ขนบธรรมเนียม ประเพณี วัฒนธรรม อารยธรรม >>
เพลงพื้นบ้าน
นายบุญเสริม แก่นประกอบ ครู โรงเรียนบ้านชงโค
เพลงพื้นบ้านประเภทเพลงผู้ใหญ่
เพลงผู้ใหญ่ประเภทเพลงกล่อมเด็ก
เพลงกล่อมเด็กภาคอีสาน
เพลงนอนสาเดอ
นอนสาเดอหลับตาจ้วยจ้วย เขามาขายกล้วยแม่ซื้อให้กิน
เจ้าสุบินนอนสาลูกแก้ว นอนอู่แล้วในอู่สายไหม
นอนอู่สิไกวไปไวไป นอนอู่ไทยไกวไปโตนเตน
เพลงนอนสาแม่เยอ
นอนสาเดอแม่เยอ แม่เฮาไปไฮ่ขี่ควายเขาหลา
แม่เฮาไปนาขี่ควายเขาตู้ ขาหนึ่งคู่ขาหนึ่งเหียดซอย
สองขาหน้ายันไปกุ่นกุ่น สาวขาไล่กันขี้ดินไงผง
นอนสาเดอแม่เดอ หึอื่อ หึ อื่อ
วัตถุประสงค์ของการที่มีเพลงกล่อมเด็กเกิดขึ้นนั้น ก็เพื่อจะกล่อมเด็กให้นอนหลับ ผู้ที่ดูแลเด็กจะได้ไปประการงาน ในขณะเดียวกันผู้ร้องก็เกิดความสุขเพลิดเพลินไปกับการร้องเพลงกล่อมของตน ส่วนเด็กที่นอนอยู่ในเปลก็ได้รับการสั่งสอนเกี่ยวกับสภาพสังคม การวางตนในเมื่อเติบโตไปโดยไม่รู้ตัว เป็นที่น่าเสียดายที่การใช้เพลงกล่อมเด็กเพื่อวัตถุประสงค์เช่นนี้ไม่เป็นที่นิยมกันในปัจจุบัน
เพลงเนื้อเกลี้ยง
โอละเห่ เนื้อเกลี้ยง คนทั้งหลายเขามีพี่เลี้ยงแม่นม
จะกินแต่น้ำตาลส้ม กินเล่นต่างนมพระมารดาเอย
เพลงนอนหลับ
นอนหลับเอย หลับให้เต็มตา
เขาไล่ควายมา เจ้าพระยาควายแอ้
ตะวันเย็นย่ำย่ำ ควายแอ้มันร่ำหาแม่
เจ้าพระยาควายแอ้ พลัดแม่เมื่อยามเย็นเอย
เพลงเจ้านรหอย
เจ้านรหอยเอย เจ้าขี่ช้างน้อยไปสอยดอกแค
สอยไดอามาให้แม่ ดอกแคของข้า
ระย้าระโหยงเอ๊ย ดอกแคของข้า
ระย้าระโหยงเอ๊ย
เนื้อเพลงกล่อมเด็กข้างต้นมีการแสดงให้เห็นถึงอารมณ์ที่อ่อนไหวของความรักของแม่ที่มีต่อลูก ความห่วงใย กังวลต่างๆ พร้อมกันนั้นก็สอดแทรกการอบรมให้มีความเมตตากรุณาต่อสัตว์ต่างๆ ตามค่านิยมทางพุทธศาสนา นอกจากนั้นความใกล้ชิดกับธรรมชาติของชาวชนบทยังปรากฏในบทเพลงที่แสดงให้เห็นถึงความเข้าใจ ความเป็นหนึ่งเดียวกับธรรมชาติ จนกลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตที่แยกไม่ออก
เพลงที่ปลูกฝังความรักเมตตาสัตว์ และความเข้าใจในธรรมชาติดังที่กล่าวมานั้นอยู่ในเพลง นกเขา นกกระจิบ พ่อเนื้อเย็น พ่อเนื้อละเอียด กาเหว่าเอย เพลงนกเอี้ยง ไก่แจ้ เพลงตุ๊ดตู่ เพลงนกการเวก
เพลงแม่นกเขา
แม่นกเขาเอย ขันตั้งแต่เช้าจนเย็น
ขันให้ดัง ๆ แม่จะฟังเสียงเล่น
เสียงเย็นเย็นเอยพ่อคุณ
เพลงแม่นกกระจิบ
แม่นกกระจิบเอย บินมาลิบ ๆ เทียมเมฆ
เทียมเมฆเอยพ่อคุณ ตัวใหญ่เป็นเอก
เพลงไก่แจ้
ไก่แจ้เอย พลัดแม่ไก่ลาย
เขี่ยกินหาดทราย ไก่ลายดอกหมาก
อย่าโฉเจ้าเอย ไก่เราขันยาก
ไก่ลายดอกหมาก ขันเพราะนะทูลหัวเอย
เพลงนกการเวก
นกอะไรหนอเอย คือนางนกการเวก
บินสูงสุดเมฆ ข้ามภูเขาสาคร
ทั้งปีกทั้งหางเจ้าน่ารัก ใคร่จักได้ทำหมอน
เจ้าข้ามเขาสาคร จะไปนอนไหนเอย
เพลงตุ๊ดตู่
ตุ๊ดตู่เอย เฝ้ารูไม้ไผ่
งูเขียวตัวใหญ่ มันก็ลายพร้อย
งูเขียวตัวน้อย ห้อยหัวลงมา
คติความเชื่อที่มีบทบาทต่อการกำหนดพฤติกรรมและความสัมพันธ์ทางสังคมของคนไทย
คือความกตัญญู ทั้งเน้นให้เห็นชัดจากเนื้อเพลง เช่นใน เพลงเจ้ากำพร้า
ที่กล่าวถึงความยากลำบากในการเลี้ยงลูก
ตั้งแต่ตัวแม่เองต้องอยู่ไฟหลังคลอดจนตัวไหม้ลายเหมือนดอกจันทร์
ต้องอดทนกินแต่น้ำร้อนที่ต้มจากไม้ตะแกเป็นเวลานาน
ก็เพื่อหวังว่าเมื่อลูกเติบใหญ่แล้วควรจะได้ทดแทนบุญคุณของพ่อแม่ในยามชรา
เพลงเจ้ากำพร้า
เอ้เอ้ โอละช้าโอละเห่เอย เจ้านี่เป็นกำพร้ามาตั้งแต่ในครรภ์
เขาไม่รักไม่ใคร่พ่อรูปหล่อเอย เขาถึงเอาไปโยนบ่อเสียเช่นนั้น
แต่เที่ยงเขาไม่อนุกูล ชีวิตของเจ้าจะสูญสิ้นชีวัน
กว่าจะรอดเป็นคนขึ้นมาได้ก็แย่ สิ้นไม้ตะแกไปหลายอัน
กินน้ำร้อนนอนไฟเล่นเอาลายเป็นดอกจันทร์
พ่อบุญช่วยฟังเสียงกล่อมอยู่ นอนหลับอยู่ในเปลเมื่อกลางวัน
เพลงเจ้าเนื้ออุ่น
เจ้าทองสงวน เพลงพ่อเนื้อละเอียด ล้วนสะท้อนให้เห็นถึงทัศนคติในการอบรมเลี้ยงดูเด็ก ที่เป็นคนดีนั้นหมายถึงคนที่ว่าง่ายไม่ดื้อดึง เชื่อฟังผู้ใหญ่ เพราะฉะนั้นจะอุ้มเด็กมากไม่ได้เดี๋ยวจะได้ใจ และเสียคน เพราะตามใจตนเองมากไป
เพลงพ่อเนื้ออุ่นเอย
เก็บดอกพิกุลบานเย็น เก็บเอามาได้
ร้อยพวงมาลัยเจ้าเล่น พ่อเนื้อเย็นจะนอนวัน
เพลงเจ้าทองสงวน
เจ้าทองสงวนเอย สงวนเจ้าไว้แต่บนเรือน
เพื่อนเล่นเขามาชวน เจ้าจะตามเพื่อน ให้อยู่แต่เรือนเลี้ยงน้อง
เพลงพ่อเนื้อละเอียด
พ่อเนื้อละเอียดเอย ช้างเข้าเพนียดจะไปดู
ช้างตัวมันตกมันเป็นบ้าอยู่ จะไปดูช้างงา
สงสารช้างน้อย เพราะไม่กินหญ้า
ยกงวงพาดงา น้ำตาไหลริน
แต่ในสภาพความเป็นจริงแล้ว แม้คนไทยจะมีทัศนะในการเลี้ยงเด็กดังกล่าว ปรากฏว่าคนไทยก็ยังนิยมอุ้มชูเด็กจนโต และมักไม่ค่อยให้ช่วยเหลือตัวเอง สำหรับเด็กผู้หญิงนั้นก็มีคติว่าควรจะอยู่แต่ในเหย้าเรือน ช่วยทำงานบ้านเลี้ยงน้อง ไม่ควรออกไปวิ่งเล่นนอกบ้าน จะเห็นได้ว่าหน้าที่ที่สำคัญของผู้ที่เกิดก่อนคือต้องเลี้ยงน้อง เพราะครอบครัวไทยในชนบทมักมีลูกมากและติดๆ กัน ผู้เป็นพี่จึงต้องเสียสละและจากการเป็นผู้ให้ จึงอาจมีผลต่อผู้เป็นน้องโดยเฉพาะคนสุดท้องที่มักไม่ค่อยโตหรือไม่ค่อยรับผิดชอบ เพราะน้องนั้นมีหน้าที่เคารพเชื่อฟังพี่เท่านั้น
เพลงหัวล้าน
โอ้ละเห่หัวล้านนอนเปล ลักข้าวเม่าเขากิน
แล้วเขาจับตัวได้ หัวไถลลงดิน
หัวล้านมากิน ตกตะพานลอยไป
ร้องเรียกเขาช่วย เขาก็ไม่ช่วย
หัวล้านก็ม้วยบรรลัย ตกน้ำลอยไป
- เพลงกล่อมเด็กภาคอีสาน
- ประโยชน์ของเพลงกล่อมเด็ก
- เพลงกล่อมเด็กภาคเหนือและภาคอีสาน
- คำขึ้นต้นเพลงกล่อมเด็ก
- การแสดงอารมณ์ในเพลงกล่อมเด็ก
- คุณค่าของเพลงกล่อมเด็กภาคอีสาน
- เพลงแข่งขัน
- เพลงเกี่ยวกับการประกอบอาชีพ
- เพลงปฎิพากย์
- เพลงประกอบการเล่นพื้นบ้าน
- เพลงประกอบพิธี
- เพลงกล่อมเด็ก