เช่น เจ้าเนื้อนุ่ม เจ้าเนื้อละเอียด เจ้าบุญประเสริฐ เจ้าทองดี เจ้าทองคำ ฯลฯนอกจากนี้จะเป็นใจความที่แสดงถึงชีวิตชนบท คุณธรรมความเชื่อ ขนบธรรมเนียมประเพณี วรรณคดีท้องถิ่น เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในสมัยนั้น เช่น เพลงขนมแฉ่งม้า หรือแชงม้า เน้นถึงความรักความสามัคคีในครอบครัว เมื่อเด็กได้ตระหนักถึงคุณธรรมและสิ่งที่ดีงามในสังคมไทย ตั้งแต่เล็กก็ได้แบบอย่างการดำเนินชีวิตเมื่อโตขึ้น ส่วนใจความของเพลงกล่อมเด็กที่มีเรื่องเพศสัมพันธ์ การประพฤติปฏิบัติที่ไม่ถูกทำนองคลองธรรมของชาวบ้านไปแทรกนั้น ก็ไม่ใช่เรื่องเสียหาย เพราะนั่นละคือชีวิต ซึ่งมี่ทั้งความทุกข์ ความสุข ความดี ความชั่ว การกล่าวถึงสิ่งเหล่านี้สันนิษฐานได้ 2 ทางคือ อาจจะเป็นการกล่าวเพื่อเสียดสีสังคม หรือเพื่อเป็นการสั่งสอนเตือนใจเด็ก ว่าสิงใดควรประพฤติ สิ่งใดควรละเว้น


- เพลงแข่งขัน
- เพลงเกี่ยวกับการประกอบอาชีพ
- เพลงปฎิพากย์
- เพลงประกอบการเล่นพื้นบ้าน
- เพลงประกอบพิธี
- เพลงกล่อมเด็ก


แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย