สังคมศาสตร์ รัฐศาสตร์ การเมือง เศรษฐศาสตร์ >>

การเดินทางท่องเที่ยว

การเดินทางในสมัยโบราณ
การเดินทางในสมัยกลาง
การเดินทางเพื่อทำสงครามครูเสด
การเดินทางเพื่อจาริกแสวงบุญ
การเดินทางในยุคฟื้นฟูศิลปะวิทยาการ
การเดินทางในสมัยใหม่
การท่องเที่ยวในประเทศไทย
อนุสาร อ.ส.ท.
การทำงานท่องเที่ยว
ปีท่องเที่ยวไทย
การท่องเที่ยวเชิงนิเวศ
การท่องเที่ยวแบบยั่งยืน
วิวัฒนาการการท่องเที่ยว

การท่องเที่ยวในประเทศไทย

การท่องเที่ยวของไทย ก่อนการพัฒนาทางบกในสมัยรัชกาลที่ 5 เป็นการท่องเที่ยวหรือการเดินทางของขุนนาง และพ่อค้ามากกว่าสามัญชน ทั้งนี้เพราะการเดินทางเต็มไปด้วยความยากลำบาก ขาดระบบการคมนาคมที่ดี การคมนาคมทางบกใช้เกวียน ช้าง ม้า และวัว เป็นพาหนะในการขนส่ง สำหรับทางน้ำใช้เรือติดต่อระหว่างแม่น้ำลำคลองต่างๆ ภายในประเทศ สำหรับการติดต่อกับต่างประเทศก็ใช้เรือใบหรือเรือสำเภาเป็นพาหนะที่สำคัญในการเดินทาง

หลังจากที่ประเทศไทย ได้เปิดการค้าขายกับต่างประเทศอย่างเสรี ในปีพ.ศ.2398 ได้มีการปรับปรุงการค้าขายกับต่างประเทศให้ทันสมัย และอำนวยความสะดวกให้แก่พ่อค้าต่างประเทศมากยิ่งขึ้น ทำให้การค้าขายเจริญรุ่งเรือง และมีการก่อสร้างทางรถไฟจากกรุงเทพฯ เชื่อมติดต่อกับภูมิภาคต่างๆ และก่อสร้างทางเกวียนเชื่อมระหว่างเมืองและสถานีรถไฟทางเกวียนดังกล่าวแล้วได้ขยายเป็นถนนรถยนต์ในเวลาต่อมา

หลังจากสร้างทางรถไฟ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน ผู้บัญชาการรถไฟในขณะนั้น ได้จัดตั้งแผนกโฆษณาของการรถไฟขึ้น ในปี พ.ศ. 2467 เพื่อทำหน้าที่ส่งเสริมทางด้านการท่องเที่ยว และอำนวยความสะดวกแก่ชาวต่างประเทศที่เดินทางเข้ามาเที่ยวในเมืองไทย โดยมีการส่งเรื่องราวของเมืองไทยไปเผยแพร่ในสหรัฐอเมริกา ต่อมา ทำหน้าที่รับรองและให้ความสะดวกแก่นักท่องเที่ยวที่จะเดินทางมาประเทศไทย รวมทั้งโฆษณาเผยแพร่ประเทศไทยให้เป็นที่รู้จักแก่ชาวต่างประเทศ ต่อมางานนี้ก็ได้ย้ายตามกรมพระกำแพงฯ ไปที่กระทรวงพาณิชย์และคมนาคม ต่อมาจึงค่อยย้ายมาขึ้นกับกรมโฆษณาการ สำนักนายกรัฐมนตรี

ในปี พ.ศ.2479 กระทรวงเศรษฐการเสนอโครงการบำรุงอุตสาหกรรมท่องเที่ยวโดยมีแผนงาน 3 ประการ

1. แผนงานโฆษณาชักชวนนักท่องเที่ยว
2. แผนงานรับรองนักท่องเที่ยว
3. แผนงานบำรุงสถานที่ท่องเที่ยวและที่พัก (ททท., ม.ม.ป. : 1)

งานดังกล่าวดำเนินติดต่อเรื่อยมา จนกระทั่งหยุดชะงักระยะหนึ่ง ในสงครามโลกครั้งที่ 2

ในวันที่ 19 ตุลาคม พ.ศ.2492 คณะรัฐมนตรี ได้ให้โอนกิจการส่งเสริมการท่องเที่ยวจากกระทรวงพาณิชย์และคมนาคมมาอยู่กับกรมโฆษณาการ สำนักนายกรัฐมนตรีและให้เรียกหน่วยงานนี้ว่า “สำนักงานส่งเสริมการท่องเที่ยว” ใน ปีพ.ศ.2493 หน่วยงานดังกล่าวแล้ว ได้ยกฐานะเทียบเท่ากอง เรียกว่า “สำนักงานท่องเที่ยว”

ในปีพ.ศ.2502 ได้มีประกาศราชกฤษฎีกา แยกสำนักงานท่องเที่ยวออกจากกรมประชาสัมพันธ์หรือกรมโฆษณาการ จัดตั้งใหม่ให้เป็นหน่วยงานอิสระขึ้นอยู่กับสำนักนายกรัฐมนตรี เรียกหน่วยงานนี้ว่า “องค์การส่งเสริมการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย” มีชื่อย่อว่า “อ.ส.ท.” (ททท., ม.ม.ป. : 2) โดยเปิดดำเนินการขึ้น ณ อาคารสนามเสือป่า ถนนศรีอยุธยา ฝั่งตรงข้ามวัดเบญจมบพิตร ในวันที่ 18 มีนาคม พ.ศ. 2503 โดยมีท่านพลเอกเฉลิมชัย จารุวัสตร์ เป็นผู้อำนวยการคนแรก และถือว่า วันนี้เป็นวันกำเนิดขององค์การส่งเสริมการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย

หลังจากประเทศไทยได้ประกาศใช้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ทำให้การพัฒนาประเทศขยายตัวขึ้นเกือบทุกด้าน การติดต่อระหว่างประเทศ ประกอบกับการคมนาคมที่ได้พัฒนาจนทำให้การเดินทางสะดวก รวดเร็ว ทั้งภายในและระหว่างประเทศ จึงทำให้การท่องเที่ยวขยายตัวขึ้นอย่างมาก ขอบข่าย อำนาจหน้าที่ขององค์การส่งเสริมการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย เริ่มมีจุดจำกัด และข้อบกพร่องในการแก้ปัญหาต่างๆ เพื่อให้ทันกับการขยายตัวของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว อ.ส.ท. จึงได้ร่างพระราชบัญญัติการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยและได้ผ่านการพิจารณาจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ซึ่งทำหน้าที่แทนรัฐสภา ในวันที่ 20 เมษายน พ.ศ.2522 และประกาศในราชกิจจานุเบกษา ฉบับพิเศษ เล่มที่ 96 ตอนที่ 72 วันที่ 4 พฤษภาคม พ.ศ.2522 ในพระราชบัญญัติฉบับนี้ ได้เปลี่ยนชื่อใหม่ของ “องค์การส่งเสริมการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย” เป็น “การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย” ใช้ชื่อย่อว่า “ททท.” (ททท., ม.ม.ป. : 2) โดยมีวัตถุประสงค์และนโยบายหลัก ดังนี้ (ททท., 2538 : 12 - 14)

 

วัตถุประสงค์

  1. ส่งเสริมการท่องเที่ยวและอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ตลอดจนการประกอบอาชีพของคนไทยในอุตสาหกรรมท่องเที่ยว

  2. เผยแพร่ประเทศไทยในด้านความงามของธรรมชาติ โบราณสถาน โบราณวัตถุ ประวัติศาสตร์ ศิลปวัฒนธรรม การกีฬา และวิวัฒนาการของเทคโนโลยี ตลอดจนกิจการอย่างอื่น อันจะเป็นการชักจูงให้มีการเดินทางท่องเที่ยว

  3. อำนวยความสะดวกและปลอดภัยแก่นักท่องเที่ยว

  4. ส่งเสริมความเข้าใจดี และความเป็นไมตรีจิตระหว่างประชาชน และระหว่างประเทศ โดยอาศัยการท่องเที่ยว

  5. ริเริ่มให้มีการพัฒนาการท่องเที่ยวและเพื่อพัฒนาปัจจัยพื้นฐานและสิ่งอำนวยความสะดวกให้แก่นักท่องเที่ยว

นโยบายหลักที่สำคัญ

1. ส่งเสริมชักจูงให้แก่นักท่องเที่ยวจากต่างประเทศเดินทางมาสู่ประเทศไทย เพื่อให้ได้มาซึ่งรายได้ เป็นเงินตราต่างประเทศเข้ามาเพิ่มพูนเศรษฐกิจส่วนรวมโดยรีบด่วน

2. ขยายแหล่งท่องเที่ยวให้กระจายไปในท้องถิ่น เพื่อเป็นการกระจายรายได้จากการท่องเที่ยวให้ถึงประชากรในทุกภูมิภาค

3. อนุรักษ์และฟื้นฟูสมบัติ วัฒนธรรม ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อให้คงความเป็นเอกลักษณ์ของไทยไว้ด้วยดีที่สุด

4. พัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกและบริการด้านการท่องเที่ยวให้มีมาตรฐานที่ดีเพื่อสร้างความประทับใจให้แก่นักท่องเที่ยวที่มาเยือนให้มากขึ้น

5. เพิ่มความปลอดภัยให้แก่นักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ สามารถให้เดินทางไปสู่จุดหมายปลายทางต่างๆ ในประเทศไทย ด้วยความมั่นใจในความปลอดภัยของร่างกายและทรัพย์สินของตนและหมู่คณะ

6. ส่งเสริมการเดินทางท่องเที่ยวของคนไทยภายในประเทศ เฉพาะผู้มีกลุ่มรายได้น้อยและเยาวชน เพื่อเป็นการเพิ่มสวัสดิการด้านการท่องเที่ยวให้แก่คนไทย

7. สร้างกำลังคนที่เป็นคนไทย เข้าทำงานในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวให้มากที่สุด

8. ส่งเสริมให้ประชาชนเข้ามีส่วนร่วมในกิจกรรมอันเกี่ยวกับการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างกว้างขวางยิ่งขึ้น

ททท.สามารถปฏิบัติงานเกี่ยวกับการท่องเที่ยวของประเทศได้เจริญรุดหน้าอย่างเป็นที่น่าพอใจ จากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่เดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในเมืองไทยเพียงประมาณ 8 หมื่นคนในปี พ.ศ.2503 กระทั่งถึงวันที่มีจำนวนตัวเลขนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น การท่องเที่ยวก็ขยายตัวเติบใหญ่ กลายเป็นอุตสาหกรรมท่องเที่ยวที่นำเงินตราต่างประเทศเข้าสู่ประเทศไทยมากเป็นอันดับหนึ่ง ตั้งแต่ปี พ.ศ.2525 ยืนยงมานับสิบปีต่อเนื่องกัน และวันนี้ประเทศไทยยังสามารถกล่าวอ้างได้ว่า ได้ก้าวสู่ความเป็น HUB หรือสถานีกลางสำหรับการเดินทางท่องเที่ยวในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้อย่างเต็มภาคภูมิ ไม่เพียงเท่านั้น ในด้านตลาดท่องเที่ยว ตลาดการท่องเที่ยวของคนไทยก็ขยายตัวตัว จากเดิมที่เคยมุ่งเน้นแต่ชาติตะวันตกที่สำคัญ ในปัจจุบันไทยเรามีตลาดนักท่องเที่ยวจากภูมิภาคต่างๆ ทั่วโลก มีสำนักงานประจำอยู่ในภูมิภาคต่างๆ ทำการบุกเบิกตลาดอยู่อย่างเข้มแข็งหลากหลาย ในยามที่นักท่องเที่ยวจากภูมิภาคใดภูมิภาคหนึ่งมีปัญหา ก็สามารถเพิ่มการทำงานในอีกภูมิภาคหนึ่ง ทำให้จำนวนตัวเลขนักท่องเที่ยวยั่งยืน ไม่ตกต่ำไปตามสภาวการณ์ต่างๆ ที่ผันแปรมากจนเกินไป

ในส่วนของการท่องเที่ยวแห่งภายในประเทศ ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา การเดินทางท่องเที่ยวในประเทศของคนไทยเราก็กระจายตัวกว้างขวางไปทั่วทุกหย่อมหญ้า แหล่งท่องเที่ยวและกิจกรรมท่องเที่ยวต่างๆ มากมายหลายหลากเปิดตัวกว้างขวาง จนถึงวันนี้อาจนับได้ว่าแทบไม่มีภูเขาสูงและทะเลลึกแห่งใดในประเทศไทยที่ปราศจากรอยเท้าของนักท่องเที่ยวเดินทางไป เยี่ยมเยือน วัฒนธรรมประเพณีของไทยและของผู้คนต่างเผ่าพันธุ์ในประเทศที่เคยถดถอยขาดความเจริญงอกงาม ถึงวันนี้ก็ได้รับการปัดฝุ่นนำกลับมาสู่ความสนใจของผู้คนอีกครั้งและพัฒนาให้มีชีวิตชีวาต่อไป ภูมิปัญญาพื้นบ้านไทยหลายหลาก เช่น การทำเครื่องหัตถกรรมล้ำค่าต่างๆ ที่เคยถูกหลงลืม ไร้ผู้สืบทอด ใกล้สูญหาย ถึงวันนี้ได้รับการนำกลับมาปรับปรุงให้ทันสมัยและก้าวคืนเข้าสู่การรับใช้สังคมอีกครั้งอย่างน่าภาคภูมิใจ

การเดินทางท่องเที่ยวภายในประเทศของคนเราเองก็ทำให้เกิดการกระจายรายได้ในประเทศอย่างกว้างขวาง เงินตราจากนักท่องเที่ยวซึ่งส่วนใหญ่เป็นกลุ่มชนผู้ได้เปรียบในสังคม ก็ได้ช่วยกระจายตรงลงไปสู่ชุมชนรากหญ้า ชาวบ้านในพื้นที่ชนบทห่างไกลได้รับส่วนแบ่งตามความเหมาะสม ชาวบ้านในหลายแห่งมีโอกาสได้ทำความรู้จักกับปัญญาชนและคนร่ำรวยจากในเมือง ก่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนภูมิปัญญา สร้างโอกาสที่ดีให้กับชีวิตในด้านต่างๆ อย่างกว้างขวาง

แน่นอนที่ทุกสรรพสิ่งย่อมมีสองด้าน การท่องเที่ยวก็มีส่วนในการนำความเปลี่ยนแปลงที่ไม่เหมาะสมบางประการเข้าสู่พื้นที่ท่องเที่ยว เช่น การท่องเที่ยวทางทะเลที่ไม่มีการจำกัดจำนวน มีการทิ้งสมอทำลายปะการังหรือการท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมบางประเภทที่มีส่วนเข้าไปทำให้วิถีชีวิตในชุมชนเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ไม่ถูกต้อง แต่เกือบทั้งหมดนั้นก็มักจะเป็นการกระทำไปอย่างหวังดีแต่ไม่เข้าใจ หรือรู้เท่าไม่ถึงการณ์

เมื่อคนที่ตั้งใจเข้าไปส่งเสริมการท่องเที่ยว แต่เป็นคนต่างถิ่นเข้าไปพบกับเจ้าของบ้านที่ก็ยังไม่แน่ใจว่าตนเองจะมีอะไรดีพอที่จะอวด การจัดการทั้งหลายเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวในเวลาอันรวดเร็วนั้นก็อาจมีการหลงทางไปบ้าง ซึ่งเมื่อชุมชนเข้มแข็งแล้ว ด้วยเศรษฐกิจการเมืองและการศึกษาที่พัฒนาขึ้น การจัดทำแผนที่ ข้อมูลรายละเอียดต่างๆ เกี่ยวกับแหล่งท่องเที่ยวต่าง ๆ ดีขึ้น ส่งผลให้ประเทศยิ่งมีความพร้อมสำหรับการต้อนรับนักท่องเที่ยวจากต่างแดน เป็นยิ้มที่เต็มอิ่มสบายและออกจากภายในที่มีความสุขมากยิ่งขึ้น

แต่เมื่อมีการริเริ่มการทำงานใด ๆ ขึ้น อุปสรรค ความยากลำบากก็เป็นสิ่งที่มาคู่กัน การทำงานด้านการท่องเที่ยวก็เช่นกัน ปัญหาและอุปสรรคต่างๆ มีมากมาย ในช่วงแรกของการทำงานโดยพนักงาน อ.ส.ท. ไม่กี่คนนั้น นับเป็นช่วงเวลาที่ควรเชิดชูไว้เป็นตัวอย่างในด้านความมุ่งมั่น มานะอดทน และผู้นำในการนั้นคือท่านผู้อำนวยการคนแรก พลเอกเฉลิมชัย จารุวัสตร์ ซึ่งเป็นผู้ที่ควรค่าแก่การสรรเสริญเป็นอย่างยิ่ง

ในระยะเริ่มแรก ปัญหาและอุปสรรคสำคัญของการทำงานคือ พนักงานมีจำนวนน้อย แต่ภาระหน้าที่ในการทำงานมีมากมายในทุกๆ ด้าน ที่สำคัญ ภาระด้านการท่องเที่ยวก็เป็นงานใหม่ ไม่มีใครเคยทำงานด้านนี้มาก่อน ภาระที่พนักงานแต่ละคนได้รับจึงเป็นภาระงานแบบรวม ๆ คือทุกคนต้องทำได้ทุกอย่างและพร้อมที่จะกระโดดเข้าไปช่วยเหลือกันได้ในทุกด้าน ทุกเวลาที่จำเป็น

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย