ศาสนา ลัทธิ ความเชื่อ นิกาย พิธีกรรม >>

หอพระไตร

โพชฌงค์

อุเบกขาสัมโพชฌงค์

จึงมาถึงข้อที่ 7 อุเบกขาสัมโพชฌงค์ หรือ อุเบกขาโพชฌงค์ สัมโพชฌงค์หรือโพชฌงค์คืออุเบกขา อุเบกขาแปลว่าความเข้าไปเพ่งดูอยู่ อันมีความหมายว่าจิตที่ตั้งสงบอยู่นั้นก็รู้ รู้อยู่ตลอดว่าจิตตั้งอยู่สงบ เหมือนอย่างคอยดูอยู่ด้วยลูกตาซึ่งจิตนั้น เป็นความที่เข้าไปเพ่งดู มีตัวรู้ด้วย รู้จิตนั้นว่าตั้งสงบ

ตัวรู้จิตนั้นที่ตั้งสงบนั้น เป็นตัวรู้ที่ไม่ออกไปเช่นเดียวกัน และเป็นตัวรู้ที่ไม่ยินดีไม่ยินร้าย เป็นตัวรู้ที่เป็นตัวรู้วาง รู้แล้วก็วาง และเมื่อวางได้ก็ไม่วุ่นวาย ความไม่วุ่นวายนี้เรียกว่าเฉย เพราะฉะนั้น จึงมีอาการที่เป็นตัวความวาง คือไม่ยึดถือ เป็นตัวความเฉยก็คือว่าไม่วุ่นวาย ไม่ดิ้นรนกวัดแกว่งกระสับกระส่าย เป็นรู้ที่วาง และเป็นรู้ที่เฉยคือไม่วุ่นวายไม่กระสับกระส่าย แต่ว่ารู้ทุกอย่าง เหมือนอย่างนั่งอยู่ในบ้านในห้องที่หลังคามุงด้วยดีฝนลงมาก็รู้ และก็ฝนก็ไม่รั่วลงมารด อารมณ์ทั้งหลายที่ผ่านเข้ามา อย่างจะดูอะไร จะได้ยินอะไร จะทราบอะไร จะคิดอะไร ก็รู้ แต่ว่ารู้แล้วก็วาง ไม่วุ่นวายไม่กระสับกระส่าย สงบ ดั่งนี้คืออุเบกขาสัมโพชฌงค์ อันเป็นข้อสำคัญ อันเป็นข้อที่ 7 ซึ่งจะต้องมีกำกับอยู่กับตัวสมาธิ จึงจะทำให้สมาธินี้เป็นสมาธิที่ก้าวหน้า เบื้องต้นก็เป็นบริกรรม ก็เป็นอุปจาระสมาธิ แล้วก็เป็นอัปปนาสมาธิ สมาธิที่แนบแน่นได้

เพราะฉะนั้น สมาธิแม้ที่เป็นอัปปนาสมาธิ สมาธิที่แนบแน่นนี้ ไม่ใช่ว่าไม่รู้ ไม่ใช่ว่าหลับ หรือไม่ใช่ว่าดับ ความหลับหรือความดับคือตัวหายไปเฉยๆ ดั่งนี้ไม่ใช่สมาธิ เป็นอาการของความหลับ เป็นถีนมิทธะอย่างหนึ่ง แต่เมื่อเป็นสมาธิแล้วยิ่งละเอียดเท่าไหร่ ก็จะต้องมีตัวรู้ ที่ตื่นที่สว่าง ที่แจ่มใสเพียงนั้น แต่ว่าเป็นตัวรู้ที่เป็นอุเบกขาดังกล่าว สงบไม่วุ่นวาย ไม่ยึดถือ แต่ว่ารู้ แล้วก็เป็นความรู้ที่รู้อยู่ในภายในไปโดยลำดับ ซึ่งบางคราวจะปรากฏเหมือนอย่างว่าไม่มีตัว แต่ว่ามีตัวรู้ อันความปรากฏเหมือนอย่างว่าไม่มีตัวนี้ ก็คือว่าเหมือนอย่างประสาททั้ง 5 ดับหรือสงบ ประสาทตา ประสาทหู ประสาทจมูก ประสาทลิ้น ประสาทกาย ละเอียดสงบ จึงเหมือนอย่างไม่มีตา ไม่มีหู ไม่มีจมูก ไม่มีลิ้น ไม่มีกาย จึงคล้ายๆ รู้สึกว่าไม่มีตัว แต่ว่าอายตนะที่ 6 คือมโนกับธรรมคือเรื่องราวนั้นยังอยู่ ใจไม่ดับ ใจสว่างใจตื่นใจโพลง และธรรมะที่รวมอยู่กับมโนนั้น ก็คือสติสมาธิอุเบกขานี้เอง เป็นตัวธรรมะที่ประกอบอยู่กับตัวมโน ดั่งนี้แหละจึงจะเป็นตัวสมาธิ และเป็นตัวอุเบกขา ที่เป็นสัมโพชฌงค์ที่ละเอียดประณีตยิ่งขึ้น

อินทรียสังวรเป็นเหตุให้มีสุจริต 3
สติปัฏฐาน 4 โพชฌงค์ 7
ลำดับปฏิบัติในโพชฌงค์
ปัจจุบันธรรม
สติสัมโพชฌงค์
ธัมวิจยสัมโพชฌงค์
วิริยสัมโพชฌงค์
ปีติสัมโพชฌงค์
ปัสสัทธิสัมโพชฌงค์
สมาธิสัมโพชฌงค์
อุเบกขาสัมโพชฌงค์

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย