วิทยาศาสตร์ ดาราศาสตร์ ฟิสิกส์ เคมี ชีววิทยา >>
เสือโคร่ง
เสือดาว
เสือดำ
เสือลายเมฆ
แมวป่าหัวแบน
แมวป่า
แมวลายหินอ่อน
แมวดาว
เสือปลา
เสือโคร่ง
การตายของลูกเสือ
จากการศึกษาเสือโคร่งในจิตวัน พบว่าลูกเสือโคร่งในปีแรกมีอัตราตายประมาณ 34
เปอร์เซ็นต์ (144 ตัว) ในจำนวนนี้ 73 เปอร์เซ็นต์เป็นการตายยกครอก
สาเหตุการตายของลูกเสือเกิดจากหลายสาเหตุ เช่น ไฟ น้ำท่วม และถูกฆ่า
ในปีที่สองอัตราตายจะลดลงเหลือ 17 เปอร์เซ็นต์ (94 ตัว) ในจำนวนนี้มีเพียง 29
เปอร์เซ็นต์ ที่เป็นการตายยกครอก โดยภาพรวมแล้ว
สาเหตุการตายส่วนใหญ่ของลูกเสือคือการถูกฆ่า ซึ่งบางครั้งก็โดยพ่อของมันเอง
อายุขัย
เสือโคร่งในสถานเพาะเลี้ยงมีอายุประมาณ 25 ปี
ส่วนเสือโคร่งในธรรมชาติจะอายุสั้นประมาณ 10 ปีเท่านั้น
แต่เคยมีบันทึกจากจิตวันว่ามีเสือโคร่งอยู่ได้ถึง 26 ปี
สำหรับเสือโคร่งในประเทศไทยส่วนใหญ่จะตายด้วยโรคพยาธิและโรคติดเชื้อ
ภัยที่คุกคาม
เนื่องจากเสือโคร่งมีขนาดใหญ่ มีลวดลายสวยงามเป็นที่รู้จักกันดี
ทำให้หนังของมันเป็นที่ต้องการของนักสะสมหรือเศรษฐี
ความที่เป็นจ้าวป่าผู้ทรงพลังทำให้มีความเชื่อมาเป็นเวลานานว่าอวัยวะเสือโคร่งสามารถทำเป็นยาได้สารพัดชนิด
ความต้องการที่สูงส่งผลให้มันจึงถูกล่าอย่างหนักมาตลอดเพื่อที่จะเอาหนังและอวัยวะ
บางครั้งการที่เสือโคร่งเข้าใกล้หมู่บ้านและฆ่าคนหรือสัตว์เลี้ยง
ก็ทำให้ถูกฆ่าได้เช่นกัน นอกจากนี้ก็ยังมีการตัดไม้ทำลายป่า
การลักลอบจับลูกเสือไปเป็นสัตว์เลี้ยง เฉพาะที่ประเทศอิตาลีเพียงประเทศเดียว
มีสิงโต เสือโคร่ง และเสือดาวรวมกันไม่น้อยกว่า 3,000
ตัวที่ถูกเลี้ยงไว้เป็นสัตว์เลี้ยงตามบ้านคน ที่แย่ยิ่งกว่านั้นก็คือ
เจ้าของสัตว์เหล่านั้นมักไม่สนใจที่จะเพาะพันธุ์ขึ้นเพื่อเพิ่มจำนวน
ทำให้มีการลักลอบจับสัตว์จากป่าอยู่เสมอ
ในช่วงศตวรรษที่ 20 เสือโคร่งจำนวนมากถูกล่าในประเทศรัสเซียและจีน
ในขณะนั้นยังไม่มีความคิดที่จะอนุรักษ์
เสือโคร่งจึงเป็นถูกมองเป็นสัตว์อันตรายที่ต้องกำจัด
ผู้ที่ล่าเสือได้ก็จะได้รับรางวัล ในด้านการค้า
เสือโคร่งถูกล่าเพื่อที่จะเอาหนังอันสวยงามไปทำเครื่องประดับและเสื้อผ้า
ราคาหนังเสือโคร่งที่ขึ้นสูงขึ้นเป็นตัวเร่งให้การล่าเสือโคร่งมีมากขึ้น
โดยเฉพาะแถบรัสเซียตะวันอกและเอเชียกลาง
นอกจากนี้กระดูกและอวัยวะเสือโคร่งก็เป็นที่ต้องการอย่างมากประเทศจีนและเกาหลีเพื่อที่จะเอาไปทำเป็นยาจีน
ในต้นทศวรรษ 1900 รัสเซียส่งซากเสือโคร่งแช่แข็งทั้งหมดไปประเทศจีน
เช่นเดียวกับประเทศอินเดียและที่อื่น ๆ
ในยุคอดีต การล่าสัตว์เป็นไปอย่างเสรี
เป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้จำนวนเสือโคร่งลดจำนวนลง
การล่าเสือเป็นที่นิยมอย่างแพร่หลายมากขึ้นโดยเฉพาะเมื่ออาวุธที่ทันสมัยจากตะวันตกแพร่เข้ามายังเอเชีย
โดยเฉพาะในคาบสมุทรอินเดียซึ่งถูกรุกรานจากอังกฤษ
ผู้ที่นิยมการล่าสัตว์มีทั้งจากเจ้าหน้าที่ของรัฐและชนชั้นสูง ในปี 1911
กษัตริย์จอร์จที่ 5 และมหาราชาของเนปาลได้เสด็จออกล่าสัตว์ด้วยกัน
การล่าสัตว์ครั้งนั้นมีเสือโคร่งถูกยิงถึง 39 ตัวภายในเวลาเพียง 11 วัน
ในสารฉบับหนึ่งที่มหาราชาแห่ง Surguja ทรงลิขิตถึงจอร์จ แชลเลอร์ ในปี 1964
ก็ได้กล่าวว่าในช่วงพระชนม์ชีพของพระองค์เคยยิงเสือมาแล้ว 1,150 ตัว
ในช่วงศตวรรษที่ 19
ทหารรัสเซียได้เดินทางไปยังภาคตะวันออกของประเทศเพื่อล่าเสือโคร่งซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของหลักสูตรการฝึกทหารที่จะทำให้จิตใจห้าวหาญ
ภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2
นักล่าสัตว์จากยุโรปและอเมริกาเดินทางเข้าสู่อินเดียและเนปาลเพื่อล่าสัตว์เอาเขาโดยแทบจะไม่มีกฎหมายควบคุม
มีบันทึกอย่างเป็นทางการว่าในช่วงปี 1986-1989 มีเสือโคร่งถูกล่าโดยพรานพวกนี้ถึง
480 ตัว ตัวเลขที่แท้จริงน่าจะมากกว่านี้
มีหนังเสือโคร่งถูกส่งออกต่างประเทศนับร้อย ๆ ผืนในแต่ละปี ก่อนที่จะมีการห้ามในปี
1968
ในอีกทางหนึ่ง การล่าสัตว์กีบจำพวกเก้งกวางมากเกินไปก็เป็นสาเหตุสำคัญอีกอย่างหนึ่งทำให้เสือโคร่งลดจำนวนลง เพราะสัตว์เหล่านี้เป็นเหยื่อของเสือโคร่งโดยตรง ราบิโนวิตช์ได้สำรวจเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง พบว่าการลดจำนวนลงของประชากรเสือโคร่งเกิดขึ้นพร้อม ๆ กับการลดจำนวนของวัวแดง กระทิง และกวางป่า รายงานการสำรวจในครั้งนั้นระบุว่า ในป่าเขตร้อนของเอเชีย เสือโคร่งจะขยายพันธุ์สำเร็จได้ยากมากถ้ามีความหนาแน่นของสัตว์กีบที่เป็นเหยื่อต่ำกว่า 2-5 ตัวต่อตารางกิโลเมตร
ตอนเหนือของเอเชียที่เป็นที่อยู่ของเสือโคร่งพันธุ์ไซบีเรีย เป็นดินแดนที่มีความความอุดมสมบูรณ์น้อย เสือโคร่งจะอดทนต่อสภาพความขาดแคลนอาหารได้ดีกว่า ในป่าอนุรักษ์ลาซอฟสกี ซึ่งเป็นป่าที่มีประชากรเสือโคร่งหนาแน่นที่สุดนั้น มีความหนาแน่นของเหยื่อที่เป็นสัตว์กีบสูงสุดเพียงประมาณ 2.25 ตัวต่อตารางกิโลเมตรเท่านั้น สภาวะขาดแคลนอาหารจะร้ายแรงที่สุดในฤดูหนาวซึ่งสัตว์เหยื่อจะอพยพไปที่อื่น การอดตายของเสือโคร่งจึงเป็นเรื่องปกติในช่วงเวลาอย่างนี้ ในปี 2515 เฮปเตอร์ และ สลัดสกี เคยพบเสือโคร่งตัวเต็มวัยในสภาพที่ผอมแห้งมีน้ำหนักเพียง 70 กิโลกรัมเท่านั้น และเมื่อผ่าท้องดูพบว่าในกระเพาะของเสือตัวนั้นมีเพียงเศษไลเคนเท่านั้น ไม่มีอาหารอยู่เลย และนับตั้งแต่การล่มสลายของสหภาพโซเวียต การล่าสัตว์เพิ่มมากขึ้น ทั้งล่าเสือและล่าสัตว์ที่เป็นเหยื่อของเสือ ส่งผลให้ประชากรของเสือโคร่งลดลงอย่างรวดเร็วจากจำนวน 250-430 ตัวในกลางทศวรรษ 1980 เหลือเพียง 150-250 ตัวเท่านั้น
ถึงแม้ว่าการล่าจะทำให้ประชากรเสือโคร่งลดลงไปมาก แต่นั่นก็ยังไม่ใช่สาเหตุหลักที่ทำให้ประชากรของเสือโคร่งลดลงอย่างมากจนตกอยู่ในภาวะวิกฤตอย่างในปัจจุบัน การสูญเสียแหล่งที่อยู่อาศัยได้กลายเป็นปัจจัยสำคัญทีลดจำนวนเสือโคร่งลดลงอย่างรวดเร็ว
การบุกรุกแผ้วถางป่าซึ่งเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของเสือโคร่งนอกจากเป็นการลดพื้นที่ป่าแล้ว การที่ป่าผืนใหญ่ถูกตัดแยกจากกันเป็นผืนเล็กผืนน้อยทำให้เสือโคร่งไม่สามารถข้ามเขตได้ ป่าบางผืนเหลือพื้นที่น้อยมากจนทำให้ปีปัญหาในด้านสายพันธุ์ เพราะเสืออาจผสมพันธุ์กับในหมู่เครือญาติทำให้เสือรุ่นหลังอ่อนแอลง ดังนั้นป่าผืนใหญ่ที่มีพื้นที่ติดต่อกันจึงมีความสำคัญอย่างมากในการอนุรักษ์เสือโคร่งในระยะยาว
สถานภาพ
ในปลายศตวรรษที่ 19 ยังมีเสือโคร่งอยู่ถึง 100,000 ตัว แต่จากกระประเมินของไซเตสเมื่อปี 2536 พบว่าเหลือเสือโคร่งในธรรมชาติอยู่เพียงไม่ถึง 7,700 ตัวเท่านั้น เสือโคร่งในสถานเพาะเลี้ยงมีมากกว่าเสือโคร่งในธรรมชาติเสียอีก
ในจำนวนเสือโคร่งทั้ง 9 พันธุ์ทั่วโลก มีพันธุ์ที่สูญพันธุ์ไปแล้วถึง 3 พันธุ์คือเสือโคร่งพันธุ์แคสเปียน เสือโคร่งพันธุ์ชวา และเสือโคร่งพันธุ์บาหลี เสือโคร่งพันธุ์ที่เหลือก็มีสถานะภาพที่น่าเป็นห่วงอย่างยิ่ง โดยเฉพาะเสือโคร่งพันธุ์จีนใต้ สุมาตรา และไซบีเรีย
จำนวนของเสือโคร่งในธรรมชาติ (ปี 2539)
![](../../extension-1/image2555/image_3/002.jpg)
![](../../bulet2.gif)
![](../../bulet2.gif)
![](../../bulet2.gif)
![](../../bulet2.gif)
![](../../bulet2.gif)
![](../../bulet2.gif)
![](../../bulet2.gif)
![](../../bulet2.gif)
![](../../bulet2.gif)
![](../../bulet2.gif)
![](../../bulet2.gif)
![](../../bulet2.gif)
![](../../bulet2.gif)