ศาสนา ลัทธิ ความเชื่อ นิกาย พิธีกรรม >>
หลักสูตรพุทธศาสนา
หลักสูตรพุทธศาสนา (ระดับมัธยมต้น-ปลาย)
บทที่ ๑๔ ธรรมประยุกติ
๑. อธิปไตย ๓
ธรรมชาติของมนุษย์จะมีความเห็นและความเชื่อจากลักษณะ ๓ ประการนี้คือ
๑. อัตตาธิปไตย คือมีตนเป็นใหญ่
๒. โลกาธิปไตย คือมีโลกเป็นใหญ่
๓. ธรรมาธิปไตย คือมีธรรมะเป็นใหญ่
อัตตาธิปไตยก็คือเอาความเห็นของตนเป็นใหญ่ เชื่อมั่นตนเอง ส่วนโลกาธิปไตยก็คือเชื่อตามชาวโลก หรือตามคนอื่น ซึ่งทั้งสองนี้ก็มีทางที่จะเป็นความเห็นหรือความเชื่อที่ผิดได้ จะต้องเป็นธรรมาธิปไตย คือเชื่อตามหลักความจริงที่ปรากฏ จึงจะเป็นความเห็นที่ถูกต้อง
๒. กำลัง ๘
พระพุทธองค์ทรงตรัสถึงเรื่องสิ่งที่มีกำลังในการเอาชนะไว้ดังนี้
๑. เด็กมีการร้องไห้เป็นกำลัง
๒. สตรีมีความโกรธเป็นกำลัง
๓. โจรมีอาวุธเป็นกำลัง
๔. พระราชามีอิสริยะ(ความเป็นใหญ่)เป็นกำลัง
๕. คนพาลมีการเพ่งโทษผู้อื่นเป็นกำลัง
๖. บัณฑิตมีการเพ่งโทษตนเองเป็นกำลัง
๗. ผู้สดับมากมีการพิจารณาเป็นกำลัง
๘. สมณะพราหมณ์มีขันติเป็นกำลัง
๓. วาจาสุภาษิต
หลักในการพูดนั้นพระพุทธองค์ทรงวางหลักไว้ดังนี้
๑. คำพูดใดไม่จริง ไม่แท้และไม่เป็นประโยชน์ ไม่ควรพูด
๒. คำพูดใด ไม่จริง ไม่แท้ แต่เป็นที่รักที่พอใจของผู้ฟัง ก็ไม่ควรพูด
๓. คำพูดใด จริงแท้ แต่ไม่เป็นประโยชน์ ก็ไม่ควรพูด
๔. คำพูดใดจริงแท้และเป็นประโยชน์ แต่ไม่เป็นที่รักของผู้ฟัง
จะต้องรู้เวลาที่จะพูด
๕. คำพูดใดจริงแท้และเป็นประโยชน์ และเป็นที่รักที่พอใจของผู้ฟังจึงสมควรพูด
๔. การปฏิบัติเกี่ยวกับเวลา
บุคคลทั่วไปนั้นมักจะเฝ้าอาลัยอาวรณ์กับอดีต และวิตกกังวลกับอนาคต
แต่พระพุทธองค์ทรงสอนว่า
๑. อย่าอาลัยอาวรณ์กับอดีต เพราะมันไม่สามารถย้อนกลับมาได้
๒. และอย่าวิตกกังวลกับอนาคต เพราะมันยังมาไม่ถึง
๓. จงทำปัจจุบันให้ดีที่สุด แล้วอนาคตจะจัดตัวของมันเอง
๕. สิ่งที่ควรพิจารณาเนืองๆ
พระพุทธองค์ทรงสอนให้เราหมั่นพิจารณาตนเองอยู่เสมอๆว่า
๑. วันคืนล่วงไปๆ บัดนี้เราทำอะไรอยู่
๒. เมื่อเราทำสิ่งใดไว้เราย่อมจะได้รับผลจากการกระทำนั้น
๓. เรามีคุณความดีอะไรที่จะเอาไว้อวดคนอื่นบ้างหรือไม่
๔. เรามีอะไรที่จะต้องปรับปรุงเปลี่ยนแปลงให้ดีขึ้นบ้างหรือไม่
๖. ผู้พูดปดทั้งๆที่รู้
พระพุทธองค์ทรงสอนว่า ผู้ที่ยังพูดโกหกอยู่ทั่งๆที่รู้
การที่จะไม่ทำความชั่วอื่นอีกเป็นไม่มี คือคนที่ชอบพูดโกหกนั้น
เขาย่อมพูดเพื่อเอาตัวรอด หรือเพื่อประโยชน์แก่ตนเองโดยไม่สนใจผู้อื่น
ดังนั้นการพูดโกหก
จึงเป็นเครื่องชี้ว่าคนพูดนั้นมีการทำสิ่งที่ไม่ดีงาม(ชั่ว)เอาไว้
หรือจะมีการทำสิ่งที่ไม่ดีงาม(ชั่ว)อีกอย่างแน่นอนในอนาคต
ดังนั้นเราจึงควรระมัดระวังคนเหล่านี้ให้ดี.
๗. การศึกษาให้แจ่มแจ้ง
ในการศึกษาสิ่งใดนั้น เราจะต้องศึกษาให้เข้าใจอย่างแจ่มแจ้ง
ซึ่งหลักในการศึกษานั้นก็คือ เราจะต้อง ศึกษาให้ ลึกและรอบด้าน
คือศึกษาให้ลึกที่สุด และรอบด้าน
หรือศึกษาให้หมดและรวมทั้งสิ่งที่เกี่ยวข้องด้วย เหมือนกับการศึกษาสระน้ำ
ที่ต้องรู้ถึงความลึกและความกว้างของสระน้ำให้หมด
จึงจะรู้จักสระน้ำนั้นอย่างแจ่มแจ้งแท้จริง
» บทที่ ๑ หลักพุทธศาสนาโดยสรุป
» บทที่ ๒ หลักพื้นฐานพุทธศาสนา
» บทที่ ๑๑ ชาวพุทธ และศาสนพิธี