ศาสนา ลัทธิ ความเชื่อ นิกาย พิธีกรรม >>

เต๋าแห่งฟิสิกส์

บทที่ 1 ฟิสิกส์สมัยใหม่
บทที่ 2 การรู้และการเห็น
บทที่ 3 พ้นภาษา
บทที่ 4 ฟิสิกส์แนวใหม่
บทที่ 5 ศาสนาฮินดู
บทที่ 6 พุทธศาสนา
บทที่ 7 ปรัชญาจีน
บทที่ 8 ลัทธิเต๋า
บทที่ 9 นิกายเซน
บทที่ 10 เอกภาพแห่งสรรพสิ่ง
บทที่ 11 เหนือโลกแห่งความขัดแย้ง
บทที่ 12 จักรวาลอันเคลื่อนไหว
บทที่ 13 ความว่างและรูปลักษณ์

บทที่ 11 เหนือโลกแห่งความขัดแย้ง

เมื่อนักปราชญ์ตะวันออกกล่าวว่าท่านนั่งรู้สรรพสิ่งและเหตุการณ์ทั้งมวลเป็นการแสดงออกของเอกสภาวะอันเป็นพื้นฐาน นั่นมิได้หมายความว่าท่านเห็นทุกสิ่งเสมอเหมือนกันไปหมด ปัจเจกภาพของแต่ละสิ่งยังคงดำรงอยู่ ทว่าในขณะเดียวกันท่านเหล่านั้นก็ตระหนักรู้ว่าข้อแตกต่างและข้อขัดแย้งทั้งหมดเป็นสิ่งสัมพัทธ์ ดำรงอยู่ในความเป็นเอกภาพ และเนื่องจากความเป็นเอกภาพของสิ่งที่ขัดแย้งกัน และโดยเฉพาะความเป็นเอกภาพของสิ่งที่ตรงกันข้ามนั้นเป็นสิ่งที่ยอมรับได้โดยยากในสภาวะความรับรู้อย่างสามัญของเรา จึงทำให้ปรัชญาตะวันออกยังคงดูลึกลับน่าพิศวง อย่างไรก็ดี สิ่งนี้คือญาณทัศนะซึ่งเป็นรากฐานของโลกทัศตะวันออก สิ่งที่ตรงกันข้ามเป็นความคิดเชิงย่อสรุป เป็นฝักฝ่ายของอาณาจักรเชิงความคิดและดังนั้นจึงเปลี่ยนเป็นสิ่งสัมพัทธ์ โดยการที่เรามุ่งสนใจต่อความคิดอันใดอันหนึ่ง เราได้สร้างความคิดที่ตรงกันข้ามขึ้นมาด้วย ดังที่เหล่าจื๊อกล่าวไว้ว่า “เมื่อทุกคนในโลกนี้เห็นสิ่งสวยงามว่าสวยงาม เมื่อนั้นความน่าเกลียดก็ปรากฏ” 

ศาสนิกก้าวพ้นอาณาจักรแห่งความชาญฉลาดดังกล่าว โดยการตระหนักถึงความเป็นสิ่งสัมพัทธ์และความสัมพัทธ์เชิงขั้วของสิ่งที่ตรงกันข้าม เขาตระหนักว่าสิ่งที่ดีและชั่ว สุขและทุกข์ ชีวิตและความตาย มิใช่สิ่งสัมบูรณ์ที่แยกเป็นคนละฝ่าย แต่เป็นเพียงสองด้านของความจริงอันเดียวกัน เป็นส่วนสุดโต่งสองด้านของสิ่งเดียวกัน ความตระหนักรู้ว่าสิ่งตรงกันข้ามทั้งหมดเป็นเพียงขั้วคนละขั้วของสิ่งเดียวกัน และทุกสิ่งเป็นเอกภาพนี้ ถือเป็นเป้าหมายสูงสุดของมนุษย์ตามคำสอนในทางจิตวิญญาณของตะวันออก “จงดำรงอยู่ในสัจจะตลอดไป จงอยู่เหนือความขัดแย้งของโลก” พระกฤษณะกล่าวแนะนำอรชุนในภควทคีตา และคำแนะนำเดียวกันมีในหมู่พุทธศาสนิกชน ดี. ที. สึซึกิ เขียนไว้ว่า ความคิดพื้นฐานในพุทธศาสนาคือการไปพ้นโลกแห่งสิ่งที่ตรงกันข้าม โลกซึ่งสร้างขึ้นด้วยการแบ่งแยกอันชาญฉลาดและแปดเปื้อนทางอารมณ์ และเพื่อหยั่งรู้โลกแห่งจิตวิญญาณ ซึ่งปราศจากการแบ่งแยก อันบุคคลได้บรรลุทัศนะที่สมบูรณ์

หน้าถัดไป >>

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย