สุขภาพ ความงาม อาหารและยา สมุนไพร สาระน่ารู้ >>

คู่มือ อสม.กับการดูแลผู้สูงอายุในชุมชน

กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข

ปัญหาที่พบบ่อยและข้อแนะนำ

๑. การกิน

ปัญหาที่พบบ่อยคือ จำไม่ได้ว่ากินอาหารไปแล้ว ไม่รู้จักวิธีการใช้ช้อนส้อม ปัญหาในการกลืน การเคี้ยว หรืออาจต้องป้อนอาหาร
แนวทางการจัดการกับปัญหา

- ตรวจสุขภาพเหงือกและฟัน ความสามารถในการเคี้ยวและการกลืนเป็นระยะๆ
- คงบรรยากาศการกินอาหารอย่างเดิมๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของเวลาที่เริ่มจัดหาอาหาร ถ้วยชาม ตำแหน่งของโต๊ะเก้าอี้
- คอยเตือนล่วงหน้าเมื่อใกล้ถึงเวลาอาหาร
- จัดอาหารชนิดที่คุ้นเคย เคี้ยวง่ายและระวังการสำลัก บางครั้งจำเป็นที่จะต้องบดอาหาร หรือทำอาหารเหลวโดยเน้นคุณค่าและปริมาณอาหารแต่ละมื้อ
- อาจจะต้องคอยบอกวิธีรับประทานอาหารให้ค่อยๆเคี้ยวแล้วค่อยๆกลืนช้าๆ
- ไม่ควรเคร่งครัดกับมารยาทบนโต๊ะอาหารมากนัก ควรทำบรรยากาศให้สบายๆ
- ควรระวังอาหารที่ร้อยจัดเกินไป เพราะผู้ป่วยอาจรับรู้ไม่ได้เกี่ยวกับอุณหภูมิความร้อน
- อาหารบนโต๊ะไม่ควรมีหลายๆอย่างพร้อมกัน อาจทำให้สับสนได้

๒. การลืมกินยา

ผู้สูงอายุสมองเสื่อมส่วนใหญ่ต้องกินยาเป็นประจำ ผู้ที่เป็นโรคสมองเสื่อมอาจกินยามากเกินไปพอๆกับไม่ได้กินยาเพราะจำไม่ได้ว่ากินยาแล้วหรือยัง
แนวทางการจัดการกับปัญหา

- ผู้ดูแลต้องคอยจัดยาให้ซึ่งอาจทำให้ผู้สูงอายุสมองเสื่อมไม่ค่อยพอใจ โดยเฉพาะผู้ที่มีภาวะสมองเสื่อมในระยะแรก
- จัดยาสำหรับหนึ่งวันหรือหนึ่งสัปดาห์โดยใช้อุปกรณ์จ่ายยาซึ่งมีขายตามร้านยาทั่วไป
- ผู้ดูแลและผู้สูงอายุช่วยกัน- ผู้ดูแลและผู้สูงอายุช่วยกันตรวจดูยาที่เหลือและกากบาทแต่ละวันที่ผ่านไปในปฏิทิน

๓. การนอน

ปัญหาที่พบคือไม่ยอมนอนตอนกลางคืน เดินไปเดินมาและการนอนหลับมากในกลางวัน

แนวทางการจัดการกับปัญหา

- พยายามจัดเวลานอนให้เป็นเวลา
- คอยเตือนผู้สูงอายุเมื่อใกล้ถึงเวลานอน
- พยายามหลีกเลี่ยงการนอนระหว่างวัน แต่อาจให้งีบหลับได้ในหลังช่วงอาหารกลางวัน แต่ไม่ควรเกินบ่าย ๓ โมงเย็น และต้องไม่เกิน ๓๐ นาที
- กระตุ้นให้มีกิจกรรมการเคลื่อนไหวอย่างสม่ำเสมอ เช่น พาเดินเป็นประจำในช่วงเช้า เย็น
- มีแสงสว่างเพียงพอในห้องนอน
- หลีกเลี่ยงคาเฟอีน (ชา กาแฟ) น้ำอัดลม เครื่องดื่มชูกำลัง
- ถ้านอนไม่หลับหลายคืน ควรปรึกษาแพทย์ ไม่ควรให้ยานอนหลับเอง
- ถ้าอากาศสลัว ในวันที่ไม่มีแดด ผู้สูงอายุอาจคิดว่าเป็นกลางคืน อาจจะทำให้นอนโดยไม่กินข้าวจะต้องปลุกให้กินข้าว

๔. การแต่งตัว

ปัญหาที่พบ คือ จำไม่ได้ว่าเก็บเสื้อผ้าไว้ที่ไหน ไม่ทราบว่าจะต้องใส่อะไรก่อน-หลัง ไม่ทราบวิธีการใส่ ไม่รู้ว่าเสื้อผ้ามีเอาไว้ทำอะไร เป็นต้น

แนวทางการจัดการกับปัญหา

- ช่วยเตรียมเสื้อผ้าไว้ให้ใส่อย่างเป็นลำดับ
- บอกหรือช่วยแต่งตัวให้เป็นลำดับทุกครั้ง
- สถานที่แต่งตัวให้เป็นตำแหน่งเดิมทุกครั้ง
- ถ้าผู้สูงอายุแต่งตัวเองได้ ควรให้เวลาไม่ต้องเร่งรีบ
- พยายามเลือกเสื้อผ้าที่ใส่สบายและง่าย

๕. การอาบน้ำ

ปัญหาที่พบ คือ มักจะลืมอาบน้ำ หรือไม่ยอมอาบน้ำ และลืมวิธีอาบน้ำ

แนวทางการจัดการกับปัญหา

- พยายามคงเวลาการอาบน้ำของผู้สูงอายุไว้ให้เหมือนเดิม
- ถ้าผู้สูงอายุไม่ยอมอาบน้ำในขณะนั้น อาจเลื่อนเวลาออกไปเล็กน้อยหลังจากอารมณ์ดีขึ้น
- การอาบน้ำโดยใช้ฝักบัวจะเป็นวิธีที่ค่อนข้างสะดวกกว่า
- ระวังความปลอดภัย เช่น ควรมีราวเหล็กข้างผนังไว้สำหรับยึดเพื่อกันหกล้ม ผ้ายางรองพื้นชนิดกันลื่นอาจมีเก้าอี้ไว้นั่งอาบน้ำและควรดูแลอุณหภูมิของน้ำไม่ให้ร้อนหรือเย็นเกินไป
- ถ้าจำเป็นอาจต้องช่วยอาบน้ำให้
- ผู้สูงอายุอาจรู้สึกอายในการช่วยอาบน้ำ ควรใช้ผ้าปิดบังร่างกายบางส่วนขณะอาบน้ำ

๖. การขับถ่าย

ปัญหาที่พบ คือ ผู้สูงอายุมักไม่รู้ว่าเมือไหร่จึงจะใช้ห้องน้ำ อาจกลั้นอุจจาระไม่ได้ หาห้องน้ำไม่พบ เข้าไปในห้องน้ำแล้วไม่รู้ว่าจะทำอย่างไรและอาจถึงขั้นถ่ายไม่เป็นที่

แนวทางการจัดการกับปัญหา
- พยายามจัดเวลาการขับถ่ายให้เป็นเวลา หรือใกล้เคียงกับเวลาเดิม
- จำกัดเครื่องดื่มเมื่อใกล้เวลาเข้านอน ไม่ดื่มน้ำมากเมื่อใกล้เวลาเข้านอน
- อำนวยความสะดวกในการเดินเข้าห้องน้ำ เช่น เปิดไฟไว้ในห้องน้ำ และทางเดินไปห้องน้ำ ติดสัญลักษณ์แสดงว่าเป็นห้องน้ำไว้ชัดเจน
- เสื้อผ้าที่สวมใส่ควรถอดออกง่าย เช่น ใช้สวมเอวยางยืดดีกว่าติดกระดุมหรือผูกเชือก
- ชนิดของอาหารควรเป็นชนิดที่ย่อยง่าย มีกากใยช่วยในการขับถ่าย
- เตรียมกระโถนปัสสาวะไว้ใกล้ๆ ที่นอน
- หากมีความจำเป็น อาจต้องใช้ผ้าอ้อมสำหรับผู้สูงอายุ

๗. การสื่อสาร

ผู้สูงอายุภาวะสมองเสื่อมจะค่อยๆสูญเสียทักษะการสื่อสาร โดยจะค่อยๆลืมชื่อคน สถานที่ แม้กระทั่งคนที่สนิทมากๆพูดคุยกันอยู่ทุกวัน ก็ยังลืม และจะมีปัญหาในการจำ สรรพนามและในที่สุดจะพูดลำบาก อาจพูดได้เพียงสองสามคำหรือพูดคำนั้นซ้ำไปซ้ำมา

ผู้ป่วยสมองเสื่อมมักมีปัญหาเกี่ยวกับการสื่อสารโดยเข้าใจคำศัพท์ต่างๆได้เพียง ๗% ลักษณะของเสียง(สูงและต่ำ) ๓๘% และเข้าใจในลักษณะท่าทางได้ ๕๕%

วัตถุประสงค์ของการสื่อสารกับผู้สูงอายุสมองเสื่อม

- เพื่อปฏิสัมพันธ์ในครอบครัว
- ช่วยในการทำกิจวัตรประจำวัน
- ช่วยป้องกันความสับสน เวลา สถานที่
- ช่วยในการบริหารยา ดูแลสุขภาพอนามัย
- ช่วยในการบริหารทรัพย์สินส่วนบุคคล หรือพินัยกรรม
- ทำให้คุณภาพชีวิตดีขึ้น ความสุนทรียะชีวิตที่งดงาม
- ความเข้าใจในสิ่งดีงาม ความเชื่อ ความศรัทธา สติและสมาธิ

« ย้อนกลับ | หน้าถัดไป »

สถานการณ์ผู้สูงอายุไทย
บทบาท อสม.กับการดูแลผู้สูงอายุในชุมชน
องค์ความรู้เรื่องผู้สูงอายุที่ อสม. ควรรู้
การเปลี่ยนแปลงของผู้สูงอายุทางเศรษฐกิจและสังคม
การดูแลช่วยเหลือผู้สูงอายุที่มีปัญหาสุขภาพจิต
อาหารสำหรับผู้สูงอายุ
การดูแลสุขภาพช่องปากสำหรับผู้สูงอายุ
ความรู้เรื่องยาสำหรับผู้สูงอายุ
การป้องกันอุบัติเหตุและจัดสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม
การออกกำลังกายเพื่อสุขภาพสำหรับผู้สูงอายุ
การทำกายบริหาร(ยืดเหยียดกล้ามเนื้อสำหรับผู้สูงอายุ)
การบริหารร่างกายโดยใช้ไม้พลอง
ภาวะสมองเสื่อมในผู้สูงอายุ
ปัญหาที่พบบ่อยและข้อแนะนำ
อสม. จะส่งเสริมสุขภาพผู้สูงอายุตามกลุ่มได้อย่างไร
สิทธิประโยชน์ของผู้สูงอายุ

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย