วิทยาศาสตร์ ดาราศาสตร์ ฟิสิกส์ เคมี ชีววิทยา >>

เสือ

เสือโคร่ง
เสือดาว
เสือดำ
เสือลายเมฆ
แมวป่าหัวแบน
แมวป่า
แมวลายหินอ่อน
แมวดาว
เสือปลา

แมวลายหินอ่อน

ลักษณะทั่วไป

แมวลายหินอ่อนเป็นแมวขนาดเล็ก ขนาดใกล้เคียงกับแมวบ้านทั่วไป มีลวดลายและสีสันคล้ายกับเสือลายเมฆ ในภาษาจีนคำเรียกแมวลายหินอ่อนก็มีความหมายว่า เสือลายเมฆเล็ก มีแต้มใหญ่ ๆ ขอบสีดำแบบเดียวกับเสือลายเมฆ แต่แต้มแต่ละแต้มอาจมีขอบไม่ครบวงหรือซ้อนเหลื่อมกัน มีสีสันหลายแบบ ตั้งแต่เหลืองซีดจนถึงน้ำตาลอมเทาหรือน้ำตาลอมแดง มีเส้นสีดำแคบ ๆ พาดผ่านกระหม่อม คอ และหลัง ขนนุ่มแน่นและมีขนชั้นในที่พัฒนาดี ส่วนล่างของลำตัวมีสีเทาอ่อนหรือขาวและมีจุดสีดำ จุดสีดำใต้ลำตัวนี้มีมากกว่าและเล็กกว่าของเสือลายเมฆ หัวสั้นกลมกว่าแมวชนิดอื่น ๆ มีแถบสีดำข้างละ 3 แถบ หน้าผากกว้าง รูม่านตากว้าง สีน้ำตาล หูกลมสั้นสีดำมีจุดสีขาวที่หลังหู ขาค่อนข้างสั้นและมีจุดดำอยู่มาก ฝ่าตีนกว้าง หางฟู ยาวประมาณ 48-55 ซม. ซึ่งยาวเท่ากับลำตัวรวมกับหัวหรืออาจจะยาวกว่าเสียอีก มีจุดสีดำตลอดความยาวหาง ปลายหางสีดำ

แมวลายหินอ่อนมีเสียงร้องเมี้ยวใกล้เคียงกับแมวบ้านแต่ก็คล้ายกับเสียงร้องจิ๊บถี่ ๆ ของนก ครางไม่บ่อยนัก

ชนิดย่อย

P. m. charltoni - เนปาล
P. m. marmorata - ป่าเขตร้อนของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ต้นกำเนิด

แมวลายหินอ่อนมีวิวัฒนาการมาอย่างไรยังไม่เป็นที่แน่ชัด นักสัตววิทยาหลายคนเชื่อว่าแมวลายหินอ่อนมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับแมวขนาดใหญ่ โดยเฉพาะกับเสือลายเมฆ แม้ว่าแมวลายหินอ่อนเบากว่าเสือลายเมฆถึง 3 เท่าก็ตาม เขี้ยวบนของแมวลายหินอ่อนมีขนาดใหญ่เหมือนกับเสือลายเมฆ แต่มีกระโหลกสั้นและกลมกว่า นอกจากนี้ยังมีลักษณะทางโครโมโซมเหมือนกับพวกลิงซ์ เสือ และเสือดาวหิมะอีกด้วย เมื่อราวสิบล้านปีก่อน แมวลายหินอ่อนอาจมีรูปร่างคล้ายกับบรรพบุรุษของเสือ แต่การแข่งขันกับเสือชนิดอื่นทำให้ลดขนาดลงในเวลาต่อมา

ถิ่นที่อยู่อาศัย

เขตกระจายพันธุ์ของแมวลายหินอ่อนเริ่มตั้งแต่ทางตะวันออกเฉียงเหนือของอินเดีย เรื่อยมาทางเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จนถึงบอร์เนียวและสุมาตรา ส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในป่าทึบ บนภูเขาสูงในเนปาลจนถึงป่าที่ราบต่ำในบอร์เนียว

ในประเทศไทย แมวลายหินอ่อนจะพบได้ในป่ารอยต่อระหว่างป่าเบณจพรรณกับป่าดิบ แต่จะไม่พบในป่าผสมระหว่างป่าดิบแล้งกับป่าเบญจพรรณ ในซาราวัก มีรายงานการพบเห็นในพื้นที่โล่งเตียนบ่อยครั้ง และมักพบในที่ต่ำมากกว่าบนภูเขา ในรัฐซาบาห์มีผู้พบเห็นแมวลายหินอ่อนในป่าที่มีการทำไม้มาแล้ว 6 ปี ในบอร์เนียว รายงานการพบเห็นส่วนใหญ่จะอยู่ในป่าเต็งรัง และเคยพบตัวหนึ่งอยู่บนหาดทรายในป่าชายเลนที่มีหญ้าและสนแคชัวรีนาขึ้น เคยมีแมวลายหินอ่อนตัวหนึ่งทางตอนใต้ของบอร์เนียวถูกจับได้ในเล้าไก่ใกล้กับแม่น้ำบาริโต ซึ่งล้อมรอบไปด้วยไร่และสวนยาง ไม่มีป่าอยู่บริเวณข้างเคียงเลย ในแถบประเทศเนปาล พบแมวลายหินอ่อนน้อยมาก มีการพบเห็นในพื้นที่ที่เป็นภูเขาสูง ในปี 2524 มีผู้พบเห็นทางตะวันตกของอุทยานแห่งชาติจิตวัน แต่ไม่เคยมีการพบเห็นในอุทยานแห่งชาติจิตวันเลย ในประเทศจีน มีการเก็บตัวอย่างได้ในทศวรรษ 1970 ที่ยูนนาน และเมื่อเร็ว ๆ นี้ก็มีผู้พบเห็นที่มณฑลกวางสี ในอินเดีย เขตกระจายพันธุ์จะจำกัดอยู่เพียงตีนเขาหิมาลัยระหว่างความสูง 1,500-3,000 เมตรเท่านั้น



จากรายงานเหล่านี้ แสดงว่าแมวลายหินอ่อนสามารถปรับตัวให้เขากับป่าหลายประเภท ตั้งแต่ป่าเชิงเขาฮิมาลัยจนถึงป่าเขตร้อนในมาเลเซีย ส่วนใหญ่จะพบในป่าร้อนชื้น เนื่องจากแมวลายหินอ่อนมีจำนวนน้อยมาก เราจึงยังไม่ทราบลักษณะของป่าที่แมวลายหินอ่อนชอบที่สุด

อุปนิสัย

ด้วยความที่เป็นสัตว์หายาก เราจึงรู้จักแมวลายหินอ่อนน้อยมาก ทั้งทางด้านอุปนิสัย อาหาร และชีววิทยา แต่เป็นที่เชื่อว่า แมวลายหินอ่อนหากินกลางคืน อาศัยอยู่บนต้นไม้เป็นหลัก ปีนป่ายได้อย่างคล่องแคล่ว จับกระรอก ค้างคาวผลไม้ หนู นก สัตว์เลื้อยคลาน กบ และแมลง ซึ่งสนับสนุนโดยโครงสร้างของตีน ซึ่งไม่มีลักษณะของการปรับตัวเพื่อหากินบนพื้นดินเลย ขาที่สั้น และหางที่ยาว มีอุ้งตีนที่อ่อนนุ่ม มีปลอกเล็บคู่ ในขณะที่นั่ง มันจะหดหัวเล็กน้อยและงอหลัง จากรายงานการพบเห็นแมวลายหินอ่อนที่มีอยู่เพียงไม่กี่ครั้งในบูกิตซูฮาร์โตในกาลิมันตันพบว่ามันออกหากินในช่วงเวลา 20-22 น. จากการผ่านกระเพาะแมวลายหินอ่อนตัวหนึ่งที่ถูกยิงในซาบาห์พบเศษของหนูขนาดเล็ก และมีผู้เคยพบเห็นแมวลายหินอ่อนย่องจับนกบนต้นไม้ นอกจากนี้ยังพบว่ากระรอกก็ถูกจับเป็นอาหารเหมือนกัน แมวลายหินอ่อนถูกจัดให้เป็นตัวแทนของมาร์เกย์ที่อยู่ในอเมริกากลางและใต้

อย่างไรก็ตาม เคยมีอีกบันทึกหนึ่งที่รายงานว่าถึงแม้ว่าแมวลายหินอ่อนจะอาศัยอยู่บนต้นไม้ แต่เวลาหากินจะจับสัตว์บนพื้นดินกินเป็นส่วนใหญ่

ชีววิทยา

ปัจจุบันมีแมวลายหินอ่อนในกรงเลี้ยงไม่มากนัก การผสมพันธุ์ในกรงเลี้ยงประสบความสำเร็จน้อยมาก ครั้งหนึ่งเคยมีแมวลายหินอ่อนในสวนสัตว์ผสมพันธุ์และให้กำเนิดลูกมาหลายตัว แต่ลูกทั้งหมดล้วนมาจากพ่อแม่แมวเพียงคู่เดียว และต้องมีคนช่วยในการออกลูก จากการศึกษาแมวในกรงเลี้ยง แมวลายหินอ่อนตั้งท้องนานประมาณ 81 วัน ออกลูกครั้งละ 1-4 ตัว ลูกแมวแรกเกิดหนักประมาณ 100-115 กรัม หูเริ่มตั้งเมื่ออายุได้ 5 วัน ลืมตาได้เมื่ออายุ 14 วัน เมื่ออายุได้ 21 เดือนก็เข้าสู่วัยเจริญพันธุ์ แมวในกรงเลี้ยงที่อายุยืนที่สุดมีอายุ 12 ปี

ภัยที่คุกคาม

แมวลายหินอ่อนเป็นสัตว์สวยงาม เป็นที่ต้องการของผู้นิยมเลี้ยงสัตว์ป่า จึงมีการลักลอบค้าขายแมวลายหินอ่อนในตลาดมืด ลูกแมวลายหินอ่อนมีรูปร่างคล้ายกับลูกแมวบ้านมาก ทำให้การขนย้ายออกต่างประเทศทำได้โดยง่าย ผู้ลัก ลอบขนสัตว์ป่าสามารถนำลูกแมวใส่กรงธรรมดาแล้วทำใบอนุญาตตีตราว่าเป็นแมวบ้านได้โดยเจ้าหน้าที่ศุลกากรไม่ทันทราบ สิ่งนี้เป็นเหตุหนึ่งให้จำนวนแมวลายหินอ่อนลดลง อย่างไรก็ตาม การทำลายป่าไม้ซึ่งแหล่งที่อยู่อาศัยยังคงเป็นหาเหตุหลักของการลดจำนวนลงของแมวลายหินอ่อน

สถานภาพ

เชื่อว่า แมวลายหินอ่อนเป็นแมวที่มีประชากรเป็นจำนวนน้อยโดยธรรมชาติอยู่แล้ว แม้แต่ในยุคอดีต ก็ไม่เคยมีช่วงใดที่มีประชากรมากเลย นอกจากนี้ ความที่เป็นสัตว์หากินเฉพาะตอนกลางคืนและอาศัยอยู่บนเรือนยอด ยิ่งทำให้พบเห็นได้ยาก จึงมีการศึกษาชีวิตของแมวลายหินอ่อนน้อยมาก การที่อาศัยอยู่ในป่าทึบทำให้มันมีความเปราะบางจากการตัดไม้ทำลายป่าดังที่เกิดขึ้นแทบทุกพื้นที่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จึงเชื่อว่าปัจจุบันแมวลายหินอ่อนอยู่ในภาวะใกล้สูญพันธุ์ ไซเตสได้บรรจุชื่อของแมวป่าหัวแบนไว้ในบัญชีหมายเลข 1

ไอยูซีเอ็น: เสี่ยงสูญพันธุ์ (2007)

ประเทศที่ห้ามล่า บังกลาเทศ จีน (เฉพาะยูนนาน) อินเดีย อินโดนีเซีย มาเลเซีย พม่า เนปาล ไทย
ควบคุมการล่า ลาว สิงคโปร์
ไม่คุ้มครองนอกเขตอนุรักษ์ ภูฏาน บรูไนดารุสซาราม
ไม่มีข้อมูล กัมพูชา เวียดนาม

ข้อมูลอ้างอิง

  • http://dialspace.dial.pipex.com/agarman/marbled.htm
  • http://www.canuck.com/iseccan/marbled.html

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย