ศาสนา ลัทธิ ความเชื่อ นิกาย พิธีกรรม >>
บทที่ 1 ฟิสิกส์สมัยใหม่
บทที่ 2 การรู้และการเห็น
บทที่ 3 พ้นภาษา
บทที่ 4 ฟิสิกส์แนวใหม่
บทที่ 5 ศาสนาฮินดู
บทที่ 6 พุทธศาสนา
บทที่ 7 ปรัชญาจีน
บทที่ 8 ลัทธิเต๋า
บทที่ 9 นิกายเซน
บทที่ 10 เอกภาพแห่งสรรพสิ่ง
บทที่ 11 เหนือโลกแห่งความขัดแย้ง
บทที่ 12 จักรวาลอันเคลื่อนไหว
บทที่ 13 ความว่างและรูปลักษณ์
บทที่ 8 ลัทธิเต๋า
2
8.1 การชับเคี่ยวระหว่างขั้ว
ญาณทัสนะที่สำคัญที่สุดประการหนึ่งของเต๋าก็คือ การประจักษ์แจ้งในความจริงที่ว่าการเปลี่ยนแปลงกลับกลายเป็นลักษณะสำคัญของธรรมชาติ ข้อความในคัมภีร์จางจื้อได้แสดงอย่างชัดเจนว่า การสังเกตโลกแห่งสรรพชีพได้ให้ความรู้ในเรื่องความเปลี่ยนแปลง ซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญขั้นพื้นฐาน ในการเปลี่ยนแปลงการเติบโตของสรรพสิ่ง ตาไม้ทุกตา และรูปลักษณะทุกรูปต่างมีรูปทรงที่แน่นอนของมัน ในสิ่งเหล่านี้มีการเจริญและการเสื่อมสลายอย่างต่อเนื่อง กระแสแห่งการเปลี่ยนแปลงกลับกลายอันไหลเลื่อนอย่างสม่ำเสมอ ผู้นับถือเต๋ามีทัศนะว่า การเปลี่ยนแปลงทั้งมวลในธรรมชาติเป็นการปรากฏแสดงของการขับเคี่ยวระหว่างขั้วตรงกันข้ามคือหยินและหยัง ดังนั้นผู้นับถือเต๋าจึงเชื่อว่าคู่ตรงข้ามใดๆก็ตาม ต่างเชื่อมสัมพันธ์กันอย่างเคลื่อนไหว สำหรับจิตใจแบบตะวันตกแล้ว ความคิดที่ว่าสิ่งตรงกันข้ามทั้งมวลต่างเป็นเอกภาพนั้นเป็นสิ่งที่รับได้ยากยิ่ง มันดูเหมือนผิดธรรมดาเป็นอย่างยิ่งเมื่อประสบการณ์และคุณค่าต่างๆ ซึ่งเราเชื่อมาโดยตลอดว่าเป็นสิ่งตรงกันข้าม ควรเป็นแง่มุมที่ต่างกันของสิ่งเดียวกัน
อย่างไรก็ตามในตะวันออกถือกันว่าการจะรู้แจ้งได้นั้น บุคคลจะต้อง ก้าวพ้นสิ่งที่เป็นคู่ตรงข้ามในโลก ในจีนความสัมพันธ์เชิงขั้วของสิ่งตรงกันข้ามทั้งมวลเป็นพื้นฐานอย่างยิ่งของความคิดของเต๋า ดังที่จางจื้อกล่าวว่า นี่ ก็คือ นั่น นั่น ก็คือ นี่ เมื่อทั้ง นั่น และ นี่ ต่างหยุดเป็นปฏิปักษ์ต่อกัน นั่นเป็นแก่นแท้ของเต๋า แก่นแท้นี้เท่านั้นที่เป็นศูยน์กลางของวงเวียนแห่งการเปลี่ยนแปลงไม่รู้หยุด จากความคิดที่ว่าการเคลื่อนไหวของเต๋าเป็นการขับเคี่ยวอย่างต่อเนื่องของสิ่งที่ตรงกันข้าม ผู้นับถือเต๋าจึงได้สรุปเป็นกฎสองประการสำหรับการกระทำของมนุษย์เมื่อใดก็ตามที่เราต้องการจะได้สิ่งใด เราควรจะเริ่มจากสิ่งที่ตรงกันข้าม ดังที่เหล่าจื้อกล่าวว่า จะยุบอะไรสักสิ่ง ควรจะขยายมันก่อน จะทำให้อ่อนแอ ต้องทำให้เข้มแข็งก่อน จะกำจัด ต้องเชิดชูก่อน จะรับ ต้องให้ก่อน นี่เรียกว่าปัญญาอันลึกซึ้ง ในอีกทางหนึ่ง เมื่อเราต้องการจะรักษาสิ่งใดไว้ เราควรยอมรับในสิ่งที่เป็นตรงกันข้าม จงโค้งคำนับ แล้วท่านจะยืนตรงอยู่ได้ จงทำตัวให้ว่างเปล่า แล้วท่านจะเต็มอยู่เสมอ จงทำตัวให้เก่า แล้วท่านจะใหม่อยู่เสมอ นี่เป็นวิถีของปราชญ์ผู้บรรลุถึงทัศนะอันสูงส่ง ซึ่งสัมพันธภาพและความสัมพันธ์เชิงขั้วของสิ่งตรงกันข้ามทั้งมวล ปรากฏในความรับรู้ของท่านอย่างแจ่มแจ้งสิ่งตรงข้ามเหล่านี้มีอาทิ สิ่งแรกและสิ่งสุดท้าย ความคิดเรื่องดีและเลว ซึ่งเกี่ยวข้องสัมพันธ์กันในลักษณะเดียวกับหยินและหยัง เมื่อทั้งดีและเลวและมาตรฐานทางศีลธรรมทั้งหมดถูกเห็นเป็นสิ่งสัมพัทธ์ ปราชญ์เต๋าจึงไม่เพียรพยายามเพื่อบรรลุคุณความดี แต่จะรักษาสมดุลระหว่างความดีและเลว จางจื้อเห็นประเด็นนี้อย่างชัดเจน คำกล่าวที่ว่า เราจะไม่กระทำตามและเชิดชูความถูกต้อง และไม่เกี่ยวข้องกับความผิด ใช่หรือไม่ และ เราจะไม่เชื่อฟังและเชิดชูผู้ปกครองที่ดี และไม่เกี่ยวข้องกับผู้ปกครองที่เลว ใช่หรือไม่ แสดงความปรารถนาที่จะทำความคุ้นเคยกับหลักการของฟ้าและดินและคุณภาพที่แตกต่างกันของสรรพสิ่ง เป็นการง่ายที่จะกระทำตามและเชิดชูฟ้า และไม่สนใจต่อดิน เป็นการง่ายที่จะกระทำตามและเชิดชูหยิน และไม่สนใจหยัง เป็นที่ชัดเจนว่า วิถีทางเช่นนั้นเป็นสิ่งที่ไม่ควรกระทำ