ขนบธรรมเนียม ประเพณี วัฒนธรรม อารยธรรม >>
เพลงพื้นบ้าน
นายบุญเสริม แก่นประกอบ ครู โรงเรียนบ้านชงโค
ประเภทของเนื้อเพลงพื้นบ้าน
เนื้อร้องของเพลงพื้นบ้าน แบ่งออกได้ 5 ประเภท คือ
1. ความรัก
2. ความเศร้าโศก ความพลัดพราก (ความตาย) และความผิดหวัง
3. ความตลกขบขันที่เกี่ยวกับเรื่องเพศ ล้อเลียนบุคคล
4. ภาพชีวิตความเป็นอยู่ของสังคม ได้แก่ สภาพแวดล้อม ความเป็นอยู่ของชุมชน
พฤติกรรมวิถีชีวิตของบุคคลในชุมชนหรือปัญหาสังคม
ปัญหาการเมืองการปกครองแต่ละยุคแต่ละสมัย
เพลงพื้นบ้านประเภทที่ 1-3 เป็นเพลงพื้นบ้านที่มีกันมากแพร่หลาย ส่วนประเภทที่ 4
ขึ้นอยู่กับสภาพสังคมว่ายุคใดมีความขัดแย้งทางการเมืองการปกครองเข้มข้นมากน้อยเพียงใด
ศัพท์เฉพาะเพลงพื้นบ้านในการศึกษาเพลงพื้นบ้าน ย่อมต้องรู้
และเข้าใจความหมายของศัพท์ในสิ่งนี้ให้ถ่องแท้ คือพ่อเพลง แม่เพลง หมายถึง ชาย
หรือหญิงที่เป็นหัวหน้าว่าเพลง ชาย จะเรียกว่าพ่อเพลง หญิงจะเรียกว่า แม่เพลง
ซึ่งหน้าที่สำคัญคือนำขึ้นเพลงตั้งแต่เริ่มเล่น เช่นขึ้นต้นบทไหว้ครู บทว่าประ
บทเกี้ยวพาราสี บทร้องลา บทให้พร พ่อเพลง แม่เพลงจะเป็นผู้ขึ้นต้นร้องบทแรก
แล้วจึงให้ผู้เล่นเพลงคนอื่นๆรับช่วงไป บางครั้งคนอื่นๆในวงร้องติดขัด พ่อเพลง
แม่เพลงจะใช้ไหวพริบ ปฏิภาณร้องแก้ให้ทันท่วงทีเพื่อให้การเล่นดำเนินไปได้
ไม่สะดุดลงบางท้องถิ่นเรียกผู้เล่นนำ ว่าคอหนึ่ง
ผู้เล่นที่มีฝีปากรองลงไปก็เป็นคอสอง คอสามตามลำดับ
ลูกคู่ หมายถึง ผู้เล่นเพลงที่ทำหน้าที่รองลงไป จากพ่อเพลง แม่เพลง มีทั้งลูกคู่ชายลูกคู่หญิง ทำหน้าที่ร้องต่อ ร้องรับ ร้องซ้ำตามแต่ชนิดและลักษณะของเพลง บางทีเป็นผู้ร้องแทรกขัดจังหวะ การร้องจะร้องด้วยความหรือถ้อยคำเพื่อให้เกิดความสนุกสนาน
ตัวอย่าง เพลงที่ร้องมีลูกคู่ เช่นเพลงวงต่างๆในการเล่นและร้องเพลงพื้นเมืองครั้งหนึ่งจะมีลูกคู่กี่คนก็ได้ ลูกคู่นั้นจะมีหน้าที่ปรบมือบ้าง ตีฉิ่ง ตีกรับ ประกอบการเล่นเพลงอีกด้วย คำร้องของลูกคู่จะต่างกัน
ชาย ยกมือขึ้นไหว้ ฉันขออภัยเถิดเอย
ลูกคู่(ซ้ำ) ยกมือขึ้นไหว้ ฉันขออภัยเถิดเอย
หญิง ก้มเกล้ากราบกราน เคารพท่านผู้ชมเอย
ลูกคู่(ซ้ำ) ก้มเกล้ากราบกราน เคารพท่านผู้ชมเอย(เพลงเหย่ย)
ชะ ชะ ฮ้า ไฮ้ ตำมะทิงฯลฯ(บทกระทุ้งในการเล่นเพลงเรือ)
โช้ เชียะ แม่เชียะ(เพลงหน้าใย)
เฮ้ เอ้า เฮย( เพลงเกี่ยวข้าว)
-เอาละ จริงของมัน -เออน่า โอยพ่อ (ร้อง เสริมความ)
ร้องหมู่ คือการร้องที่ใช้คนจำนวนมาก เป็นกลุ่ม
การร้องหมู่บ้างครั้งร้องด้วยสำเนียงบางครั้งเป็นการร้องประสานเสียง
ร้องขึ้น คือการร้องขึ้นต้นเพลง อาจขึ้นต้นด้วยทำนองเอื้อน หรือถ้อยคำก็ได้
ส่วนมากจะเป็นทำนองเพลง ซึ่งพ่อเพลง แม่เพลงซึ่งมีกระแสเสียงดีจะเป็นผู้ร้องขึ้น
ตัวอย่าง เอ่อ เออ เอย เอิงเงย โอ โอย ซึ่งจะเอื้อนเสียงให้ยาวเพียงใดก็ได้
ร้องลง ร้องรับ คือ การร้องลงเมื่อจบเพลง หรือจบตอน การร้องลงจะมีเสียงทอดอ่อนลง คนร้องรับหรือคนให้จังหวะดนตรีจะทำเพลงรับทันที เป็นการร้องลงและร้องรับสัมพันธ์กันเป็นอย่างดี ในบางโอกาสเมื่อผู้ร้องรู้สึกเหนื่อย บรรดาลูกคู่หรือคนร้องต่อไปจะต้องคอยสังเกตจะได้ร้องรับหรือร้องเสริมความได้ทันที
ตัวอย่างการร้องลง ร้องรับในเพลงยั่ว
เอ่อ เออ เอ้อ เอย ลูกจะยกกำนนขึ้นไว้บนกระบาล ไหว้ครูบาอาจารย์ผู้เป็นใหญ่
(ลง ลูกคู่รับ เอ้อ เอย ผู้เป็นใหญ่)ไหว้ครูฉิ่ง ครูฉาบ ครูกรับ ครูกลอง
ไหว้ทั้งครูร้องกันละมากมาย ไหว้พระพุทธที่ล้ำไหว้พระธรรมที่เลิศ
ไหว้พระสงฆ์องค์ประเสริฐที่เป็นใหญ่ ไหว้ทั้งคุณครูให้มาสู่ในคอเอย
(ลูกคู่ เอย มาสู่ในคอ) ให้มาต่อหัวข้อเป็นเพลงใน(ลูกคู่ เอ้อ เอย เป็นเพลงใน)
บางทีลูกคู่รับ เอชา ชา ชา ชา นอยแม่ ในเพลงฉ่อย
ร้องสลับส่ง คือการร้องสลับความตอนใดตอนหนึ่ง เป็นการร้องสลับกันระหว่างผู้ร้องแต่ละคน บางทีผู้ชายขึ้นก่อนแล้วผู้หญิงจะร้องสลับ บางทีจะสลับระหว่างคอหนึ่ง กับคอสอง
ตัวอย่าง การร้องสลับ ชาย หญิงในเพลงยั่ว
ชาย คอย คอย คอย แม่คุณไม่ค่อยจะมา มานั่งหาว คอยหานับวันแลหายพี่มายืนตะโกนอยู่ที่โคนตะกอ มายืนรอแม่ช่อ ช่อดอกไม้
หญิง หนุ่มเขามา จะไปดูหนุ่มมั่ง จะเป็นหนุ่มกระมังไปดูไอ้หนุ่มเมืองใน ถ้าเป็นคนหนุ่ม น้องจะไม่แล แต่ถ้าเป็นคนแก่จะยกมือไหว้
ตัวอย่าง การร้องสลับในเพลงร่อยพรรษา ระหว่างคอหนึ่ง คอสองและลูกคู่
คอหนึ่ง ยกเท้าก้าวย่าง เสียงไก่กระพือปีกหางกระไรเมื่อกลางคืน(ลูกคู่ พือเอย
ปีกหางกะไรเมื่อกลาง เอยคืน)ลูกมาขอโทษเสียเถิดแม่งามทรัพย์
ลูกมากจนแม่กำลังหลับก็ต้องตื่น
คอสอง อกลูกไม่ชื่นเลยเอย ลูกมาเที่ยวนางกลางคืน(ลูกคู่ อกลูกไม่ชื่นเลยเอย)
ร้องส่ง คือการร้องลงเมื่อยังไม่จบความแล้วโยนความให้คนร้องคนต่อไปร้องต่อ คนร้องรับจะต้องสังเกต และจำคำร้องส่งให้ดี จะได้ร้องรับได้เหมาะเจาะ ไม่เสียความ ทั้งยังเพิ่มความสนุกสนาน แสดงถึงไหวพริบปฏิภาณของผู้ร้องรับอีกด้วย
ตัวอย่างการร้องส่ง ร้องรับ
ชาย เอ็งเป็นผู้หญิงอย่าอวดหยิ่งไปนัก ถ้าอวดหยิ่งพ้นหยักข้าวไปเท่าไรเอ็งเป็นผู้หญิง อย่าอวดหยิ่งป้องหย่อง สำหรับไปอยู่ใต้ท้องของได้พวกผู้ชาย
หญิง สำหรับไปอยู่ใต้ท้องของได้พวกผู้ชายเจ้าหัวเฉลาเจ้าหน้าเฉลิมปะลูกคู่เดิม ของมึงเป็นไร
ได้มีการตื่นตัวในการฟื้นฟูศิลปวัฒนธรรมประจำชาติขึ้นมา
โดยบรรจุหลักสูตรวิชาวัฒนธรรมไทย วัฒนธรรมท้องถิ่น วัฒนธรรมพื้นบ้าน
วรรณกรรมท้องถิ่น คติชาวบ้าน ในการศึกษาระดับอุดมศึกษา
ข้อมูลเกี่ยวกับเพลงพื้นบ้านได้สอดแทรกไว้ในแบบเรียนวิชาภาษาไทยตั้งแต่ชั้นประถมศึกษา
จนถึงมัธยมศึกษา ได้พยายามศึกษาถึงค่านิยม ความนิยม
ความเสื่อมของเพลงพื้นบ้านในแต่ละท้องถิ่นกันมากมาย
เพื่อที่จะรักษาเพลงพื้นบ้านไว้สำหรับอนุชนรุ่นหลัง
โดยได้ศึกษาถึงปัจจัยที่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อเพลงพื้นบ้าน คือ
เมื่อมีการเล่นบันเทิงชนิดอื่นๆเข้าในประเทศไทยพร้อมๆกับความเจริญทางด้านการสื่อสาร
มีการบันทึกเสียง มีการถ่ายทอดทางสื่อสารมวลชน วิทยุกระจายเสียง มีภาพยนตร์
มีเพลงลูกกรุง ลูกทุ่ง เป็นเครื่องให้ความบันเทิงอย่างใหม่
ความนิยมในการฟังเพลงก็น้อยลงไป ผู้ร้องเล่นเพลงพื้นบ้าน ไม่จำเป็นต้องขึ้นเวที
เล่นจริง เพราะไปเล่นบันทึกเสียงก็ถ่ายทอด รับฟังกันวงกว้าง
วงเพลงพื้นบ้านที่ประกอบด้วย พ่อเพลง แม่เพลง ลูกคู่ ก็เริ่มสลายตัวแยกย้ายกันไปประกอบอาชีพดั้งเดิมของตน เพราะจะยึดเอาการเล่นเพลงพื้นบ้านเป็นอาชีพไม่ได้อีกต่อไปแล้ว
ทางด้านเพลงกล่อมเด็ก เพลงประกอบพิธีกรรม เพลงประกอบการงานอาชีพก็เช่นเดียวกัน ความรีบร้อนในการทำงาน ทำให้การเลี้ยงดูทารกพลอยรีบร้อนไปด้วย แม้เพลงประกอบพิธีกรรมก็ต้องรวบรัดเนื่องจากมีเวลาอันจำกัด การประกอบอาชีพการงานกสิกรรมดั้งเดิมที่เคยมีการเล่นเพลงเพื่อรวมแรง และผ่อนคลายความเหน็ดเหนื่อย ก็มีเครื่องทุ่นแรงมาช่วย เพลงในลานนวดข้าว เพลงเกี่ยวข้าว ก็กลายเป็นสิ่งที่ถูกลืมไปในที่สุด
มนุษยชาติเมื่อรับความเจริญทางด้านวัตถุเข้าไว้ใน ชาติพันธุ์ของตนแล้ว ก็มักจะหวนกลับไปสู่อดีตอันดีงาม ด้วยความสำนึกและเสียดายสมบัติ อันล้ำค่าที่บรรพชนมอบไว้และถูกลืมไปชั่วระยะหนึ่งจากความจำเป็นและความสำคัญของการศึกษาเพลงพื้นบ้านดังกล่าว จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่เราจะต้องรู้จักเพลงพื้นบ้านให้ละเอียดลึกซึ้ง