ศาสนา ลัทธิ ความเชื่อ นิกาย พิธีกรรม >>

เต๋าแห่งฟิสิกส์

บทที่ 1 ฟิสิกส์สมัยใหม่
บทที่ 2 การรู้และการเห็น
บทที่ 3 พ้นภาษา
บทที่ 4 ฟิสิกส์แนวใหม่
บทที่ 5 ศาสนาฮินดู
บทที่ 6 พุทธศาสนา
บทที่ 7 ปรัชญาจีน
บทที่ 8 ลัทธิเต๋า
บทที่ 9 นิกายเซน
บทที่ 10 เอกภาพแห่งสรรพสิ่ง
บทที่ 11 เหนือโลกแห่งความขัดแย้ง
บทที่ 12 จักรวาลอันเคลื่อนไหว
บทที่ 13 ความว่างและรูปลักษณ์

บทที่ 10 เอกภาพแห่งสรรพสิ่ง

ถึงแม้ว่าศาสนาต่าง ๆ ดังที่ได้อธิบายในบทที่แล้ว ๆ มา จะแตกต่างกันในรายละเอียดหลายประการ อย่างไรก็ตาม โดยแก่นแท้แล้วโลกทัศน์ของแต่ละศาสนาเป็นสิ่งเดียวกัน นั่นคือ ต่างตั้งอยู่บนพื้นฐานของประสบการณ์ในทางจิตใจ ซึ่งเป็นประสบการณ์โดยตรงต่อสัจจะ และไม่เป็นฝักฝ่ายของความคิดนึก โดยที่ประสบการณ์เช่นนี้ มีลักษณะพื้นฐานหลายประการซึ่งไม่ขึ้นต่อภูมิหลังทางภูมิศาสตร์ ประวัติศาสตร์ และวัฒนธรรมของบุคคลนั้น ๆ โลกทัศน์ดังกล่าวยังปรากฏสอดคล้องกับลักษณะพื้นฐานของโลกทัศน์ซึ่งเกิดจากฟิสิกส์สมัยใหม่ด้วย ลักษณะที่สำคัญที่สุดหรือแก่นแท้ของโลกทัศน์แบบตะวันออกก็คือ การตระหนักรู้ในความเป็นเอกภาพและความสัมพันธ์เนื่องกันของสรรพสิ่งและเหตุการณ์ทั้งมวล คือประสบการณ์แห่งการหยั่งรู้ว่าปรากฏการณ์ทั้งหลายในโลกล้วนเป็นปรากฏแสดงของความเป็นหนึ่งเดียว สิ่งทั้งหลายล้วนเป็นส่วนประกอบของเอกภาพ ซึ่งต้องอิงอาศัยกันอย่างไม่อาจแยกจากกันได้ สรรพสิ่งเป็นการปรากฏแสดงในแง่มุมต่าง ๆ ของสัจจะสูงสุดอันเดียวกัน

ในศาสนาตะวันออกได้กล่าวอยู่เสมอถึงสัจจะสูงสุดอันไม่อาจแบ่งแยก ซึ่งปรากฏแสดงอยู่ในสรรพสิ่ง และซึ่งสิ่งทั้งหลาย ล้วนเป็นส่วนประกอบของมัน ฮินดูเรียกว่า พรหมัน พุทธศาสนาเรียกว่า ธรรมกาย และลัทธิเต๋าเรียกว่า เต๋า เนื่องจากสัจจะนี้อยู่เหนือแนวคิดและการแบ่งแยกทั้งมวล ชาวพุทธจึงเรียกสัจจะนี้อีกชื่อหนึ่งว่า ตถตา หรือความเป็นเช่นนั้นเอง ความเป็นเช่นนั้นเองแห่งวิญญาณ ก็คือความเป็นหนึ่งเดียวของสรรพสิ่งทั้งมวล เป็นมหาธาตุซึ่งรวมทุกสิ่งไว้ ในชีวิตสามัญเรามิได้ตระหนักถึงเอกภาพแห่งสรรพสิ่งที่ว่านี้ แต่กลับแบ่งแยกโลกนี้ออกเป็นวัตถุและเหตุการณ์ต่าง ๆ กัน การแบ่งแยกดังกล่าวเป็นสิ่งที่มีประโยชน์และและจำเป็นสำหรับการเกี่ยวข้องกับสภาพแวดล้อมในประจำวัน ทว่ามันไม่ได้เป็นลักษณะพื้นฐานของสัจจะ เป็นเพียงการย่อสรุปของความคิดแยกแยะแจกแจง การเชื่อและการยึดในความคิดที่เห็นเหตุการณ์และสิ่งต่าง ๆ แยกจากกันว่าเป็นความจริงของธรรมชาตินั้นเป็นเพียงภาพลวง ชาวฮินดูและชาวพุทธถือว่า ภาพลวงดังกล่าวสืบเนื่องมาจาก อวิชชา ความไม่รู้ เกิดกับจิตใจซึ่งอยู่ใต้อำนาจสะกดของ มายา ศาสนาตะวันออกจึงมีเป้าหมายสำคัญอยู่ที่การปรับสภาพจิตใจเสียใหม่ โดยการควบคุมจิตใจให้รวมอยู่ที่จุดเดียวและสงบจากความรบกวนต่าง ๆ โดยผ่านการทำสมาธิภาวนา คำว่า “สมาธิ”ในภาษาสันสกฤตมีความหมายตามตัวอักษรว่า “สมดุลทางใจ” ซึ่งแสดงถึงความสมดุลและความสงบของจิตใจ อันหยั่งรู้ถึงความเป็นเอกภาพของจักรวาล เมื่อเข้าสู่สมาธิที่บริสุทธิ์ (เราย่อมได้ ) ญาณซึ่งชำแรกสู่ความเป็นหนึ่งเดียวอันสมบูรณ์แห่งจักรวาล

หน้าถัดไป >>

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย