สุขภาพ ความงาม อาหารและยา สมุนไพร สาระน่ารู้ >>
คู่มือ อสม.กับการดูแลผู้สูงอายุในชุมชน
กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข
การเปลี่ยนแปลงของผู้สูงอายุทางเศรษฐกิจและสังคม
การเกษียณอายุ หรือการหยุดทำงานนอกบ้าน ต้องมาทำงานในบ้านหรืออยู่เฉยๆ จาการที่เคยเป็นหัวหน้างานกลับต้องมานั่งเฉยๆ อยู่กับบ้านและจากบทบาทที่เคยเป็นหัวหน้าครอบครัวต้องดูแลคนในครอบครัว ก็ต้องมาเป็นผู้ที่ได้รับการดูแล ฐานะการเงินซึ่งเคยประกอบอาชีพได้เองลดลงเหลือแต่เงินบางส่วน หรือไม่มีรายได้เลย ถ้าเคยรับราชการอาจได้รับเงินบำเหน็จบำนาญ แต่ถ้าประกอบอาชีพส่วนตัว หรือรับจ้าง ทำไร่ ทำนา ทำสวน ก็อาจต้องยังชีพด้วยเงินสะสมไว้ หรือต้องพึ่งพาลูกหลานเป็นหลัก เหล่านี้ ทำให้ผู้สูงอายุเกิดความเครียด อึดอัด ท้อแท้ ได้ง่าย
การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางสังคม ภาวะวิกฤตทางเศรษฐกิจในปัจจุบันอาจส่งผลกระทบต่อความสามารถในครอบครัว ในการเกื้อหนุนผู้สูงอายุจนอาจนำไปสู่ปัญหาด้านเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาวะสุขภาพของผู้สูงอายุ และอีกประการหนึ่งการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของสถาบันครอบครัว ที่เป็นลักษณะครอบครัวเดี่ยวมากขึ้น เพราะลูกๆได้แต่งงานแยกครอบครัวไปมีครอบครัวเป็นของตนเอง ทำให้ความสัมพันธ์ภาพในครอบครัวน้อยลง ลูกๆ มีเวลาให้พ่อ-แม่ ที่เป็นผู้สูงอายุน้อยลงไปด้วย
โรคเรื้อรัง...กับผู้สูงอายุ
โรคที่พบในผู้สูงอายุ ส่วนหนึ่ง การเจ็บป่วยจะสะสมตั้งแต่ในวัยหนุ่มสาวหรือวัยทำงาน แต่ไม่ได้ดูแลอย่างต่อเนื่อง จึงทำให้อาการโรครุนแรงขึ้นในวัยสูงอายุ หลายโรคเกิดจาก การประพฤติปฏิบัติที่ไม่เหมาะสมทั้งการบริโภคอาหาร เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ สูบบุหรี่ ขาดการ ออกกำลังกายและขาดการควบคุมอารมณ์ที่ดี
ความดันโลหิตสูง
ความดันโลหิตสูงพบบ่อยในผู้สูงอายุ ส่วนหนึ่งเป็นผลจากหลอดเลือดแดงแข็งตัวผิดปกติ บางส่วนเป็นผลจากไตขาดเลือดไปเลี้ยง ความดันโลหิตในผู้ใหญ่ ไม่ว่าจะอายุเท่าไรก็ตาม ควรจะน้อยกว่า ๑๔๐/๙๐ มม.ปรอท การรักษาความดันโลหิตในผู้สูงอายุ เป็นเรื่องจำเป็นและควรระมัดระวังอย่างมาก เพราะว่าถ้าลดความดันโลหิตมากเกินไป หรือลดลงเร็วเกินไป เลือดจะเลี้ยงสมองไม่เพียงพอ ทำให้สมองขาดเลือดเกิดอัมพาตได้ ดังนั้นผู้ป่วยควรได้รับการดูแลใกล้ชิด ควรวัดความดันโลหิตอย่างสม่ำเสมอ
อาการความดันโลหิตสูง
เลือดกำเดาออก ปวดศีรษะโดยเฉพาะในตอนเช้าหลังตื่นนอน มึนงง ตาพร่ามัว
ข้อแนะนำ
ผู้ป่วยที่ความดันโลหิตสูง ต้องควบคุมอาหารรสเค็ม ควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์และระวังการหกล้ม ศีรษะกระแทก ซึ่งอาจจะทำให้หลอดเลือดในสมองแตกเป็นอัมพาตได้ควรพักผ่อนทั้งร่างกายและจิตใจ ควบคุมอารมณ์และจิตใจไม่ให้ตึงเครียด ขุ่นมัว และวู่วาม ควรได้รับการดูแลจากแพทย์ รักษาให้ความดันโลหิตลดลงเป็นปกติ เพื่อป้องกันโรคแทรกซ้อน
การปฏิบัติตัวของผู้ป่วยความดันโลหิตสูง
๑. พักผ่อนทั้งร่างกายและจิตใจ ไม่ควรนอนดึก ไม่ทำงานหนัก ทำจิตใจให้ผ่องใส
ฝึกสมาธิ ซึ่งลดความเครียดได้ดี
๒. ปรับการกินอาหาร งดอาหารรสเค็มทุกชนิด และลดอาหารโปรตีนจากเนื้อสัตว์
๓. งดบุหรี่เด็ดขาด
๔. ออกกำลังกายในความควบคุมและคำแนะนำแพทย์
๕. ปรึกษาแพทย์ผู้ชำนาญการโดยเฉพาะเมื่อใช้ยาลดความดันเพื่อการรักษาอย่างต่อเนื่อง
เบาหวานคืออะไร
เบาหวานเกิดจากร่างกายขาดฮอร์โมนอินซูลิน ทำให้เผาพลาญน้ำตาลในเลือดไม่ได้ ระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้นและขับออกทางปัสสาวะ เมื่อระดับน้ำตาลในเลือดสูงนานๆ จะทำให้หลอดเลือดเสื่อมและเสียหาย
อาการเบาหวาน
ปัสสาวะบ่อย ดื่มน้ำมาก กินเก่ง หิวบ่อย น้ำหนักลด รวมทั้งมีอาการจากร่างกายขาดน้ำ เช่น อ่อนเพลีย วิงเวียน มึนงง ตามัว คอแห้ง และสมรรถภาพทางเพศเสื่อม
ข้อแนะนำ
- ต้องรักษาต่อเนื่องยาวนาน หรือตลอดชีวิต หากรักษาอย่างจริงจัง จะมีชีวิตปกติได้ ถ้ารักษาไม่จริงจัง จะอันตรายจากภาวะแทรกซ้อนได้มาก
- ผู้ป่วยที่กินยาหรือฉีดยารักษาเบาหวานอยู่ อาจเกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำมีอาการใจหวิว ใจสั่น หน้ามืด ตาลาย เหงื่อออกตัวเย็นเหมือนขณะหิวข้าว ถ้าน้ำตาลในเลือดต่ำมากๆอาจเป็นลมหมดสติ หรือชักได้ ผู้ป่วยควรระวังดูอาการดังกล่าวและพกน้ำตาลหรือของหวานติดตัวประจำ ถ้าเริ่มมีอาการดังกล่าวให้ผู้ป่วยรีบกินน้ำตาล หรือของหวาน
- อย่าซื้อยาชุดกินเอง
- แนะนำให้ผู้ที่มีอายุมากกว่า ๓๐ ปี และมีญาติพี่น้องเป็นเบาหวาน
หรือคนอ้วนควรตรวจหาน้ำตาลในปัสสาวะหรือเลือดเป็นระยะ หากพบเป็นเบาหวาน
จะได้รักษาแต่เนิ่นๆ
การปฏิบัติตัวของผู้ป่วยเบาหวาน
- พบแพทย์และตรวจปัสสาวะ ตรวจเลือดตามที่แพทย์นัด
- กินยาลดน้ำตาล หรือฉีดอินซูลิน และปฏิบัติตัวตามคำแนะนำแพทย์
- ควรควบคุมอาหารการกินอย่างเคร่งครัด เช่น กินอาหารให้พอดี ไม่กินจุบจิบ
งดเว้นอาหารหวานๆ อาหารประเภทแป้งและไขมัน โดยเฉพาะไขมันจากกะทิ
- ออกกำลังกายสม่ำเสมอ อย่างน้อยสัปดาห์ละ ๓ ครั้ง
- พักผ่อนให้เพียงพอ ทำจิตใจให้ร่าเริง ไม่เครียด ไม่วิตกกังวล
- งดสูบบุหรี่และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
- หมั่นดูแลรักษาความสะอาดเท้า ไม่สวมรองเท้าที่คับเกินไป
ถ้ามีแผลต้องรีบรักษาทันที
- ควรมีบัตรหรือสัญลักษณ์ที่แสดงว่าเป็นผู้ป่วยเบาหวานติดตัวตลอด
ข้อเข่าเสื่อม
ผู้สูงอายุจะเริ่มมีอาการข้อเสื่อมขึ้นกับการใช้งานข้อ และสภาพร่างกาย ถ้าน้ำหนักมากน้ำหนักจะกดกระแทกข้อ ข้อจะเสื่อมเร็ว ถ้าใช้งานข้อมากๆ เช่น เดินมาก ยืนมาก หรือเดินขึ้นลงบันไดมากๆ นั่งยองๆมาก ข้อจะเสื่อมเร็ว
อาการ
ปวดข้อ ในระยะแรกๆจะปวดมากเมื่อเดินมาก ยืนมาก หรือเดินขึ้นลงบันได มากๆ อาจมีเสียงดังกร๊อบแกร็บในข้อ
ข้อแนะนำ
- ถ้าผู้ป่วยน้ำหนักตัวมากให้ลดน้ำหนักโดยการควบคุมอาหารและออกกำลังกาย
- ลดการใช้งานข้อเข่า เช่น หลีกเลี่ยงการนั่งยองๆ ควรใช้ส้วมนั่งราบ
หลีกเลี่ยงการเดินขึ้นลงบันไดมากๆ เพื่อป้องกันข้อเข่าเสื่อม
- บริหารกล้ามเนื้อบริเวณรอบๆ ข้อให้แข็งแรง เช่น บริหารกล้ามเนื้อหน้าขา ๒ ข้างโดย
การยกขาขึ้นและเกร็งไว้สักครู่ ควรทำบ่อยๆเพื่อป้องกันหรือชะลอข้อเข่าเสื่อม
หลอดเลือดหัวใจตีบ
อาการที่ควรรู้
เจ็บแน่นหน้าอก มีลักษณะจำเพาะ คือเจ็บตื้อๆ แน่นๆ หรือหนักๆ เจ็บที่กลางอก ใต้กระดูกหน้าอก หรือทางซ้ายบริเวณหัวใจ อาจร้าวไปที่ข้อศอกหรือ แขน คอ กราม เจ็บนาน ๓ ๕ นาที ถ้าเจ็บนานเกิน ๓๐ นาที อาจเกิดกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันได้ ซึ่งจะมีอาการ
๑. เหงื่อออก ใจสั่น หน้ามืดคล้ายจะเป็นลม
๒. เหนื่อย หายใจลำบาก
๓. หัวใจวาย หมดสติถึงแก่ชีวิต
ข้อแนะนำ
- กินอาหารให้พอดีกับความต้องการของร่างกายให้ครบ ๕ หมู่
อาหารที่ควรหลีกเลี่ยงได้แก่ อาหารไขมันสูง เค็มจัด หวานจัด
- ออกกำลังกายสม่ำเสมอ จะช่วยให้หัวใจและหลอดเลือดทำงานได้ดี
- ควบคุมเบาหวาน ความดันโลหิตสูง น้ำตาลในเลือด ให้อยู่ในระดับปกติ
- ทำจิตใจให้ร่าเริง แจ่มใสเสมอ ไม่เครียด
- ตรวจสุขภาพร่างกายประจำปี
