สังคมศาสตร์ รัฐศาสตร์ การเมือง เศรษฐศาสตร์ >>

การเดินทางท่องเที่ยว

การเดินทางในสมัยโบราณ
การเดินทางในสมัยกลาง
การเดินทางเพื่อทำสงครามครูเสด
การเดินทางเพื่อจาริกแสวงบุญ
การเดินทางในยุคฟื้นฟูศิลปะวิทยาการ
การเดินทางในสมัยใหม่
การท่องเที่ยวในประเทศไทย
อนุสาร อ.ส.ท.
การทำงานท่องเที่ยว
ปีท่องเที่ยวไทย
การท่องเที่ยวเชิงนิเวศ
การท่องเที่ยวแบบยั่งยืน
วิวัฒนาการการท่องเที่ยว

การเดินทางในยุคฟื้นฟูศิลปะวิทยาการ

 (Renaissance Ages Travel)

ในช่วงเวลานั้นเองมีการเดินทางเพื่อวัตถุประสงค์เพื่อการค้า ปรากฏเป็นหลักฐานชัดเจนคือบันทึกการเดินทางของมาร์โค โปโล ซึ่งเดินทางไปยังประเทศจีน มาร์โค โปโล เป็นชาวอิตาเลียนแห่งเมืองเวนิส (Venice) เป็นบุตรของนิโคโล โปโล พ่อค้าผู้มั่งคั่ง เมื่อเยาว์วัยได้เดินทางไปค้าขายที่เมืองต่างๆ ทางตะวันออกพร้อมกับบิดาและลุง การเดินทางรอนแรมไปไกลถึงเมืองจีนโดยไม่ได้คาดคิดมาก่อน แต่ครอบครัวมาร์โค โปโล ก็ได้รับการต้อนรับอย่างดีจากจักรพรรดิ กุบไลข่าน ซึ่งสนใจเกี่ยวกับยุโรป และในปี ค.ศ.1271 เมื่อมาร์โค โปโล อายุได้ 17 ปี ก็ได้เดินทางไปจีนอีกครั้งหนึ่ง พร้อมทั้งได้รับการแต่งตั้งให้เป็นข้าราชสำนัก และปฏิบัติราชการอยู่ในจีนยาวนานถึง 17 ปี ช่วงเวลาดังกล่าวมาร์โค โปโลได้เดินทางไปยังเมืองต่างๆ ของจีนและพม่าตอนเหนือเพื่อติดต่อการค้าและทำแผนที่ให้จักรพรรดิกุบไลข่าน ใน ค.ศ.1292 มาร์โคโปโล ได้เดินทางกลับยุโรปเนื่องจากจักรพรรดิกุบไลข่านชราภาพมากแล้วและเห็นถึงภยันตรายที่เกิดจากราชบุตร โดยการเดินทางกลับนั้นมาร์โค โปโลได้อาศัยเส้นทางสุมาตรา สิงคโปร์ อินเดีย เปอร์เซีย เพื่อเดินทางกลับมายังเมืองเวนิส พร้อมบอกเล่าเรื่องราวการเดินทางไว้ในหนังสือ “Travel of Marco Polo”


ภาพมาร์โค โปโล


กองคาราวานของ มาร์โค โปโล

ประมาณกลางคริสต์ศตวรรษที่ 14 ได้เกิดขบวนการฟื้นฟูศิลปะวิทยาการ (Renaissance) ขึ้นในอิตาลี แล้วจึงขยายไปยังดินแดนส่วนอื่นๆ ของยุโรป (คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2535 : 4 - 6) การฟื้นฟูศิลปะวิทยาการ หมายถึง การที่ชาวยุโรปได้หันไปศึกษาศิลปะวิทยาการต่างๆ ของกรีกและโรมันโบราณ ทั้งด้านความรู้และศิลปะ การศึกษาวิทยาการดังกล่าวแล้ว ทำให้ความคิดมนุษย์ในสมัยนั้นเปลี่ยนแปลงจากเดิม มีความกล้าคิด กล้าทำ ภายใต้แนวความคิดมนุษย์นิยม (Humanism) เกิดการขยายตัวทางด้านการค้า การเดินทาง การคิดค้นผลงานทางวิทยาศาสตร์ ประดิษฐ์เครื่องจักรใช้แทนแรงงานคน สิ่งเหล่านี้มีผลกระทบต่อการพัฒนาการท่องเที่ยวในสมัยปัจจุบัน ส่งผลให้เกิดการเดินทางค้นพบแผ่นดินใหม่ เช่น อเมริกา ออสเตรเลีย ที่เรียกกันว่า ยุคสมัยแห่งการค้นพบและการสำรวจ โดยเริ่มตั้งแต่ปลายคริสต์ศตวรรษที่ 15 เมื่อนักเดินเรือของโปรตุเกสและสเปนต่างพยายามหาเส้นทางเดินเรือมายังตะวันออกจนได้ค้นพบเส้นทางเดินเรืออ้อมแหลมกู๊ดโฮป มายังทวีปเอเชีย


ภาพของเฟอร์ดินัล แมคแจลแลน


ภาพของโคลัมบัส

การเจริญเติบโตของวิทยาศาสตร์ส่งผลให้เกิดการคิดค้น ประดิษฐ์ ดัดแปลง จนเกิดเป็นอุตสาหกรรมการหลอมและผสมโลหะ ที่ก่อให้เกิดการปฏิวัติภูมิปัญญาของชนชาติตะวันตก นั่นคือการผลิตแท่นพิมพ์และตัวหล่อพิมพ์โลหะ โดยเทคนิคการพิมพ์แบบเรียงพิมพ์ โดย โยฮันน์ กูเตนเบิร์ก ในปี ค.ศ.1448 ทำให้สามารถจัดพิมพ์หนังสือแขนงวิชาต่างๆ เพื่อเผยแพร่ได้อย่างกว้างขวาง ความสำเร็จดังกล่าว เรียกได้ว่าเป็นยุคปฏิวัติภูมิปัญญา ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ลดบทบาทด้านการศึกษาของคริสตจักร ผู้ที่รู้หนังสือไม่จำเป็นต้องเป็นนักบวชอีกต่อไป ลดต้นทุนในการผลิตหนังสือ ทำให้หนังสือกลายเป็นสินค้าที่ทุกคนสามารถซื้อได้ จนในที่สุดเกิดการพัฒนาการเรียนการสอนในมหาวิทยาลัย



ในช่วงคริสต์ศักราชที่ 1500 ภายใต้การขยายตัวของการศึกษาในโลกสมัยใหม่ ส่งผลให้เมืองฟลอเรนซ์ เมืองเวนิส กลายเป็นศูนย์กลางของศิลปะวิทยาการและประตูสู่ธุรกิจ การค้า กับนานาชาติ ทำให้บรรดาผู้ครองนคร ขุนนางและผู้มั่งคั่งในรัฐต่างๆ ในยุโรป เช่น อังกฤษ นิยมส่งบุตรหลานเดินทางไปศึกษาหาความรู้ในแขนงวิชาต่างๆ ในเมืองดังกล่าว ทั้งนี้ระยะเวลาในการเดินทางไปศึกษานับตั้งแต่เริ่มออกเดินทางจนถึงสิ้นสุดการศึกษาและเดินทางกลับใช้เวลาทั้งสิ้น ประมาณ 40 เดือน เนื่องจากเป็นการเดินทางที่ใช้ระยะเวลานาน และมีกิจกรรมที่หลากหลายจึงเรียกกิจกรรมนี้ว่า “Grand Tour” และเหตุที่ต้องใช้เวลานานเนื่องจากช่วงเวลาของการเดินทางรอนแรมไปกลับต้องผจญกับปัญหาและอุปสรรคนานัปการ ทั้งเรื่องสภาพแวดล้อม โจรผู้ร้าย ที่พักระหว่างทาง และภาษาที่ใช้สื่อสาร แต่อย่างไรก็ตามการเดินทางดังกล่าวเป็นที่นิยมเพราะเป็นการเสริมสร้างประสบการณ์ชีวิต (Joseph D. Fridgen ,1991 :13)


ภาพเมืองเวนิสในยุคฟื้นฟูศิลปะวิทยาการ

รูปแบบที่สำคัญของการเดินทางดังกล่าว จะเดินทางเป็นหมู่คณะ ประกอบด้วยผู้ศึกษา ครูประจำตัว คนรับใช้ คนนำทางและพัฒนาต่อไปสู่กลุ่มบุคคลหลากหลายอาชีพที่เดินทางไปยังที่ต่างๆ รวมทั้งคนชั้นกลาง เช่น นักเขียน นักวิทยาศาสตร์ จิตรกร เช่น การเดินทางเพื่อการศึกษาได้เริ่มต้นที่ฝรั่งเศสศึกษาเกี่ยวกับเรื่องการฟันดาบ การขี่ม้า การเต้นรำ การวาดรูป และการต่อสู้ป้องกันตัว เมื่อจบแล้วเดินทางไปศึกษาต่อที่อิตาลีทางด้านดนตรี และศิลปะแขนงอื่นๆ เมื่อศึกษาจบแล้วเดินทางกลับโดยผ่านทางเยอรมนี สวิตเซอร์แลนด์ เบลเยี่ยม เนเธอร์แลนด์ และลักเซมเบิร์ก ระยะเวลาในการเดินทางศึกษา อาจใช้เวลาประมาณ 3 ปี จนในปลายศตวรรษที่ 18 ระยะเวลาลดลงเหลือ 4 เดือนเนื่องจากความสะดวกสบายของเส้นทางคมนาคมและระบบขนส่ง



ภาพดาวินชี


และนักปราชญ์ ช่างฝีมือ สำนักวิชาศูนย์กลางการเรียนรู้
ในสมัยฟื้นฟูศิลปะวิทยาการ

การเดินทางเพื่อการศึกษาดังกล่าวแล้วได้สิ้นสุดลง เมื่อบ้านเมืองเกิดความวุ่นวาย เกี่ยวกับการปฏิวัติในฝรั่งเศส (French Revolution) ปี ค.ศ. 1789 และเกิดสงคราม นโปเลียน (Napoleonic Wars) (Mill, 1990 : 7 - 8) ซึ่งเป็นสงครามระหว่างจักรพรรดินโปเลียนผู้นำของฝรั่งเศส กับประเทศอื่นๆ เช่น อังกฤษ เบลเยี่ยม ออสเตรีย ปรัสเซีย หรือเยอรมนี และอิตาลี รวมกำลังต่อสู้กับฝรั่งเศส การสงครามได้เริ่มต้นตั้งแต่ ค.ศ. 1796 – 1815 และได้ขยายแนวรบไปยังประเทศต่างๆ ในยุโรป ภัยสงครามและความวุ่นวายทางการเมืองดังกล่าวแล้ว จึงทำให้การเดินทางท่องเที่ยวเพื่อการศึกษา ซึ่งได้รับความนิยมสูงสุดในกลางคริสต์ศตวรรษที่ 18 ต้องสิ้นสุดลง

ในปี ค.ศ. 1625 เซอร์ ฟรานซีส เบคอน (Sir Francis Bacon) ชาวอังกฤษได้เขียนบทความเกี่ยวกับการท่องเที่ยว เรื่อง “ Of Travel” ในบทความเรื่องนี้ ได้แนะนำประชาชนให้เยี่ยมชมปราสาทของขุนนาง สถานที่สำคัญทางศาสนา กำแพงเมืองหรือโบราณสถานอื่นๆ นอกจากนี้ยังได้แนะนำให้ศึกษาประเพณีของชาติต่างๆ การเดินทางควรมีแผนที่และหนังสือของประเทศนั้นๆ เยาวชนควรเดินทางไปกับคนใช้หรือบุคคลที่เชี่ยวชาญเส้นทางนั้นเป็นอย่างดี (ม.ล. ตุ้ย ชุมสาย และ ญิบพัน พรหมโยธี, 2527 : 17) เกี่ยวกับบุคคลที่เชี่ยวชาญเส้นทางหรือมัคคุเทศก์ ได้เกิดขึ้นตั้งแต่สมัยกลาง เพราะการเดินทางต้องอาศัยผู้นำทางและผู้คุ้มกันเพื่อให้เกิดความปลอดภัย (Pond, 1993 : 4 -5) จากโจรผู้ร้ายและภัยธรรมชาติ

ในคริสต์ศตวรรษที่ 17 ขณะที่นักศึกษาในระดับอุดมศึกษาของอังกฤษ นิยมเดินทางเพื่อการศึกษา ขุนนางและชนชั้นกลางจำนวนหนึ่ง ก็นิยมการท่องเที่ยวเพื่อสุขภาพโดยการอาบน้ำแร่ (Spas) มีบ่อน้ำแร่ที่สำคัญในประเทศเบลเยี่ยม อังกฤษ และเยอรมนี ซึ่งได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย ทั้งนี้เพราะน้ำแร่สามารถรักษาสุขภาพให้แข็งแรง ต่อมาในกลางคริสต์ศตวรรษที่ 18 นายแพทย์ ริชชาร์ด รัสเซลล์ (Richard Russel) ชาวอังกฤษได้ประกาศว่า น้ำทะเลสามารถรักษาสุขภาพโรคบางอย่างของมนุษย์ได้ เช่น โรคตับแข็ง โรคหนองใน โรคท้องมาน โรคนิ้วเท้าบวม และโรคลักปิดลักเปิด (Mill, 1990 : 9 - 10) การประกาศดังกล่าวทำให้แหล่งท่องเที่ยวชายทะเลเป็นที่นิยมของประชาชนเป็นอย่างมาก การพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวชายทะเลจึงเริ่มเกิดขึ้นตั้งแต่นั้นมา

ยุคฟื้นฟูศิลปะวิทยาการถือได้ว่ามีผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจ การเมือง สังคม วัฒนธรรม และเทคโนโลยี ติดต่อกันมาหลายคริสต์ศตวรรษ จนกระทั่งถึงปัจจุบันนี้ เกี่ยวกับเรื่องการท่องเที่ยว โดย มิว (Mill) ได้กล่าวว่า การฟื้นฟูศิลปะวิทยาการ เป็นองค์ประกอบที่สำคัญของประวัติศาสตร์การเดินทาง (Mill, 1990 : 7) ทั้งนี้เพราะขบวนการดังกล่าวเป็นรากฐานอย่างหนึ่งของขบวนการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ซึ่งมีผลทำให้การเดินทางการท่องเที่ยวและวัตถุประสงค์อื่นๆรวดเร็วสะดวกสบายขึ้น

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย