ศาสนา ลัทธิ ความเชื่อ นิกาย พิธีกรรม >>
หน้าที่ในการรักษาธรรม
การรักษาธรรม เป็นหน้าที่ซึ่งจะต้องรักษาพระธรรมวินัยให้บริสุทธิ์ บริบูรณ์
อีกทั้งเป็นการธำรงไว้ซึ่งพระพุทธศาสนาในหลาย ๆ วิธีการ
แต่สิ่งที่ต้องคำนึงถึงเป็นอันดับแรก คือ ความตั้งมั่นแห่งพระพุทธศาสนา
การไม่ทำให้พระธรรมวินัยวิปรติแปรปรวนนั่นเอง สิ่งที่พระพุทธองค์ทรงแสดงไว้
บัญญัติไว้ เป็นสิ่งที่ต้องใคร่ครวญและปฏิบัติตาม ไม่เพิกเฉยละเลยทอดทิ้ง
ตรงกันข้ามสิ่งใดที่มิได้ทรงแสดงไว้บัญญัติไว้ที่ขัดต่อพระธรรมวินัยก็ไม่ควรกระทำ
เพราะจะนำโทษทุกข์มาให้ ภิกษุสงฆ์ทั้งหลายไม่ขวนขวายเด็ดขาด ดังพุทธดำรัสว่า
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุพวกที่แสดงอธรรมว่าธรรม แสดงสิ่งที่มิใช่วินัย
ว่าเป็นวินัย ที่วินัยว่าไม่ใช่วินัย พระดำรัสที่มิได้ภาษิตไว้ว่าภาษิตไว้
ที่ภาษิตไว้ว่ามิได้ภาษิตไว้ แสดงกรรมอันตถาคตมิได้สั่งสมไว้ว่าทรงสั่งสม
ที่สั่งสมไว้ว่ามิได้ทรงสั่งสม สิ่งที่ตถาคตมิได้ทรงบัญญัติไว้ว่าทรงบัญญัติ
ที่บัญญัติไว้ว่ามิได้ทรงบัญญัติ แสดงอาบัติว่าอนาบัติ ที่อนาบัติว่าอาบัติ
แสดงลหุกาบัติว่าครุกาบัติ ที่ครุกาบัติว่าลหุกาบัติ
แสดงอาบัติที่ชั่วหยาบว่าไม่ชั่วหยาบ ที่ไม่ชั่วหยาบว่าชั่วหยาบ
แสดงอาบัติมีส่วนเหลือว่าไม่มีส่วนเหลือ ที่ไม่มีส่วนเหลือว่ามีส่วนเหลือ
แสดงอาบัติที่ทำคืนได้ว่าไม่ได้ ที่ไม่ได้ว่าได้
ภิกษุเหล่านั้นชื่อว่าเป็นผู้ปฏิบัติเพื่อไม่เป็นประโยชน์เกื้อกูล
เพื่อไม่เป็นสุขแก่ชนเป็นอันมาก เพื่ออนัตถะมิใช่ประโยชน์เกื้อกูลแก่ชนเป็นอันมาก
เพื่อความทุกข์แก่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย ทั้งย่อมประสบบาปมิใช่บุญเป็นอันมาก
และย่อมทำให้สัทธรรมนี้อันตรธาน
สิ่งสำคัญที่พระพุทธองค์ทรงมีวัตถุประสงค์
ในการที่ทรงบัญญัติพระวินัยขึ้นมาก็เพื่อประโยชน์ อันไพศาล
มิใช่จำเพาะกลุ่มหรือเพื่อพระพุทธองค์เอง ทั้งนี้เพื่อให้พระภิกษุตระหนักไม่เพิกเฉย
หรือละเลย ดังวัตถุประสงค์ที่ว่า
- เพื่อความตั้งอยู่ด้วยดีแห่งสงฆ์
- เพื่อความอยู่สำราญแห่งสงฆ์
- เพื่อข่มบุคคลผู้เก้อยาก
- เพื่อการอยู่สำราญแห่งภิกษุทั้งหลายผู้มีศีลเป็นที่รัก
- เพื่อป้องกันอาสวะทั้งหลายอันเป็นไปในปัจจุบัน
- เพื่อกำจัดอาสวะทั้งหลายอันเป็นไปในสัมปรายภพ
- เพื่อความเลื่อมใสแห่งบุคคลทั้งหลายผู้ยังไม่เลื่อมใส
- เพื่อความเจริญยิ่งแห่งความเลื่อมใสของบุคคลทั้งหลายผู้เลื่อมใสแล้ว
- เพื่อความตั้งมั่นแห่งสัทธรรม
- เพื่ออนุเคราะห์พระวินัย
ในวัตถุประสงค์ทั้ง 10 ข้อนี้ย่อได้ 5 หมวด คือ
- เพื่อประโยชน์แก่สงฆ์หรือส่วนรวน ได้แก่ ความในข้อที่ 1 และ 2
- เพื่อประโยชน์แก่ตัวบุคคล ได้แก่ ความในข้อที่ 3 และ 4
- เพื่อประโยชน์แก่ชีวิตของมนุษย์เอง ได้แก่ ความในข้อที่ 5 และ 6
- เพื่อประโยชน์แก่ประชาชนทั่วไป ได้แก่ ความในข้อที่ 7 และ 8
- เพื่อประโยชน์แก่ตัวพระศาสนา ได้แก่ ความในข้อที่ 9 และ 10
มีเหตุการณ์ที่เป็นจุดแห่งการคำนึงถึงความดำรงอยู่แห่งพระพุทธศาสนาอยู่เหตุการณ์หนึ่ง คือภายหลังพุทธปรินิพพานไปแล้วเพียง 7 วัน รอยร้าวแห่งสังฆมณฑลได้เริ่มเผยโฉมออกมาอย่างโจ่งแจ้ง โดยที่มีพระภิกษุรูปหนึ่งผู้บวชเมื่อแก่ นามว่า สุภัททะ ได้กล่าวจ้วงจาบคือ กล่าวตู่หรือกล่าวติเตียนพระธรรมวินัยโดยประการต่าง ๆ และแสดงความดีใจอย่างออกหน้าออกตาในการปรินิพพานของพระพุทธองค์. ใช่ว่าจะมีแต่สุภัททะก็หาไม่ แต่ยังมีภิกษุที่เป็นฝักฝ่ายของพระเทวทัตอีกมากที่มีความเห็นเช่นเดียวกับพระสุภัททะ ด้วยวาทะที่ได้กล่าวในท่ามกลางภิกษุทั้งหลายในคราวนั้นว่า
อย่าอาวุโส พวกท่านอย่าเศร้าโศก อย่าร่ำไรไปเลย พวกเราพ้นดีแล้ว
ด้วยว่าพระมหาสมณะนั้น เบียดเบียนพวกเราอยู่ว่า สิ่งนี้ควรแก่เธอ
สิ่งนี้ไม่ควรแก่เธอ ก็บัดนี้ พวกเราปรารถนาสิ่งใด ก็จักกระทำสิ่งนั้น
ไม่ปรารถนาสิ่งใด ก็จักไม่กระทำสิ่งนั้น
ถ้อยคำของสุภัททะทำให้ท่านมหากัสสปะ สังฆพฤฒาจารย์ คือ
พระสงฆ์ผู้อาวุโสที่สุดนั้นมาใคร่ครวญคำนึงด้วยความวิตก และสังเวช
พร้อมกับดำริที่จะชำระมลทินเพื่อธำรงไว้ซึ่งพระพุทธศาสนา รักษาพระธรรมไว้
จึงชักชวนพระอรหันต์สาวกทั้งหลายดังนี้ว่า
เอาเถิด ท่านทั้งหลาย
พวกเราจงสังคายนาพระธรรมและวินัยเถิด ในภายหน้าสภาวะมิใช่ธรรมจักรุ่งเรือง
ธรรมจักเสื่อมถอย สภาวะมิใช่วินัยจักรุ่งเรือง วินัยจักเสื่อมถอย
ภายหน้าอธรรมวาทีบุคคลจะมีกำลัง ธรรมวาทีบุคคลจักเสื่อมกำลัง
อวินัยวาทีบุคคลจักมีกำลัง วินัยวาทีบุคคลจักเสื่อมกำลัง
หน้าที่ในการธำรงรักษาพระธรรมวินัยจึงเป็นสาระที่สำคัญที่สุดเรื่องหนึ่งในหลาย ๆ
หน้าที่ของพระสงฆ์นับแต่สมัยพุทธกาลเป็นต้นมา
» หน้าที่ของพระสงฆ์ตามพระธรรมวินัย
» บทบาททางการเมืองของพระสงฆ์ในประวัติศาสตร์
» บทบาทพระสงฆ์ในประวัติศาสตร์ไทย
» เจ้าพระฝาง พระมหาเถราจารย์แห่งแผ่นดินสยาม
» สมเด็จพระพนรัตน วัดป่าแก้ว ต้นตำหรับพระสงฆ์กับการเมืองไทย
» พระอาจารย์ธรรมโชติ พระมหาเถระแห่งค่ายบ้านบางระจัน