ศาสนา ลัทธิ ความเชื่อ นิกาย พิธีกรรม

หอพระไตร

» พระวินัยปิฎก

» พระสุตตันตปิฎก

» พระอภิธรรมปิฎก

» พระสูตร

พระไตรปิฎกฉบับประชาชน

พระอภิธรรมปิฎก เล่ม ๓

เล่มที่ ๓๖

ปุคคลบัญญัติ

การบัญญัติบุคคลอันเป็นหัวข้อใหญ่ที่ ๒ ในเล่มที่ ๓๖ นี้ เริ่มบทต้นแสดง การบัญญัติ ๖ ประเภทคือ :-

๑. บัญญัติขันธ์ คือขันธ์ ๕ มีรูป เป็นต้น

๒. บัญญัติอายตนะ คืออายตนะ ๑๒ มีอายตนะคือตา เป็นต้น

๓. บัญญัติธาตุ คือธาตุ ๑๘ มีธาตุคือตา เป็นต้น

๔. บัญญัติสัจจะ คืออริยสัจจ์ ๔ มีสัจจะคือทุกข์ เป็นต้น

๕. บัญญัติอินทรีย์ คืออินทรีย์ ๒๒ มีอินทรีย์คือตา เป็นต้น

๖. บัญญัติบุตตล แจกเป็นประเภทที่มีจำนวน ๑ ประเภทที่มีจำนวน ๒ จนถึง ประเภทที่มีจำนวน ๑๐

ความสำคัญของเรื่องอยู่ที่คำอธิบายบุคคลทุกประเภทโดยคุณธรรม ต่อไปนี้จะแสดงพอเป็น ตัวอย่าง ประเภทที่มีจำนวน ๑ ถึงจำนวน ๑๐ พอให้เป็นทั้งบทตั้งและคำอธิบาย.

บุคคลที่มีจำนวน ๑

เช่น สมยวิมุตโต ผู้พ้นโดยสมัย คือพ้นจากกิเลสได้เป็นครั้งคราว คำอธิบายกล่าวว่า ได้แก่ผู้ถูกต้องวิโมกข์ ๘ ด้วยนามกาย เห็นธรรมด้วยปัญญา อาสวะ ( กิเลสที่ดองสันดาน ) บางส่วนสิ้นไปเป็นครั้งคราว.

อสมยวิมุตโต ผู้พ้นไม่มีสมัย คือพ้นจากกิเลสมิใช่เป็นคราว ๆ คำอธิบายกล่าวว่า ได้แก่ผู้ถูกต้องวิโมกข์ ๘ ด้วยนามกาย เห็นธรรมด้วยปัญญา อาสวะสิ้นไป มิใช่เป็นครั้งคราว. พระอริยบุคคลทุกประเภท ชื่อว่า ผู้พ้นโดยไม่มีสมัยในวิโมกข์อันเป็นอริยะ ( วิโมกข์ ๘ มีอะไรบ้าง โปรดดูหน้าพระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๑๐ ชื่อทีฆนิกายมหาวัคค์ )

ปุถุชชโน ผู้ที่ยังหนาไปด้วยกิเลส คำอธิบายกล่าวว่า ยังละสัญโญชน์ ๓ ไม่ได้ ทั้ง ไม่ปฏิบัติเพื่อละธรรมเหล่านั้น ( สัญโญชน์ ) ด้วย.

โคตรภู ผู้ที่อยู่กึ่งกลางระหว่างพระอริยะกับบุถุชน คำอธิบายกล่าวว่า ความก้าวลง แห่งอริยธรรม ย่อมมีในลำดับแห่ง ( คือถัดจาก ) ธรรมเหล่าใด ประกอบด้วยธรรมเหล่านั้น ( ประกอบด้วยธรรมที่พอถัดไปก็เป็น อริยธรรม ).

ภยูปรโต ผู้งดเว้นความชั่วเพราะกลัว ได้แก่พระเสขะ ๗ ประเภท (ผุ้ตั้งอยู่ในโสดา- ปัตติมรรค จนถึงอรหัตตมรรค ) กับบุถุชนผู้มีศีล.

อภยูปรโต ผู้งดเว้นความชั่วมิใช่เพราะกลัว ได้แก่พระอรหันต์.

สมสีสี ผู้มีศีร์ษะ คือสุดยอดเสมอกัน คือความสิ้นอาสวะ และความสิ้นชีวิตมีพร้อม กัน ( สิ้นชีวิตพร้อมทั้งสิ้นกิเลส ) ฯ ล ฯ.

บุคคลที่มีจำนวน ๒

เช่น๑. โกธโน ผู้โกรธ, ๒. อุปนาหี ผู้ผูกโกรธ ; ๑. ทุพพโจ ผู้ว่ายาก, ๒. ปาปมิตโต ผู้คบคนชั่วเป็นมิตร ; ๑. ติตโต ผู้อิ่มเอง, ๒. ตัปเปตา ผู้ทำผู้อื่นให้อิ่ม ฯ ล ฯ.

บุคคลที่มีจำนวน ๓

เช่น๑. นิราโส ผู้ไม่มีความหวัง, ๒. อาสังโส ผู้หวัง ๓. วิคตาโส ผู้ปราศจากความหวัง ( อยู่เหนือความหวัง เอาชนะความหวังได้ ) ; ๑. ผู้ทำให้บริบูรณ์ในศีล, ๒. ผู้ทำให้บริบูรณ์ในสมาธิ, ๓. ผู้ทำให้บริบูรณ์ในปัญญา ฯ ล ฯ.

บุคคลที่มีจำนวน ๔

เช่น๑. สาวัชโช ผู้มีโทษ, ๒. วัชชพหุโล ผู้มากไปด้วยโทษ, ๓. อปัปสาวัชโช ผู้มีโทษน้อย, ๔. อนวัชโช ผู้ไม่มีโทษ ฯ ล ฯ.

บุคคลที่มีจำนวน ๕

เช่น ๑. ผู้ให้แล้วดูหมิ่น, ๒. ผู้ดูหมิ่นเพราะอยู่ร่วมกัน, ๓. ผู้มีหน้าถือเอา ( หูเบา เชื่อง่าย ), ๔. ผู้โลเล, ๕. ผู้โง่เขลา ฯ ล ฯ.

บุคคลที่มีจำนวน ๖

๑. มีบุคคลบางคนตรัสรู้สัจจะด้วยตนเองในธรรมที่ไม่เคยสดับมาก่อน, บรรลุความเป็น สัพพัญญู (ผู้รู้สิ่งทั้งปวง)ในธรรมที่ได้ตรัสรู้นั้น และบรรลุความเป็นผู้เชี่ยวชาญในธรรมอันเป็นกำลัง(ได้แก่พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ).

๒. มีบุคคลบางคนตรัสรู้สัจจะด้วยตนเองในธรรมที่ไม่เคยสดับมาก่อน, ไม่บรรลุความเป็นสัพพัญญูในธรรมที่ได้ตรัสรู้นั้น และไม่บรรลุความเป็นผู้เชี่ยวชาญในธรรมอันเป็นกำลัง ( ได้แก่พระปัจเจกพุทธเจ้า ).

๓. มีบุคคลบางคนไม่ตรัสรู้สัจจะด้วยตนเองในธรรมที่ไม่เคยสดับมาก่อน, เป็นผู้ทำที่สุดแห่ง ทุกข์ได้ในปัจจุบัน และบรรลุบารมีที่ให้เป็นพระสาวก ( ได้แก่พระสาริบุตรและพระโมคคัลลานะผู้เป็นอัครสาวก ).

๔. มีบุคคลบางคนไม่ตรัสรู้สัจจะด้วยตนเองในธรรมที่ไม่เคยสดับมาก่อน, เป็นผู้ทำที่สุดแห่ง ทุกข์ได้ในปัจจุบัน และไม่บรรลุบารมีที่ให้เป็นพระสาวก ( ได้แก่พระอรหันต์ทั่ว ๆ ไป ).

๕. มีบุคคลบางคนไม่ตรัสรู้สัจจะด้วยตนเองในธรรมที่ไม่เคยสดับมาก่อน, ไม่ทำที่สุดแห่ง ทุกข์ในปัจจุบัน เป็นพระอนาคามี ไม่มาสู่ความเป็นเช่นนี้.

๖. มีบุคคลบางคนไม่ตรัสรู้สัจจะด้วยตนเองในธรรมที่ไม่เคยสดับมาก่อน, ไม่ทำที่สุดแห่ง ทุกข์ในปัจจุบัน เป็นพระโสดาบัน หรือพระสกทาคามี มาสู่ความเป็นอย่างนี้.

บุคคลที่มีจำนวน ๗

ได้แก่บุคคลเปรียบด้วยน้ำ ๗ ประเภท เช่น จมลงไปคราวเดียวก็จมหายไปเลย เป็นต้น ซึ่ง ได้ย่อไว้แล้วในหน้าพระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๑๕ ชื่ออังคุตตรนิกาย ) ในข้อ สัตตกนิบาต ชุมนุมธรรมะที่มี ๗ ข้อ ).

บุคคลที่มีจำนวน ๘

บุคคล ๘ ได้แก่บุคคลที่สมบูรณ์ด้วยมรรค ๔ ประเภท บุคคลผู้สมบูรณ์ด้วยผล ๔ ประเภท.

บุคคลที่มีจำนวน ๙

๑. พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ( ผู้ตรัสรู้ได้เองและตั้งศาสนา )

๒. พระปัจเจกพุทธเจ้า ( ผู้ตรัสรู้ได้เอง แต่มิได้ตั้งศาสนา )

๓. อุภโตภาควิมุต ( ผู้พ้นโดยส่วนทั้งสอง คือทั้งด้วยสมาธิและด้วยปัญญา )

๔. ปัญญาวิมุต ( ผู้พ้นด้วยปัญญา )

๕. กายสักขี ( ผู้เห็นธรรมด้วยนามกาย สิ้นอาสวะบางส่วน )

๖. ทิฏฐิปัตตะ ( ผู้เห็นสัจจธรรมด้วยปัญญา สิ้นอาสวะบางส่วน )

๗. สัทธาวิมุต ( ผู้พ้นด้วยศรัทธา สิ้นอาสวะบางส่วน )

๘. ธัมมานุสารี ( ผู้แล่นไปตามธรรม คือปฏิบัติเพื่อทำให้แจ้งโสดาปัตติผล มีปัญญาออกหน้า )

๙. สัทธานุสารี ( ผู้แล่นไปตามศรัทธา คือปฏิบัติเพื่อทำให้แจ้งโสดาปัตติผล มีศรัทธาออกหน้า )

(หมายเหตุ :ในคำอธิบายซึ่งเรียกว่านิทเทส เมื่ออธิบายบุคคลทั้งเก้าประเภทนี้จบ แล้ว ได้อธิบายเพิ่มเติมอีกว่า บุคคลผู้ปฏิบัติเพื่อทำให้แจ้งโสดาปัตติผล ชื่อว่า สัทธานุสารี ผู้ตั้งอยู่ในผลชื่อว่า สัทธาวิมุติ อนึ่งคำอธิบายเกี่ยวกับพระอริยบุคคลตั้งแต่ข้อ ๓ ถึงข้อ ๙ ได้กล่าวไว้ชัดเจนกว่านี้ในที่อื่น คือในหน้าพระ สุตตันตปิฎกเล่มที่ ๕ หน้า ๓ ชื่อทีฆนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ ) ในข้อ ๒๐. กีฎาคิริสูตร ).

บุคคลที่มีจำนวน ๑๐

ได้แก่พระอริยบุคคล ๕ ประเภทผู้ถึงความตกลงใจ ( หมดความสงสัย ) ในพระพุทธเจ้า ใน ชาตินี้และพระอริยบุคคลอีก ๕ ประเภทผู้ละโลกนี้ไปแล้วจึงถึงความตกลงใจ ( ๕ ประเภทแรก ได้แก่พระโสดาบัน ๓ ประเภท กับพระสกทาคามี และพระอรหันต์. ๕ ประการหลัง ได้แก่พระอนาคามี ๕ ประเภท ผู้ปรินิพพานในชั้นสุทธาวาส ).

(หมายเหตุ :พระอริยบุคคลทั้งสิบประเภทนี้ มีกล่าวไว้แล้ว พร้อมด้วยคำอธิบายใน หน้ารวมพระสุตตันตปิฎก) ในพระสุตตันตะเล่มที่ ๑๒ หน้า ๔ ในข้อ ๔. พระผู้มีพระภาคทรงแสดงถึงกรณียกิจของสมณะ ) และที่พระสุตตันตะเล่มที่ ๑๖ หน้า ๒ ในข้อ ทุติยปัณณาสก์ หมวด ๕๐ ที่ ๒ )

หมวดธรรมะว่าด้วยบุคคลตั้งแต่ ๑ ถึง ๑๐ นี้ โดยเฉพาะตั้งแต่จำนวน ๒ ถึงจำนวน ๑๐ มีกล่าวไว้แล้วแทบทั้งสิ้นในตอนที่ย่อความในทุกนิบาต อังคุตตรนิกาย ถึงทสกนิบาต อังคุตตรนิกาย คือประมวลธรรมดาหมวด ๒ หมวด ๑๐ ดูที่พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๑๒ ) พระอังคุต-ตรนิกาย เล่มที่ ๑๒-๑๖ ถึง พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๑๖ หน้า ๒ จึงแสดงไว้ในที่นี้ไม่พิสดาร.

จบปุคคลบัญญัติ

<< ย้อนกลับ  ||  หน้าถัดไป  >>

- ธาตุกถา
- ปุคคลบัญญัติ


» พระอภิธรรมปิฎก เล่ม ๑

» พระอภิธรรมปิฎก เล่ม ๒

» พระอภิธรรมปิฎก เล่ม ๓

» พระอภิธรรมปิฎก เล่ม ๔

» พระอภิธรรมปิฎก เล่ม ๕

» พระอภิธรรมปิฎก เล่ม ๖

» พระอภิธรรมปิฎก เล่ม ๗

» พระอภิธรรมปิฎก เล่ม ๘

» พระอภิธรรมปิฎก เล่ม ๙

» พระอภิธรรมปิฎก เล่ม ๑๐

» พระะอภิธรรมปิฎก เล่ม ๑๑

» พระอภิธรรมปิฎก เล่ม ๑๒

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย