ขนบธรรมเนียม ประเพณี วัฒนธรรม อารยธรรม >>
ความเป็นมา
องค์ประกอบในการแสดง
โรงและอุปกรณ์ประกอบโรง
รูปหนัง
ขนบนิยมในการเล่น
ครอบมือหนังตะลุง
กลอนและลีลากลอน
ความเชื่อเกี่ยวกับหนังตะลุง
รูปหนังตะลุง
การแกะหนังตะลุง
เครื่องมือการแกะหนัง
นายหนัง
ตัวตลกหนังตะลุง
การเปลี่ยนแปลงเทคนิคการนำเสนอ
การเปลี่ยนแปลงเทคนิคการนำเสนอภาพ
การคงอยู่เคียงคู่ของรูปหนังโบราณและรูปหนังสมัยใหม่
โครงเรื่องและแกนเรื่องของหนังตะลุง
องค์ประกอบในการแสดง
คณะหนังตะลุง หนังตะลุงคณะหนึ่งเรียกว่า 1 โรง
ในสมัยก่อนคณะหนังตะลุงมีประมาณ 9-12 คน ประกอบด้วย นายหนัง (ผู้เล่น) 2
คนนั่งทาง หัวหยวก (ส่วนโคนของต้นกล้วยที่ใช้ปักรูปหนัง) สำหรับพากย์รูปพระ
รูปนางคนหนึ่งนั่งทางปลายหยวก สำหรับพากย์ยักษ์ ตัวตลกและตัวเบ็ดเตล็ดอื่นๆ
นายหนังทั้งสองจึงเรียกกันในสมัยก่อนว่า หัวหยวก-ปลายหยวก
มีลูกคู่ครบตามเครื่องดนตรี คือ คนตีทับ 2 คน (ต่อมาใช้คนเดียวตีทับ 2 ลูก) กลอง 1
คน ปี่ 1 คน โหม่ง 1 คน ฉิ่ง 1 คน กรับ 1 คน (ตอนหลังคนตีโหม่ง ฉิ่ง
และกรับใช้คนเดียว) และมีหมอทางไสยศาสตร์ประจำโรงอีก 1 คน ซึ่งเรียกว่า หมอกบโรง
ต่อมา เยี่ยมยง สุรกิจบรรหาร เล่าว่าระยะต่อมาหนังบัว (ประมาณ 50-60
ปีมาแล้ว) แห่งเมืองนครศรีธรรมราชเริ่มคิดเล่นคนเดียว คือทั้งพากย์และเชิดเอง
หนังรุ่นหลังจึงเอาอย่างและปฎิบัติสืบทอดมาจนถึงทุกวันนี้
ชื่อของคณะหนังตะลุงเรียกชื่อตามนายหนังและนิยมต่อด้วย สร้อยนาม
ซึ่งตั้งขึ้นในลักษณะต่างๆ กัน เช่น ตั้งตามชื่อตัวตลกที่เด่นสุดของคณะ เช่น
หนังอิ่มเท่ง หนังช่วงดิก หนังปล้องไอ้ลูกหมี หนังแสงโถ ฯลฯ
ตั้งตามคุณสมบัติที่ดีเด่นของนายหนัง เช่น หนังแคล้วเสียงทอง หนังจูลี่เสียงเสน่ห์
(เสียงดี) หนังขำพันวาว (ตลกเก่ง), ตั้งตามถิ่นอยู่
(มักตั้งในกรณีที่นายหนังมีชื่อตรงกัน) เช่น หนังเอี่ยมเกาะยอ
(เกาะยออำเภอเมืองสงขลา) หนังเอี่ยมเสื้อเมือง(บ้านเสื้อเมือง อำเภอสทิงพระ,
จังหวัดสงขลา) เป็นต้น
เครื่องดนตรีของหนังตะลุง หนังตะลุงคณะหนึ่งมีเครื่องดนตรีประกอบการเล่นประมาณ 6 อย่าง คือ
- กลอง 1 ลูก (เป็นกลองขนาดเล็ก มีหนังหุ้มสองข้าง หน้ากลองเส้นผ่านศูนย์กลางกว้างประมาณ 8-10 นิ้ว หัว-ท้ายเล็กกว่าตรงกลางเล็กน้อย กลองมีความยาวประมาณ10-20 นิ้ว ใช้ไม้ตี 2 อัน)
- ทับ 2 ลูก (1 คู่) ในสมัยก่อนดนตรีหลักมีทับ 1 คู่สำหรับคุมจังหวะและเดินทำนอง (ทับ ทำด้วยไม้กลึงและเจาะข้างใน ลักษณะคล้ายกลองยาวแต่ส่วนท้ายสั้นกว่าและขนาดย่อมกว่า หุ้มด้วยหนังบางๆ เช่น หนังค่าง) ทับทั้ง 2 ลูกนี้มีขนาดต่างกันเล็กน้อยเพื่อให้ได้เสียงต่างกัน และสมัยก่อนมีขนาดโตกว่าปัจจุบัน
- ฉิ่ง 1 คู่
- โหม่ง 1 คู่ เสียงสูงลูกหนึ่ง ใช้สำหรับประกอบเสียงขับกลอน (โหม่งทั้งคู่ แขวนตรึงขนานกันอยู่ในรางไม้ รูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ตัวโหม่งทำด้วยทองเหลืองหรือทองแดง ถ้าหล่อกลมแบบฆ้องขนาดฆ้องวงเรียกว่า "โหม่งหล่อ" ถ้าทำเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าแล้วดุนให้ส่วนที่จะตีสูงกลมขึ้นกลางแผ่นเรียกว่า โหม่งฟาก)
- ปี่ 1 เลา
- กรับ หรือ แกระ 1 คู่ (ใช้เคาะรางกับโหม่ง) สำหรับประกอบจังหวะ
บางคณะอาจจะมีซออีก 1 สาย เป็นซอด้วงมากกว่าซออู้
เพราะเสียงเข้ากับเสี่ยงปี่ได้สนิทกว่า การบรรเลงดนตรี นอกจากโหมโรง
(ชาวใต้เรียกว่าลงโรง) แล้วก็บรรเลงสลับไปตลอดการแสดง มักบรรเลงตอนขับกลอน
ตอนเจรจาจะหยุดบรรเลง (อาจจะตีเครื่องให้จังหวะประกอบบ้าง)
เพลงที่ใช้บรรเลง คือ เพลงโหมโรงใช้เพลงทับ ตอนดำเนินเรื่องใช้เพลงทับบ้าง
เพลงปี่บ้าง (เพลงทับคือเพลงที่ถือเอาจังหวะทับเป็นเอก
เพลงปี่คือเพลงที่ใช้ปี่เดินทำนองเพลงซึ่งโดยมากใช้เพลงไทยเดิม
แต่ปัจจุบันใช้เพลงไทยสากลและเพลงสากลก็มี
ปัจจุบันหนังตะลุงนิยมนำเครื่องดนตรีสากลเข้ามาประสม เช่น บางคณะใช้กลองดนตรีสากล
ไวโอลิน กีตาร์ ออร์แกน แทนเครื่องดนตรีเดิม ซึ่งเป็นสิ่งที่น่าเสียดายยิ่ง