ศาสนา ลัทธิ ความเชื่อ นิกาย พิธีกรรม >>
บทที่ 1 ฟิสิกส์สมัยใหม่
บทที่ 2 การรู้และการเห็น
บทที่ 3 พ้นภาษา
บทที่ 4 ฟิสิกส์แนวใหม่
บทที่ 5 ศาสนาฮินดู
บทที่ 6 พุทธศาสนา
บทที่ 7 ปรัชญาจีน
บทที่ 8 ลัทธิเต๋า
บทที่ 9 นิกายเซน
บทที่ 10 เอกภาพแห่งสรรพสิ่ง
บทที่ 11 เหนือโลกแห่งความขัดแย้ง
บทที่ 12 จักรวาลอันเคลื่อนไหว
บทที่ 13 ความว่างและรูปลักษณ์
บทที่ 2 การรู้และการเห็น
จากอสัตย์จงนำข้าฯสู่สัจจะ จากความมืดจงนำข้าฯสู่ความสว่าง จากความตายจงนำข้าฯสู่อมตะ อุปนิษัท ก่อนที่เราจะศึกษาความสอดคล้องระหว่างวิชาฟิสิกส์สมัยใหม่และศาสนาตะวันออก เราจะต้องพิจารณาปัญหาว่า เราจะเปรียบเทียบอย่างไรระหว่างวิทยาศาสตร์ซึ่งถูกอธิบายด้วยภาษาทางคณิตศาสตร์อันสลับซับซ้อนเป็นอย่างยิ่ง กับวินัยปฏิบัติในทางศาสนาซึ่งมีพื้นฐานอยู่ที่การภาวนา และยืนยันว่า แท้จริงความรู้แจ้งในภายในนั้นไม่อาจอธิบายได้ สิ่งที่จะนำมาเปรียบเทียบในที่นี้คือข้อความซึ่งกล่าวโดยนักวิทยาศาสตร์และนักปราชญ์ของตะวันออกเกี่ยวกับความรู้ของตน เพื่อที่จะให้การเปรียบเทียบนี้มีประสิทธิภาพ ประการแรก เราต้องถามตนเองก่อนว่า ความรู้ ชนิดใดที่เรากำลังพูดถึง พระภิกษุจากนครวัดหรือเกียวโตพูดถึง ความรู้ ชนิดเดียวกับที่นักฟิสิกส์จากออกซฟอร์ดหรือเบิร์กเคยพูดถึงหรือไม่ ประการที่สอง ข้อความหรือประโยคชนิดใดที่เรากำลังศึกษาเปรียบเทียบ
เราจะเลือกเอาสิ่งใดจากข้อมูลของการทดลอง สมการ หรือทฤษฎีในด้านหนึ่ง และจากคัมภีร์ทางศาสนา เทพปกรณัม (myths) โบราณ หรือตำราทางปรัชญาในอีกด้านหนึ่ง บทนี้มุ่งที่จะทำความกระจ่างในประเด็นทั้งสองนี้ คือ ธรรมชาติของความรู้ซึ่งเรากำลังพิจารณาและภาษาที่ใช้ในการอธิบายความรู้นั้น ในประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาเป็นที่ยอมรับกันว่า ความรู้ของมนุษย์นั้นมีสองลักษณะ คือ ความรู้ที่เกิดจากการคิดในแนวเหตุผล และความรู้ที่ผุดขึ้นในใจหรือญาณทัศน์ (rational and intuitive) ซึ่งเทียบได้กับวิทยาศาสตร์และศาสนาตามลำดับ ในตะวันตกความรู้ชนิดหลังถูกถือว่าด้อยกว่าความรู้ในเชิงเหตุผลและเป็นวิทยาศาสตร์ แต่ในตะวันออกความรู้นี้กลับตรงกันข้าม ความคิดของปราชญ์สองท่านของตะวันตกและตะวันออก ซึ่งแสดงออกในประโยคต่อไปนี้เป็นตัวอย่างที่ดีของความรู้สองลักษณะ โสเครติสของกรีกกล่าวประโยคซึ่งมีชื่อเสียงว่า ข้าพเจ้ารู้ว่า ข้าพเจ้าไม่รู้อะไรเลย และเหลาจื้อของจีนกล่าวว่า การไม่รู้ว่าตนรู้อะไร เป็นการดีที่สุด ในตะวันออกคุณค่าของความรู้ทั้งสองประการปรากฏชัดเจนในชื่อที่เรียก ตัวอย่างเช่น ในคัมภีร์อุปนิษัทกล่าวถึงความรู้อย่างสูงและความรู้สัมบูรณ์ หรือ สมมติสัจจะ และ ปรมัตถสัจจะ ในทางตรงกันข้ามปรัชญาจีนกลับสอนว่าความรู้ทั้งสองประการนั้นสนับสนุนซึ่งกันและกันซึ่งแสดงออกในคู่หยินและหยังอันเป็นพื้นฐานของความคิดจีน ดังนั้นปรัชญาเต๋าและขงจื้อจึงเกิดขึ้นในจีนยุคโบราณเพื่อรองรับความรู้ทั้งสองลักษณะไว้อย่างสอดคล้องกัน
หน้าถัดไป >>