ขนบธรรมเนียม ประเพณี วัฒนธรรม อารยธรรม >>
เพลงพื้นบ้าน
นายบุญเสริม แก่นประกอบ ครู โรงเรียนบ้านชงโค
เพลงพื้นบ้านประเภทเพลงผู้ใหญ่
เพลงผู้ใหญ่ประเภทเพลงประกอบการเล่นพื้นบ้าน
เพลงประกอบการเล่นพื้นบ้าน หมายถึง เพลงที่ใช้ร้องประกอบการเล่นพื้นบ้านของชาวบ้านทั้งชายและหญิง การเล่นพื้นบ้านนี้มีทั้งการเล่นเพื่อความสนุกสนสาน และการเล่นในเทศกาล การเล่นเป็นพิธีการในโอกาสพิเศษ เช่น ในเทศกาลตรุษสงกรานต์
การเล่นพื้นบ้านนี้ มีเพลงประกอบ เช่นการเล่นโทน รำวง การเล่นในเทศกาล เช่น เล่นลูกช่วง (ช่วงรำ) เล่นเข้าผี เล่นโม่งเจ้ากรรม บางครั้งนำการเล่นของเด็กมาเล่นด้วย เช่น มอญซ่อนผ้า เล่นรีรีข้าวสาร
เพลงรำวง
เพลงนี้มีประวัติการเกิดแน่นอนว่าอยู่ในสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม ที่มอบหมายให้หลวงวิจิตรวาทการเป็นผู้ประดิษฐ์คิดค้นวัฒนธรรมอย่างใหม่ขึ้นมาเพื่อเป็นเครื่องหมายของความเจริญ เพลงรำวงเกิดขึ้นมาด้วยเหตุผลทางการเมืองดังกล่าว โดยเอาจังหวะของเพลงพื้นบ้านเมืองมาประสมประสานแล้วเรียกว่าเพลงรำวงในด้านความรับรู้ของชาวบ้านคือเพลงเหล่านี้เป็นเพลงสมัยใหม่เกิดขึ้นในสมัยญี่ปุ่นยกทัพเข้ามาในประเทศไทยเท่านั้นเอง
เพลงประกอบการเล่นรำโทน
การเล่นพื้นบ้านที่สนุกสนาน เป็นที่นิยมเล่นกันในหมู่ชาวบ้านมาก ก็คือการเล่นรำโทน การเล่นรำโทนนิยมเล่นในภาคกลาง การเล่นผู้เล่นจะแบ่งเป็น 2 ข้าง คือ ชาย-หญิง เมื่อจังหวะดนตรีเริ่ม และเพลงขึ้นชายจะออกมาโค้งหญิงออกไปรำเป็นคู่ จะมีผู้เล่นดนตรีพื้นบ้านง่าย ๆ คือ กลองโทนหรือใช้วงกลองยาว มีผู้ร้องต้นเสียงและลูกคู่ บางทีทุกคนก็พร้อมใจกันร้องเพลงร่วมกัน มีเสียงปรบมือให้จังหวะ
การเล่นรำโทนเสื่อมความนิยมไปช่วงหนึ่ง ในสมัยที่มีวิทยุกระจายเสียงและมีการบันทึกเสียงเกิดขึ้น มาเริ่มฟื้นฟูกันอีกครั้งในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 แต่เรียกเป็นการเล่นรำวง นิยมเล่นกันในหลายท้องถิ่น มีผู้แต่งเพลงนิรนามเกิดขึ้นสร้างเพลงรำวงขึ้นมากมาย
เพลงรำวงจะเป็นเพลงสั้นๆ เนื้อร้องง่ายใช้คำคล้องจองกันจังหวะสมัยใหม่ อาจจะมีจังหวะของเพลงสากลเข้าไปปะปนบ้าง เนื้อร้องอาจจะเปลี่ยนคำหรือเปลี่ยนตามท้องถิ่นได้ การเล่นรำโทนนี้ผู้รำจะร้องเพลงคลอตามและทำท่าประกอบเพลงไปด้วย การค้นคว้าเพลงรำวงในยุคนี้ พบว่ามีมากในหลายท้องถิ่น และเป็นเพลงที่น่าสนใจอย่างยิ่ง
ตัวอย่างเพลงรำโทน
เพลงใกล้เข้าไปอีกนิด
ใกล้ใกล้เข้าไปอีกนิด ชิดชิดเข้าไปอีกหน่อย
สวรรค์น้อยน้อย อยู่ในวงฟ้อนรำ
รูปหล่อเขาเชิญมาเล่น เนื้อเย็นเขาเชิญมารำ
มองมานัยน์ตาหวานฉ่ำ มา มารำกับพี่นี่เอย
เพลงเดือนจ๋าเดือน
เดือนจ้าเดือน สาวน้อยลอยเลื่อน เหมือนเดือนจากฟ้า
ยามเย็นไม่เห็นน้องมา ในอุราของพี่สะท้อน
ที่จริงจะต้องหยุดพัก มานั่งฝากรักกันเสียก่อน
สาวงามทำให้อาวรณ์ (ซ้ำ) จะพาน้องจรไปตอนเที่ยงคือน.
เพลงแฉ็กอีแหล็กแฉ็กแฉ็ก
แฉ็กอีแหล็กแฉ็กแฉ็ก ที่แรกฉันนึกว่าใคร
ที่ชายเขามารำด้วย สำรวยสำราญใจ
บึ้งทำไมเล่าจ๊ะ บึ้งทำไม่เล่าจ๋า
เธอจงผินหน้ามา ตาพบตาแล้วปลื้มใจ (ซ้ำ)
เพลงเที่ยวเดินตามหาคู่
เที่ยวเดินตามหาคู่ แต่ไม่รู้อยู่ไหน เอ๊ะนี่คู่ของใคร ฉันมองไปหัวใจเพลิดเพลิน
กลับมาดูคู่เก่า ใจฉันเศร้าเหลือเกิน
เธอมาชวนฉันเดิน เศร้าเหลือเกินมาเดินฟ้อนรำ
เพลงฉันมาช้าไปหน่อย
ฉันมาช้าไปหน่อย อย่าใจน้อยบ้านฉันอยู่ไกล
อุตส่าห์ด้นดงหลงไพร (ซ้ำ) เห็นใจนะแม่งามงอน
หยุดพักพูดจากันก่อน (ซ้ำ) มารักกันก่อนอย่างเพิ่งรักใคร (ซ้ำ)
เพลงนกเขา
นกเขาบินตามเขา ไม่ใช่รักเราไม่อยากแลมอง
คู่นี้รำสมกันหรือไม่ (ซ้ำ) พี่น้องชาวไทย ช่วยกันแลมอง
เพลงกุ้งน้อย
กุ้งน้อยลอยตามแม่น้ำตื้น ไม่ฮักคนอื่นตะละเซิ้งตะละเซิ้ง
ตัวพี่เปรียบเหมือนปูดอง ตัวน้องเปรียบเหมือนหมากหุ่ง
ความฮักของพี่มันสูง เหมือนตำหมากหุ่งคู่กับปูดอง (ซ้ำ)
เพลงบินปักษาจะบิน
บินปักษาจะบิน ตะละหลา ละหลาละบิน ปักษาจะบิน
ตัววันรอนรอนเมื่อตอนเช้าตรู่ มองดูปักษาจะบิน (ซ้ำ)
เพลงกระต่ายจ๋า
กระต่ายจ๋า มันน่ารักจริง
โอ้พระจันทร์ทอดทิ้ง มองแล้วก็เศร้าใจ
จันทร์จ๋าลอยมาแต่ไกล (ซ้ำ) อีกสักเมื่อไรถึงจะได้ชมจันทร์
เพลงสุขสำราญที่ไหนมาเจอ
สุขสำราญที่ไหนมาเจอ พบเธอในวงฟ้อนรำ
ได้แต่แลมอง ตาน้องกระไวหวานฉ่ำ
วันนี้มาพบงามงอน ฉันอยากจะต้อนออกไปฟ้อนรำ (ซ้ำ)
เพลงตามองตา
ตามองตา สายตาก็จ้องมองกัน
รู้สึกเสียวซ่านหัวใจ จะว่ารักฉันก็ไม่รัก
จะว่าหลงฉันก็ไม่เหลง แต่ฉันอดโค้งเธอไม่ได้
เธอช่างงามวิไล เหมือนดอกไม้ที่เธอถือมา
เพลงจันทร์เพ็ญ
จันทร์เพ็ญ จันทร์เพ็ญก็เด่นดวง เสียดายแม่พวงมาลัย
เสียใจว่าเขามีเจ้าของ อยากจะลองลองดูสักหน
สงสัยเมื่อไรจะหล่น (ซ้ำ) พวงมาลัยลอยวนคนงามนี่เอย
เพลงยามเย็นฉันเคยเดินเล่น
ยามเย็นฉันเคยเดินเล่น พบนกกางเขนหาคู่เจรจา
ได้ยินเสียงแจ้วแว่วตามลมมา ฉันนึกว่าเสียงหริ่งเรไร
ฉันร้องทักคู่รักกันไม่ใช่ (ซ้ำ) จะทำไฉนจะได้รักกัน
เพลงยวนยาเหล
ยวนยาเหล ยวนยาเล หัวใจว้าเหว่า ไม่รู้จะเร่ไปหาใคร
จะซื่อเปลญวนที่ด้ายหย่อนหย่อน จะให้น้องนอนไกวเช้าไกวเย็น
เพลงศิลปากร
ศิลปากร ท่านเคยฟ้อนทุกเช้าเย็น
ฉันนี้รำไม่เป็น ไม่เคยเห็นศิลปากร
ท่านนี้ใช่หรือก็ไม่ใช่ (ซ้ำ) ฉันรำไม่ได้ศิลปากร
เพลงประกอบการเล่นเข้าผี
การเล่นเข้าผี เป็นการเล่นในเทศกาลตรุษสงกรานต์ที่นิยมให้มีผู้เล่นเป็นผู้เข้าทรง เป็นผีชนิดต่างๆ เช่น ผีลิง ผีสุ่ม ผีลอบ ผีมดแดง ผีกระด้ง ผีแม่ศรี ผีกะลา ผีอึ่งอ่าง ซึ่งถือว่าผีทั้งหลายได้ถูกปล่อยมารับส่วนบุญ เมื่อจะเล่นเชิญผีต้องกระทำพิธีเซ่นไหว้ พวกที่มาชมมาเล่นต้องช่วยกันร้องและกระทุ้งเส้น(ตีไม้รอบวง) เมื่อผีเข้าจะทำท่าทางต่างๆ เช่น วิ่งไล่ตบ (ผีสิง) รำท่าทางอ่อนช้อย (ผีแม่ศรี)
เพลงเข้าผีแม่ศรี
แม่ศรีเอยแม่ศรีสวยสะ ยกมือไหว้พระก็จะมีคนชม
ขนคิ้วเจ้าก็ต่อคอเจ้าก็กลม ชักผ้าปิดนมชมแม่ศรีเอย
แม่ศรีเอยแม่ศรีสาคร นมยานหน้าอ่อนเข้าเลี้ยงเจ้าไว้
นิดหน่อยหนึ่งนา เอาผ้าห้อยบ่า เอาไว้หัวห้อง
กระดิกท้องร่องทองคำจำเปลว ลงมาเร็วเร็วแม่เอวอ่อนเอ้ย
เพลงเชิญผีแม่ศรี ชาวบ้านดอน อำเภอเมือง จังหวัดระยอง
แม่ศรีเอย แม่ศรีสาวสะ ยกมือไหว้พระแล้วจะมาคนชม
คิ้วก็ต่อคอก็กลม ชักผ้าปิดนมชมแม่ศรีเอย
แม่ศรีเอยแม่ศรีสาวหงส์ เชิญเจ้ามาลงนางหงส์สร้อยทอง
ขันหมากก็ซอง ขันพลูก็ซอง ยกเชี่ยนพานทองมารองเจ้าไว้
เซ่นเหล้าเป็ดไก่บนใบตอง ผีลงท้ายวัดผีลงท้ายวา
ผีลงไม่ได้ไต่ไม้ลงมา ให้หนามพุทราเกี่ยวหน้าแม่ศรีเอย
แม่ศรีเอยแม่ศรีสาวหงส์ เชิญเจ้ามาลงให้ตรงที่ขอ
เชิญพี่เชิญน้องมาร้องไวไว เซ่นเหล้าเป็ดไก่ใบตองแตก
ผีลงตาแหก เข้าท้องตาตำ
ผีลงไม่ได้ไต่ไม้ลงมา ตีปิ้บตีกะลาตีไม้กันเอย.
เพลงเชิญผีลิงลม
ลิงลมเอยมาอมข้าวพอง เล็กน้อยทั้งสองมาทัดดอกจิก
เจ้าพระยานกพริก เจ้าพระยานกเขา
ตวงเบี้ยตวงข้าว ข้าพเจ้าลิงลม
มะพร้าวใบกลม ขนมต้นชมพู
ไอ้แก้วน่าดู เล่นชู้กับชาววัง
กระต่ายเล่นหนัง เอละเห่ตุ้มปอง
เอละเห่ตุ้มปอง
เพลงเชิญผีลิงลม
ลิงลมเอยมาอมข้าวพอง เหล็ก (เด็ก) น้อยทั้งสองมาทัดดอกจิก
สั่นหัวสั่นหางกะทางริก ๆ ส่งเบี้ยทรงเจ้ามาเข้าลิงลม
มะพร้าวตกตมหนมต้มชัยชู แก้วหน้าหนู เล่นชู้ชาววัง
กระต่ายเล่นหางติดต้อยเทวี ศาลาโลกี เต้เอย ตุ้มโปง
เพลงเชิญผีลิงลม
เชิญเอ๋ยเชิญลง พระองค์หน้าเขียว
ช้างงาเดียว เชิญเสด็จลงมา
จะลงตัวข้า หรือจะลงตัวใคร
ลงแม่ลำไย เชิญเอ๋ยเชิญลง
เพลงเชิญผีลิงลมของชาวบ้านดอน อำเภอเมือง จังหวัดระยอง
ลิงเอ๋ยลิงลม มาอมข้าวพอง
เด็กน้อยทั้งสอง มาทัดดอกจิก
พระยานกพริก พระยานกเขา
ทวงเบี้ยทวงเหล้า ให้เจ้าลิงลม
ลิงเอ๋ยลิงลม มาอมข้าวพอง
เด็กน้อยทั้งสอง มาทัดดอกจิก
ชันชูหูหาง ก็อย่าตุกติก
ทรงเบี้ยทรงข้าว พระเจ้าลิงลม
มะพร้าวตากลม ขนมชมพู
ไอ้แก้วหน้าหนู เล่นชู้ชาววัง
เฮ้ยกูจะวัง เอ้ยอย่าจะวัง
เขารัดเชือกหนัง ศาลาโรงสี
ติ๊ดต้อยร้อยรี เผอเรอกะท้องป่อง(ซ้ำ)
เพลงเชิญผีสุ่ม
ผีสุ่มเอย สุ่มปลาในไหน
สุ่มปลาในห้วย สุ่มปลาในหนอง
สุ่มปลาในคลอง แม่ทองสุ่มเอย
เพลงเชิญผีกระด้ง
ปู่ด้งโวย ย่าดั้งโวย ขอเชิญลงมา ลงที่ขอ
เชิญมาลง ที่แม่หงส์เหรา ฉันมากินปลา ย่าทองฟันดำ
ฉันมาเล่นน้ำ ทะเลพาไป ให้เหล้าสองไห กระเทียมสองหัว
ปลาปลิงสองตัว ปู่ด้งโวย ย่าด้งโวย.
เพลงเชิญผีอึ่งอ่าง
อึ่งอ่างเอยจะอยู่เมืองล่าง จะอยู่เมืองล่างหรือจะอยู่เมืองบน
อีแม่ปลาหลดขดก้นปลาไหล อีแม่ปลาช่อนใหญ่จั๊บโป่งทุ่มโป่ง
อี่งอ่างเอย จะอยู่เมืองล่างหรือจะอยู่เมืองบน
หน้านาฝนก็ตก ตั้งแต่เดือนหกซกซกซุกซน
อึ่งอ่างตายโอ่งทับ อึ่งอ่างถูกทับตายหลายหน
เชิญเอ๋ยเชิญมา มาเล่นน้ำท่าจุ๊บโป่งทุ่มโป่ง.
(คณะชาวบ้านดอน อำเภอเมือง จังหวัดระยอง)
เพลงผีลอบ
เด็กเอย เด็กเกิดมาจากกำเนิด เกิดเป็นไม้ไผ่ ไม้เอยไม้ไผ่มีลำเซาลาง
มีตารางรอบข้าง จัดเอามาทำไทร น้องเอยน้องแก้ว น้องแก้วขนิษเอย ตัดมา
ทำไทร ชักเถาวัลย์ เข้ามาพันเสาใหญ่ ร้อยมาลัย โอ้แม่นางเอย เชิญเอย
เชิญ เชิญ พระเจ้าเขาเขียว ช้างงาเดียว เชิญเจ้าเร่ลงมา จะลองตัวข้า
หรือจะลองตัวใคร ลองได้ลองไป โอ้แม่นางเอย
เพลงผีมดแดง
มดเอ๋ย มดแดง ต่อยแข้ง ต่อยขา มดใส่ยาๆลงค่ำใช้ยา เชิญเอ่ย เชิญลง
เชิญพระองค์เขาเขียวๆสีกายท่อนเดียว เชิญเสด็จลงมา จะว่าลงตัวข้าหรือว่า
ลงตัวใคร เชิญลงไวๆ จะว่าลงสาวน้อยเอย เต้นเอย เต้นเร่า เต้นใบตองตึง ผีตาย
ตาแหก จึงเสด็จลงมา ว่าจะลงตัวข้า ว่าจะลงตัวใคร ว่าจะลงสาวน้อย ลงใคร
ลงแม่สาวน้อยเอย
เพลงประกอบการเล่นโม่งเจ้ากรรม
การเล่นโม่งเจ้ากรรม ผู้หญิง ผู้ชายจะยืนหันหน้าเข้าหากัน
เมื่อเริ่มเล่นผู้หญิงจะเดินออกมาเอามือแตะฝ่ายชาย แล้วร้อง โม่ง
ผู้ชายจะเดินออกมาจากแถว ผู้หญิงจะร้องเพลงต่างๆ ให้ผู้ชายรำทำท่าตามเพลง
ตัวอย่าง
เพลงโม่งเจ้ากรรม
โม่งเจ้ากรรม (ชื่อคนที่โดนโม่ง) ต้องรำเลยเอย
รำได้รำมา อย่าช่วยกันช้าเลยเอย
เพลงรำนกยูง
นกกะยูง กะยูงรำแพน นกอีแอ่นลอยล่อง
เจ้าพวงมาลัย เจ้าหรือจะไปจากห้อง เจ้าลอยละล่องออกจากห้องไหนเอย
เพลงรำนกอีแซว
นกอีแซว อีแซวไม่ไต่ซาก มายืนอ้าปากกะเติ้วเฮิ้ว
นกผีเลี้ยงไว้ เอาไว้ไม่ไล่กะเติ้วเฮิ้ว
เพลงประกอบการเล่นช่วงรำ
การเล่นช่วงรำ เป็นการเล่นของหนุ่มสาวชาวบ้าน แบ่งผู้เล่นเป็น 2 ฝ่าย ชาย-หญิง มีเส้นแบ่ง 11 คน ลูกช่วงจะทำด้วยผ้าขาวม้า บิดเป็นเกลียวแล้วพันผูกให้แน่น มีชายผ้าเหลืองไว้ใช้โยนลูกช่วงข้ามไปข้ามมาแล้วปาโดนถูกตัวใครเป็นฝ่ายแพ้ จนกระทั่งหมดผู้เล่นข้างใดข้างหนึ่ง ข้างนี้แพ้โดนลงโทษ เช่น ให้รำ เพลงที่ให้รำใช้เพลงต่างๆ เช่น เพลงเหย่ย เพลงพวงมาลัย
ตัวอย่างเพลงพวงมาลัย
เจ้าพวงมาลัย ควรหรือจะไปจากห้อง
เจ้าลอยละล่อง เจ้าในห้องไหนเอย
ดอกเอ๋ย เจ้าดอกพุดตาน
ยามตรุษยามสงกรานต์ สนุกสนานกันเอย
เพลงประกอบการเล่นคล้องช้าง
การเล่นคล้องช้าง นิยมเล่นในเทศกาลตรุษสงกรานต์
วิธีเล่นให้วิธีล้อมวงเอาครกตำข้าวใบใหญ่วางคว่ำไว้ตรงกลาง ผู้เล่นชาย-หญิง
ไม่จำกัดจำนวนยืนเป็นวงรอบครกผู้หญิง ผู้จะทำหน้าที่คล้องช้างขึ้นไปยืนบนก้นครก
ถือผ้าขาวม้ามืดละชายทำเป็นบ่วงคล้องช้างเมื่อเริ่มเล่นผู้คนอื่นๆ จะเดินวนรอบครก
พร้อมกับร้องเพลงคล้องช้าง ผู้หญิงที่ยืนบนก้นครกจะคอยคล้องผู้ชายที่เดินวน
แล้วให้ผู้คล้องได้ขึ้นไปยืนคล้องช้างบนกันครกแทนสลับชาย- หญิง ไปอย่างนี้
คล้องช้างเอามาได้เอย เอามาผูกไว้ ผูกไว้ที่ก้นครก
ช้างเถื่อนมันไม่เคย เอาหัวไปเกยกับช้างบก
ก้นครกละมันเล็กนัก มันจะหักลงเอย
- เพลงแข่งขัน
- เพลงเกี่ยวกับการประกอบอาชีพ
- เพลงปฎิพากย์
- เพลงประกอบการเล่นพื้นบ้าน
- เพลงประกอบพิธี
- เพลงกล่อมเด็ก