วิทยาศาสตร์ ดาราศาสตร์ ฟิสิกส์ เคมี ชีววิทยา >>
เสือโคร่ง
เสือดาว
เสือดำ
เสือลายเมฆ
แมวป่าหัวแบน
แมวป่า
แมวลายหินอ่อน
แมวดาว
เสือปลา
แมวป่า
ลักษณะทั่วไป
แมวป่ามีรูปร่างผอมเพรียว สีตามลำตัวเรียบ ไม่มีลวดลาย มีสีสันหลายแบบ
ตั้งแต่สีทราย เทาอมเหลือง น้ำตาลอมเทา หรือน้ำตาลอมแดง
ส่วนล่างของลำตัวมีสีครีมหรือน้ำตาลแดงอ่อน ๆ ขายาวเรียว มีลายเส้นตามขวางจาง ๆ
ซึ่งเห็นได้ชัดในวัยเด็ก แต่เมื่อโตขึ้นจะจางลง
แมวที่อยู่ค่อนข้างไปทางใต้จะมีเส้นที่ขานี้จางกว่าแมวที่อยู่ทางตอนเหนือ
ในฤดูหนาวขนตามลำตัวจะหนาและเข้มขึ้น หัวค่อนข้างแคบและมีหน้าผากโหนกสูง
จมูกและคางมักมีสีขาว หูใหญ่ ตั้งสูงและกลม ค่อนข้างชิดกัน
ปลายหูมีขนเป็นกระจุกสีดำ ยาวถึง 15 มม. ม่านตาสีเหลืองสว่าง
บางพันธุ์มีเส้นน้ำตาจาง ๆ อยู่ใต้ตา หางค่อนข้างสั้น ยาวประมาณ 27 เซนติเมตร
หรือประมาณ 40 เปอร์เซ็นต์ของความยาวหัว-ลำตัว มีลายเป็นปล้อง ปลายหางดำ
แมวป่ามีความยาวถึง 75 เซนติเมตร
ค่อนข้างใหญ่กว่าแมวป่าอาฟริกาหรือแมวป่าเอเชีย (Felis silvestris)
ตัวผู้เต็มวัยมีน้ำหนักประมาณ 4.6-7.6 กก. ตัวเมียหนักประมาณ 3.1-5.3 กก.
แมวป่าตัวผู้อายุมากตัวหนึ่งถูกจับได้ในป่าสงวนอัสตราฮันในรัสเซียมีน้ำหนักถึง 13
กิโลกรัม ที่หนักที่สุดที่เคยบันทึกไว้หนักถึง 16 กิโลกรัม
ลูกแมวจะมีจุดทั่วตัวแต่จะจางหายไปเมื่ออายุได้ราว 6 เดือน
แมวป่าดำ ที่เกิดจากความปกติของเม็ดสีเมลานินก็มีบ้าง
เคยมีผู้พบแมวลักษณะนี้ในปากีสถานและอินเดีย
ชนิดย่อย
F.c.affinis - อาศัยอยู่ในแคชเมียร์
F.c.chaus - คอเคซัส
F.c.fulvidina - อินโดจีน
F.c.kelaarita - อินเดียตอนใต้ ศรีลังกา
F.c.kutas - อินเดียตอนเหนือ
ปากีสถาน
F.c.nilotica - หุบเขาลุ่มน้ำไนล์ อียิปต์
อุปนิสัย
แมวป่าหากินได้ทั้งกลางวันและกลางคืน
แต่มักออกหากินในเวลากลางวันมากกว่า หากินบนพื้นดินเป็นหลัก
แต่ก็สามารถปีนต้นไม้ได้ดี เหยื่อที่ชอบจับได้แก่สัตว์ฟันแทะต่าง ๆ
ตั้งแต่หนูตัวเล็ก ๆ จนถึงขนาดใหญ่อย่างคอยปู้ (นากหญ้า) ที่อาจหนักถึง 7 กิโลกรัม
มันอาจชอบคอยปู้มากเป็นพิเศษ เพราะเคยมีผู้วางกับดักไว้ใกล้กับฟาร์มเลี้ยงคอยปู้
ภายในเวลา 14 ปีมีแมวป่าติดกับดักนี้ถึง 200 ตัว นอกจากนี้แมวป่ายังล่ากระต่ายป่า
นก เป็ด ไก่ กิ้งก่า งู กบ แมลง และสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดเล็ก เช่น
ลูกกวางดาวหรือลูกหมูป่า ว่ายน้ำเก่ง และสามารถดำน้ำลงไปจับปลาได้
บางครั้งก็ไปจับไก่ของชาวบ้านกินด้วย
แมวป่าสามารถปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมได้หลายอย่าง
บางครั้งอาจพบได้ใกล้แหล่งอาศัยของมนุษย์ เช่นตามพื้นที่เกษตรกรรมหรือบ้านร้าง
ชีวิตครอบครัวของแมวป่าต่างจากแมวทั่ว ๆ ไปมาก แมวป่าเป็นสัตว์ที่อยู่เป็นครอบครัว
พ่อแมวรู้จักดูแลลูกแมวและปกป้องคุ้มครองลูก ๆ
ซ้ำยังดูแลใกล้ชิดยิ่งกว่าแม่แมวเสียอีก
ถิ่นที่อยู่อาศัย
แมวป่ามีเขตกระจายพันธุ์กว้างมาก
เริ่มตั้งแต่สามเหลี่ยมปากแม่น้ำวอลกาในอิยิปต์ ผ่านตะวันออกกลาง
เอเชียตะวันออกเฉียงใต้เหนือคอคอดกระ อินเดีย ศรีลังกา
ทางตะวันตกมณฑลซินเจียงของจีน
ชื่อของแมวป่า ฟังดูแล้วเป็นชื่อที่ไม่ค่อยเหมาะสมนัก
เพราะคำว่าป่าชวนให้นึกถึงป่าทึบมากกว่า แม้แต่ในภาษาอังกฤษก็เรียกแมวชนิดนี้ว่า
jungle cat ซึ่งหมายถึงป่าทึบเหมือนกัน ในความเป็นจริงแล้ว
แมวป่าชอบอาศัยอยู่ในพื้นที่ที่ค่อนข้างโปร่ง เช่นป่าหญ้าสูง ป่าอ้อ ป่าวูดแลนด์
หรือแม้แต่ตามพื้นที่กสิกรรม เช่นไร่อ้อย ไร่ข้าวโพด ไร่ฝ้าย โดยเฉพาะในเอเชีย
ไร่อ้อยเป็นพื้นที่กสิกรรมที่พบแมวป่าได้บ่อยที่สุด
แมวป่าที่ชอบพื้นที่ ๆ มีความชื้นสูง มักพบใกล้แหล่งน้ำ เช่นหนอง บึง
หรือใกล้ชายฝั่ง ในอิสราเอล แมวป่ามักถูกพบบริเวณบ่อเลี้ยงปลาและริมคลองชลประทาน
แมวป่าในอาเซอร์ไบจันที่อาศัยอยู่ในที่ราบกึ่งทะเลทรายจะมีจำนวนเพิ่มขึ้นในพื้นที่ชลประทานแต่จะลดจำนวนลงในพื้นที่ที่ถูกทิ้งร้าง
อย่างไรก็ตาม แมวป่าก็สามารถปรับตัวเข้ากับพื้นที่แห้งแล้งได้ดี
เช่นทะเลทรายหรือพื้นที่กึ่งทะเลทราย โดยอยู่ใกล้กับโอเอซีสและแม่น้ำ
ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มักพบแมวป่าอยู่ในป่าเบญจพรรณเขตร้อน
แต่ก็เคยพบในป่าดิบของเวียดนามเหมือนกัน ในเทือกเขาหิมาลัย
พบแมวป่าที่ระดับความสูงที่สุดถึง 2,400 เมตร
ในเทือกเขาคอเคซัสที่อยู่ระหว่างทะเลดำกับทะเลแคสเปียนพบถึงระดับ 1,000 เมตร
ชีววิทยา
เชื่อว่าแมวป่าติดสัดมากกว่า 1 ครั้งในปีหนึ่ง
การเป็นสัดแต่ละครั้งกินเวลาราว 5 วัน
เสียงร้องหาคู่ของแมวหนุ่มในฤดูผสมพันธุ์จะคล้ายกับเสียงเห่า ในเขตเอเชียกลาง
แมวป่าจะผสมพันธุ์ในเดือนกุมภาพันธ์ถึงมีนาคม
ส่วนในอินเดียมักจะผสมพันธุ์ในเดือนพฤษภาคม
เคยมีผู้พบลูกแมวในเดือนมกราคมและกุมภาพันธ์ในรัฐอัสสัม
ส่วนแมวป่าในแถบแคสเปียนจะผสมพันธุ์ในเดือนมิถุนายน หากที่อยู่อาศัยอุดมสมบูรณ์
มันอาจผสมพันธุ์ปีละ 2 ครั้ง หลังจากตั้งท้องนาน 63-68 วัน แม่แมวป่าจะออกลูก
ลูกครอกหนึ่งมีประมาณ 1-6 ตัว (เฉลี่ย 2.89)
รังของแมวป่ามักอยู่ในกออ้อหรือพุ่มไม้ทึบ
บางครั้งอาจใช้โพรงไม้หรือรูของสัตว์อื่นที่ทิ้งแล้วเป็นรังเลี้ยงลูกอ่อน
ที่ริมแม่น้ำในอุสเบกิสถาน
เคยมีผู้พบรังของแมวป่าสองรังซึ่งเป็นโพรงในดงอ้อและปูด้วยใบไม้และขนสัตว์
แมวป่าชอบใช้โพรงที่สัตว์ชนิดอื่นทิ้งแล้วเป็นรังเลี้ยงลูก เช่น รังหมาจิ้งจอก
หรือแบดเจอร์ ลูกแมวแรกเกิดหนัก 130-140 กรัม ลืมตาได้เมื่ออายุได้ 10-12 วัน
มีริ้วสีดำ และจะค่อย ๆ จางลงเมื่ออายุมากขึ้น เมื่ออายุได้ 3 เดือนก็จะหย่านม
และเริ่มล่าเหยื่อหากินเองได้เมื่ออายุ 5-6 เดือน
แมวป่าเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์เมื่ออายุได้ 11-18 เดือน
แมวป่าในแหล่งเพาะเลี้ยงมีอายุได้ถึง 15 ปี แมวป่าเคยมีอยู่มากตามสวนสัตว์
แต่ปัจจุบันหาได้ยากแล้ว
ภัยที่คุกคาม
แม้ว่าแมวป่าจะสามารถปรับตัวเข้ากับที่อยู่อาศัยได้หลายแบบ
แต่ดูเหมือนว่ามันชอบอยู่ในพื้นที่ชุ่มน้ำเป็นพิเศษ
ดังจะเห็นได้ว่าในพื้นที่ชุ่มน้ำจะมีประชากรแมวป่าหนาแน่นกว่าพื้นที่อื่น ๆ ดังนั้น
การเปลี่ยนแปลงสภาพพื้นที่ดังกล่าวจึงเป็นการลดจำนวนประชากรของแมวป่ามากที่สุด
การที่แมวป่ามีหนังไม่สวยงามก็ไม่ได้หมายความว่าจะไม่ถูกคุกคามจากการล่า
แมวป่าจำนวนไม่น้อยถูกชาวบ้านฆ่าเพราะมันชอบไปจับเป็ดไก่ของชาวบ้านกิน
พรานกระต่ายหรือพรานนกหลายคนก็รังเกียจแมวป่าเพราะมันชอบล่ากระต่ายป่าและนก
จึงยิงทิ้งไปเป็นจำนวนมาก
สถานภาพ
ปัจจุบันยังแมวป่าอยู่ทั่วไปในเขตที่เป็นที่อยู่อาศัยดั้งเดิม
มีเพียงบริเวณชายขอบของเขตกระจายพันธุ์ของมันเท่านั้นที่มีอยู่เป็นจำนวนน้อย
เช่นในประเทศจีน ในประเทศศรีลังกามีแมวป่าอยู่ในระดับพบไม่บ่อย
พบได้เฉพาะตามป่าโปร่งที่แห้งแล้งตอนเหนือของประเทศเท่านั้น
ในเอเชียกลาง มีการประเมินความนานแน่นของแมวป่าเอาไว้ว่า 4-15 ตัวต่อ 10
ตารางกิโลเมตร แต่ในที่ ๆ
ป่าไม้เสื่อมโทรมจากการพัฒนาที่ดินความหนาแน่นจะลดลงเหลือไม่ถึง 2 ตัวต่อ 10
ตารางกิโลเมตร
ไอยูซีเอ็นยังจัดสถานภาพของแมวป่าไว้ในระดับมีความเสี่ยงน้อย (2550)
สถานภาพการคุ้มครอง
ไซเตส : บัญชีหมายเลข 2
ไทย : สัตว์ป่าคุ้มครอง
ประเทศที่ห้ามล่า บังกลาเทศ จีน อินเดีย อิสราเอล พม่า ปากีสถาน ทาจิกิสถาน ไทย
ตุรกี
ไม่คุ้มครองนอกพื้นที่อนุรักษ์ ภูฏาน จอร์เจีย ลาว เนบานอน พม่า เนปาล
ศรีลังกา เวียดนาม
ไม่มีข้อมูล
อัฟกานิสถาน อาร์เมเนีย อาร์เซอร์ไบจัน กัมพูชา อียิปต์ อิหร่าน อิรัก จอร์แดน
คาซัคสถาน ซีเรีย เตอร์กมินิสถาน ทาจิกิสถาน อุสเบกิสถาน
ข้อมูลอ้างอิง
- http://www.canuck.com/iseccan/jungle.html
- http://lynx.uio.no/catfolk/chaus01.htm
- http://dialspace.dial.pipex.com/agarman/jungle.htm