- ควบคุมไขมันในเลือดให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ
- งดบุหรี่ เหล้า และสารเสพติดทุกชนิด
- ลดน้ำหนัก ถ้าอ้วนลงพุง
โรคไขมันในเลือดสูง
ตามปกติแล้ว คนเราจะมีไขมันในเลือดเพราะคนเรากินอาหารก็ต้องมีไขมัน และไขมันในร่างกายก็เป็นเชื้อเพลิงที่ทำให้เกิดพลังงาน ไขมันที่เรากินเป็นอาหาร เช่น ไขมันสัตว์ ไขมันพืช กระเพาะและลำไส้จะย่อยและดูดซึมเข้าสู่เส้นเลือด ซึ่งร่างกายจะนำไปใช้เป็นพลังงาน ถ้ากินมากเกินไปร่างกายใช้ไม่หมดก็จะสะสมไว้ ดังนั้นคนกินมากร่างกายจึงอ้วน
ลักษณะของไขมันในเส้นเลือดแบ่งเป็นกลุ่มใหญ่ๆ ได้ ๒ กลุ่ม คือ
๑. ไขมันในรูป โคเลสเตอรอล (ค่าปกติ ๑๕๐ ๒๐๐ มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์)
๒. ไขมันในรูป ไตรกลีเซอไรด์ (ค่าปกติ ๑๐๐ มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์)
ดังนั้นถ้าผู้สูงอายุมีค่าไขมัน โคเลสเตอรอลเกิน ๒๐๐ และไตรกลีเซอไรด์เกิน ๑๐๐ จะเป็นอันตรายโดยจะเป็นผลให้เกิดโรคหัวใจขาดเลือดและเส้นเลือดอุดตันเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้
การที่ไขมันในเลือดสูงมีผลทำให้เลือดมีความเข้มข้น และหนืดมากขึ้น การไหลเวียนของเลือดช้าลง ทำให้ไขมันตกตะกอนเกาะตามเส้นเลือด เป็นผลทำให้เส้นเลือดแข็งและหนาขึ้น ช่องว่างในเส้นเลือดเล็กลง มีผลทำให้เลือดไหลไปเลี้ยงสมองและหัวใจน้อยลง พบมากในผู้สูงอายุ
สาเหตุ
๑. พันธุกรรม คือ มีประวัติคนในครอบครัว/ญาติ ไขมันในเลือดสูง
๒. จากพยาธิสภาพของโรคบางชนิด เช่น เบาหวาน ต่อมไทรอยด์ โรคตับ โรคไต
โรคพิษสุราเรื้อรัง ซึ่งโรคเหล่านี้ ทำให้เกิดการเผาพลาญสารไขมันผิดปกติไป
เกิดภาวะไขมันในเลือดสูง
๓. การบริโภคอาหารที่มีไขมันมากเกินไป
ผู้ป่วยทีมีไขมันในเลือดสูงจะมีอาการหรือไม่มีอาการก็ได้ โดยอาการของโรคที่ทำให้ไขมันในเลือดสูง เช่น โรคเบาหวาน โรคตับ ดังนั้นควรตรวจสุขภาพประจำปีอย่างน้อยปีละ ๑ ครั้ง
สุขภาพจิต...กับผู้สูงอายุ
การสร้างกำลังใจให้แก่ผู้สูงอายุ
เพื่อสร้างกำลังใจและส่งเสริมให้ผู้สูงอายุมีสุขภาพจิตดี อาสาสมัครควรให้คำแนะนำแก่ลูกหลานหรือสมาชิกในครอบครัวของผู้สูงอายุในการปฏิบัติต่อท่านดังนี้
๑. ปฏิบัติต่อท่านด้วยความเคารพ ให้เกียรติยกย่องท่านเสมอ โดย
- ขอคำปรึกษาหรือความเห็น
- เชื่อฟังคำแนะนำที่ผู้สูงอายุให้
- ให้ความสำคัญ โดยเฉพาะเรื่องการตัดสินใจ
๒. ใส่ใจในกิจวัตรประจำวัน เช่น ดูแลเรื่องอาหารการกิน อาบน้ำ/แปรงฟัน แต่งตัว
พักผ่อน ฯลฯ พร้อมให้การช่วยเหลือในการทำกิจกรรมต่างๆที่ท่านทำไม่ได้
๓. เป็นเพื่อนคุย รับฟัง ให้เล่าเรื่องราวและประสบการณ์ในอดีต
บางเรื่องอาจเป็นประโยชน์ต่อการดำเนินชีวิตของคนรุ่นหลัง
๔. ดูแลสุขภาพอนามัย ด้วยการพาไปพบแพทย์เมื่อเจ็บป่วย
หรือพาไปตรวจสุขภาพร่างกายประจำปี
เพื่อเป็นกำลังใจและให้ผู้สูงอายุมั่นใจว่าตนยังมีสุขภาพแข็งแรงดีอยู่
๕. ส่งเสริมให้เข้าร่วมกิจกรรมต่างๆ เช่น ไปวัด ไปเยี่ยมญาติเพื่อนฝูง
ร่วมทำกิจกรรมของชมรมต่างๆ เป็นการกระตุ้นให้ผู้สูงอายุตื่นตัวทั้งร่างกายและจิตใจ
๖. ในกรณีไม่ได้อยู่ร่วมกัน ควรหมั่นไปมาหาสู่ เยี่ยมเยียนกัน
โดยเฉพาะในช่วงเทศกาลสำคัญๆ เช่น วันสงกรานต์ วันพ่อ วันแม่ เป็นต้น
วิธีสังเกตผู้สูงอายุที่มีปัญหาสุขภาพจิต
การสังเกตผู้สูงอายุที่มีปัญหาสุขภาพจิต ดูได้ง่ายๆจากการดำเนินชีวิตประจำวัน ได้แก่
- พฤติกรรมการรับประทานอาหารเปลี่ยน จะกินมากขึ้นกว่าปกติ เมื่อมีปัญหา
ไม่สบายมากก็จะยิ่งกินมากขึ้น หรือ ในทางตรงกันข้าม จะกินน้อยลง เบื่ออาหารจนซูบผอม
- พฤติกรรมการนอนเปลี่ยน จะนอนหลับมากกว่าปกติ หรือไม่ก็จะมีอาการนอนไม่หลับ
ชอบตกใจตื่นตอนกลางดึกแล้วไม่สามารถนอนหลับต่อไปอีก
- อารมณ์เปลี่ยน หงุดหงิดบ่อยและซึมเศร้า เคร่งเครียด วิตกกังวล
- พฤติกรรมเปลี่ยนไปจากเดิม เช่น เคยเป็นคนร่าเริงแจ่มใสก็กลับซึมเศร้า
ไม่เคยดื่มเหล้าก็หันมาดื่มเหล้า จากพูดน้อยก็กลายเป็นคนพูดมาก
- มีอาการเจ็บป่วย ตามร่างกาย ซึ่งหาสาเหตุไม่พบ เช่น ปวดเมื่อย
สถานการณ์ผู้สูงอายุไทย
บทบาท อสม.กับการดูแลผู้สูงอายุในชุมชน
องค์ความรู้เรื่องผู้สูงอายุที่ อสม. ควรรู้
การเปลี่ยนแปลงของผู้สูงอายุทางเศรษฐกิจและสังคม
การดูแลช่วยเหลือผู้สูงอายุที่มีปัญหาสุขภาพจิต
อาหารสำหรับผู้สูงอายุ
การดูแลสุขภาพช่องปากสำหรับผู้สูงอายุ
ความรู้เรื่องยาสำหรับผู้สูงอายุ
การป้องกันอุบัติเหตุและจัดสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม
การออกกำลังกายเพื่อสุขภาพสำหรับผู้สูงอายุ
การทำกายบริหาร(ยืดเหยียดกล้ามเนื้อสำหรับผู้สูงอายุ)
การบริหารร่างกายโดยใช้ไม้พลอง
ภาวะสมองเสื่อมในผู้สูงอายุ
ปัญหาที่พบบ่อยและข้อแนะนำ
อสม. จะส่งเสริมสุขภาพผู้สูงอายุตามกลุ่มได้อย่างไร
สิทธิประโยชน์ของผู้สูงอายุ