ศาสนา ลัทธิ ความเชื่อ นิกาย พิธีกรรม >>

เต๋าแห่งฟิสิกส์

บทที่ 1 ฟิสิกส์สมัยใหม่
บทที่ 2 การรู้และการเห็น
บทที่ 3 พ้นภาษา
บทที่ 4 ฟิสิกส์แนวใหม่
บทที่ 5 ศาสนาฮินดู
บทที่ 6 พุทธศาสนา
บทที่ 7 ปรัชญาจีน
บทที่ 8 ลัทธิเต๋า
บทที่ 9 นิกายเซน
บทที่ 10 เอกภาพแห่งสรรพสิ่ง
บทที่ 11 เหนือโลกแห่งความขัดแย้ง
บทที่ 12 จักรวาลอันเคลื่อนไหว
บทที่ 13 ความว่างและรูปลักษณ์

บทที่ 5 ศาสนาฮินดู

ในการที่จะทำความเข้าในปรัชญาใด ๆ ที่จะอธิบายต่อไปนี้จะต้องเข้าใจว่าแก่นแท้ของมันคือศาสนา จุดประสงค์สำคัญของปรัชญาเหล่านี้ก็คือประสบการณ์โดยตรงต่อสัจจะ ซึ่งโดยลักษณะธรรมชาติของประสบการณ์นี้เป็นไปในทางศาสนามันจึงไม่อาจแยกออกจากศาสนา ลักษณะเช่นนี้ปรากฏชัดในศาสนาฮินดูมากยิ่งกว่าธรรมเนียมปฏิบัติอื่น ๆ ของตะวันออก ในฮินดูความเกี่ยวพันระหว่างปรัชญาและศาสนาเป็นไปอย่างแน่นแฟ้น กล่าวกันว่าแนวคิดแทบทั้งหมดในอินเดียเป็นแนวคิดทางศาสนา และในหลายศตวรรษที่ผ่านมา ศาสนาฮินดูมิได้มีอิทธิพลเฉพาะต่อวิถีชีวิตในทางปัญญาของอินเดียเท่านั้น แต่ยังเป็นสิ่งกำหนดสภาพสังคมและวัฒนาธรรมอินเดียด้วยอย่างสิ้นเชิง ศาสนาฮินดูไม่อาจเรียกว่าปรัชญา และไม่เชิงเป็นศาสนาในความหมายดังที่อธิบายกันอยู่หากเป็นระบบสังคม – ศาสนาที่ใหญ่และซับซ้อนประกอบด้วยนิกายและลัทธิย่อย ๆ และระบบปรัชญาจำนวนนับไม่ถ้วน มีพิธีกรรม ประเพณี และระเบียบปฏิบัติมากมาย รวมทั้งการบูชาเทพและเทวีซึ่งมีมากมายเหลือคณานับแง่มุมต่าง ๆ มากมายของระบบนี้ ซึ่งเป็นธรรมเนียมปฏิบัติทางจิตวิญญาณที่ฝังแน่นและมีอิทธิพลต่อวิถีชีวิต ได้สะท้อนความซับซ้อนของสภาพภูมิศาสตร์ เชื้อชาติ ภาษา และวัฒนธรรมของอนุทวีป – อินเดีย คำสอนของศาสนาฮินดูมีทั้งในระดับที่เป็นปรัชญาชั้นสูง รวมทั้งแนวคิดในระดับต่าง ๆ และลึกลงไปถึงการประกอบพิธีกรรมของประชาชนซึ่งบริสุทธิ์ไร้เดียงสาแบบเด็ก ๆ

แม้นว่าชาวฮินดูส่วนใหญ่ ซึ่งเป็นชาวบ้านสามัญ ยังคงรักษาสืบทอดศาสนาของตนไว้อย่างมีชีวิตชีวาในการบูชาประจำวันของพวกเขา ในอีกด้านหนึ่งศาสนาฮินดูก็ยังมีผู้เป็น คุรุ – อาจารย์ ผู้มีชื่อเสียง จำนวนมากที่จะทำหน้าถ่ายทอดญาณทัสนะอันลึกซึ้งของฮินดูได้ ที่มาของคำสอนของศาสนาฮินดูนั้นคือคัมภีร์ พระเวท (Vedas) ซึ่งเป็นคัมภีร์ที่รวบรวมคำสอนนับแต่โบราณกาล ประพันธ์โดยปราชญ์ชาวฮินดูผู้ไม่ปรากฏนามหลายท่าน มักเรียกกันว่า “ผู้พยากรณ์” พระเวท คัมภีร์พระเวทประกอบด้วยคัมภีร์สี่เล่มด้วยกัน เล่มที่เก่าแก่ที่สุดคือคัมภีร์ ฤคเวท (Rig Veda) คัมภีร์พระเวทซึ่งถูกจารึกด้วยภาษาสันสกฤตโบราณ อันถือเป็นภาษาศักดิ์สิทธิ์ของอินเดียยังคงเป็นแหล่งความรู้ที่เป็นที่ยอมรับกันในทุกนิกายของฮินดู ในอินเดีย ระบบปรัชญาใดซึ่งไม่ยอมรับคัมภีร์พระเวทจะถูกถือว่าเป็นระบบปรัชญาที่ไม่ถูกต้อง คัมภีร์พระเวทแต่ละคัมภีร์ประกอบด้วยหลายภาค แต่ละภาคเขียนขึ้นในระยะเวลาต่าง ๆ กัน คงจะอยู่ในระหว่าง 1,500 – 500 ปีก่อนคริสตกาล ภาคที่เก่าที่สุดเป็นบทเพลงและบทสวดสรรเสริญพระผู้เป็นเจ้า ภาคต่อมาว่าด้วยพิธีบวงสรวงบูชาซึ่งเชื่อมโยงกับบทเพลงในพระเวท และภาคสุดท้ายซึ่งเรียกว่า “อุปนิษัท” (Upanishads) เต็มไปด้วยหลักปรัชญาและหลักปฏิบัติ คัมภีร์อุปนิษัทจึงบรรจุแก่นคำสอนของศาสนาฮินดูเอาไว้ มันได้ชี้นำและเร่งเร้าจิตใจอันใหญ่หลวงของอินเดียตลอดเวลายี่สิบห้าศตวรรษที่ผ่านมา ให้สอดคล้องไปกับคำสอนในรูปของบทประพันธ์ของอุปนิษัท: จงรับเอามหาศัสตราวุธแห่งอุปนิษัทดังหนึ่งคันศร หยิบลูกศรซึ่งเหลาให้แหลมคมด้วยสมาธิภาวนาขึ้นพาดสาย เหนี่ยวน้าวด้วยความคิดที่มุ่งตรงต่อแก่นแท้ของสิ่งนั้น ปล่อยมันสู่จุดหมายแห่งอมตะเถิด สหาย

หน้าถัดไป >>

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย