ศาสนา ลัทธิ ความเชื่อ นิกาย พิธีกรรม >>

หอพระไตร

โพชฌงค์

สมาธิสัมโพชฌงค์

ก็จะถึงข้อที่ 6 คือสมาธิสัมโพชฌงค์ หรือสมาธิโพชฌงค์ สัมโพชฌงค์หรือโพชฌงค์คือสมาธิ คือจิตใจก็จะตั้งมั่นเป็นสมาธิ ตั้งมั้นอยู่ในอารมณ์ของสมาธิที่ตั้งปฏิบัติ จะเป็นอารมณ์ของสมาธิข้อใดก็ตามที่ตั้งปฏิบัติมา เช่นว่าตั้งใจปฏิบัติทำอานาปานสติมา หรือข้อใดข้อหนึ่งอื่นก็ตาม เมื่อมีโพชฌงค์มาประกอบถึงขั้นนี้แล้ว ก็จะได้สมาธิดีขึ้น

เพราะว่าอาการที่กายใจสงบมีสุขนี้เป็นที่ตั้งของสมาธิ ถ้าไม่มีสุขประกอบกับความสงบกายใจ สมาธิก็ยากที่จะตั้งได้ เหมือนอย่างบุคคลนั่งอยู่ในที่ร้อนก็นั่งไม่ติด จะต้องรีบลุกออกไป หรือต้องขยุกขยิกไม่ผาสุก แต่ว่านั่งอยู่ในที่สบาย กายใจเองก็สบายไม่เมื่อยไม่ขบ มีสุข ก็นั่งอยู่ได้นาน จิตก็เช่นเดียวกัน เมื่อจิตมีสุข มีความสงบจิตก็ตั้งอยู่ได้ดี ได้ดีในสมาธิที่ๆ ตั้งปฏิบัติมาตั้งแต่ต้น จะเป็นข้อใดก็ได้ทั้งนั้น

และหากว่าไม่ได้ตั้งปฏิบัติมาตั้งแต่ต้น เอาเป็นปัจจุบันธรรม โดยที่เริ่มปฏิบัติโพชฌงค์มาจากอายตนะ ดังที่ได้แสดงในวันนี้ ก็ยกเอาปัจจุบันธรรมคือฟังธรรมบรรยายนี่มาเป็นเริ่มต้น ก็แปลว่าไม่ได้ไปตั้งสมาธิไว้ในข้อไหนมาตั้งแต่ต้น

ถ้าหากว่าไม่ได้ตั้งสมาธิข้อใดมาตั้งแต่ต้นดั่งนี้ ปฏิบัติทางโพชฌงค์เรื่อยมาจากปัจจุบันธรรมจริงๆ ดั่งนี้แล้ว เมื่อมาถึงขั้นนี้แล้วจิตก็จะสงบอยู่ภายใน ไม่ฟุ้งออกไป รวมเข้ามาเอง สงบอยู่ในภายใน และเมื่อสงบอยู่ในภายในนี้ อะไรผ่านเข้ามาทางอายตนะก็รู้ เสียงที่แสดงธรรมะนี้ก็เป็นเสียงที่ผ่านเข้ามาทางหู ก็รู้ รู้ทุกถ้อยคำของเสียงที่แสดง แต่ว่าจิตไม่ฟุ้งออกไปไหน ไม่ฟุ้งออกไปในเรื่องนั้นเรื่องนี้อะไรที่กล่าวมาข้างต้น ว่าเป็นมิจฉาสติ สติผิด ผิดที่ผิดทางดังกล่าวนั้น แต่ว่าเป็นสัมมาสติ สติชอบคือว่าถูกชอบ ถูกที่ถูกทาง สงบอยู่ในภายใน รู้แต่ไม่ออกไป

ดั่งนี้แหละคือตัวสมาธิสัมโพชฌงค์ สงบอยู่ภายใน รู้ แต่ไม่ออก อะไรเข้ามาทางหูก็รู้ อะไรเข้ามาทางตาก็รู้ ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ก็รู้ แต่จิตไม่ออกสงบอยู่ในภายใน และสิ่งที่เข้ามานั้นก็เหมือนอย่างว่าตกอยู่ข้างนอก ไม่เข้ามาสู่ใจ เหมือนอย่างว่าฝนตกลงมา บุคคลอยู่ในบ้านที่หลังคาไม่รั่ว ก็รู้ว่าฝนตกมากระทบหลังคา แต่ว่าก็ไม่ตกเข้ามาเปียกบุคคลที่อยู่ในห้องในบ้าน เพราะหลังคาไม่รั่ว แต่ก็รู้ว่าฝนตก เพราะฉะนั้นสมาธิในสัมโพชฌงค์นี้ก็เช่นเดียวกัน สงบอยู่ภายใน ตั้งมั่นอยู่ในภายใน ตาก็มองเห็น หูก็ได้ยิน จมูกลิ้นกายก็ทราบ ใจก็รู้ แต่ว่าสิ่งเหล่านี้ไม่รั่วเข้ามา จิตสงบอยู่ในภายใน ตั้งอยู่ในภายใน ดั่งนี้ก็คือสมาธิสัมโพชฌงค์ หรือสมาธิโพชฌงค์อันเป็นข้อที่ 6

อินทรียสังวรเป็นเหตุให้มีสุจริต 3
สติปัฏฐาน 4 โพชฌงค์ 7
ลำดับปฏิบัติในโพชฌงค์
ปัจจุบันธรรม
สติสัมโพชฌงค์
ธัมวิจยสัมโพชฌงค์
วิริยสัมโพชฌงค์
ปีติสัมโพชฌงค์
ปัสสัทธิสัมโพชฌงค์
สมาธิสัมโพชฌงค์
อุเบกขาสัมโพชฌงค์

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย