ศาสนา ลัทธิ ความเชื่อ นิกาย พิธีกรรม >>
สมเด็จพระพนรัตน
วัดป่าแก้ว ต้นตำหรับพระสงฆ์กับการเมืองไทย
สมเด็จพระพนรัต วัดป่าแก้วหรือที่เรียกในปัจจุบันนี้ว่า
วัดใหญ่ไชยมงคลเป็นเจ้าของตำราการสร้างพระกริ่ง ต้องลงเลขยันต์ในแผ่นนวโลหะ
อันจะเป็นชนวนผสมในการหล่อด้วย เลขยันต์ที่นิยมใช้ลงโดยมาก คือ พระยันต์ 108
และนะปฐมังนะ ในการสร้างนั้น จะต้องมีพิธีพุทธาภิเษก พิธีโหร และพิธีพราหมณ์ประกอบ
ต่อมา ตำราการสร้างพระกริ่งได้สืบทอดไปถึงสมเด็จพระมหาสมณเจ้า
กรมพระปรมานุชิตชิโนรส วัดพระเชตุพน ฯ, สมเด็จพระมหาสมณเจ้า
กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ วัดบวรนิเวศวิหาร, พระพุฒาจารย์ (มา) วัดจักรวรรดิราชาวาส
และสมเด็จพระสังฆราช (แพ) ตามลำดับ
เรื่องราวของสมเด็จพระพนรัตน วัดป่าแก้ว
ในประเด็นต้นตำหรับพระสงฆ์กับการเมืองไทยนั้น ย้อนไปใน พ.ศ.2135
สมเด็จพระนเรศวรมหาราชกับสมเด็จพระเอกาทศรถ
ทรงทำยุทธหัตถีมีชัยชนะพระมหาอุปราชาและมางจาชะโร แห่งกรุงหงสาวดี
ภายหลังชัยชนะในครั้งนั้น
สมเด็จพระนเรศวรมหาราชได้โปรดให้ลูกขุนปรึกษาโทษข้าราชการชั้นแม่ทัพนายกองมีโทษถึงประหารหลายคน
หากแต่วันตัดสินพิพากษาให้ลงโทษนั้นเป็นเวลาใกล้กับวันพระ
จึงโปรดให้เอาตัวข้าราชการเหล่านั้นไปจองจำไว้ก่อน
เมื่อพ้นวันพระไปแล้วจึงให้นำตัวไปประหารชีวิตเสียตามคำลูกขุนพิพากษาโทษ.
ในคราวนั้น ได้มีพระมหาเถราจารย์รูปหนึ่งผู้มีปรีชาสามารถ แตกฉานในพระพุทธวจนะ
มีวาทะหลักแหลม ได้พาพระราชาคณะ 25 รูป เข้าไปเฝ้าถวายพระพรถามข่าวสงคราม
และด้วยวาทะหลักแหลมของท่าน ได้ช่วยให้บรรดาข้าราชการซึ่งถูกตัดสินประหารชีวิตแล้ว
ให้รอดพ้นจากพระราชอาญาโทษได้ พระมหาเถราจารย์ รูปนี้ คือ สมเด็จพระพนรัตน
วัดป่าแก้ว. ตอนหนึ่งเกี่ยวกับเหตุการณ์ดังกล่าวในพระราชพงศาวดาร
ฉบับพระราชหัตถเลขา มีดังนี้
ขณะเมื่อสมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวทั้งสองพระองค์
ทำคชสงครามได้ชัยชำนะพระมหาอุปราชาและมางจาชะโรแล้ว
บรรดาท้าวพระยามุขมนตรีนายทัพนายกองซ้ายขวาหน้าหลังจึงมาทันเสด็จ
ได้เข้ารบพุ่งแทงฟันข้าศึกเป็นสามารถ
และมอญพม่าทั้งนั้นก็แตกกระจัดกระจายไปเพราะพระเดชเดชานุภาพ
สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวตรัสให้นายทัพนายกองทั้งปวงยกตามไปจับข้าศึกแล้วเสด็จคืนมายังพลับพลา
พระราชทานชื่อเจ้าพระยาไชยานุภาพเป็นเจ้าพระยาปราบหงสา
บรรดามุขมนตรีนายกองซึ่งยกตามข้าศึกไปนั้น ได้ฆ่าฟันพม่ามอญโดยทางไปถึงกาญจนบุรี
ซากศพเกลื่อนไปแต่ตะพังตรุนั้นประมาณสองหมื่นเศษ
จับได้เจ้าเมืองมะล่วนและนายทัพนายกองกับไพร่เป็นอันมาก ได้ช้างใหญ่สูงหกศอกสามร้อย
ช้างพลายพังระวางเพรียวห้าร้อย ม้าสองพันเศษ มาถวาย
สมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัว
ตรัสให้ก่อพระเจดีย์ฐานสวมศพพระมหาอุปราชาไว้ตำบลตะพังตรุ ขณะนั้นโปรดพระราชทานช้าง
ๆ หนึ่งกับหมอและควาญให้เจ้าเมืองมะล่วนขึ้นไปแจ้งแก่พระเจ้าหงสาวดี
พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวทั้งสองพระองค์ก็เสด็จคืนเข้าพระนคร
แล้วทรงมีพระราชดำรัสว่า เจ้ารามราฆพ ควาญช้างกับขุนศรีคชควาญ
ซึ่งได้ผจญข้าศึกจนมีชัยชำนะด้วยพระองค์นั้น
ก็ปูนบำเหน็จพระราชทานยศถาศักดิ์เครื่องอุปโภคเสื้อผ้าเงินทอง ฝ่ายนายมหานุภาพ
ควาญช้าง หมื่นภักดีศวร ควาญช้าง
โดยเสด็จพระราชสงครามจนถึงสิ้นชีวิตในท่ามกลางศึกมีความชอบให้เอาบุตรภรรยามาชุบเลี้ยง
พระราชทานเครื่องอุปโภคบริโภคเงินทองเสื้อผ้าโดยสมควร
เสร็จแล้วพระราชดำรัสให้ปรึกษาโทษนายทัพนายกองว่า ข้าศึกยกมาถึงพระนคร
สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทั้งสองพระองค์ตั้งพระทัยจะรักษาพระพุทธศาสนาและสมณพราหมณาจารย์อาณาประชาราษฎร
มิได้คิดเหนื่อยยากลำบากพระองค์
ทรงพระอุตสาหะเสด็จยกพยุหโยธาทัพออกไปรณรงค์ด้วยข้าศึก
แต่นายทัพนายกองกลัวข้าศึกยิ่งกว่าพระราชอาญา
มิได้โดยเสด็จพระราชดำเนินให้ทันละพระคชาธารสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทั้งสองพระองค์ให้เข้าอยู่ท่ามกลางข้าศึก
จนได้กระทำยุทธหัตถีมีชัยแก่พระมหาอุปราชาเสร็จ
โทษนายทัพนายกองทั้งนี้จะเป็นประการใด
พระมหาราชครูปโรหิตทั้งปวงปรึกษาใส่ด้วยพระอัยยการศึกกับพระราชกฤษฎีกาว่า
สมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินงานพระราชสงครามและเกณฑ์ผู้ใดเข้ากระบวนทัพแล้ว
และมิได้โดยเสด็จให้ทันยุทธนาการ
ท่านว่าโทษผู้นั้นเป็นอุกฤษฎ์ให้ประหารชีวิตเสียอย่าให้ผู้อื่นดูเยี่ยงอย่าง
เอาคำพิพากษากราบทูล มีพระราชดำรัสสั่งให้เอาตามลูกขุนปรึกษา
แต่ทว่าบัดนี้จวนวันจาตุททสีปัณณรสีอยู่ ให้เอานายทัพนายกองจำเรือนตรุไว้ก่อนสามวัน
พ้นแล้วจึงให้สำเร็จโทษโดยพระอัยยการ
ครั้น ณ วันอาทิตย์ แรม 14 ค่ำ เดือนยี่ (พ.ศ. 2135) สมเด็จพระพนรัตน
วัดป่าแก้ว และพระราชาคณะยี่สิบห้ารูป
ก็เข้ามาถวายพระพรถามข่าวซึ่งเสด็จงานพระราชสงคราม
ได้กระทำยุทธหัตถีมีชัยแก่พระมหาอุปราชา
สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็แถลงการณ์ซึ่งปราบปัจจามิตรให้ฟังทุกประการ
สมเด็จพระพนรัตนถวายพระพรถามว่า สมเด็จพระบรมบพิตรมีชัยแก่ข้าศึก
เหตุไฉนข้าราชการทั้งปวงจึงต้องราชทัณฑ์เล่า? สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จึงตรัสบอกว่า
นายทัพนายกองเหล่านี้อยู่ในกระบวนทัพโยม มันกลัวข้าศึกมากกว่าโยม
ละให้โยมแต่สองคนพี่น้องฝ่าเข้าไปในท่ามกลางศึก จนได้ทำยุทธหัตถีกับพระมหาอุปราชา
มีชัยชำนะแล้วจึงได้เห็นหน้ามัน นี่หากว่าบารมีของโยมหาไม่
แผ่นดินจะเป็นของชาวหงสาวดีเสียแล้ว เพราะเหตุดังนี้
โยมจึงให้ลงโทษโดยพระอัยยการศึก
สมเด็จพระพนรัตน จึงถวายพระพรว่า
อาตมภาพพิเคราะห์ข้าราชการเหล่านี้ที่จะไม่กลัวพระราชสมภารเจ้านั้น หามิได้
และเหตุทั้งนี้เห็นจะพรรเอิญเป็น
เพื่อจะให้พระเกียรติยศพระราชสมภารเจ้าเป็นมหัศจรรย์เหมือนสมเด็จพระสรรเพชญพุทธเจ้า
เมื่อ (วันจะตรัสรู้พระโพธิญาณ) พระองค์เสด็จเหนืออปราชิตบัลลังก์
ใต้ควงไม้พระมหาโพธิ ณ เพลาสายัณห์ครั้งนั้น
เทพยเจ้ามาเฝ้าพร้อมอยู่ทั้งหมื่นจักรวาล
พระยาวัสวดีมารยกพลาพลเสนามารมาผจญครั้งนั้น
ถ้าได้เทพยเจ้าเป็นบริวารมีชัยแก่พระยามาร ก็หาสู้เป็นมหามหัศจรรย์นักไม่
นี่พรรเอิญให้หมู่อมรอินทร์พรหมทั้งปวงปลาศนาการหนีไปสิ้น
ยังแต่พระองค์เดียวอาจสามารถผจญพระยามาราธิราชกับทั้งพลเสนามารให้ปราชัยพ่ายแพ้ได้
สมเด็จพระบรมโลกนารถเจ้า จึงได้พระนามว่า พระพิชิตมารโมลีศรีสรรเพชญดาญาณ
เป็นมหามหัศจรรย์ดาลดิเรกไปทั่วอนันตโลกธาตุ เบื้องบนตราบเท่าถึงภวัคคพรหม
เบื้องต่ำตลอดถึงอโธภาคอเวจีเป็นที่สุด
พิเคราะห์ดูก็เหมือนพระราชสมภารเจ้าทั้งสองพระองค์ครั้งนี้
ถ้าเสด็จพร้อมด้วยเสนางคนิกรโยธาทวยหาญมาก และมีชัยแก่พระมหาอุปราชา
ก็จะสู้หาเป็นมหัศจรรย์แผ่พระเกียรติยศปรากฏไปในนานาประเทศธานีใหญ่น้อยทั้งนั้นไม่
พระราชสมภารเจ้าอย่าทรงพระราชปริวิตกน้อยพระทัยเลย
อันเหตุที่เป็นนี้เพื่อเทพยเจ้าทั้งปวงอันรักษาพระองค์จักสำแดงพระเกียรติยศ
ดุจอาตมภาพถวายพระพรเป็นแท้
สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวตรัสได้ทรงฟังสมเด็จพระพนรัตนถวายวิสัชนากว้างขวาง
ออกพระนามสมเด็จพระบรมอัครโมลีโลกครั้งนั้น
ระลึกถึงพระคุณนามอันยิ่งก็ทรงพระปีติโสมนัสตื้นเต็มพระกมลหฤทัยปราโมทย์
ยกพระหัตถ์เหนือพระอุตมางคศิโรตม์นมัสการแย้มพระโอษฐ์ว่า สาธุ สาธุ
พระผู้เป็นเจ้าว่านี้ควรหนักหนา.
สมเด็จพระพนรัตนเห็นว่าพระมหากษัตริย์คลายพระพิโรธแล้ว จึงถวายพระพรว่า
อาตมภาพพระราชาคณะทั้งปวงเห็นว่า ข้าราชการซึ่งเป็นโทษเหล่านี้ก็ผิดหนักหนาอยู่แล้ว
แต่ทว่าได้กระทำราชการมาแต่ครั้งสมเด็จพระบรมราชอัยกาและสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง
และทำราชการมาในใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทของพระราชสมภารเจ้าแต่เดิมมาดุจพุทธบริษัทของสมเด็จพระบรมครูก็เหมือนกัน
อาตมภาพทั้งปวงขอพระราชทานบิณฑบาตโทษคนเหล่านี้ไว้ครั้งหนึ่งเถิด
จะได้ทำราชการฉลองพระเดชพระคุณสืบไป. สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ตรัสว่า
พระผู้เป็นเจ้าขอแล้ว โยมก็จะให้ แต่ทว่าจะให้ไปตีเอาเมืองตะนาวศรี (และ) เมืองทวาย
แก้ตัวก่อน. สมเด็จพระพนรัตน์ถวายพระพรว่า
การซึ่งจะใช้ไปตีบ้านเมืองนั้นก็สุดแต่พระราชสมภารเจ้าจะสงเคราะห์ ใช่กิจสมณะ
แล้วสมเด็จพระพนรัตนและพระราชาคณะทั้งปวงถวายพระพรลาไป. จากนั้น
สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวสั่งให้ท้าวพระยาพระหัวเมืองมุขมนตรีพ้นโทษ
» หน้าที่ของพระสงฆ์ตามพระธรรมวินัย
» บทบาททางการเมืองของพระสงฆ์ในประวัติศาสตร์
» บทบาทพระสงฆ์ในประวัติศาสตร์ไทย
» เจ้าพระฝาง พระมหาเถราจารย์แห่งแผ่นดินสยาม
» สมเด็จพระพนรัตน วัดป่าแก้ว ต้นตำหรับพระสงฆ์กับการเมืองไทย
» พระอาจารย์ธรรมโชติ พระมหาเถระแห่งค่ายบ้านบางระจัน