ศาสนา ลัทธิ ความเชื่อ นิกาย พิธีกรรม >>
ธัมวิจยสัมโพชฌงค์
คราวนี้มาถึงข้อที่ 2 ธัมวิจยสัมโพชฌงค์
องค์แห่งความรู้พร้อมคือธัมวิจยะ หรือว่า ธัมวิจยโพชฌงค์ องค์แห่งความรู้คือ
ธัมวิจยะ อันคำว่าธัมวิจยะ นี้แปลว่าเลือกเฟ้นธรรม เรียกรวมกันว่าธรรมวิจัย
และคำว่าวิจัยนี้ก็มาใช้ในภาษาไทย วิจัยสิ่งนั้น วิจัยสิ่งนี้
ก็คือการพิจารณาเลือกเฟ้น เลือกเฟ้นธรรม
พระพุทธเจ้าตรัสสอนเป็นหลักเอาไว้ว่า ก็คือเลือกเฟ้นธรรมว่า
กุศลธรรมธรรมะที่เป็นกุศล หรืออกุศลธรรมธรรมะที่เป็นอกุศล
ธรรมะที่มีโทษหรือว่าไม่มีโทษ ธรรมะที่เลวหรือว่าธรรมะที่ดี
ธรรมที่ดำหรือว่าธรรมะที่ขาว
เพราะฉะนั้นจึงต้องทำความเข้าใจคำว่าธรรมะในที่นี้ ว่ามีความหมายเป็นกลางๆ
ดีก็ธรรม ชั่วก็ธรรม เป็นคำกลางๆ ดังถ้าดีก็เรียกุศลธรรม ชั่วก็เรียกว่าอกุศลธรรม
อันมีความหมายครอบถึงทุกๆ สิ่งทุกๆ อย่าง ดังที่เราเรียกกันว่า สิ่งนั้นดี
สิ่งนั้นไม่ดี คำว่าสิ่งก็หมายถึงทุกๆ สิ่งทุกๆ อย่างนั้นเอง
ดั่งนี้คือความหมายของคำว่าธรรมะในที่นี้
เพราะฉะนั้นเมื่อมีสติระลึกรู้ไปตามธรรมบรรยายที่ฟัง ก็ให้มีธรรมวิจัย
คือให้เข้าใจไปด้วยว่า ข้อที่แสดงอยู่นี้ ข้อนั้นดีเป็นกุศล ไม่มีโทษ
เป็นธรรมะที่ขาว ข้อนั้นไม่ดี เป็นอกุศลมีโทษ เป็นธรรมะที่ดำ
ดังเช่นที่แสดงถึงตัวสติ ที่อธิบายสติกับสัมปชัญญะ
ซึ่งเรียกรวมกันว่าสติดังกล่าวนั้น และมีคำแปลที่รวมกันสั้นๆ ว่าระลึกรู้
เมื่อฟังก็มีสติกำกับใจให้ฟัง รู้ว่ากำลังฟัง ดึงจิตใจให้ๆ ฟังอยู่
ดั่งนี้เป็นตัวสัมมาสติ สติที่ถูกที่ถูกทาง ที่ชอบ ถ้าหากว่าจิตฟุ้งออกไป
ไประลึกเรื่องอื่นก็เรียกว่ามิจฉาสติ ระลึกผิด ผิดที่ผิดทาง
บางทีแม้ว่าเรื่องที่ระลึกนั้นจะเป็นเรื่องที่ดีก็ตาม
แต่ว่าผิดที่ผิดทางผิดเวลา ไม่ใช่เป็นเวลาที่จะส่งจิตออกไประลึกเรื่องอื่น
จะต้องระลึกไปตามถ้อยคำที่แสดงนี้ ดั่งนี้ก็มีความเข้าใจว่า
ถ้าอย่างนี้ก็เป็นสัมมาสติ ถ้าอย่างนี้ก็เป็นมิจฉาสติ ก็เป็นธรรมวิจัยอย่างหนึ่ง
คราวนี้ก็รู้ที่จิตใจนี้เองด้วย เมื่อจิตใจนี้เองระลึกถูกที่ถูกทางอยู่
ก็รู้ว่านี่เป็นสัมมาสติ
ถ้าหากว่าจิตใจนี้เองระลึกผิดที่ผิดทางดังกล่าวก็เรียกว่าเป็นมิจฉาสติ
ก็เรียกว่ารู้ทั้งถ้อยคำที่แสดง และรู้ทั้งความเป็นไปของจิตของตนเองว่าเป็นอย่างไร
ถูกหรือผิดอย่างไร ถ้าเป็นสติ เป็นสัมมาสติถูกที่ถูกทาง หรือมิจฉาสติผิดที่ผิดทาง
ดังที่กล่าวมานั้น ดั่งนี้ก็เป็นธรรมวิจัย
อินทรียสังวรเป็นเหตุให้มีสุจริต 3
สติปัฏฐาน 4 โพชฌงค์ 7
ลำดับปฏิบัติในโพชฌงค์
ปัจจุบันธรรม
สติสัมโพชฌงค์
ธัมวิจยสัมโพชฌงค์
วิริยสัมโพชฌงค์
ปีติสัมโพชฌงค์
ปัสสัทธิสัมโพชฌงค์
สมาธิสัมโพชฌงค์
อุเบกขาสัมโพชฌงค์