สังคมศาสตร์ รัฐศาสตร์ การเมือง เศรษฐศาสตร์ >>
การเดินทางในสมัยโบราณ
การเดินทางในสมัยกลาง
การเดินทางเพื่อทำสงครามครูเสด
การเดินทางเพื่อจาริกแสวงบุญ
การเดินทางในยุคฟื้นฟูศิลปะวิทยาการ
การเดินทางในสมัยใหม่
การท่องเที่ยวในประเทศไทย
อนุสาร อ.ส.ท.
การทำงานท่องเที่ยว
ปีท่องเที่ยวไทย
การท่องเที่ยวเชิงนิเวศ
การท่องเที่ยวแบบยั่งยืน
วิวัฒนาการการท่องเที่ยว
การเดินทางในสมัยโบราณ
(The Ancient Travel)
ในสมัยโบราณ ประมาณ 3,000 ปีก่อน ค.ศ. มีอาณาจักรที่สำคัญในส่วนต่างๆ ของโลก เช่น
ดินแดนระหว่างลุ่มแม่น้ำไทกริส (Tigris) และยูเฟรตีส (Euphrates)
ในประเทศอิรักในปัจจุบัน หรือเรียกว่า ดินแดน ระหว่างแม่น้ำ (Mesopotamia)
เคยเป็นที่สร้างอาณาจักรของชนหลายชาติ เช่น สุเมเรียน (Sumerians) ประมาณ 4,000
ปีก่อนศ.ศ. อัคคาเดียน (Akkadians) ประมาณ 2,350 ปีก่อน ค.ศ. บาบิโลเนียน
(Babylonians) ประมาณ 1,800 ปีก่อน ค.ศ. อัสซีเรียน (Assyrian) ประมาณ 1.300 ปีก่อน
ค.ศ. และคาลเดียน (Chaldean) ประมาณ 612 ปีก่อน ค.ศ. หลังจากนั้น
อาณาจักรของชนชาติดังกล่าวแล้ว ก็ถูกครอบครองโดยอาณาจักรเปอร์เซีย (Persia) เมื่อ
539 ปีก่อน ค.ศ. (คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2538 : 20-23 และ Kagn,
Ozment and Turner, 1979 : 7-11 ) อาณาจักรเปอร์เซีย (500 ปีก่อน ค.ศ. ค.ศ. 641)
เป็นอาณาจักรที่สำคัญอาณาจักรหนึ่งในสมัยโบราณ
ปัจจุบันศูนย์กลางของอาณาจักรอยู่ในประเทศอิหร่าน นอกจากนี้ยังมีอาณาจักรอียิปต์
(3,100 ปีก่อน ค.ศ.- 525 ปีก่อน ค.ศ.) อาณาจักรกรีซ (1,400 ปีก่อน ค.ศ.- 30 ปีก่อน
ค.ศ.) อาณาจักรโรมัน (700 ปีก่อน ค.ศ. ค.ศ.476) ในเอเชียใต้ มีอาณาจักรที่เก่าแก่
คือ อินเดีย ซึ่งเริ่มต้นเมื่อประมาณ 3,000 ปีก่อน ค.ศ. และ จีน เมื่อประมาณ 2,000
ปีก่อน ค.ศ.
อาณาจักรดังกล่าวแล้ว ถึงแม้ว่าอยู่คนละทวีป และห่างไกลกัน
ก็ได้มีการเดินทางติดต่อกันซึ่งกันและกัน วัตถุประสงค์ในการเดินทาง เพื่อการค้าขาย
ท่องเที่ยว ชมโบราณสถานที่สำคัญ การผจญภัยเพื่อแสวงหาโชคลาภ และการทำสงคราม
เรือเป็นพาหนะสำคัญในการเดินทาง มีการติดต่อทางทะเลระหว่างเมืองต่างๆ รอบๆ
ทะเลเมดิเตอร์เรเนียน (Mediterranean) (Mill, 1990 : 2-3) กรีก (Greek)
เป็นชาติแรกที่พัฒนาการเดินทางบก มีการสร้างถนนเชื่อมระหว่างเมืองต่างๆ
ควบคู่กับการเดินทางเรือ (Pond, 1993 : 2)
อียิปต์ใช้เรือใบเดินทางติดต่อค้าขายกับหัวเมืองชายฝั่งทะเลตั้งแต่ 2,700 ปีก่อน
ค.ศ. (มัทนา เกษกมล, 2538 : 70) สำหรับชาวสุเมเรียน
ก็ได้ติดต่อค้าขายกับประเทศเพื่อนบ้านไม่ต่ำกว่า 3,000 ปีก่อน ค.ศ. (นันทนา
กปิลกาญจน์, 2539 : 41-43) เนื่องจากชาวสุเมเรียนสามารถประดิษฐ์ ล้อ
ซึ่งเป็นเครื่องทุ่นแรงพื้นฐานในการขนส่ง ใช้ประกอบกับยานพาหนะนำไปเทียมสัตว์ เช่น
ม้า ลา หรือวัว
โดยลักษณะทรงกลมของล้อนี้เองทำให้การเคลื่อนที่ของยานพาหนะเป็นไปอย่างราบรื่นบนพื้นผิวของถนนหนทาง
(Jan Van Hassel, 1994 : 21)
ยานพาหนะสมัยสุเมเรียน
อียิปต์ เป็นอาณาจักรโบราณเริ่มก่อตั้งในปี 3110 ก่อนคริสต์ศักราช
เมื่อกษัตริย์มีนีส (Menes) สามารถรวมอียิปต์ฝ่ายเหนือและฝ่ายใต้ได้สำเร็จ
และสถาปนาเมืองเมมฟิส (Memphis)
ซึ่งตั้งอยู่กึ่งกลางระหว่างอียิปต์เหนิอและอียิปต์ใต้ขึ้นเป็นเมืองหลวงในเวลาต่อมา
ปัจจุบันเมืองเมมฟิสตั้งอยู่ห่างจากกรุงไคโรเมืองหลวงของอียิปต์ในยุคปัจจุบันไปทางทิศใต้ประมาณ
25 กิโลเมตร อาณาจักรอียิปต์สิ้นสุดลงในยุคสมัยของพระนางคลีโอพัตรา ในปี 30
ก่อนคริสต์ศักราช
ถึงแม้ว่าอียิปต์จะถูกเปลี่ยนผ่านภายใต้การปกครองทั้งจากชาวอียิปต์เองและชาว
เปอร์เซีย กรีก
โรมันในระยะเวลาต่อมาแต่อาณาจักรอียิปต์ยังคงเป็นศูนย์กลางของอารยธรรมที่ยิ่งใหญ่
ความเจริญดังกล่าวได้ส่งผลให้เกิดการเดินทางการเพื่อการท่องเที่ยวด้วยเช่นกัน
การเดินทางทางเรือเป็นหัวใจสำคัญของชาวอียิปต์เนื่องจากตัวเมืองตั้งอยู่ริมแม่น้ำไนล์
ทะเลแดงและทะเลเมดิเตอร์เรเนียน
การเดินทางทางเรือจึงเป็นกิจกรรมทั้งทางการค้าและการพักผ่อน
ดังปรากฏหลักฐานในจารึกว่าพระราชินีฮัทเชพซุท (Hatshepsut)
แห่งอาณาจักรใหม่ได้เสด็จโดยทางเรือล่องไปตามแม่น้ำไนล์เพื่อการท่องเที่ยวและพักผ่อน
(Robert W. McIntosh, Charles R. Goeldner, 1990 : 23) ในปี 1490 ก่อนคริสต์ศักราช
นอกจากนั้นยังปรากฏหลักฐานในบันทึกของนักเดินทางของพ่อค้าชาวอียิปต์ ชื่อ เวน อามูน
(Wen-Amun) ได้เดินทางจากอียิปต์ไปอาณาจักรฟินิเชียนซึ่งปัจจุบันคือประเทศ เลบานอน
เพื่อภารกิจทางศาสนาในปี 1050 ก่อนคริสต์ศักราช ได้กล่าวถึง กองเรือสินค้าจำนวน 50
ลำเรือ
ออกจากเมืองไซดอนซึ่งเป็นเมืองท่าฝั่งทะเลเมดิเตอร์เรเนียนของอาณาจักรดังกล่าว
เดินทางไปยังเมืองทานิสของอียิปต์
รูปหล่อและภาพจำลองพระนางฮัทเชพซุท
นอกจากการเดินทางเพื่อการท่องเที่ยวแล้ว
การเดินทางเพื่อจาริกแสวงบุญไปยังเทวสถานเทพเจ้าต่าง ๆ
ถือเป็นกิจกรรมที่สำคัญของชาวอียิปต์ที่จะออกเดินทางไปร่วมพิธีกรรมต่างเทศกาลต่างๆ
โดยเฉพาะการเดินทางไปแสวงบุญ ณ เทวสถานของเทพเจ้าโอสิริส (Osiris) เทพแห่ง ความตาย
การเดินทางโดยใช้อูฐ
สภาพของลำน้ำไนล์จากบันทึกนักเดินทางในศตวรรษที่ 15
การเดินทางที่เป็นการอพยพครั้งสำคัญ คือ การเดินทางของโมเสส (Moses)
โดยเชื่อกันว่าโมเสสเป็นผู้นำในการปลดปล่อยทาสชาวยิวออกจากการควบคุมของอียิปต์
โดยเดินทางไปยังดินแดนแห่งพันธสัญญาแห่งพระเจ้า
ซึ่งในตำนานได้เล่าเรื่องราวของการเดินทางผ่านสถานที่ต่าง ๆ
จนถึงดินแดนอิสราเอลในปัจจุบัน
การอพยพของชาวยิวภายใต้การนำของ โมเสส เพื่อไปอิสราเอล
เมื่อภายหลังที่อาณาจักรอียิปต์ถูกครอบงำโดยพระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราช
ได้ทรงเปลี่ยนชื่อเมืองราคอนดาห์ (Racondah) เมืองท่าริมฝั่งทะเลเมดิเตอร์เรเนียน
เป็นเมือง อเล็กซานเดรีย (Alexandria) ให้เป็นศูนย์กลางการค้าและศิลปะวิทยาการต่าง
ๆ ส่งผลให้ในเวลาดังกล่าวเมือง
อเล็กซานเดรียกลายเป็นศูนย์กลางของการเดินทางเพื่อเข้ามาทำการค้า พักผ่อน
ท่องเที่ยวและการศึกษา
ภาพป้อมปราการเมืองอเล็กซานเดรียที่สร้างโดยกษัตริย์อเล็กซานเดอร์
อาณาจักรกรีซ ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อประมาณ 1,400 ปีก่อน ค.ศ.
มีความชำนาญในการเดินเรือ เพื่อติดต่อค้าขาย การทำสงครามและการผจญภัย
เกี่ยวกับเรื่องการเดินทางเพื่อการทำสงครามและการผจญภัยของกรีก กวีชาวกรีกชื่อ
โฮเมอร์ (Homer) ได้รวบรวมเรื่องจากบทร้องลำนำเกี่ยวกับวีรกรรมต่างๆ
ที่เกิดขึ้นระหว่าง 1,100 800 ปีก่อน ค.ศ. บันทึกไว้ในมหากาพย์ อีเลียด (Ilid)
และ โอเดสเซ (Odyssey) ในมหากาพย์ โอเดสเซ ได้เล่าเรื่องการผจญภัยทางทะเลของ
โอเดสเซอุส (Odysseus) หรือ ยูลิซีส (Ulysses) วีรบุรุษของชาวกรีกโบราณ (Burns,
Mcnall and Others, 1982 : 171-172)
ประมาณ 800 ปีก่อน ค.ศ. ได้มีการค้าขายระหว่างนครรัฐต่างๆ ของกรีก
ทั้งในภาคพื้นดิน และชายฝั่ง นอกจากนี้
ยังมีการค้าขายระหว่างนครรัฐกรีกกับหมู่เกาะต่างๆ ในทะเลเอเจียน (Aegean Sea)
และหัวเมืองชายฝั่งทะเลของดินแดนแถบอาณาจักรเมโสโปเมีย (Burns, Mcnall and Others,
1982 : 175) นอกจากนี้ พ่อค้ากรุงทรอย (Troy) ซึ่งเป็นนครรัฐหนึ่งของกรีก
ได้เดินทางค้าขายกับอียิปต์และอาจถึงบริเวณลุ่มแม่น้ำดานูบ (Danube River) (นันทนา
กปิลกาญจน์, 2539 : 115)
การเดินทางเพื่อการแข่งขันกีฬาโอลิมปิค (Olympic Games) ของชาวกรีก
ได้เริ่มต้นครั้งแรกเมื่อ 776 ปีก่อน ค.ศ. (Pond, 1993 : 3) และสิ้นสุดลงในปีค.ศ.
393 ในสมัยจักรพรรดิ ธีโอโดซิอัสที่ 1 แห่งอาณาจักรโรมัน
นับเป็นการเดินทางเพื่อการกีฬาและการพักผ่อนหย่อนใจ
นับได้ว่าเป็นการเดินทางแบบมวลหมู่ (mass travel)
ที่จัดการเดินทางกันเองประกอบไปด้วยผู้เป็นนักกีฬาที่เข้าแข่งขัน
ผู้เกี่ยวข้องกับการกีฬาและผู้ชมที่เดินทางมาจากสถานที่ต่าง ๆ
ทั้งภายในนครรัฐกรีกและนครรัฐอื่นๆ
โดยวัตถุประสงค์เพื่อเข้าร่วมกิจกรรมกีฬาที่ยิ่งใหญ่
ภาพวาดการจุดคบเพลิงกีฬาโอลิมปิคจากเครื่องถ้วยสมัยกรีก
ภาพจำลองการเตรียมตัวแข่งกีฬาของคนจากแคว้นต่างๆ ในอาณาจักรกรีก
ตัวอย่างเหรียญรางวัลในกีฬาโอลิมปิค
เฮโรโดตัส (Herodotus, 490425 B.C.) นักประวัติศาสตร์คนแรกของกรีก
ได้บันทึกเรื่องราวเกี่ยวกับการเดินทางขึ้นเป็นครั้งแรก
เรื่องราวที่บันทึกเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในกรีซ อียิปต์ บาบิโลเนีย ซีเรีย
และดินแดนบริเวณลุ่มแม่น้ำดานูบ เมื่อประมาณ 550-479 ปีก่อน ค.ศ. (Pond, 1993 : 3)
นอกจากนั้นนักปรัชญาในสมัยกรีกจำนวนมากมายได้เดินทางเพื่อจะแสวงหาความจริงและความรู้เชิงปรัชญา
จากการเดินทางเพื่อเรียนรู้โลกภายนอก เช่น ธาเลส (Thales) ซึ่งอยู่ในยุค 624-546 ปี
ก่อนคริสต์ศักราช ได้เดินทางไปยังนครรัฐต่างๆ ของกรีกและได้เดินทางไกลไปถึงอียิปต์
ตามหลักฐานทางประวัติศาสตร์ได้ระบุว่าเมื่อครั้งที่ธาเลสเดินทางไปอียิปต์
เค้าสามารถคิดค้นคำนวณหาค่าความสูงของพีระมิดโดยด้วยวิธีการวัดเงาของพีระมิดเทียบกับเงาของตนเอง
พร้อมยังคำนวณการการเกิดสุริยคราสได้อย่างถูกต้องเมื่อปี 585 ก่อน คริสต์ศักราช
ส่วนอีกท่านหนึ่งคือ ดีโมคลิตัส (Democlitus) ซึ่งอยู่ในยุค 460- 370 ปี
ก่อนคริสต์ศักราช ได้รับยอมรับว่าเป็นนักเดินทางไกลไปยังดินแดนต่างๆ อาทิเช่น
อียิปต์ บาบิโลเนีย เปอร์เซีย จนสุดท้ายได้เป็นผู้ที่เสนอว่า สิ่งต่างๆ
ประกอบขึ้นด้วยปรมาณู (Atom) ที่เล็กที่สุด
ภาพของ เฮโรโดตัสและธาเลส
การออกเดินทางแสวงหาความรู้ของนักปรัชญาเมธีต่างๆ
มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหาความรู้ที่ได้จากการเรียนรู้องค์ประกอบ สถานที่ต่างๆ
ที่ได้เดินทางไปท่องเที่ยว เพื่อศึกษาถึงลักษณะและพฤติกรรมของคนในสังคม ศิลปะ
วัฒนธรรมและวิทยาการอันหลากหลายที่มนุษย์ได้สร้างสรรค์ขึ้น
จนในที่สุดความรู้ได้ถูกสั่งสม
จนกรีกกลายเป็นศูนย์กลางของความรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับมนุษย์และสังคม
โดยมีนักปรัชญาคนสำคัญ เช่น โสคราติส เพลโตและอริสเตอร์เติล ส่งผลให้เกิดสำนัก
สถาบันแห่งการศึกษาหาความรู้ขึ้นในนครเอเธนส์ โดยมีสถาบันการศึกษาที่สำคัญ 2 แห่ง
คือ อคาเดมี (Academy) ดำเนินการสอนโดยเพลโต และ ไลเซียม (Lycium)
ดำเนินการสอนโดยอริสเตอร์เติล ความเจริญของวิทยาการ ความรู้ ดังกล่าว
ทำให้มีผู้คนจากนครรัฐอื่นๆ เดินทางเข้ามาแสวงหาความรู้อย่างกว้างขวาง
โดยความรู้ส่วนใหญ่ที่เข้ามาเรียนคือ ความรู้ด้านปรัชญา ความรู้เรื่องการใช้โวหาร
การพูดและการเขียน
การเดินทางในกรีซ เริ่มมีความสำคัญมากขึ้น เนื่องจากสาเหตุ 2 ประการ
ประการแรก ระบบการแลกเปลี่ยนด้วยเงินตราและการยอมรับระบบเงินตราของกรีก
ระหว่างนครรัฐต่างๆ จึงทำให้การเดินทางสะดวกขึ้น ประการที่สอง
ภาษากรีกเป็นภาษากลางที่สามารถสื่อความหมายได้ทั่วไปในเขตทะเลเมดิเตอร์เรเนียน
จึงทำให้ง่ายต่อการติดต่อในขณะเดินทาง
สำหรับวัตถุประสงค์ในการเดินทางเพื่อติดต่อธุรกิจในทางราชการ มีความสำคัญน้อย
เพราะกรีซมีการปกครองแบบนครรัฐที่แยกจากกันเป็นอิสระ
การเดินทางจึงเน้นทางด้านความสนุกสนานเพลิดเพลิน โดยมีวัตถุประสงค์หลัก 3 ประการ
คือการเดินทางเพื่อพิธีกรรมทางศาสนา การกีฬา เช่น การแข่งขัน โอลิมปิค
และการเยี่ยมชมเมืองเพื่อการศึกษาโดยเฉพาะอย่างยิ่งกรุงเอเธนส์ (Athens)
นอกจากชาวกรีกเดินทางในอาณาจักรของตนเองแล้ว ยังมีชนชาติอื่นๆ เช่น ชาวโรมัน
ก็เดินทางเข้ามาท่องเที่ยวที่กรีซ (Mill, 1990 : 5)
ภาพจำลองสถาบันการศึกษาในกรุงเอเธนส์
อาณาจักรโรมัน ซึ่งเริ่มเกิดขึ้นเมื่อประมาณ 700 ปีก่อน ค.ศ.
ได้ขยายอาณาจักรของตนเอง ซึ่งมีศูนย์กลางอยู่ที่โรม
ในประเทศอิตาลีในปัจจุบันออกไปอย่างกว้างขวาง ประมาณ 200 ปีก่อน ค.ศ.
อาณาจักรโรมันได้ปกครองดินแดนส่วนบนของทวีปอัฟริกาและสเปน
และหลังจากนั้นก็ขยายอาณาเขตเข้าไปในทวีปยุโรปและดินแดนของประเทศอื่นๆ บริเวณรอบๆ
ทะเลเมดิเตอร์เรเนียน นอกจากนี้ยังได้ดินแดนบางส่วนของอาณาจักรเมโสโปเตเมีย
ในประเทศอิรักปัจจุบัน อาณาจักรได้ขยายตัวออกไปอย่างกว้างขวาง ประมาณ ค.ศ. 14 117
(Kagn, Ozment and Turner, 1979 : 171-173)
ความเข้มแข็งทางด้านการเมือง การทหาร มีส่วนทำให้อาณาจักรโรมัน
เกิดการขยายตัวทางด้านเศรษฐกิจและการค้าอย่างรวดเร็ว
มีการสร้างถนนเชื่อมระหว่างกรุงโรมกับหัวเมืองต่างๆ จนมีคำกล่าวว่า
ถนนทุกสายมุ่งสู่กรุงโรม
โรมันเป็นชาติแรกของยุโรปที่สร้างถนนอย่างเป็นระบบด้วยระบบวิศวกรรมโยธา
ทำการสร้างก่อสร้างถนนและสะพานจนกล่าวกันว่า ดีที่สุดในสมัยนั้น
ถนนที่ปูด้วยแผ่นหิน (Stone slab) และกว้างพอที่รถเทียมม้าวิ่งได้อย่างสะดวก
เครือข่ายถนนหนทางของอาณาจักรโรมัน
เชื่อมต่อระหว่างกรุงโรมกับดินแดนที่เป็นอาณานิคม ถนนสายแรกคือ สายแอพเพียน
(Appiaan Way) เชื่อมต่อระหว่างกรุงโรมกับเมืองคาปัว (Capua) มีความยาว 208
กิโลเมตร สร้างขึ้นในปี 300 ก่อนคริสต์ศักราช
ส่วนถนนที่สร้างขึ้นเพื่อเชื่อมต่อระหว่างเมืองต่างๆ ที่ยึดครองได้ เช่น
ถนนที่เชื่อมซีเรีย กับอ่าวอกาบา
ซึ่งสร้างขึ้นหลักจากจักรพรรดิทราจันยึดครองดินแดนด้านตะวันออกได้ในปีคริสต์ศักราช
105 (Encycopedia Americana, Vol 23, p.p. 562-563)
ระบบถนนของโรมันแผ่ขยายรวมแล้วมีความยาวถึง 84,800 กิโลเมตร
เชื่อมเครือข่ายระหว่างกรุงโรมกับยุโรปตะวันตก เอเชียไมเนอร์ และอาฟริกาเหนือ
และการที่ถนนโรมันมีคุณภาพดี นักเดินทางจึงสามารถเดินทางได้ไกลถึง 161 กิโลเมตรใน 1
วัน โดยการสับเปลี่ยนม้าตามจุดหยุดพักที่ตั้งเรียงรายห่างกันระยะ 8 10 กิโลเมตร
ภาพตัวอย่างถนนสายแอพเพียน
การเดินทางของชาวโรมันที่สามารถกระทำได้รวดเร็วเนื่องจาก
ชาวโรมันมีการประดิษฐ์คิดค้นข้อเชื่อม (Swivel) ในเพลาหน้า (Front axel)
สำหรับพาหนะ 4 ล้อ ที่สามารถบังคับล้อหน้าให้เลี้ยวซ้ายขวาได้อย่างอิสระ
ทำให้เพิ่มความสะดวกสบายในการใช้ยานพาหนะ 4 ล้อ
โดยค้นพบหลักฐานจากการขุดค้นทางโบราณคดีที่เมืองปอมเป (Pompeii)
นอกจากนี้ ก็ยังมีการเดินเรือค้าขายกับประเทศต่างๆ แถบทะเลเมดิเตอร์เรเนียน และประเทศอื่นๆ ในทวีปเอเชีย อาณาจักรโรมัน ทำให้เกิดชนชั้นกลาง ซึ่งร่ำรวยจากการค้าขาย ชนชั้นกลางมีเสรีภาพมากขึ้น จึงสามารถกระทำกิจกรรมต่างๆ ค่อนข้างอิสระ รวมทั้งการเดินทางท่องเที่ยวเพื่อพักผ่อนหย่อนใจ จนกระทั่งมีการกล่าวว่า การท่องเที่ยวแบบมวลชน (Mass Tourism) ได้เกิดขึ้นครั้งแรกในอาณาจักรโรมัน (Pond, 1993 : 3) ในสมัยโรมัน รัฐได้กำหนดวันหยุดนักขัตฤกษ์ระหว่างปีไว้หลายวัน ชาวโรมันจึงมีโอกาสอย่างมากในการเดินทางไปเฉลิมฉลองในเทศกาลต่างๆ ได้อย่างดี เนื่องจากการเดินทางที่สะดวกสบายและจุดแวะพักระหว่างเมืองได้กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยว ร้านอาหาร ที่พัก ที่สำคัญ สถานที่พักมีหลากหลายระดับ เช่น วิลลา (Villa) ทาเวิร์น (tavern) สำหรับผู้มีฐานะดี สำหรับผู้มีฐานะกลางได้แก่ โรงเตี๊ยม (inn) ฮอสปิทิอุม (Hospitium) ซึ่งเป็นพี่พักและการบันเทิงด้วย นอกจากนั้นยังมีหลักฐานการแยกแยะกลุ่มนักท่องเที่ยวด้วย คือ พื้นที่แถบอ่าวเนเปิ้ล (Naple Bay) เป็นแหล่งท่องเที่ยวชายหาดของชาวโรมันที่เกษียณอายุ ส่วนคูเม (Cemae) เป็นแหล่งท่องเที่ยวกลุ่มนิยมแฟชั่น ปูเตโอลิ (Puteoli) สำหรับกลุ่มจารีตนิยม (consevetive) ขณะที่ ไบแอค (Biact) เป็นแหล่งท่องเที่ยวสำหรับประชาชนกลุ่มล่าง
ภาพจำลองสถานพักผ่อนของชาวโรมัน เช่น ฮอสปิทิอุม และ คูเม
ส่วนสถานที่สำหรับผู้มาท่องเที่ยวด้วยวัตถุประสงค์หลากหลายก็มีในกรุงโรม เช่น โคลอสเซียม (Coloseum) ซึ่งเป็นสถานที่ต่อสู้สำหรับการต่อสู้ด้วยอาวุธอย่างหฤโหดที่จบลงด้วยความตาย ระหว่างคนกับคน คนกับสัตว์ ซึ่งคนคือนักสู้เดนตาย (Gladiator) ได้แก่ เชลยศึก นักโทษคดีอุกฉกรรจ์ที่ถูกพิจารณาแล้วว่ามีความผิด ผู้นับถือศาสนาคริสต์ในยุคที่ยังไม่ได้รับการยอมรับว่าถูกกฎหมาย รวมถึงผู้สมัครใจเป็นนักสู้เดนตายเองเพื่อหวังเงินตราหรือสิ่งตอบแทนบางอย่าง ส่วนสัตว์ป่าที่ดุร้าย เช่น สิงโต เสือดำ ที่นำเข้ามาจากดินแดนอาฟริกา การต่อสู้ที่เดิมพันด้วยชีวิตเช่นนี้ถือว่าเป็นกีฬายอดนิยมอย่างหนึ่งของชาวโรมันตั้งแต่จักรพรรดิลงมาจนถึงประชาชนทั่วไป สถานที่แห่งนี้จุผู้ชมได้ 50,000 คน
ภาพโคลอสเซียม
เซอร์คัส แมกซิมัส (Circus Maximus) สถานที่สำหรับการแข่งขันรถเทียมม้าศึก
(Charlot racing)
ซึ่งความนิยมของชาวโรมันที่มีต่อการแข่งขันเช่นนี้อาจเปรียบได้กับความนิยมที่มีต่อรถยนต์สูตร
1 (Formula 1) ในปัจจุบันก็ว่าได้ สถานที่นี้จุผู้ชมได้มากถึง 150,000 คน
และการแข่งขันมีทุกวัน วันละมากกว่า 24 เที่ยว (T Walker Wallbank ,1981 : 98)
ภาพเซอร์คัส แมกซิมัส สถานที่แข่งขันรถเทียมม้าศึก
โรมัน ฟอรัม (Roman Forum)
สถานที่ซึ่งเดิมเคยเป็นเพียงตลาดนัดธรรมดาแล้วเปลี่ยนมาเป็นศูนย์รวมแห่งวิถีชีวิตประจำวันของชาวโรมัน
(T Walker Wallbank ,1982 :114) สถานที่นี้ประชาชนมาทำกิจกรรมต่างๆ เช่น พบปะ
สังสรรค์ ซื้อขาย แลกเปลี่ยนสินค้า ฟังนักพูดที่มีชื่อเสียง
เทวสถานซึ่งเป็นที่สถิตของรูปปั้นสัญลักษณ์ของเทพเจ้าต่าง ๆ ที่ชาวโรมันนับถือ
สถาที่ทรงเทพเจ้า (oracle) ซึ่งเป็นการสื่อสารระหว่างคนกับเทพเจ้าผ่านผู้ทรง
เพื่อขอให้ทำนายทายทักเหตุการณ์ในอนาคต สืบหาคนหรือสิ่งของมีค่าที่หายไป
ขอให้ช่วยตัดสินใจในทางเลือกที่ถูกต้องจากทางเลือกต่างๆ
หรือถามถึงสาเหตุแห่งภัยพิบัติต่างๆ
ซึ่งเชื่อว่าเกิดจากการลงโทษของเทพเจ้าเพื่อที่จะทราบคำตอบและจะได้ทำพิธีกรรมหรือปฏิบัติให้ถูกต้องและเป็นที่พอใจของเทพเจ้า
สถานที่อาบน้ำแบบโรมัน (Roman bath) ซึ่งมีกิจกรรมหลากหลาย เช่น
อาบน้ำร้อนหรือน้ำเย็น นวดตัว อบไอน้ำ ออกกำลังกาย เล่นเกม อ่านหนังสือ
แม้กระทั่งพบปะสังสรรค์ ชาวโรมันทั้งมั่งมีและยากจนนิยมอาบน้ำหมู่
สถานที่อาบน้ำเหล่านี้เปิดเป็นสาธารณประโยชน์โดยคิดค่าใช้จ่ายไม่แพง (Nathaniel
Harris , 2003 : 105) ในกรุงโรมมีสถานที่อาบน้ำสาธารณะถึง 800 แห่ง
ถ้าจะเปรียบให้มองเห็นภาพสถานที่อาบน้ำแบบโรมันและกิจกรรมต่างๆ
อาจเปรียบได้กับสโมสรส่งเสริมสุขภาพ (athletic club) ในปัจจุบัน(T Walker Wallbank
, 1982 : 98)
ภาพสถานที่อาบน้ำแบบโรมัน
ภาพวาดกิจกรรมภายในสถานที่อาบน้ำ
ส่วนสถานที่ท่องเที่ยวนอกกรุงโรม รวมถึงพื้นที่ห่างไกลก็มี
พีระมิดและเทวสถานในอียิปต์ สวนลอยแห่งกรุงบาบิโลน (Hanging Garden of Babilon)
เมืองอเล็กซานเดรีย ศูนย์กลางแห่งศิลปะและวิทยาการของกรีกที่อียิปต์
โคลอสซัสแห่งเกาะโรดส์ (Colossus of Rhodes) ซึ่งเป็นรูปปั้นของสุริยเทพเฮลิออส
(Helios) เกาะแก่งต่างๆ ในทะเลเมดิเตอร์เรเนียน และนครรัฐกรีก
ซึ่งเป็นต้นแบบวัฒนธรรมที่ชาวโณมันนำมาประยุกต์ใช้ได้อย่างเหมาะสม เป็นต้น
โพลีบิอุส (Polybius 203 120 B.C.) นักประวัติศาสตร์
ซึ่งเกิดขึ้นในกรีซ แต่เข้ามารับราชการในอาณาจักรโรมัน
ได้เขียนบันทึกเกี่ยวกับชัยชนะของโรมันที่มีต่อดินแดนรอบๆ ทะเลเมดิเตอร์เรเนียน
(Kagn, Ozment and Turner, 1979 : 132-134)
นอกจากนี้ยังได้เดินทางสำรวจแคว้นโกลในประเทศฝรั่งเศสปัจจุบัน
ชายฝั่งทวีปอาฟริกาและสเปน โพลีบิอุส
มีความรู้ทางด้านภูมิศาสตร์และทำแผนที่ได้อย่างแม่นยำ
วิชาการทำแผนที่ได้รับความสนใจและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งชาวโรมัน
สามารถทำแผนที่เกี่ยวกับส่วนอื่นๆ ของโลกรวมทั้ง อินเดีย จีน และประเทศอื่นๆ
ในเอเชีย การค้าระหว่างชาวโรมันกับดินแดนต่าง ๆ
ส่งผลให้พ่อค้าชาวโรมันเดินทางไปค้าขาย นำสินค้าจากดินแดนต่างๆ เข้ามาในอาณาจักร
เช่น เหล็กจากอังกฤษ เครื่องแก้วจากกอลล์ ม้าจากแคปปาโดเกีย เครื่องเทศจากอินเดีย
นอกจากนั้นยังได้มีการขจัดพ่อค้าคนกลาง คือ ชาว
พาร์เธียนและชาวอาหรับในการค้าขายระหว่างอาณาจักรโรมันกับอินเดีย
พร้อมทั้งการเดินทางมามาทางตะวันออกเพื่อการค้าขายระหว่างอาณาจักรโรมันและจีน
โดยใช้เส้นทางสายไหม (Silk Route) นอกจากนี้ยังได้ค้าขายกับเมืองอื่น
ซึ่งเดินทางผ่านทั้งทางบกและทางเรือ ในสมัยราชวงศ์ฮั่น (202 ปีก่อน ค.ศ. ค.ศ.
200) (Stavrianos, 1988 : 75 -76) โดยสินค้าที่ชาวโรมันต้องการคือ ผ้าไหม
เพราะเชื่อว่าไหมผลิตมาจากใบไม้ (T Walker Wallbank ,1982 : 37 )
ภาพแผนที่อาณาจักรโรมันของปโตเลมี
ความเจริญก้าวหน้าทางด้านการเดินทางของอาณาจักรโรมัน
เกิดจากสาเหตุหลายประการ เช่น ความเข้มแข็งทางด้านการเมืองและการทหาร
ทำให้เกิดความปลอดภัยในการเดินทาง การเจริญเติบโตด้านการค้า ทำให้ชนชั้นกลางร่ำรวย
มีเงินในการเดินทางท่องเที่ยว ชาวโรมันใช้เงินตราในการแลกเปลี่ยน
และการพัฒนาการคมนาคม ทั้งทางบกและทางน้ำ ตลอดจนการใช้ภาษาลาตินและภาษากรีก
เป็นสื่อกลางในการติดต่อ จึงทำให้การเดินทางมีความสะดวกขึ้น
ชาวโรมันนิยมเดินทางไปยังกรีซ เพื่อเยี่ยมชมบ้านเมืองในกรีซจำนวนมากกว่าชาติอื่นๆ
นอกจากนี้ ยังมีหนังสือนำเที่ยวกรีซ (Guide to Greece) อธิบายเกี่ยวกับอนุสาวรีย์
รูปแกะสลักและเทพนิยายประกอบเรื่องดังกล่าวแล้ว (Mill, 1990 : 5) นอกจากชาวโรมัน
นิยมเดินทางไปท่องเที่ยวในกรีซแล้วยังเดินทางท่องเที่ยวไปยังอียิปต์
เพื่อเยี่ยมชมปิรามิด (Pyramids) และสฟิงค์ (Sphinx)
ซึ่งเป็นสิ่งมหัศจรรย์ของโลกในสมัยโบราณ (ชยาภรณ์ ชื่นรุ่งโรจน์, 2537 : 3 - 5)
โดยมีบุคคลสำคัญคือ จักรพรรดิฮาเดรียน
ซึ่งเสด็จออกเดินทางเพื่อตรวจตราและท่องเที่ยวในอาณาจักรในเขตรอบนอก
โดยเริ่มออกเดินทางใน คริสต์ศักราช 120 โดยเสด็จไปชายแดนอังกฤษและสเปน
ทวีปอาฟริกาและเดินทางไปทางด้านตะวันออกของอาณาจักร
รวมระยะเวลาในการเดินทางทั้งสิ้น 12 ปี (Encyclopedia Americana ,Vol 27 :21)
ขณะเดียวกันความเป็นศูนย์กลางของโลกของกรุงโรมในขณะนั้น
ทำให้บุคคลต่างๆ เดินทางเข้ามาในกรุงโรม เช่น พระนางคลีโอพัตรา
ได้เสด็จมาที่กรุงโรมหลังการอสัญกรรมของจูเลียส ซีซาร์ ในปี 46 ก่อนคริศต์ศักราช
และก็เป็นเรื่องเล่าขานถึงความสัมพันธ์ฉันท์ชู้สาวกับมาร์ค แอนโทนี
นายทหารคนสนิทของจูเลียส ซีซาร์
ฮีรอดมหาราช กษัตริย์แห่งแคว้นจูเดีย (Judea)
ซึ่งอยู่ทางตอนใต้ของอิสราเอลในปัจจุบันมีศูนย์กลางอยู่ที่เยรูซาเลม
ได้เดินทางติดตามมาร์ค แอนโทนีเพื่อเข้ารับการแต่งตั้งให้เป็นกษัตริย์
ตลอดจนเดินทางเข้ามาเยี่ยมพระราชโอรสที่ศึกษาอยู่ที่กรุงโรม
นอกจากนั้นในสมัยโรมันกษัตริย์บางพระองค์ก็มีความนิยมออกเดินทาง เช่น
กษัตริย์ฮาเดียนซึ่งเดินทางไปตามชายแดนอังกฤษ สเปน ตั้งแต่ ค.ศ. 120
และเดินทางไปยังทวีปอาฟริกา โดยใช้เวลาในการเดินทางทั้งสิ้น 12 ปี พร้อมๆ
กับการยกทัพ โดยพระองค์จะยกกองทัพขนาดใหญ่ไปด้วย พร้อมกับพัฒนาเมืองต่างๆ
ที่เดินทางไป เช่น ก่อสร้างถนน สะพาน
ภาพกษัตริย์ฮาเดรียนวัยหนุ่มและวัยชรา
ภาพจำลองการจัดเตรียมกองทัพโรมัน
การเดินทางซึ่งรุ่งเรืองมาตั้งแต่ 2,000 ปีก่อนค.ศ.
และเจริญรุ่งเรืองมากที่สุดในยุคกรีกและโรมันเรืองอำนาจประมาณ 500 ปีก่อน ค.ศ.
ค.ศ. 200 ต้องหยุดชะงักลง เมื่อกรุงโรม เมืองหลวงของอาณาจักรโรมันตะวันตก
ถูกพวกชนเผ่าวิซิโกธ (Visigoths) ซึ่งเป็นเผ่าหนึ่งของชาติเยอรมันในปัจจุบัน
ยึดครองในปี ค.ศ. 476 อาณาจักรที่ยิ่งใหญ่ก็แตกแยกออกเป็นส่วนๆ ชนชาติอื่นๆ
ซึ่งอยู่ภายใต้การปกครองของอาณาจักรโรมันตะวันตก แยกตัวออกเป็นอิสระ
อำนาจของโรมันส่วนกลางอ่อนแอ ปราบปรามไม่ได้จึงทำให้เกิดการสงครามแย่งชิงอำนาจ
และเกิดโจรผู้ร้าย การเดินทางจึงไม่มีความปลอดภัยและหยุดชะงักลงระยะหนึ่ง