วิทยาศาสตร์ ดาราศาสตร์ ฟิสิกส์ เคมี ชีววิทยา >>
เสือโคร่ง
เสือดาว
เสือดำ
เสือลายเมฆ
แมวป่าหัวแบน
แมวป่า
แมวลายหินอ่อน
แมวดาว
เสือปลา
แมวดาว
ลักษณะทั่วไป
แมวดาวเป็นแมวป่าที่พบได้ง่ายที่สุดในเมืองไทยและในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
มีขนาดเล็กใกล้เคียงแมวบ้าน แต่ขายาวกว่าเล็กน้อย มีลายจุดทั่วทั้งตัว
สีลำตัวต่างกันไปในแต่ละพื้นที่ มีตั้งแต่สีเทาซีด น้ำตาล เหลืองทอง จนถึงสีแดง
ด้านใต้ลำตัวสีขาว จุดข้างลำตัวเป็นจุดทึบหรือเป็นดอก ส่วนบริเวณขาและหางเป็นจุดทึบ
มีเส้นดำหลายเส้นพาดขนานกันตั้งแต่หน้าผากจนถึงท้ายทอยและเริ่มขาดท่อนกลายเป็นจุดรี
ๆ ที่บริเวณหัวไหล่ บางตัวมีเส้นยาวนี้พาดยาวตลอดแนวสันหลัง มีแถบสีขาว 2
แถบและแถบดำ 4 แถบพาดจากหัวตาไปที่หู ขนมีความยาวต่างกันตามเขตที่อยู่
พันธุ์ที่อาศัยอยู่ทางเหนือจะมีขนยาวและแน่นกว่าพันธุ์ที่อยู่ทางใต้
หัวค่อนข้างเล็ก กรวยปากแคบและสั้น คางสีขาว มีแต้มสีขาวที่มีแถบสีดำแคบ ๆ
ล้อมรอบที่บริเวณแก้ม ม่านตาลึก หูยาวและมน ขอบหูดำและกลางหลังหูสีขาว
หางด้านบนมีลายจุด ปลายหางสีเนื้อ ส่วนใกล้ปลายหางเป็นปล้องที่ไม่ชัดนัก
แมวดาวตัวผู้ใหญ่กว่าตัวเมีย
ชนิดย่อย
ด้วยเขตกระจายพันธุ์ที่กว้างขวาง ทำให้แมวดาวมีชนิดย่อยหลายชนิดย่อย
แต่ละชนิดย่อยมีขนาด สี และลายต่างกันมาก
จนบางชนิดย่อยถูกจำแนกให้เป็นแมวป่าอีกชนิดหนึ่งไปเลย เช่นกรณีของแมวอิริโอะโมะเตะ
(Iriomote Cat) ซึ่งโดยทั่วไปถือว่าเป็นแมวดาวพันธุ์ Prionailurus bengalensis
iriomotensis แต่นักวิทยาศาสตร์บางคนจัดให้เป็นแมวอีกชนิดหนึ่งอยู่ในสกุล
Prionailurus
นอกจากนี้ยังมีชนิดย่อยอื่นที่มีปัญหาทำนองเดียวกันคือแมวสึชิมะที่อาศัยอยู่ในเกาะสึชิมาของญี่ปุ่น
และแมวอามูร์ (P.b. euptilurus) ที่อาศัยอยู่ทางตะวันออกเฉียงเหนือของเอเชีย
ชนิดย่อยที่มีขนาดเล็กที่สุดพบในประเทศฟิลิปปินส์
ส่วนชนิดย่อยที่มีขนาดใหญ่ที่สุดพบในตอนเหนือของทวีป แมวดาวในรัสเซียอาจหนักได้ถึง
7 กิโลกรัม
ถิ่นที่อยู่อาศัย
แมวดาวเป็นแมวป่าในเอเชียที่มีเขตกระจายพันธุ์กว้างขวางที่สุดชนิดหนึ่ง
พบใน 21 ประเทศตั้งแต่ตะวันตกของปากีสถาน ทั่วเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
จนถึงตะวันออกของเกาะชวา บอร์เนียว และกลางหมู่เกาะฟิลิปปินส์
และเหนือสุดถึงแมนจูเรีย
แมวดาวอาศัยได้ในพื้นที่หลายชนิด เช่นป่าละเมาะ ที่ราบกึ่งทะเลทราย
ป่าชั้นสอง ป่าทึบ และพื้นที่เพาะปลูก ในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงเหนือมักพบตามป่าสน
โดยเฉพาะป่าเปิดที่มีไม้ล้มจำนวนมาก
แมวดาวค่อนข้างชอบป่าชั้นสองมากกว่าป่าดึกดำบรรพ์ ทนการรบกวนจากมนุษย์ได้ดี
จึงพบได้แม้ในป่าที่มีการทำไม้ บริเวณใกล้หมู่บ้าน และพื้นที่การเกษตรอย่างสวนยาง
สวนปาล์ม หรือไร่กาแฟ ชอบอยู่ใกล้แหล่งน้ำ
ไม่ชอบอาศัยในพื้นที่ที่มีหิมะปกคลุมหนาเกินกว่า 10 เซนติเมตร
และไม่พบในทุ่งหญ้าสเต็ปป์ที่หนาวเย็น และไม่ชอบที่ ๆ แห้งแล้งมาก ๆ
อยู่ได้ตั้งแต่ที่ราบต่ำจนถึงบนเทือกเขาหิมาลัยที่ระดับความสูงถึง 3,000 เมตร
แมวดาวพบได้แม้ในเกาะที่อยู่ห่างไกล เช่นที่เกาะเชจู และเกาะเล็ก ๆ
ของเกาหลีใต้ เกาะสึชิมะของญี่ปุ่น และเกาะเล็ก ๆ ของสุมาตรา ไทย เวียดนาม จีน
และอินเดีย แมวดาวที่อาศัยอยู่ในเกาะเหล่านี้มักมีสีคล้ำกว่าที่อื่น
ในเกาะสึชิมะของญี่ปุ่น แมวดาวมีพื้นที่หากิน 0.83 ตารางกิโลเมตร
ส่วนในป่าที่แห้งแล้งในเมืองไทย มีพื้นที่หากินระหว่าง 1.5-7.5 ตารางกิโลเมตร
แต่จะใช้พื้นที่หากินหลักอยู่ระหว่าง 0.7-2 ตารางกิโลเมตร
อุปนิสัย
แมวดาวหากินได้ทั้งบนดินและบนต้นไม้ ว่ายน้ำเก่งมาก ไม่ค่อยกลัวมนุษย์
จึงพบได้บ่อยใกล้หมู่บ้าน ชาวบ้านในบางพื้นที่ก็เลี้ยงแมวดาวไว้เพื่อจับหนู
เช่นเดียวกับแมวชอฟรัว (Geoffroy's Cat) ในอเมริกาใต้
อาหารหลักของแมวดาวคือสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดเล็ก โดยเฉพาะสัตว์ฟันแทะ
นอกจากนี้ยังกิน นก สัตว์เลื้อยคลาน ปลา สัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ และแมลง
และเคยมีผู้พบเห็นแมวดาวกินซากสัตว์ด้วย แมวดาวปีนต้นไม้ได้เก่ง ในประเทศไทย
เคยพบแมวดาวพักผ่อนอยู่บนต้นไม้สูงถึงกว่า 20 เมตร
มีเรื่องเล่าว่าแมวดาวจับนกโดยการทิ้งตัวลงมาจับจากข้างบน
แมวดาวหากินเวลากลางคืนเป็นส่วนใหญ่ แต่ก็พบตอนกลางวันได้บ่อย
จากการติดตามแมวดาวด้วยปลอกคอวิทยุในประเทศไทย 4 ตัว
พบว่ามีการออกหากินเวลากลางวันบ่อยครั้ง และแต่ละตัวมีช่วงเวลาหากินประจำต่างกันไป
ชีววิทยา
แม่แมวดาวตั้งท้องนานประมาณ 56-70 วัน ส่วนใหญ่ออกลูก 2-3 ตัว
แต่เคยพบกรณีที่มีถึง 8 ตัว เลี้ยงลูกในโพรงไม้ หลืบหินหรือถ้ำ น้ำหนักแรกเกิด 80
กรัม ตาเปิดเมื่ออายุได้ 5-15 วัน
แมวดาวที่อาศัยอยู่ทางตอนเหนือมีฤดูผสมพันธุ์ปีละครั้งระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนมีนาคมและออกลูกในเดือนพฤษภาคม
แต่แมวดาวในเขตใต้จะออกลูกได้ตลอดปี เข้าสู่วัยเจริญพันธุ์เมื่ออายุได้ 8-18 เดือน
แมวดาวในธรรมชาติมีอายุขัยประมาณ 10-15 ปี ส่วนแมวดาวในสถานที่เพาะเลี้ยงมีอายุกว่า
15 ปี แต่ฟันจะหักหายไปหมดเมื่ออายุ 8-10 ปี
ภัยที่คุกคาม
แมวดาวเป็นแมวป่าที่ปรับตัวให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมและการเสื่อมโทรมของป่าได้ดี
หากเทียบกับแมวและเสือชนิดอื่น ๆ ในเอเชียแล้วก็เป็นรองเพียงแมวป่า (เสือกระต่าย)
เท่านั้น แต่ถึงอย่างนั้นก็ไม่ได้หมายความว่าแมวดาวจะไม่ถูกคุกคามเลย
ดังจะเห็นได้ว่าจำนวนประชากรลดลงในหลายพื้นที่โดยเฉพาะตามเกาะต่าง ๆ
จนต้องมีศูนย์เพาะพันธุ์เกิดขึ้นหลายแห่ง เช่นที่เกาะสึชิมะในญี่ปุ่น และที่เกาะ
Negros ในฟิลิปปินส์ ในประเทศจีน ซึ่งเป็นศูนย์กลางเขตกระจายพันธุ์ของแมวดาว
มีล่าและค้าขายอวัยวะสัตว์ป่ากันอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะทางตะวันตกเฉียงใต้
ก่อนหน้าปี 2527 มีการส่งออกหนังแมวดาวเฉลี่ยปีละประมาณ 200,000 ผืน
แต่หลังจากนั้นจนถึงปี 2532 ได้เพิ่มจำนวนขึ้นมาก
จากการสำรวจคลังเก็บขนสัตว์ของบริษัทขนสัตว์ยักษ์ใหญ่ของจีนในปี 2532
พบว่ามีมากกว่า 800,000 ผืน ในช่วงปี 2498-2524 มีการล่าเฉลี่ย 150,000 ตัวต่อปี
ส่วนในปี 2528-2531 คาดว่ามีมากถึง 400,000 ตัวต่อปี
เดิมยุโรปเคยเป็นตลาดหลักของจีนในการส่งออกหนังแมวดาว
แต่หลังจากมีการห้ามการนำเข้าในปี 2531 ตลาดหลักของจีนก็เปลี่ยนมาเป็นญี่ปุ่นแทน
เฉพาะปี 2532 มีการส่งออกหนังแมวดาวจากจีนไปญี่ปุ่น 50,000 ผืน
นอกจากนี้ญี่ปุ่นยังมีการนำเขาเนื้อแมวดาวเพื่อทำเป็นอาหารด้วย
เพราะที่ญี่ปุ่นมีคนนิยมกินเนื้อแมวดาวมาก
เมื่อไม่นานมานี้ เคราะห์กรรมของแมวดาวสัญชาติจีนก็ยิ่งแย่ขึ้นไปอีก
เมื่อรัฐสภาจีนได้มีการเสนอให้เพิ่มโควตาส่งออกหนังแมวดาวมากขึ้น 500%
เพื่อเพิ่มผลกำไรให้ประเทศ
มีภัยที่คุกคามแมวดาวอีกอย่างหนึ่งเพิ่งเกิดขึ้นมาไม่นาน
เป็นภัยจากคนที่บอกว่าเป็นคนรักแมว ความต้องการแมวบ้านพันธุ์ใหม่ ๆ
ของคนนิยมเลี้ยงแมว
ทำให้นักผสมพันธุ์แมวบางกลุ่มลองนำแมวดาวมาผสมกับแมวบ้านหลายพันธุ์เพื่อให้เกิดลูกผสมพันธุ์ใหม่ที่สวยงามและราคาดี
เช่น แมวเบงกอล และแมวซาฟารี
การกระทำเช่นนี้เป็นการทำให้พันธุกรรมของแมวดาวอ่อนแอลง
และตัดโอกาสแมวดาววัยเจริญพันธุ์ที่จะผสมพันธุ์ให้กำเนิดลูกแมวดาวทายาทเผ่าพันธุ์ตนเองลงไป
สถานภาพ
ปัจจุบันสถานภาพของแมวดาวยังถือว่าปลอดภัยหากเทียบกับแมวและเสือชนิดอื่น ๆ
แต่พวกที่อาศัยอยู่ในเกาะต่าง ๆ กำลังลำบาก
แมวดาวในประเทศฟิลิปปินส์ซึ่งสถานการณ์ป่าไม้จัดว่าย่ำแย่ที่สุดในเอเชียเขตร้อนอาจเป็นกลุ่มที่เผชิญเคราะห์กรรมหนักที่สุด
เกาะเกือบทั้งหมดในประเทศนี้ที่เคยมีแมวดาวอยู่ได้สูญพันธุ์ไปแล้ว
ส่วนที่เกาะสึชิมะซึ่งเคยมีแมวดาวอยู่ 200-300 ตัวในช่วงทศวรรษ 1960-1970
ปัจจุบันเหลืออยู่ไม่ถึงหนึ่งร้อยตัว
แม้จำนวนประชากรลดลง
ไอยูซีเอ็นยังจัดสถานภาพของแมวดาวไว้ในระดับมีความเสี่ยงน้อย (LC)
ไซเตสจัดให้แมวดาวอยู่ในบัญชีหมายเลข 2 ยกเว้นพันธุ์ F.b. bengalensis
อยู่ในบัญชีหมายเลข 1
ประเทศที่ห้ามล่า
บังกลาเทศ ฮ่องกง อินเดีย อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น มาเลเซีย (ยกเว้นซาบาห์) พม่า
เนปาล ปากีสถาน รัสเซีย ไทย ไต้หวัน
ประเทศที่ควบคุมการล่าและการซื้อขาย เกาหลีใต้ ลาว สิงคโปร์
ประเทศที่ไม่มีการคุ้มครองนอกเขตอนุรักษ์ ภูฏาน บรูไนดารุสซาราม จีน
ฟิลิปปินส์ เวียดนาม
ไม่มีข้อมูล
อัฟกานิสถาน กัมพูชา เกาหลีเหนือ
ข้อมูลอ้างอิง
- http://www.canuck.com/iseccan/lcat.html
- http://dialspace.dial.pipex.com/agarman/lepcat.htm
- http://www.ckwri.tamuk.edu/feline/leopard_cat.htm
- http://lynx.uio.no/catfolk/bengal01.htm