วิทยาศาสตร์ ดาราศาสตร์ ฟิสิกส์ เคมี ชีววิทยา >>

เสือ

เสือโคร่ง
เสือดาว
เสือดำ
เสือลายเมฆ
แมวป่าหัวแบน
แมวป่า
แมวลายหินอ่อน
แมวดาว
เสือปลา

เสือโคร่ง

เสือโคร่งดำ เสือโคร่งขาว

เสือโคร่งดำ เป็นเสือโคร่งที่มีสีดำ เป็นที่กล่าวถึงมาเป็นเวลาช้านาน แต่ยังเป็นที่ยืนยันแน่ชัดว่ามีอยู่จริงหรือไม่ เพราะขาดหลักฐานที่น่าเชื่อถือ อย่างไรก็ตามยังมีรายงานพบเห็นตัวอยู่นาน ๆ ครั้ง หลักฐานหนึ่งที่ชัดเจนที่สุดคือการพบหนังเสือโคร่งดำในขณะที่มีการจับกุมการค้าหนังสัตว์เถื่อนที่เดลฮีในปี 2535 หนังผืนนั้นมีสีดำสนิทที่บริเวณกระหม่อมและกลางหลัง และค่อย ๆ จางลงไล่ลงมาตามข้างลำตัวจนถึงสุดแถบ หนังผืนนั้นไม่ได้เกิดจากความปกติของเม็ดสีแบบเมลานิซึมอย่างที่พบในเสือดำหรือจากัวร์ดำหรือเสือชนิดอื่น ๆ ซึ่งดำปลอดทั้งตัว แต่เชื่อว่าเป็นลักษณะของยีนอากูตี ซึ่งทำให้แถบดำเชื่อมต่อกัน ตัวอย่างของเสือที่มีลักษณะแบบนี้เคยมีผู้ถ่ายภาพได้ในอุทยานแห่งชาติกันนาของอินเดีย

เสือโคร่งขาว หรือเสือเบงกอลขาว มีรูปร่างเหมือนเสือโคร่งปรกติ แต่มีขนพื้นสีขาวและลายสีน้ำตาลเข้ม ม่านตาสีฟ้า เป็นเสือโคร่งที่คุ้นตาผู้คนมาก สามารถพบได้ในสวนสัตว์เกือบทุกแห่งรวมทั้งสวนสัตว์ซาฟารีเวิลด์ในเมืองไทย แต่อย่างไรก็ตามเสือโคร่งขาวได้สูญพันธุ์ไปจากธรรมชาติของอินเดียแล้ว ตัวสุดท้ายที่มีผู้พบเห็นเป็นลูกเสือตัวผู้ที่ถูกจับได้มาจากรีวา ในตอนกลางของอินเดียโดยมหาราชาแห่งรีวาในปี พ.ศ. 2494 มีชื่อว่า โมฮัน เสือโคร่งขาวเกือบทั้งหมดที่อยู่ในสวนสัตว์และแหล่งเพาะเลี้ยงต่าง ๆ ทั่วโลกในปัจจุบันล้วนแต่เป็นลูกหลานของโมฮันทั้งสิ้น

เสือโคร่งขาวไม่ใช่เสือโคร่งเผือกแท้ แต่เป็นอาการผิดปรกติที่ผิวหนังมีจำนวนเม็ดสีน้อย เสือโคร่งขาวลำตัวมีพื้นสีขาวปลอดและมีลายพาดกลอนเป็นสีน้ำตาลและมีตาสีฟ้า ซึ่งเรียกว่า chinchilla mutation

ชนิดย่อยของเสือโคร่ง

เสือโคร่งแบ่งออกเป็นชนิดย่อยหรือพันธุ์ได้ 9 พันธุ์ มีแหล่งกระจายพันธุ์ ขนาดและน้ำหนัก ต่างกันไป

ต้นกำเนิด

ในอดีตเคยมีเสือโคร่งอยู่เป็นจำนวนมาก เนื่องจากยังมีป่าไม้และทุ่งหญ้าอุดมสมบูรณ์ อันเป็นแหล่งอาหารสำคัญของสัตว์ที่เป็นอาหารของเสือโคร่ง อาณาเขตของมันพบได้ไกลถึงชายฝั่งมหาสมุทรอาร์กติก ซึ่งแสดงถึงอาณาเขตที่กว้างขวางกว่าในปัจจุบันมาก ด้วยอุปนิสัยของเสือโคร่งที่เป็นสัตว์ขี้ร้อน ชอบอยู่กับน้ำและอาศัยอยู่ในป่าลึกที่เย็นชื้นในเวลากลางวัน ก็อาจทำให้สันนิษฐานได้ว่าเสือโคร่งมีต้นกำเนิดมาจากแดนที่หนาวเย็น

จากการศึกษาซากดึกดำบรรพ์โดยเฮมเมอร์ ในปี 2530 และ มาซัค ในปี 2526 สันนิษฐานว่าเสือโคร่งมีต้นกำเนิดจากเอเชียตะวันออก และเริ่มกระจายพันธุ์ออกไปเป็นสองเส้นทางหลัก ๆ เมื่อราวสองล้านปีก่อน ทางตะวันตกเฉียงเหนือเสือโคร่งค่อย ๆ ย้ายถิ่นไปตามลำน้ำและป่าไม้ลงมาทางเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในทางใต้และตะวันตกเฉียงใต้ เสือโคร่งแพร่พันธุ์ผ่านเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ บางส่วนไปหมู่เกาะอินโดนีเซีย และบางส่วนไปถึงอินเดีย แนวคิดนี้สอดคล้องกับแนวคิดที่ว่าเสือโคร่งพันธุ์จีนใต้เป็นลูกหลานโดยตรงมาจากบรรพบุรุษเสือโคร่ง ซึ่งเคยอยู่ในพื้นที่เดียวกันมาก่อน เสือโคร่งพันธุ์จีนใต้มีลักษณะของกะโหลกที่แตกต่างจากพันธุ์อื่นอย่างเด่นชัด เช่นกะโหลกที่สั้น และเบ้าตาที่ชิดกันและชี้ตรงไปข้างหน้ามากกว่าพันธุ์อื่น

ถิ่นที่อยู่อาศัย

เสือโคร่งอาศัยอยู่ได้ในพื้นที่หลายประเภท ตั้งแต่ป่าดงดิบในเขตศูนย์สูตร ป่าผลัดใบในเอเชียใต้ ป่าสนและป่าโอ๊กในไซบีเรีย ป่าชายเลนในซุนดาบันส์ ป่าหญ้าแถบตีนเขาหิมาลัย เคยมีผู้พบเห็นรอยเสือโคร่งที่ระดับความสูงถึง 3,000 เมตรในเทือกเขาหิมาลัย ป่าอ้อ (ขณะหากินในป่าอ้อ บางครั้งเสือโคร่งอาจยืนขึ้นสองขาด้วยขาหลังแล้วกระโดดขึ้นเพื่อให้พ้นยอดอ้อ เพื่อดูสภาพโดยรอบ) นอกจากนี้ยังพบได้ในทุ่งหญ้าและบริเวณที่ลุ่มน้ำขัง โดยสรุปแล้วปัจจัยสำคัญสำหรับถิ่นที่อยู่ของเสือโคร่งไม่ใช่ชนิดของป่า ขอเพียงแต่ให้มีความรกทึบพอให้เป็นที่หลบภัยและซุ่มซ่อนได้ มีเหยื่อขนาดใหญ่ให้ล่า และมีแหล่งน้ำตลอดปี

เสือโคร่งต้องการเหยื่อที่เพียงพอ จึงต้องมีอาณาเขตที่กว้างขวางมาก อาณาเขตของเสือโคร่งแต่ละตัวมีความแตกต่างกันตามสภาพของแหล่งที่อยู่ ความอุดมสมบูรณ์ของเหยื่อ แหล่งน้ำ และเพศ สถานที่อยู่สำหรับเสือโคร่งตัวเมียจำเป็นต้องมีสถานที่ ๆ สะดวกสำหรับการออกลูกและเลี้ยงลูก ในขณะที่ตัวผู้มีอาณาเขตกว้างกว่าของตัวเมีย และจะซ้อนเลื่อมกับอาณาเขตของตัวเมียตัวอื่น 2-3 ตัว ในอุทยานแห่งชาติจิตวันในเนปาลและอุทยานแห่งชาติกันนาของอินเดีย เสือโคร่งตัวเมียมีอาณาเขตกว้าง 10-39 ตารางกิโลเมตร ตัวผู้มีอาณาเขตกว้าง 30-105 ตารางกิโลเมตร ในขณะที่ทางตะวันออกสุดของรัสเซีย เป็นแหล่งที่มีจำนวนสัตว์เหยื่อกระจัดกระจายไม่สม่ำเสมอและมีการย้ายถิ่นตามฤดูกาล อาณาเขตของเสือโคร่งพันธ์ไซบีเรียจึงกว้างถึง 100-400 ตารางกิโลเมตรสำหรับตัวเมีย และกว้างถึง 800-1,000 ตารางกิโลเมตรสำหรับตัวผู้

มีผู้ประเมินความหนาแน่นของเสือโคร่งในเทือกเขาซิโฮเตอะลินในรัสเซียตะวันออกไว้ว่ามีเพียง 1.3-8.6 ต่อ 1,000 ตารางกิโลเมตร (รวมลูกเสือ) เท่านั้น ในขณะที่ในป่าเขตศูนย์สูตรมีความหนาแน่นของเสือโคร่งถึง 7-12 ตัวต่อ 100 ตารางกิโลเมตร (รวมลูกเสือ)

 

อุปนิสัย

เสือโคร่งหากินในเวลากลางคืนเป็นส่วนใหญ่และมักจะเป็นช่วงหัวค่ำและเช้ามืด แต่ก็อาจออกหากินในเวลากลางวันได้เป็นบางครั้ง โดยเฉพาะในฤดูหนาวสำหรับเสือที่อาศัยอยู่ในเขตเหนือ เสือโคร่งมักใช้สายตาและการรับฟังช่วยในการล่ามากกว่าการรับกลิ่น อาหารส่วนใหญ่ของเสือโคร่งเป็นสัตว์ขนาดใหญ่ เช่น กระทิง วัว กวาง เลียงผา แอนติโลป ควาย เก้ง และหมูป่า บางครั้งก็อาจล่าลูกช้างหรือลูกแรดได้ เสือโคร่งในอินเดียมักชอบล่าสัตว์ใหญ่มากกว่าสัตว์เล็ก เช่นในอุทยานแห่งชาติจิตวัน อาหารหลักของเสือโคร่งคือ กวางป่า รองลงมาคือกวางดาว ในนาการาโฮลพบว่าอาหารหลักคือกระทิงและกวางป่า ส่วนเสือโคร่งในเมืองไทยไม่ค่อยล่าสัตว์ใหญ่บ่อยนัก จากการสำรวจพบว่าอาหารหลักของเสือโคร่งในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้งคือเก้ง กวางป่า หมูป่า และหมูหริ่ง ตามลำดับ

ในภาวะอาหารขาดแคลน เสือโคร่งก็อาจล่าสัตว์เล็กอย่างลิง นก ปลา หรือสัตว์เลื้อยคลาน บ้างเช่นกัน บางครั้งเสือโคร่งอาจฆ่าและกินเสือดาวหรือแม้แต่เสือโคร่งด้วยกันเอง รวมถึงสัตว์ล่าเหยื่อชนิดอื่นเช่นหมีควายด้วย

เสือโคร่งหาเหยื่อโดยใช้วิธีซุ่มรอเช่นเดียวกับเสือและแมวทั่วไป โดยอาศัยต้นไม้ใบหญ้าพรางตัวแล้วค่อย ๆ ย่องเข้าไปใกล้เหยื่อทางด้านหลังหรือด้านข้าง เมื่อได้จังหวะและระยะพอเหมาะจะกระโจนเข้าใส่อย่างรวดเร็ว จุดตายสำคัญที่เสือโคร่งเลือกกัดคือคอ การเลือกตำแหน่งกัดว่าจะเป็นด้านหน้าคอหรือหลังคอขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เช่น ขนาดของเหยื่อ ขนาดของเสือ ทิศทางการเข้าจู่โจมว่าจะเป็นจากด้านหน้า ด้านข้างหรือด้านหลัง และลักษณะการต่อสู้ของเหยื่อ มันจะเลือกวิธีที่มีความเสี่ยงต่อการบาดเจ็บน้อยที่สุด เมื่อเสือล้มเหยื่อลงได้แล้ว มันจะเข้ากัดที่คอหอยและค้างไว้ให้เหยื่อหายใจไม่ออกจนตาย การกัดที่จุดนี้มีข้อได้เปรียบกว่าการกัดที่จุดอื่น ๆ เพราะเป็นตำแหน่งที่ปลอดภัยจากเขาและจากการเตะถีบของเหยื่อ และยังทำให้ง่ายในการบังคับไม่ให้เหยื่อลุกขึ้นยืนอีกครั้ง ซึ่งเป็นวิธีที่มักใช้กับเหยื่อขนาดใหญ่เช่นกระทิงหรือกวาง หากเป็นเหยื่อตัวเล็ก เสือมักเลือกที่จะกัดตรงด้านหลังคอที่ตำแหน่งใกล้กะโหลก แรงกัดจะทำให้กระดูกคอแตกและกดเส้นประสาทจนเหยื่อตาย

เมื่อเสือโคร่งจับเหยื่อได้ มันมักลากเหยื่อไปยังที่ลับตาเช่นใต้เงาไม้และใกล้น้ำ เพื่อที่จะกินน้ำได้สะดวก มันมีพลังมากอย่างไม่น่าเชื่อ แม้แต่ซากกระทิงที่หนักกว่าตัวมันหลายเท่ามันก็ยังลากไปได้ หลังจากที่กินอาหารอิ่มแล้ว หากเหยื่อยังเหลือ มันมักจะอยู่ไม่ไกลจากเหยื่อนั้นมากนัก เพื่อป้องกันไม่ให้สัตว์กินซากอื่น ๆ มาแอบกินเหยื่อ บางครั้งมันก็เอากิ่งไม้ใบไม้มาบังเหยื่อเพื่ออำพรางด้วย

เสือโคร่งตัวหนึ่งกินอาหารครั้งละประมาณ 18-40 กิโลกรัม โดยจะเริ่มกินที่สะโพกก่อนเสมอ หากเหยื่อไม่ถูกขโมยไปเสียก่อน มันจะหวนกลับมากินทุกวันอีกเป็นเวลา 3-6 วันจนกว่าซากจะหมดหรือเกือบหมด เสือจะล่าเหยื่อขนาดใหญ่เพียงสัปดาห์ละครั้งเท่านั้น เคยมีบันทึกว่าเสือโคร่งตัวเมียในจิตวันที่ไม่ได้เลี้ยงลูกจะล่าเหยื่อทุก ๆ 8-8.5 วัน

ถึงแม้ว่าเสือโคร่งจะเป็นนักล่าผู้ยิ่งใหญ่และได้รับการยกย่องให้เป็นถึงจ้าวป่า แต่การล่าของเสือโคร่งส่วนใหญ่จะล้มเหลว ประสิทธิภาพในการจับเหยื่อของเสือโคร่งอาจต่ำถึงราว 1 ใน 10 หมายความว่าถ้าย่องเข้าจับเหยื่อ 10 ครั้งจะทำสำเร็จเพียงครั้งเดียว และอาจน้อยถึง 1 ใน 20 ในบางครั้ง หากการล่าเหยื่อไม่สำเร็จในครั้งแรก เสือโคร่งมักจะปล่อยเหยื่อไปโดยไม่ใส่ใจจะติดตามเหยื่อตัวนั้นไปอีก แต่เคยมีเสือโคร่งตัวหนึ่งในตอนใต้ของประเทศอินเดียไล่ตามกวางป่าที่บาดเจ็บไปไกลกว่า 2 กิโลเมตรเป็นเวลาถึงกว่า 2 ชั่วโมง

เสือโคร่งจะเป็นสัตว์ที่อยู่โดยลำพัง แต่บางครั้งเสือโคร่งอาจรวมกันล่าเหยื่อแบบสิงโตเหมือนกัน เคยมีผู้พบเห็นเสือโคร่งฝูงหนึ่งซึ่งอาจเป็นเสือในครอบครัวเดียวกัน ประกอบด้วยตัวผู้ 2 ตัวและตัวเมีย 3 ตัว ล่าเหยื่อโดยมีการวางกำลังตามจุดต่าง ๆ รอบทะเลสาบซึ่งมีกวางอยู่ และยังมีการไล่ต้อนเหยื่อให้วิ่งไปตำแหน่งที่เสืออีกตัวหนึ่งซุ่มซ่อนอยู่ด้วย จากคำบอกเล่าของชาวบ้าน กล่าวว่าเคยเห็นเสือโคร่งสองตัวรุมฆ่าช้างงาขนาดใหญ่ได้

แม้ว่าเสือโคร่งจะเป็นสัตว์ที่อยู่ตามลำพังยกเว้นแม่เสือที่เลี้ยงดูลูก แต่เคยมีบันทึกว่าพบเสือโคร่งหากินกันเป็นครอบครัวหรือพักผ่อนร่วมกัน ในอุทยานแห่งชาติกันนาในประเทศอินเดีย มีผู้พบเห็นเสือโคร่งตัวเมียกับลูก ๆ และเสือโคร่งวัยรุ่นอีกตัวซึ่งน่าจะเป็นพี่ของเสือครอกนั้นร้องเรียกเสือโคร่งตัวผู้เต็มวัยตัวหนึ่ง หลังจากนั้นทั้งหมดก็เดินไปด้วยกัน

เสือโคร่งชอบทิ้งรอยข่วนตามต้นไม้เพื่อประกาศอาณาเขต และเป็นการบริหารเล็บให้อยู่ในสภาพดีอยู่เสมอ การประกาศอาณาเขตของตัวเองอีกวิธีหนึ่งคือ การปล่อยปัสสาวะไว้ตามที่ต่าง ๆ เช่นพุ่มไม้ โคนไม้ หรือก้อนหิน กลิ่นของปัสสาวะยังสามารถระบุตัวเสือโคร่งได้ด้วย เมื่อเสือโคร่งตัวอื่นมาได้กลิ่นนี้ จะทราบได้ว่าเจ้าของพื้นที่เป็นเพศใด และพร้อมที่จะสืบพันธุ์แล้วหรือไม่ กลิ่นของปัสสาวะนี้คงอยู่ได้ไม่นานนัก ดังนั้นเจ้าของพื้นที่จะต้องมั่นแวะเวียนตรวจตราพื้นที่และเติมกลิ่นของตนเองอย่างสม่ำเสมอ เพราะหากกลิ่นหายไปแล้ว เสือโคร่งตัวอื่นอาจถือว่าเป็นพื้นที่ไม่มีเจ้าของและยึดพื้นที่ไปได้

เสือโคร่งต่างจากสัตว์ในตระกูลแมวหลายชนิด เสือโคร่งไม่กลัวน้ำซ้ำยังชอบน้ำมาก ในช่วงกลางวันของฤดูร้อนมันมักลงไปนอนแช่น้ำในทะเลสาบหรือบึง มีบันทึกการเห็นเสือโคร่งว่ายน้ำเป็นระยะทางไกลอยู่บ่อยครั้ง เช่น ในซุนดาบันส์ในประเทศอินเดียและบังกลาเทศซึ่งเป็นพื้นที่สามเหลี่ยมปากแม่น้ำคงคาและพรหมบุตร มักมีเสือโคร่งว่ายน้ำข้ามแม่น้ำอยู่เสมอ ๆ เคยมีบันทึกไว้ว่าเสือโคร่งว่ายน้ำข้ามแม่น้ำในซุนดาบันส์เป็นระยะทางถึง 29 กิโลเมตร และอาจมีอีกตัวหนึ่งที่ว่ายไกลถึง 56 กิโลเมตร และในที่เดียวกันนี้ก็เคยมีเสือโคร่งลากคนออกไปจากเรือเลยทีเดียว ในมาเลเซียเคยมีผู้พบเสือโคร่งตัวหนึ่งว่ายน้ำเป็นระยะทาง 8 กิโลเมตรจากแผ่นดินใหญ่ของประเทศมาเลเซียไปเกาะปีนัง ในแถบแคสเปียนและแม่น้ำอะมูร์ ในรัสเซียตะวันออกก็เคยมีผู้พบเห็นเสือว่ายน้ำเป็นระยะทาง 8 กิโลเมตร ในเขตอนุรักษ์เสือโคร่งรันทัมบอร์ในอินเดียก็เคยมีรายงานว่าเสือโคร่งไล่ฆ่ากวางป่าในทะเลสาบจนจมน้ำลงไปทั้งคู่อยู่พักหนึ่ง และในทะเลสาบเดียวกันนี้เคยมีผู้พบเห็นเสือโคร่งจับจระเข้มากินอีกด้วย

ตามปรกติ เสือโคร่งไม่ชอบปีนต้นไม้ แต่ก็ปีนได้ถ้าต้องการ ในอินเดีย เคยมีรายงานว่าเสือดาวตัวหนึ่งไปเข้าใกล้แม่เสือโคร่งตัวหนึ่งที่มีลูก จึงถูกเสือโคร่งไล่ล่า แม้เสือดาวตัวนั้นจะปีนหนีขึ้นต้นไม้แต่ก็ยังถูกแม่เสือโคร่งตามขึ้นไปฆ่าบนต้นไม้ได้

เสือโคร่งดำ เสือโคร่งขาว
เสือกินคน
การตายของลูกเสือ
เสือโคร่งพันธุ์เบงกอล
เสีอโคร่งพันธุ์อินโดจีน
เสือโคร่งพันธุ์มลายู
เสือโคร่งพันธุ์จีนใต้
เสือโคร่งพันธุ์ไซบีเรีย
เสือโคร่งพันธุ์สุมาตรา
เสือโคร่งพันธุ์แคสเปียน
เสือโคร่งพันธุ์ชวา
เสือโคร่งพันธุ์บาหลี
อนาคตของเสือโคร่ง

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย