ศาสนา ลัทธิ ความเชื่อ นิกาย พิธีกรรม >>

เต๋าแห่งฟิสิกส์

บทที่ 1 ฟิสิกส์สมัยใหม่
บทที่ 2 การรู้และการเห็น
บทที่ 3 พ้นภาษา
บทที่ 4 ฟิสิกส์แนวใหม่
บทที่ 5 ศาสนาฮินดู
บทที่ 6 พุทธศาสนา
บทที่ 7 ปรัชญาจีน
บทที่ 8 ลัทธิเต๋า
บทที่ 9 นิกายเซน
บทที่ 10 เอกภาพแห่งสรรพสิ่ง
บทที่ 11 เหนือโลกแห่งความขัดแย้ง
บทที่ 12 จักรวาลอันเคลื่อนไหว
บทที่ 13 ความว่างและรูปลักษณ์

บทที่ 7 ปรัชญาจีน

เมื่อพระพุทธศาสนาแผ่มาถึงประเทศจีนในช่วงศตวรรษแรกของคริสตกาล ก็ได้ปะทะสังสรรค์กับวัฒนธรรมซึ่งมีอายุเก่าแก่กว่าสองพันปี ในวัฒนะธรรมโบราณนี้ความคิดเชิงปรัชญาได้ถึงจุดสมบูรณ์สุดยอดในปลายราชวงศ์โจว ซึ่งนับเป็นยุคทองของปรัชญาจีน และก็ยังเป็นที่นับถืออย่างสูงสุดเรื่อยมา ตั้งแต่แรกเริ่มเลยทีเดียวที่ปรัชญาจีนมีสองลักษณะที่เสริมซึ่งกันและกัน เนื่องจากชาวจีนเป็นผู้นิยมการปฏิบัติและมีสำนึกทางสังคมสูง ดังนั้นปรัชญาทุกสำนักของจีนจึงสอนเกี่ยวกับการดำเนินชีวิตในสังคม มนุษยสัมพันธ์ คุณค่าทางศีลธรรมและรัฐบาลในทางใดทางหนึ่ง อย่างไรก็ดีนี่เป็นเพียงด้านหนึ่ง อีกด้านหนึ่งเป็นส่วนคำสอนที่ลึกซึ้ง ซึ่งชี้แนะว่าจุดหมายสูงสุดของปรัชญานั้นอยู่เหนือสังคมโลกและชีวิตประจำวัน คือการเข้าสู่สภาวะจิตที่สูงส่ง ซึ่งเป็นระดับของนักปราชญ์ผู้รู้แจ้งทั้งหลาย ผู้บรรลุถึงความเป็นเอกภาพของจักรวาล

อย่างไรก็ตามนักปราชญ์ของจีนนั้นมิได้ดำรงอยู่เฉพาะในภูมิแห่งจิตที่สูงส่งเท่านั้น   ทว่ายังคงเกี่ยวข้องกับเรื่องราวทางโลกอยู่เท่า ๆ กันในตัวท่านมีทั้งด้านที่เป็นปัญญาญาณและความรู้แห่งการปฏิบัติ ความสงบระงับ และปฏิบัติการทางสังคม คุณลักษณะเช่นนี้ได้ปรากฏในคุณลักษณะของนักปราชญ์และพระจักรพรรดิ จางจื้อ กล่าวไว้ว่ามนุษย์ผู้รู้แจ้งอย่างสมบูรณ์นั้น “เมื่อสงบนิ่งอยู่ท่านคือปราชญ์ หากเมื่อเคลื่อนไหวท่านคือจักรพรรดิ” ในระหว่างศตวรรษที่ 6 ก่อนคริศตกาล ปรัชญาจีนในสองลักษณะดังกล่าวได้พัฒนาสู่ปรัชญาสองสำนักที่แยกกันชัดเจนคือ ลัทธิขงจื้อและลัทธิเต๋า ลัทธิขงจื้อเป็นลัทธิที่จัดการองค์กรทางสังคม เป็นปรัชญาแห่งสามัญสำนึกและความรู้ในการดำเนินชีวิต ลัทธิขงจื้อได้เป็นรากฐานของระบบการศึกษาของสังคมจีนและค่านิยมในทางศีลธรรมจรรยาที่แข็งแกร่ง ความมุ่งหมายสำคัญประการหนึ่งคือการวางรากฐานทางจริยธรรมสำหรับระบบครอบครัวของจีน ด้วยคำสอนซึ่งมีโครงสร้างที่ซับซ้อนและพิธีกรรมการบูชาบรรพบุรุษ ในทางตรงกันข้าม ลัทธิเต๋ามุ่งการสังเกตธรรมชาติและการค้นหาวิถีของธรรมชาติ หรือเต๋า ความสุขของมนุษย์ในทัศนะของเต๋าเกิดจากการที่มนุษย์ดำเนินตามกฎของธรรมชาติ กระทำการต่าง ๆ สอดคล้องกับธรรมชาติอย่างเป็นไปเอง และเชื่อมั่นในญาณปัญญา

หน้าถัดไป >>

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย