ศาสนา ลัทธิ ความเชื่อ นิกาย พิธีกรรม >>

หอพระไตร

หลักสูตรพุทธศาสนา

หลักสูตรพุทธศาสนา (ระดับมัธยมต้น-ปลาย)

บทที่ ๖ ประวัติพุทธสาวก

๑. พระอานนท์
พระอานนท์ เป็นโอรสของพระเจ้าสุทโกทนะ ซึ่งเป็นน้องของพระเจ้าสุทโธทนะ พระมารดานามว่า กีสาโคตมี ดังนั้นพระอานนท์จึงมีศักดิ์เป็นพระอนุชา(น้อง)ของเจ้าชายสิทธัตถะ

หลังจากที่เจ้าชายสิทธัตถะเสด็จออกผนวชจนตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าแล้ว และเสด็จกลับมาเยี่ยมกรุงกบิลพัสดุ์ เจ้าชายอานนท์พร้อมด้วยเจ้าชายของศากยวงศ์อีก ๕ องค์ก็ได้ขอบวชกับพระพุทธองค์ ซึ่งหลังจากบวชได้ไม่นานพระอานนท์ก็ได้บรรลุเป็นพระอริยบุคคลขึ้นโสดาบัน(ขั้นต้น)

พระอานนท์ท่านได้รับแต่งตั้งให้เป็นพระอุปฐาก(ผู้รับใช้ใกล้ชิด)ของพระพุทธเจ้า ซึ่งท่านก็ได้รับใช้พระพุทธเจ้าอย่างใกล้ชิดจนพระพุทธองค์ทรงเสด็จดับขันธปรินิพพาน และต่อมาท่านก็ได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์ ซึ่งจากการที่ท่านอยู่ใกล้ชิดพระพุทธเจ้ามากที่สุด ดังนั้นท่านจึงเป็นผู้ที่จดจำคำสอนของพระพุทธเจ้าไว้มากที่สุด อีกทั้งท่านยังเป็นผู้ทูลขอพระพุทธเจ้าให้บวชสตรีเป็นภิกษุณีในพุทธศาสนาอีกด้วย.

๒. พระอุบาลี
พระอุบาลีเดิมเป็นบุตรของช่างตัดผมอยู่ในกรุงกบิลพัสดุ์ เมื่อโตขึ้นท่านได้เป็นช่างกัลบก(ช่างตัดผม)ประจำราชสำนักแห่งเจ้าศากยวงศ์ เมื่อเจ้าชายศากยวงศ์ ๖ พระองค์ได้ออกบวช อุบาลีก็ได้ออกบวชด้วย

หลังบวชได้ไม่นานท่านก็ได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ และมีความแตกฉานในพระวินัยเป็นอย่างมาก จนท่านได้รับการยกย่องว่าเป็นเอตทัคคะ(เป็นเลิศกว่าผู้อื่น)ในด้านทรงจำพระวินัย

๓. พระอัญญาโกญฑัญญะ
เดิมท่านชื่อ โกณฑัญญะ เกิดในตระกูลพราหมณ์ในกรุงกบิลพัสดุ์ ท่านเป็น ๑ ในปัญจวัคคีย์ที่ออกบวชตามพระพุทธเจ้า หลังจากที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสรู้แล้วก็ได้เสด็จไปแสดงธรรมสอนปัญจวัคคีย์เป็นครั้งแรก ซึ่งโกญทัญญะก็ได้ดวงตาเห็นธรรม(เริ่มเกิดความเห็นแจ้งในอริยสัจ ๔ ) เป็นคนแรก ซึ่งขณะที่พระอัญญาโกญทัญญะเกิดดวงตาเห็นธรรมนั้นพระพุทธองค์ทรงรู้จึงอุทานขึ้นมาว่า “อัญญาโกญทัญโญ” ที่แปลว่า โกญทัญญะรู้แล้วหนอ จึงทำให้ท่านได้ชื่อว่า อัญญาโกญทัญญะ ตั้งแต่นั้นสืบมา และท่านก็ได้ขอบวชเป็นพระสงฆ์องค์แรกในพระพุทธศาสนา เมื่อท่านบวชได้ไม่นานท่านก็ได้บรรลุเป็นพระอรหันต์.  

๔. พระราหุล
ราหุล(แปลว่า บ่วง) เป็นโอรสของเจ้าชายสิทธัตถะกับพระนางยโสธราหรือพิมพา เมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จกลับมาเยือนกรุงกบิลพัสดุ์ พระนางพิมพาก็ได้ให้ราหุลไปทูลขอสมบัติจากพระพุทธเจ้า แต่พระพุทธองค์ก็ได้ทรงให้พระสารีบุตรบวชราหุลเป็นสามเณรองค์แรกในพุทธศาสนาเมื่ออายุได้ ๗ ขวบ และเมื่ออายุครบ ๒๐ ปีท่านก็ได้บวชเป็นภิกษุและสำเร็จเป็นพระอรหันต์ในเวลาต่อมา.

๕. พระมหาปชาปดีโคตมีเถรี
พระนางมหาปชาปดีโคตมีเป็นพระน้านางของเจ้าชายสิทธัตถะ ต่อมาเมื่อพระนางสิริมหามายาซึ่งเป็นพระมารดาของเจ้าชายสิทธัตถะสวรรคต พระนางจึงได้รับแต่งตั้งให้เป็นอัครมเหสีและเลี้ยงดูเจ้าชายสิทธัตถะ เมื่อเจ้าชายสิทธัตถะออกบวชและตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าแล้ว พระนางมหาปชาบดีโคตมีก็ได้ตามไปขอบวชเป็นภิกษุณี ซึ่งก็ต้องรับครุธรรม(ข้อปฏิบัติที่หนัก) ๘ ประการก่อน เช่น ภิกษุณีแม้บวชตั้ง ๑๐๐ ปีก็ต้องไหว้ภิกษุแม้บวชในวันเดียว และไม่พึงว่ากล่าวภิกษุ เป็นต้น และเมื่อบวชแล้วท่านก็ได้เพียรปฏิบัติจนสำเร็จเป็นพระอรหันต์ ท่านได้รับการยกย่องจากพระพุทธเจ้าว่าเป็นเอตทัคคะด้านมีประสบการณ์มาก.

๖. พระเจ้าสุทโธทนะ
พระเจ้าสุทโธทนะเป็นโอรสของพระเจ้าสีหนุกับนางกัญจนา มีพระมเหสีนามว่าสิริมหามายา มารดาของเจ้าชายสิทธัตถะ ต่อมาพระนางสิริมหามายาสิ้นพระชนม์ภายหลังเจ้าชายสิทธัตถะประสูติได้ ๗ วัน ก็ได้พระนางมหาปชาบดีโคตรมีพระกนิษฐา(น้อง)พระนางสิริมหามายามาดำรงตำแหน่งแทน

หลังจากพระพุทธเจ้าเสด็จออกผนวชจนตรัสรู้แล้ว พระเจ้าสุทโธทนะได้สั่งอำมาตย์ไปกราบทูลให้พระพุทธเจ้าเสด็จมาเยือนมาตภูมิ ซึ่งพระองค์ก็ได้เสด็จนิวัติมาตภูมิ(เยือน) และแสดงธรรมโปรดพระบิดาจนสำเร็จเป็นพระอริยบุคคลขั้นโสดาบัน ภายหลังเมื่อพระเจ้าสุทโธทนะป่วยหนัก พระพุทธเจ้าได้เสด็จมาแสดงธรรมโปรดจนสำเร็จเป็นพระอรหันต์และนิพพานในที่สุด

 

» บทที่ ๑ หลักพุทธศาสนาโดยสรุป

» บทที่ ๒ หลักพื้นฐานพุทธศาสนา

» บทที่ ๓ พุทธธรรม

» บทที่ ๔ คุณธรรมประจำใจ

» บทที่ ๕ พุทธประวัติ

» บทที่ ๖ ประวัติพุทธสาวก

» บทที่ ๗ หน้าที่ชาวพุทธ

» บทที่ ๘ การฝึกสมาธิ

» บทที่ ๙ การพัฒนาปัญญา

» บทที่ ๑๐ พระสงฆ์

» บทที่ ๑๑ ชาวพุทธ และศาสนพิธี

» บทที่ ๑๒ ภาษาบาลีและพุทธภาษิต

» บทที่ ๑๓ ศาสนาโลก

» บทที่ ๑๔ ธรรมประยุกติ

» บทที่ ๑๕ ปรมัตถธรรม

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย