สุขภาพ ความงาม อาหารและยา สมุนไพร สาระน่ารู้ >>
คู่มือ อสม.กับการดูแลผู้สูงอายุในชุมชน
กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข
การป้องกันอุบัติเหตุและจัดสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม
อุบัติเหตุในผู้สูงอายุ
คนเราเมื่อมีอายุมากขึ้นจะมีโอกาสเกิดทั้งอุบัติเหตุในบ้าน และนอกบ้าน ส่วนมากอุบัติเหตุในผู้สูงอายุที่เกิดขึ้น เกิดจากการพลัดตกหกล้ม ซึ่งพบบ่อยในผู้สูงอายุ มักเกิดภายในบ้าน โดยเฉพาะบริเวณบันไดและห้องน้ำ ทำให้เกิดกระดูกหักได้ ที่พบได้บ่อยคือกระดูกสะโพกหัก
การป้องกันการพลัดตกหกล้มขณะขึ้นลงบันได ควรปฏิบัติดังนี้
- บันไดภายในบ้าน ควรมีราวสำหรับยึดเหนี่ยว
- ขอบของบันไดแต่ละขั้น ควรมีอุปกรณ์กันลื่นไว้
- ตามขั้นบันไดอย่าวางสิ่งของใดๆ จะทำให้สะดุดพลาดตกบันได
- บริเวณบันไดควรมีแสงสว่างเพียงพอในการมองเห็น
- ขณะขึ้นลงบันได ไม่ควรถือสิ่งของทั้งสองมือ
การหกล้มในห้องน้ำ มักเกิดจาก ๒ สาเหตุใหญ่ๆ
- พื้นห้องน้ำลื่น หรือเปียกอยู่ มีแสงสว่างไม่เพียงพอ
- เกิดอาการหน้ามืด เป็นลม เนื่องจากลุกขึ้นหลังจากเสร็จ จากการขับถ่าย
การป้องกันการหกล้มในห้องน้ำ ควรปฏิบัติดังนี้
- ควรมีวัสดุหรืออุปกรณ์กันลื่นในอ่างน้ำหรือบนพื้นที่อาบน้ำ
- ควรติดตั้งราวไว้ข้างผนังห้องน้ำสำหรับยึดเกาะได้ง่าย
- ควรแยกห้องอาบน้ำ กับ ห้องส้วม เพื่อป้องกันการลื่นล้ม
- เวลาอาบน้ำ หากไม่จำเป็น ไม่ควรล็อคประตูห้องน้ำ
เพราะถ้าเกิดอุบัติเหตุจะได้มีคนเข้าไปช่วยเหลือได้สะดวก
ไฟไหม้น้ำร้อนลวก
เป็นสาเหตุสำคัญเกิดจากสิ่งแวดล้อมของผู้สูงอายุ สถานที่พบเกิดได้บ่อยคือ ห้องน้ำขณะอาบน้ำ จากกาต้มน้ำร้อน และห้องครัวขณะปรุงอาหาร การป้องกันการถูกไฟไหม้น้ำร้อนลวกในผู้สูงอายุ ปฏิบัติดังนี้
- ควรหลีกเลี่ยงและไม่ควรอยู่ใกล้ เตาไฟ กองไฟ หรือหม้อน้ำร้อน
- ครัวและห้องน้ำ ควรมีแสงสว่างเพียงพอ
อุบัติเหตุนอกบ้าน
การเดินบนท้องถนน เกิดได้จากอุบัติเหตุหลายประการ เช่น การสะดุดหกล้มบนพื้นถนน หรือพลัดตกจากรถโดยสารประจำทาง หรือถูกรถยนต์ รถจักรยานยนต์ ชน ขณะเดินข้ามถนน เนื่องจากสายตาไม่ดี หูไม่ค่อยได้ยิน
การป้องกันอุบัติเหตุบนท้องถนน ควรปฏิบัติดังนี้
- รองเท้าที่ใส่ควรเป็นรองเท้าหุ้มส้น เพื่อป้องกันรองเท้าหลุด
- ต้องข้ามถนนตรงทางม้าลาย หรือสะพานข้ามถนน หรือบริเวณสี่แยกไฟแดงขณะรถหยุดโดยเฉพาะผู้สูงอายุที่หูตึง จะมีความปลอดภัยมากกว่า
- กรณีที่ถนนลื่น ควรเดินด้วยความระมัดระวังเป็นพิเศษ
- ถ้าใช้ไม้เท้าช่วยเดิน ไม้เท้าจะต้องมีความยาวที่พอดีและเหมาะสม
- ถ้าเดินถนนเวลากลางคืน ควรแต่งกายเสื้อผ้าสีขาวเพื่อคนขับรถจะได้มองเห็นง่าย
การขับรถ ถ้าผู้สูงอายุขับรถเอง จะต้องระมัดระวังในเรื่องอุบัติเหตุให้มากที่สุด ความสามารถในการขับรถเป็นเรื่องสำคัญต่อไปนี้
- สายตา สามารถมองเห็นชัดเจนหรือไม่ โดยเฉพาะเวลากลางคืน
- สมาธิในการขับรถ
- ความรวดเร็วของการตัดสินใจในภาวะคับขัน
- ความคล่องตัวในการควบคุมบังคับรถ
- ผู้สูงอายุที่มีความผิดปกติทางการได้ยิน ไม่ควรขับรถ
สถานการณ์ผู้สูงอายุไทย
บทบาท อสม.กับการดูแลผู้สูงอายุในชุมชน
องค์ความรู้เรื่องผู้สูงอายุที่ อสม. ควรรู้
การเปลี่ยนแปลงของผู้สูงอายุทางเศรษฐกิจและสังคม
การดูแลช่วยเหลือผู้สูงอายุที่มีปัญหาสุขภาพจิต
อาหารสำหรับผู้สูงอายุ
การดูแลสุขภาพช่องปากสำหรับผู้สูงอายุ
ความรู้เรื่องยาสำหรับผู้สูงอายุ
การป้องกันอุบัติเหตุและจัดสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม
การออกกำลังกายเพื่อสุขภาพสำหรับผู้สูงอายุ
การทำกายบริหาร(ยืดเหยียดกล้ามเนื้อสำหรับผู้สูงอายุ)
การบริหารร่างกายโดยใช้ไม้พลอง
ภาวะสมองเสื่อมในผู้สูงอายุ
ปัญหาที่พบบ่อยและข้อแนะนำ
อสม. จะส่งเสริมสุขภาพผู้สูงอายุตามกลุ่มได้อย่างไร
สิทธิประโยชน์ของผู้สูงอายุ