ขนบธรรมเนียม ประเพณี วัฒนธรรม อารยธรรม  >>

หนังตะลุง

ความเป็นมา
องค์ประกอบในการแสดง
โรงและอุปกรณ์ประกอบโรง
รูปหนัง
ขนบนิยมในการเล่น
ครอบมือหนังตะลุง
กลอนและลีลากลอน
ความเชื่อเกี่ยวกับหนังตะลุง
รูปหนังตะลุง
การแกะหนังตะลุง
เครื่องมือการแกะหนัง
นายหนัง
ตัวตลกหนังตะลุง
การเปลี่ยนแปลงเทคนิคการนำเสนอ
การเปลี่ยนแปลงเทคนิคการนำเสนอภาพ
การคงอยู่เคียงคู่ของรูปหนังโบราณและรูปหนังสมัยใหม่
โครงเรื่องและแกนเรื่องของหนังตะลุง

ครอบมือหนังตะลุง

ครอบมือหนังตะลุง เป็นพิธีกรรมที่หนังตะลุงจัดขึ้นเพื่อแสดงการยอมรับนับถือครูหนังแต่ครั้งบุพกาล โดยเชื่อว่าวิญญาณครูหนังแต่เก่าก่อน อันได้แก่ พระพิราบหน้าทอง ตาหนุ้ย ตาหนักทอง ตาเพชร และครูหนกครูลาย (ครูแกะสลัก) ยังคงดูแลวนเวียนดูแลทุกข์สุขของนายหนังตะลุงทุกคณะ หนังที่ออกโรงแสดงโดยไม่ผ่านพิธีครอบย่อมถูกลงโทษทัณฑ์จากครูดังกล่าวนี้ ในทางตรงข้าม หากผ่านพิธีโดยสมบูรณ์ย่อมได้รับการคุ้มครองให้มีความสุขสวัสดีและรุ่งเรืองในอาชีพ

การประกอบพิธีครอบมืออาจมีขึ้นหลังจากผู้ประสงค์จะหัดเล่นหนังตะลุงเข้ามอบตัวต่อนายหนังอาวุโสซึ่งรับเป็นอาจารย์สอนวิชาเล่นหนังให้ หรืออาจจัดหลังจากหัดแสดงจนชำนาญพอโดยเลือกจัดในวันพฤหัสบดีข้างขึ้นของเดือน 4 เดือน 6 เดือน 9 หรือเดือน 11 วันใดวันหนึ่ง อุปกรณ์ในการประกอบพิธี นอกเหนือจากการแสดงอย่างธรรมดา ๆ แล้ว ยังมีธูป 9 ดอก เทียน 9 เล่ม หมากพลู 9 คำ ดอกไม้ 9 ดอก ใบยอ ใบเงิน ใบทอง ไม้แกระ 1 คู่ ผ้าขาว 1 คู่ เครื่องสิบสอง บายศรี ไก่ปากทอง เป็ดปากทอง รูปหนังเพื่อเสี่ยงจับ 5 ตัว มีรูปพระ นาง ฤาษี ยักษ์ และเสนา ขันใส่น้ำ ภายในขันใส่มีดและหินลับมีด บนโรงดาดพาดเพดานลงมายังพื้นโรงที่วางเครื่องสังเวย บางแห่งยังโยงสายสิญจน์จากดาดเพดานขึ้นไปยังหิ้งครูหมอหนังบนเรือนผู้จัดพิธีอุปกรณ์ต่างๆ ที่จัดขึ้นนอกจากใช้เพื่อสังเวยครูแล้ว ยังจัดขึ้นเพื่อเอาเคล็ด เช่น ใช้ใบยอเพื่อความมีชื่อเสียงเป็นขวัญใจประชาชน ใช้ใบเงินใบทองเพื่อความมั่งคั่ง คือมีเงินทอง ไหลมาเทมาจากการแสดง ใช้มีดโกนและหินลับมีดเพื่อความเฉียบแหลม คมคาย สติปัญญาไหวพริบดี เป็นต้น



ในการประกอบพิธีนุ่งขาวห่มขาวส่วนผู้ที่เข้าพิธีแต่งธรรมดา การประกอบพิธีเริ่มแต่หัวค่ำ คือประมาณเวลาที่ชาวบ้านเรียกว่า "ยามนกชุมรัง" โดยลูกคู่โหมโรงไปพักหนึ่ง ผู้ประกอบพิธีทำพิธีเบิกโรง นำดอกไม้ ธูป เทียนวางบนแกระ จุดธูปเทียนบูชาพระ ยกเครื่องเซ่นสังเวยครู การตั้งเซ่นจะแยก 2 ที่ สำหรับพระพิราบหน้าทองซึ่งมีศักดิ์เป็นเทพที่หนึ่ง และครูต้นอื่นๆ ซึ่งเป็นบริวารอีกทีหนึ่งจากนั้นเริ่มไหว้สัดดีเชื้อครู เชิญพระพิราบหน้าทองและบริวารเข้าสู่พิธีเบิกบายศรี เสร็จแล้วเข้าพิธีกราบครู 9 ครั้ง อาจารย์ผู้ประกอบพิธีให้พรแล้วเสี่ยงจับรูป โดยเอาผ้าห่อรูปสำหรับเสี่ยงจับให้โผล่แต่ไม้ตับ ให้ผู้เข้าพิธีปิดตา เลือกจับเอาเพียงตัวเดียว ได้รูปใดก็ทำนายตามคำโบราณ ซึ่งมีว่า

- ถ้าจับได้รูปพระ (รูปพระราม) ต่อไปจะเป็นหนังดี มีชื่อเสียง มีชัยชนะแก่หนังทั้งปวง
- ถ้าจับได้รูปนาง จะเป็นหนังที่อยู่ในความนิยมของสตรี แสดงหนังได้อ่อนหวาน แต่มีชื่อเสียงไม่เท่าที่ควร
- ถ้าจับได้ฤาษี จะเป็นหนังที่ดีแต่สอนผู้อื่น แต่ตัวเองทำได้ไม่เท่าที่สอน
- ถ้าจับได้รูปยักษ์ จะไม่ค่อยมีชื่อเสียง และชอบใช้วิชาไสยศาสตร์กลั่นแกล้งหนังโรงอื่น
- ถ้าจับได้รูปเสนา จะดีทางตลกขบขัน

เมื่อเสร็จการทำนายทายทักแล้ว อาจารย์จะยื่นรูปที่จับได้นั้นให้ผู้เข้าพิธีเชิดออกจอ เป็นเสร็จพิธี หลังจากนั้นก็อาจให้แสดงซึ่งถือเป็นเรื่องสนุกกันมากกว่า ไม่นับเนื่องในพิธีดังกล่าวแล้ว

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย