ศาสนา ลัทธิ ความเชื่อ นิกาย พิธีกรรม >>

พระสงฆ์กับการเมืองไทย

พระภูริพัฒน์ หอมแก้ว

     ความเข้าใจที่ว่า พระสงฆ์ในพระพุทธศาสนาคือผู้ที่ประพฤติปฏิบัติตามพระธรรมวินัย บำเพ็ญพรตภาวนาอยู่แต่ในอารามนั้น ในความเป็นจริง พระสงฆ์มีชีวิตที่เกี่ยวข้องกับคฤหัสถ์อยู่เสมอ เพราะปัจจัยการดำรงชีพของพระขึ้นอยู่กับชาวบ้าน ดังพระบาลีที่ว่า “ปรปฏิพทฺธา เม ชีวิกา” แปลว่า การเลี้ยงชีพของเรา (พระ)เนื่องด้วยผู้อื่น ด้วยชีวิตที่ยังต้องเกี่ยวข้องกับผู้อื่นที่เป็นชาวบ้านหรือคฤหัสถ์นี้เอง จึงเป็นความจริงที่ต้องยอมรับว่า พระสงฆ์ไม่ได้หนีไปจากสังคมแต่ประการใด ดังนั้น บทบาทหน้าที่ที่สำคัญ คือ การตอบแทนแก่ชาวบ้าน ซึ่งการตอบแทนแก่ชาวบ้านนั้น พระสงฆ์จะทำตอบแทนอย่างไร แค่ไหน จึงจะเหมาะสม พอดีและพองาม

ในส่วนของคฤหัสถ์หรือชาวบ้านที่เกี่ยวข้องกับ“การเมือง” หรือเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการทำให้บ้านเมืองสงบสุขนั้น พระสงฆ์ได้วางตนดำรงสถานะอย่างไรต่อเรื่องดังกล่าว เพราะความหมายหนึ่งที่พระสงฆ์ให้ความสำคัญ คือ การเมือง หมายถึง การจัดการทำให้คนที่อยู่ร่วมกันเป็นจำนวนมาก เป็นไปอย่างสันติสุข สงบสุข (พุทธทาสภิกขุ, ม.ป.ป.: 6) เมื่อเป็นเช่นนี้ พระสงฆ์ย่อมมีหน้าที่โดยตรงเช่นกันที่จะสอนธรรม แสดงธรรม หรือเผยแผ่ธรรมเพื่อให้ได้มาซึ่งประโยชน์สุข สันติสุขแก่ชาวเมือง

ปัจจุบันความหมายของคำว่า “การเมือง” ได้เปลี่ยนแปลงไป กล่าวคือเป็นความหมายในแง่ลบ เป็นเรื่องของอำนาจ กิเลส การแย่งชิง มีเรื่องการเป็นฝักฝ่าย และเป็นเรื่องของผลประโยชน์ จึงทำให้มองภาพพระสงฆ์ที่เข้าไปเกี่ยวข้องกับเรื่องดังกล่าว ได้รับการมองไปในทางลบด้วย หรือการเข้าไปยุ่งเกี่ยวในแง่กิจกรรมทางบ้านเมือง เช่น กรณีเจ้าพระฝางในอดีต และพระสงฆ์บางกลุ่มในสมัยกรุงศรีอยุธยาล่มสลายใหม่ ๆ ได้มีบทบาทในทางบ้านเมืองโดยตรง จึงทำให้มีการวิพากษ์วิจารณ์กันไปต่างๆ นานา ในแง่ของพระธรรมวินัย ความเหมาะสม หรือแม้กระทั่งการพยายามอาศัยความเป็นสงฆ์เพื่อประโยชน์ในทางการเมือง เช่น การบวชเพื่อหลบราชภัย การบวชเพื่อแสวงหาช่องโอกาสในการขึ้นสู่อำนาจในทางบ้านเมือง เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม ก็มีตัวอย่างมากมายเช่นกันที่แสดงให้เห็นว่า แม้พระสงฆ์จะเกี่ยวข้องกับการเมือง ก็เกี่ยวข้องอย่างน่าชมเชย เช่น กรณีสมเด็จพระพนรัตน์ วัดป่าแก้ว พร้อมพระราชาคณะ คณะสงฆ์ผู้ใหญ่ ถึง 25 รูป ที่เข้าไปแสดงธรรมถึงในพระราชฐานแด่สมเด็จพระนเรศวรมหาราช เพื่อยับยั้งโทษประหารชีวิตแม่ทัพนายกองที่ตามเสด็จไม่ทันคราวกระทำยุทธหัตถีกับพระมหาอุปราชาและมังจาชะโรแห่งกรุงหงสาวดี เป็นต้น

ในปัจจุบัน ยังพบเห็นหรือได้ยินเรื่องที่เกี่ยวกับพระสงฆ์ต่อเรื่องการเมืองในแง่ต่าง ๆ เช่น การเทศน์สอนผู้นำทางการเมือง ผู้บริหารบ้านเมือง แม้กระทั่งการใช้วัดเป็นสถานที่เลือกตั้งหรือคัดสรรบุคคลเข้าไปบริหารประเทศตามระบอบประชาธิปไตย และบางครั้งพระสงฆ์ก็ต้องเป็นผู้กระตุ้นเตือนชักชวนในการสร้างประชาธิปไตย ดังนั้นการที่พระสงฆ์เข้าไปเกี่ยวข้องกับการเมือง จึงอาจจำแนกได้ใน 2 ลักษณะใหญ่ ๆ คือ

  • พระสงฆ์ได้พยายามแสดงธรรม เสนอธรรมเพื่อความผาสุกสวัสดีของชาวเมือง
  • พระสงฆ์และผู้อาศัยความความเป็นสงฆ์เป็นช่องทางเพื่อหาผลประโยชน์ในทางการเมือง

เราจะเห็นพระสงฆ์ออกมาเคลื่อนไหวเรียกร้องทางการเมืองมากยิ่งขึ้น ตั้งแต่มีการเรียกร้องให้มีกระทรวงพระพุทธศาสนา ในที่สุดก็ได้มีสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ จากนั้นเป็นต้นมา ขบวนการเรียกร้องของพระสงฆ์ก็มีให้เห็นมากขึ้น เช่น กลุ่มรัฐสภาวนารามเดินขบวนต่อต้านรัฐบาล จนถึงปัจจุบันได้มีพระสงฆ์อดอาหารเพื่อเรียกร้องให้บรรจุคำว่า “พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติในรัฐธรรมนูญ” มีชาวพุทธหลายกลุ่มทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วยกับการกระทำของพระสงฆ์ ด้วยเหตุนี้ พระสงฆ์ไทยจึงได้เข้ามีส่วนเกี่ยวข้องในกิจกรรมทางการเมืองทั้งทางโดยตรงและโดยอ้อม และทั้งอย่างเป็นทางการและไม่เป็นทางการ

» หน้าที่ของพระสงฆ์

» หน้าที่ในการศึกษาธรรม

» หน้าที่ในการปฏิบัติธรรม

» หน้าที่ในการเผยแผ่ธรรม

» หน้าที่ในการรักษาธรรม

» หน้าที่ของพระสงฆ์ตามพระธรรมวินัย

» บทบาททางการเมืองของพระสงฆ์ในประวัติศาสตร์

» พระพุทธเจ้ากับการเมือง

» กรณีห้ามการทำสงคราม

» กรณีปราบแคว้นวัชชี

» บทบาทพระสงฆ์ในประวัติศาสตร์ไทย

» เจ้าพระฝาง พระมหาเถราจารย์แห่งแผ่นดินสยาม

» สมเด็จพระพนรัตน วัดป่าแก้ว ต้นตำหรับพระสงฆ์กับการเมืองไทย

» พระอาจารย์ธรรมโชติ พระมหาเถระแห่งค่ายบ้านบางระจัน

» สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี)

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย