ขนบธรรมเนียม ประเพณี วัฒนธรรม อารยธรรม  >>

หนังตะลุง

ความเป็นมา
องค์ประกอบในการแสดง
โรงและอุปกรณ์ประกอบโรง
รูปหนัง
ขนบนิยมในการเล่น
ครอบมือหนังตะลุง
กลอนและลีลากลอน
ความเชื่อเกี่ยวกับหนังตะลุง
รูปหนังตะลุง
การแกะหนังตะลุง
เครื่องมือการแกะหนัง
นายหนัง
ตัวตลกหนังตะลุง
การเปลี่ยนแปลงเทคนิคการนำเสนอ
การเปลี่ยนแปลงเทคนิคการนำเสนอภาพ
การคงอยู่เคียงคู่ของรูปหนังโบราณและรูปหนังสมัยใหม่
โครงเรื่องและแกนเรื่องของหนังตะลุง

กลอนและลีลากลอน

กลอนหรือคำประพันธ์ที่หนังตะลุงใช้มีหลายชนิดการขับร้องก็มีทำนองและมีที่ใช้ต่างกัน คือ

  1. ร่ายโบราณ ใช้ในบทตั้งธรณีสาร ตอนออกรูปฤาษี การร้องกลอนออกเสียงพึมพำ มีลีลาเหมือนร่ายมนตร์
  2. กาพย์ฉบัง ใช้ในบทออกลิงหัวค่ำ ออกรูปฉะ และออกรูปพระอิศวร การร้องกลอนออกเสียงเต็มเสียงในบทออกลิงหัวค่ำและออกรูปฉะ ส่วนบทออกรูปพระอิศวรจะมีท่วงทำนองแบบเดียวกับออกฤาษี
  3. กลอนแปด ใช้ตอนออกลิงหัวค่ำ ออกรูปปรายหน้าบท บทบรรยายความทั่วไป และอาจใช้ในบทพรรณนาความบ้าง กลอนแปดนิยมใช้กันมากในหมู่หนังตะลุงในจังหวัดสงขลา ทำนองการร้องกลอนแบบสงขลาจะค่อนข้างช้า หนังตะลุงทางนครศรีธรรมราชเรียกทำนองการร้องกลอนแบบสงขลาว่า ทำนองสงขลา ส่วนการร้องกลอนของหนังตะลุงทางนครศรีธรรมราช พัทลุง และตรัง จะมีทำนองเร็ว และกระชับกว่า เรียกว่า ทำนองสงขลากลาย
  4. กลอนกลบท คือกลอนแปดนั่นเอง แต่มีลักษณะบังคับเพิ่มขึ้น มีหลายชนิด ยึดแบบอย่างจากกลบทสิริวิบุลกิติ (ทางภาคใต้เรียก ยศกิต) ของหลวงศรีปรีชา ( เซ่ง )บ้าง ดัดแปลงขึ้นเองบ้าง แต่ละชนิดเลือกใช้ตามลีลาและบทบาทของตัวละครเช่น กลบทคำตาย นิยมใช้ตอนออกรูปยักษ์ โดยเฉพาะตอนตั้งเมืองเริ่มจับบทยักษ์ และบทพญาครุฑ เช่น

    "ขอสาธกยกเรื่องถึงเมืองยักษ์
    อาณาจักรตั้งติดทิศพายัพ
    ในเมืองหัดทหารชำนาญฝึก
    ได้ปราบศึกสำเร็จไว้เสร็จสรรพ
    ทหารบกทหารเรือเหลือจะนับ
    แม่ทัพร้ายกายชาตินักรบ
    ขึ้นปีใหม่ใครไม่ถือน้ำพิพัฒน
    จะต้องตัดเศียรศอตามข้อกฎ
    แผ่ผดุงรุ่งเรืองกระเดื่องยศ
    ปราบหมดทั่วดีทั้งสิ่ทิศ"
    (หนังปรีชา สงวนศิลป์ จังหวัดนครศรีธรรมราช)


    นอกจากนี้หนังตะลุงอาจจะใช้กลอนกลบทหลายๆ ชนิดแทรกเพียงบางวรรคบางตอนในขณะว่ากลอนแปด ทั้งนี้เพื่อให้ลีลากลอนมีชั้นเชิงชวนฟัง กลบทอื่นๆ ที่หนังทั่วๆ ไปนิยมใช้ เช่น กลบทนาคบริพันธ์ กลบทกบเต้นต่อยหอย กลบทวัวพันหลัก กลบทงูกลืนหาง เป็นต้น
  5. กลอนสี่ นิยมใช้ในหมู่หนังตะลุงจังหวัดนครศรีธรรมราช ในบทที่ต้องการให้อารมณ์หรรษา เช่น บทชม (ชมโฉม ชมธรรมชาติ) บทโต้ตอบแบบสนุกๆ ระหว่างตัวละคร บทสอนใจ บทเกี้ยว บทสมห้อง (บทสังวาส) ดังตัวอย่าง

    "เข้าป่าระหง ชมดงไม้ดอก งอกเคียงเรียงรก หลุมนกหว้าหวัง
    ไม้เคี่ยมไม้เคียน ไม้เรียนไม้รัง สาเกหนุนหลัง ไม้ทังไม้ทูง
    ไม้สวยไม้แซะ ไม้แบกไม้เบื่อ ไม้เดื่อลูกดก นกนั่งเป็นฝูง
    ไม้ปริงไม้ปราง ไม้ยางไม้ยูง ไม้แคต้นสูง เห็นฝูงชะนี"
    (หนังทวงศ์ เสียงทอง จังหวัดนครศรีธรรมราช)
  6. กลอนลอดโหม่ง ใช้ในบทพรรณนาความโศกเศร้าลีลากลอนจะมีความเนิบช้า เมื่อนายหนังว่ากลอนได้จังหวะหนึ่งๆ ลูกคู่จะตีโหม่งตาม 4 ที โดยตีลูกเสียงแหลมนำ 2 ที ตามด้วยเสียงทุ้ม 2 ที เสียงดัง โหม่งๆ ทุ้มๆ และเมื่อว่ากลอนจบบทหนึ่งจะตีโหม่งเสียงทุ้มยาวเป็นเสียง โหม่งๆ ทุ้มๆๆๆ รูปแบบกลอนจะมีลักษณะคล้ายกับกาพย์ยานี ดังตัวอย่าง

    "ดังไฟสุมอกแม่ แม่แลแลลูกน้อย
    ในดวงตาละห้อยเจ้าไร้สุขทุกข์แสน
    แม่ป่วยไข้ให้อนาถ ประยูรญาติก็ดูแคลน
    มองแม่แม้นกากี ไม่มีดีสักนิดเดียว
    ถึงแม่ชั่วผัวร้าง แม่ไม่ห่างลูกแม่
    จะดูแลประสาจน ไม่หวังคนแลเหลียว
    หายเสียเถิดแก้วตา จากกายาซูบเซียว
    จงโตวันโตคืน ให้แม่ได้ชื่นใจ"

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย