สุขภาพ ความงาม อาหารและยา สมุนไพร สาระน่ารู้ >>

คู่มือ อสม.กับการดูแลผู้สูงอายุในชุมชน

กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข

ภาวะสมองเสื่อมในผู้สูงอายุ

เป็นกลุ่มอาการที่มีการสูญเสียหน้าที่การทำงานของสมองที่เกิดขึ้นภายหลังอย่างเรื้อรัง ทำให้ความสามารถของบุคคลลดลง ความจำเสื่อม ไม่สามารถเรียนรู้สิ่งใหม่ๆได้ มีพฤติกรรมแปลกๆบุคลิกภาพเปลี่ยนไป มีความผิดปกติในการใช้ภาษา การคำนวณ ความคิดริเริ่ม ความเข้าใจ โดยผู้ป่วยยังรู้ตัวดี ต่อมาอาการจะเป็นมากขึ้นเรื่อยๆ จนถึงจำตนเองและผู้อื่นไม่ได้ พบบ่อยในคนอายุเกิน ๖๕ ปีขึ้นไป ยิ่งอายุมากขึ้น จำนวนผู้ป่วยสมองเสื่อมยิ่งมากขึ้น

สมองเสื่อมเกิดจากอะไร เกิดขึ้นได้อย่างไร

คนส่วนใหญ่จะนึกว่าเป็นโรคสมองเสื่อม คือ โรคอัลไซเมอร์ แต่ความจริงแล้ว โรคอัลไซเมอร์ เป็นสาเหตุของโรคหนึ่งที่ทำให้เกิดภาวะสมองเสื่อมเท่านั้น ซึ่งยังมีสาเหตุอื่นๆอีกมากมาย ที่พบบ่อยๆมี ๒ ชนิด ได้แก่

๑. ชนิดไม่ทราบสาเหตุที่ทำให้เกิดสมองฝ่อ ที่เรียกว่าโรคอัลไซเมอร์ พบได้บ่อยที่สุดประมาณ ๗๐ % โรคนี้พบครั้งแรกในปี พ.ศ.๒๔๕๐ โดยประสาทแพทย์ชื่อ ดร.อลัวส์ อัลไซเมอร์ โดยจะพบความชุกเพิ่มขึ้นเป็น ๒ เท่า ทุกๆ ๕ ปีที่อายุเพิ่มขึ้น เมื่อนับจากอายุ ๖๐ ปีขึ้นไป

๒. ชนิดเกิดเนื่องจากเลือดไปเลี้ยงสมองลดลง พบได้ประมาณ ๓๐ % โดยเกิดจากหลอดเลือดแข็ง ตีบตันหรือซีด ทำให้ไปเลี้ยงสมองไม่พอ ซึ่งถ้าเกิดการตายของเนื้อสมองมากขึ้น ก็จะทำให้เกิดอาการหลงลืม ซึ่งผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงได้แก่ ผู้ป่วยโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ภาวะไขมันในเลือดสูง หรือสูบบุหรี่ ซึ่งอาจทำให้หลอดเลือดแข็งตัว ตีบ หรืออุดตันได้

นอกจากนี้ภาวะสมองเสื่อม ยังอาจเกิดได้จาก

- จากการติดเชื้อในสมอง ซึ่งมักพบในคนอายุน้อยๆ เช่น สมองอักเสบจากการติดเชื้อไวรัส , การติดเชื้อไวรัสเอดส์ก็ทำให้สมองเสื่อมได้เช่นกัน

- การขาดวิตามินบางชนิด เช่น วิตามินบี ๑ หรือ วิตามินบี ๑๒ ซึ่งการขาดวิตามินบี ๑ มักพบในผู้ป่วยติดเหล้าเป็นโรคพิษสุราเรื้อรัง ส่วนการขาดวิตามินบี ๑๒ จะพบได้ในผู้ป่วยที่ผ่าตัดกระเพาะหรือลำไส้เล็ก ทำให้ดูดซึมไม่ได้

- อื่นๆ เช่น สารพิษบางชนิด , ต่อมไทรอยด์ทำงานน้อยผิดปกติ เป็นต้น

ปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดอัลไซเมอร์

๑. ความชรา โรคอัลไซเมอร์มักจะเป็นกับคนอายุ ๖๕ ปีขึ้นไป
๒. เชื้อชาติ พบได้ทุกเชื้อชาติ
๓. เพศ พบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย
๔. พันธุกรรม พบว่าคนที่เป็นอัลไซเมอร์จะมีประวัติครอบครัวเป็นโรคนี้ ร้อยละ ๓๐-๔๐

อาการเตือนและอาการที่เกิดขึ้นของภาวะสมองเสื่อม

๑. หลงลืม ซึ่งมีผลต่อชีวิตประจำวัน
๒. ทำกิจวัตรที่เคยทำไม่ได้
๓. มีปัญหาในการใช้ภาษา
๔. ไม่รู้วันและเวลา
๕. การตัดสินใจแย่ลง
๖. มีปัญหาในการคิดแบบนามธรรม
๗. วางของผิดที่
๘. มีพฤติกรรมและอารมณ์ที่เปลี่ยนไป
๙. บุคลิกเปลี่ยน
๑๐. ขาดความคิดริเริ่ม

ข้อควรคำนึงเบื้องต้นสำหรับผู้ดูแลหรือผู้ที่อยู่ใกล้ชิดผู้ป่วยโรคสมองเสื่อม

  • อาการต่างๆ ที่พบในผู้ป่วยสมองเสื่อมเกิดจากโรคทางสมอง มิใช่การแกล้งทำหรือความตั้งใจจะทำ
  • ผู้ที่ป่วยเป็นโรคสมองเสื่อม จะมีระดับสติปัญญาลดลง จึงไม่ควรคาดหวังที่จะให้เขาเรียนรู้ในสิ่งที่สอนหรือบอกไป
  • อาการหลายๆ อาการที่เกิดขึ้น อาจไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ เป็นไปได้เพียงให้อาการนั้นคงอยู่แต่ไม่รบกวนผู้ป่วย หรือคนรอบข้างมากนัก
  • อาการที่พิจารณาแล้วว่า ไม่เป็นอันตรายต่อชีวิตและความปลอดภัยของคนรอบข้างและตัวผู้ป่วยเอง อาจไม่จำเป็นต้องรักษาเพื่อให้อาการเหล่านั้นหมดไป
  • วิธีการที่ใช้ได้ดีกับผู้ป่วยคนหนึ่ง อาจไม่ได้ผลเมื่อนำไปใช้กับผู้ป่วยคนอื่น หรือแม้แต่ในผู้ป่วยคนเดียวกันแต่ต่างเวลากัน ดังนั้นผู้ดูแลควรมีการสังเกตและเรียนรู้จากคนรอบข้าง หรือจากประสบการณ์ของผู้อื่นร่วมด้วย
  • เมื่อใดก็ตามที่ผู้ดูแล หรือผู้ที่อยู่ใกล้ชิดผู้ป่วยเกิดอารมณ์หงุดหงิด ก้าวร้าว ควรรีบเตือนตนเองและพาตนเองออกมาจากผู้ป่วย เนื่องจากผู้ป่วยจะไม่เข้าใจว่าผู้ดูแลรู้สึกอย่างไร เพราะการรับรู้ของเขาลดลง แล้วควรรีบหาวิธีผ่อนคลาย และอาจหาคำแนะนำจากแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญ เพื่อหาทางช่วยเหลือต่อไป

    « ย้อนกลับ | หน้าถัดไป »

สถานการณ์ผู้สูงอายุไทย
บทบาท อสม.กับการดูแลผู้สูงอายุในชุมชน
องค์ความรู้เรื่องผู้สูงอายุที่ อสม. ควรรู้
การเปลี่ยนแปลงของผู้สูงอายุทางเศรษฐกิจและสังคม
การดูแลช่วยเหลือผู้สูงอายุที่มีปัญหาสุขภาพจิต
อาหารสำหรับผู้สูงอายุ
การดูแลสุขภาพช่องปากสำหรับผู้สูงอายุ
ความรู้เรื่องยาสำหรับผู้สูงอายุ
การป้องกันอุบัติเหตุและจัดสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม
การออกกำลังกายเพื่อสุขภาพสำหรับผู้สูงอายุ
การทำกายบริหาร(ยืดเหยียดกล้ามเนื้อสำหรับผู้สูงอายุ)
การบริหารร่างกายโดยใช้ไม้พลอง
ภาวะสมองเสื่อมในผู้สูงอายุ
ปัญหาที่พบบ่อยและข้อแนะนำ
อสม. จะส่งเสริมสุขภาพผู้สูงอายุตามกลุ่มได้อย่างไร
สิทธิประโยชน์ของผู้สูงอายุ

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย