ศาสนา ลัทธิ ความเชื่อ นิกาย พิธีกรรม >>
หน้าที่ในการเผยแผ่ธรรม
ในหน้าที่ที่สาม คือ การเผยแผ่ธรรมนั้น
นับว่าเป็นหัวใจของการสืบอายุพระพุทธศาสนาและเป็นการแสดงเจตนาต่อพุทธประสงค์อย่างแท้จริง
ซึ่งพระพุทธองค์ตรัสฝากวัตถุประสงค์ที่สำคัญให้แก่พระอรหันต์สาวก 60 องค์ว่า…
“พวกเธอจงเที่ยวจาริก เพื่อประโยชน์และความสุขแก่ชนหมู่มาก เพื่ออนุเคราะห์โลก
เพื่อประโยชน์เกื้อกูลและความสุขแก่ทวยเทพและมนุษย์
พวกเธออย่าได้ไปรวมทางเดียวกันสองรูป จงแสดงธรรมงามในเบื้องต้น งามในท่ามกลาง
และงามในที่สุด จงประกาศพรหมจรรย์พร้อมทั้งอรรถทั้งพยัญชนะครบบริบูรณ์ บริสุทธิ์..”
หน้าที่หรือว่าบทบาทในการเผยแผ่นี้
เป็นบทบาทของพระสงฆ์ที่สำคัญหากจะเทียบกับบทบาทด้านอื่น
บทบาทนี้นับว่าเป็นงานที่คณะสงฆ์จัดทำมากกว่าอย่างอื่น. อนึ่ง ในการเผยแผ่นั้น
พระสงฆ์ก็ดำรงตนในบทบาทหน้าที่ดังที่พระพุทธองค์เคยดำรงมาแล้วเพราะการเผยแผ่ธรรมนั้นเป็นการให้ปัญญาแก่พุทธบริษัท
จำต้องตั้งตนอยู่บนพื้นฐานความเป็นธรรม ผู้แสดงต้องมีภูมิธรรมความรู้ด้วย
ดังพุทธพจน์ที่ว่าจงเที่ยวจาริกไป เพื่อประโยชน์นั้น คือ
การกระทำหน้าที่หลักของพระสงฆ์ สิ่งใดที่เป็นประโยชน์เกื้อกูล
แม้จะต้องจาริกรอนแรมไปยังสถานที่ไกล ๆ ก็ตาม พระสงฆ์ต้องทำหน้าที่เป็นผู้ให้ธรรมะ
แจกธรรมะแก่ชนทั้งโลก
พระสงฆ์สาวกในสมัยพุทธกาล เป็นพระสงฆ์ที่ต้องใช้ความเพียรมาก
เพื่อนำธรรมให้เข้าถึงประชาชนหรือนำประชาชนให้เข้าถึงพระศาสนา
ซึ่งอาจจะเรียกระยะแรกนี้ว่า
ระยะออกไปหาประชาชนและในการประกาศพระศาสนาหรือเผยแผ่พระศาสนานั้น
เป็นหลักการสำคัญที่จะต้องระลึกถึงหลักโอวาทปาฏิโมกข์
ซึ่งพระพุทธองค์ได้ทรงแสดงไว้แก่พระอรหันต์ 1,250 รูป ในวันมาฆปุรณมี คือ
วันเพ็ญขึ้น 15 ค่ำ เดือน 3 ซึ่งเป็นพุทธโอวาทที่ประมวลสรุปพุทธวาทะ
ด้วยข้อความเพียง 3 คาถากึ่ง ฉะนั้น
พระวาทนี้จึงนับถือว่าได้แสดงหัวใจพระพุทธศาสนาไว้
โอวาทปาฏิโมกข์ แปลว่า โอวาทหรือคำสอนที่เป็นหลักเป็นประธาน
อย่างที่เรียกว่าเป็นหัวใจพระพุทธศาสนา และถ้ามองในแง่นักเผยแผ่
ก็ถือว่าโอวาทปาฏิโมกข์นี้เป็นหลักในการเผยแผ่พระพุทธศาสนาด้วย
การแสดงโอวาทปาฏิโมกข์นี้ ในมหาปทานสูตร
กล่าวถึงว่าพระพุทธเจ้าทุกพระองค์จะทรงแสดงในที่ประชุมสาวกครั้งใหญ่
มิใช่เฉพาะพระสมณโคดมของเราทั้งหลายเท่านั้นที่ทรงแสดงใจความตามมหาปทานสูตร
ว่าดังนี้
“ขันติ ความทนทานเป็นตบะอย่างยิ่ง พระพุทธเจ้าทั้งหลาย
ตรัสว่าพระนิพพานเป็นธรรมอย่างยิ่ง ผู้ทำร้ายผู้อื่น ผู้เบียดเบียนผู้อื่น
ไม่ชื่อว่าเป็นบรรพชิต ไม่ชื่อว่าเป็นสมณะเลย
การไม่ทำบาปทั้งสิ้น การยังกุศลให้ถึงพร้อม การทำจิตของตนให้ผ่องใส
นี้เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย
การไม่กล่าวร้าย 1 การไม่ทำร้าย 1 ความสำรวมในพระปาฏิโมกข์ 1
ความเป็นผู้รู้ประมาณในภัตตาหาร 1 ที่นอนที่นั่งอันสงัด 1
การประกอบความเพียรในอธิจิต 1 หกอย่างนี้เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย”
หน้าที่ของพระสงฆ์ในการเผยแผ่พระพุทธศาสนาตามในคาถาในท่อนที่ 3 นั้น
เป็นจุดประสงค์คือหน้าที่ของพระสงค์ในการเผยแผ่พระพุทธศาสนา
ที่พึงดำรงตนอยู่ในหลักปฏิบัตินี้ ในหลักการเผยแผ่ พอจะสรุปได้ดังนี้ คือ
- ไม่โจมตี (ได้แก่ข้อไม่กล่าวร้าย)
- ไม่บีฑา (ได้แก่ข้อไม่ทำร้าย)
- รักษาศีล (ได้แก่ข้อสำรวมในพระปาฏิโมกข์)
- ไม่เห็นแก่กิน (ได้แก่ข้อรู้ประมาณในภัตตาหาร)
- ไม่เห็นแก่นอน (ได้แก่ข้อที่นั่งที่นอนอันสงัด)
- ฝึกสอนใจตนเอง (ได้แก่ข้อประกอบความเพียร ฝึกฝนพัฒนาจิตของตนเอง)
จึงนับว่าเป็นการแสดงปฏิปทาที่จะนำเอาใจความตามท่อนที่ 1 และที่ 2
นั้นไปสั่งสอนผู้อื่นอีกต่อไป พระโอวาทที่เรียกว่า
พระโอวาทปาฏิโมกข์ทั้งหมดนี้พระพุทธเจ้าได้ตรัสแกพระอรหันต์ทั้งนั้น
จึงมิได้มุ่งที่จะอบรมให้ท่านบรรลุมรรคผล แต่ว่ามุ่งที่จะวางแนวพระพุทธศาสนา
หลักอีกประการหนึ่งซึ่งจะขาดเสียมิได้ในการเผยแผ่ คือ
การใคร่ครวญตามหลักพุทธวาจา 6 ประการ ที่ทรงมุ่งประโยชน์เป็นสำคัญ
และทรงเลือกกาลเวลาที่จะอำนวยประโยชน์อย่างจริง. ในพระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย
ปาฏิกวรรค นั้นเป็นการเฉลยเหตุที่ได้พระนามว่า “ตถาคต”
โดยได้ตรัสกับจุนทะไว้ให้เห็นว่า พระตถาคตนั้นทรงรู้ธรรมทั้งที่เป็นอดีต
อนาคตและปัจจุบัน ถ้าหากไม่จริง ไม่แท้ ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ ก็จะไม่ทรงพยากรณ์
กับทั้งในมัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ ก็แสดงให้เห็นถึงว่า
พระพุทธองค์ทรงเลือกที่จะตรัสเฉพาะวาจาที่ประกอบด้วยประโยชน์เท่านั้น
อาจสรุปได้ดังนี้
- คำพูดที่ไม่จริง ไม่ถูกต้อง, ไม่เป็นประโยชน์, ไม่เป็นที่รักที่ชอบใจของผู้อื่น-ไม่ตรัส
- คำพูดที่จริง ถูกต้อง, แต่ไม่เป็นประโยชน์, ไม่เป็นที่รักที่ชอบใจของผู้อื่น- ไม่ตรัส
- คำพูดที่จริง ถูกต้อง, เป็นประโยชน์, ไม่เป็นที่รักที่ชอบใจของผู้อื่น – เลือกเวลาตรัส
- คำพูดที่ไม่จริง ไม่ถูกต้อง, ไม่เป็นประโยชน์, ถึงเป็นที่รักที่ชอบใจของผู้อื่น – ไม่ตรัส
- คำพูดที่จริง ถูกต้อง, แต่ไม่เป็นประโยชน์, ถึงเป็นที่รักที่ชอบใจของผู้อื่น – ไม่ตรัส
- คำพูดที่จริง ถูกต้อง, เป็นประโยชน์, เป็นที่รักที่ชอบใจของคนอื่น – เลือกกาลตรัส
ดังนั้น ตถาคตจึงเป็น กาลวาที, สัจจวาที, ภูตวาที, ธรรมวาทีและวินยวาที
เมื่อกล่าวดังนี้แล้วย่อมพิจารณาได้ว่าหัวใจสำคัญในการเผยแผ่พระธรรมวินัย
พระพุทธศาสนาก็เพื่อประโยชน์สุขของชาวโลก และประโยชน์ตามพุทธประสงค์ก็ทรงวางไว้ 3
หลัก เรียกว่า อัตถะ คือ ประโยชน์, จุดหมาย, ผลที่มุ่งหมายปรารถนา ดังนี้
1. ทิฎฐธัมมิกัตถะ (ประโยชน์ในชาตินี้)
2. สัมปรายิกัตถะ
(ประโยชน์ชาติหน้า)
3. ปรมัตถะ (ประโยชน์อย่างยิ่ง คือ พระนิพพาน)
ประโยชน์หรือจุดมุ่งหมายทั้ง 3 ประการนี้ คือ
สิ่งที่พระพุทธองค์ทรงวางไว้ให้พุทธบริษัท 4
เพื่อที่จะไม่คลาดไม่พลัดตกจากประโยชน์อันพึงจะได้ในพระพุทธศาสนานี้
» หน้าที่ของพระสงฆ์ตามพระธรรมวินัย
» บทบาททางการเมืองของพระสงฆ์ในประวัติศาสตร์
» บทบาทพระสงฆ์ในประวัติศาสตร์ไทย
» เจ้าพระฝาง พระมหาเถราจารย์แห่งแผ่นดินสยาม
» สมเด็จพระพนรัตน วัดป่าแก้ว ต้นตำหรับพระสงฆ์กับการเมืองไทย
» พระอาจารย์ธรรมโชติ พระมหาเถระแห่งค่ายบ้านบางระจัน