สุขภาพ ความงาม อาหารและยา สมุนไพร สาระน่ารู้ >>
บทบาทของพืชสมุนไพร
นภาพร แก้วดวงดี
คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา
พืชสมุนไพรมีสรรพคุณทางยาดีมาก
คนโบราณใช้ทำการรักษาโรคกันมานานแล้วควรอนุรักษ์เอาไว้ให้ดี
ในวงการแพทย์ก็มองเห็นความสำคัญของพืชที่มีประโยชน์ในทางยานี้มากเช่นเดียวกัน
มีการนำเอาพืชสมุนไพรไปสะกัดเอาสารสำคัญที่มีอยู่ในส่วนต่างๆ
ของพืชสมุนไพรทำประโยชน์กันมากในชนบทที่ห่างไกลก็ใช้พืชสมุนไพรช่วยในการบำบัดรักษาโรค
และอาการเจ็บไข้ได้ป่วยซึ่งก็นับว่าได้ผลดีมากเช่น ใช้ชุมเห็ดเทศเป็นยาถ่าย ยาระบาย
บัวบกเป็นยาแก้เจ็บคอ แก้ร้อนใน
มะนาวเป็นยาแก้เลือดออกตามไรฟันหรือโรคลักปิดลักเปิด มะระเป็นยาขมเจริญอาหาร
กะเพราเป็นยาเพิ่มน้ำนมในสตรีหลังคลอด ไพลเป็นยารักษาโรคหืด ตำลึงรักษาโรคเบาหวาน
สิ่งเหล่านี้เป็นความสามารถของแพทย์แผนโบราณที่ยึดเอา
"พืชสมุนไพร"เป็นหลักในการักษาโรคที่เกิดขึ้นกับคนเรามานับร้อยนับพันปีมาแล้ว
การเก็บรักษาพืชสมุนไพร
การเก็บรักษาพืชสมุนไพรเอาไว้เป็นระยะเวลานานมักจะเกิดการขึ้นรา
หรือเกิดมีหนอน เกิดการเปลี่ยนแปลงลักษณะของสี กลิ่น
ทำให้ยาสมุนไพรเสื่อมคุณภาพลงได้ ทำให้ไม่ออกฤทธิ์ในการบำบัดรักษาโรคได้
เกิดการสูญเสียฤทธิ์ของยาไปเลย
ด้วยเหตุนี้เองจะต้องมีการเก็บรักษาที่ดีเพื่อประกันคุณภาพและฤทธิ์การรักษาของยาสมุนไพร
การเก็บรักษาควรปฏิบัติดังนี้
- ยาที่เก็บรักษาเอาไว้จะต้องทำให้แห้ง ทั้งนี้เพื่อป้องกันการขึ้นราและการเปลี่ยนลักษณะเกิดภาวะออกซิไดซ์ (oxidize) ยานี้ขึ้นราได้ง่าย จะต้องนำมาผึ่งแดดอยู่เสมอ
- สถานที่เก็บรักษาจะต้องแห้ง เย็น การถ่ายเทอากาศดี ควรแบ่งเก็บเป็นสัดเป็นส่วนเช่น ยาที่มีพิษ ยาที่มีกลิ่นหอมควรเก็บแยกไว้ต่างหาก
- ควรเก็บในภาชนะที่ปิดมิดชิดป้องกันการสับสนปะปนกัน ต้องคอยหมั่นดูแลอย่าให้มีหนอน หนู และแมลงต่างๆ มารบกวนรวมทั้งระวังเรื่องความร้อนที่อาจจะเกิดขึ้นได้
สารต้านอนุมูลอิสระ (antioxidant)
สารต้านอนุมูลอิสระเป็นสารอาหารที่สามารถกำจัดอนุมูลอิสระหรือยับยั้งปฏิกิริยาเติมออกซิเจน
สารอาหารเหล่านี้มักพบมากในผักและผลไม้
หากร่างกายได้รับสารอาหารนี้ในปริมาณที่ต่ำกว่าอัตราที่ควรได้รับในแต่ละวัน
ร่างกายก็จะเริ่มอ่อนแอและก่อให้เกิดโรคต่างๆ ตามมา
นอกจากนี้สารต้านอนุมูลอิสระยังเป็นองค์ประกอบร่วมของเอนไซม์ต่างๆ
ที่ช่วยเสริมสร้างเส้นใยคอลลาเจนใต้ผิวหนังและอีลาสตินใต้ผิวหนัง
ซึ่งโดยปกติเราต้องใช้ระบบเอนไซม์ในร่างกายต่อสู้กับผลร้ายจากอนุมูลอิสระโดยมีปัจจัยหลายประการดังกล่าวข้างต้นเป็นตัวกระตุ้นให้เกิด
อนุมูลอิสระ (free radical) เป็นผลผลิตที่เกิดขึ้นจากปฏิกิริยาออกซิเดชัน
(oxidation) ในสิ่งมีชีวิตที่ใช้ออกซิเจนในกระบวนการเมตาบอลิสม นอกจาก
นี้พบว่าปัจจัยภายนอกเช่น รังสีอัลตร้าไวโอเลต (UV) โอโซน ควันจากท่อไอเสีย
ควันบุหรี่ และยาบางชนิด ล้วนมีผลต่อการเกิดอนุมูลอิสระทั้งสิ้น
โดยการเกิดอนุมูลอิสระจากปัจจัยเหล่านี้เริ่มต้นจากโมเลกุลที่เป็นสารตั้งต้นอาจได้รับความร้อนหรือแสงหรือได้รับอิเลคตรอนจากโมเลกุลที่เป็นสารรีดิวซิง
(reducing agent) เช่น เหล็ก (Fe2+)
หรืออาจเกิดจากปฏิกิริยาของเอนไซม์บางชนิดที่กระตุ้นให้สารตั้งต้นเปลี่ยนเป็นอนุมูลอิสระ
ซึ่งอนุมูลอิสระเป็นโมเลกุลที่ไม่เสถียรเนื่องจากมีอิเลคตรอนวง นอกไม่ครบคู่ ดังนั้นจึงมีความไวสูงในการเข้าทำปฏิกิริยากับโมเลกุลอื่นๆข้างเคียง เนื่องจากต้องการดึงเอาอิเลคตรอนจากโมเลกุลอื่นมาเป็นของตนเอง เพื่อให้ตนเองกลายเป็นโมเลกุลที่เสถียร โมเลกุลที่ถูกดึงอิเลคตรอนไปก็จะกลายเป็นอนุมูลอิสระแทนและต้องไปดึงอิเลคตรอนจากโมเลกุลอื่นมาเป็นของตนเองอีก
ดังนั้นปฏิกิริยาของอนุมูลอิสระจึงเรียกได้ว่าเป็นปฏิกิริยาลูกโซ่ (chain
reaction) อนุมูลอิสระเหล่านี้โดยทั่วไปจะทำลาย
ชีวโมเลกุลที่เป็นองค์ประกอบของเซลล์ได้แก่ ไขมัน โปรตีน คาร์โบไฮเดรต
และกรดนิวคลีอิค
ถ้าโมเลกุลใดสูญเสียอิเลคตรอนไปก็หมายความว่าโมเลกุลนั้นสูญเสียหน้าที่ของมันไปด้วย
ดังนั้นปฏิกิริยาของอนุมูลอิสระจึงมีผลทำลายสมดุลของระบบต่างๆ ในร่างกายเช่น
ทำลายหน้าที่ของเยื่อหุ้มเซลล์
ทำให้โปรตีนหรือเอนไซม์ต่างๆในร่างกายไม่สามารถทำงานได้ตามปกติ
ดีเอ็นเอหรือสารพันธุกรรมเปลี่ยนแปลงไป
ผลเสียเหล่านี้ล้วนเป็นสาเหตุของการเกิดพยาธิสภาพของโรคร้ายต่างๆ เช่น มะเร็ง
โรคเกี่ยวกับหลอดเลือดหัวใจ โรคเกี่ยวกับระบบภูมิคุ้มกันทำงานผิดปกติ ไขข้ออักเสบ
ต้อกระจก เป็นต้น
ในร่างกายจะมีระบบควบคุมหรือป้องกันอนุมูลอิสระเรียกว่า
ระบบแอนติออกซิแดนท์ (antioxidant defense system) ซึ่งแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่
- กลุ่มของเอนไซม์ ได้แก่ เอนไซม์คะตาเลส (catalase) ซูเปอร์ออกไซด์ ดิสมิวเทส (superoxide dismutase) และกลูตาไธโอน เปอร์ออกซิเดส (glutathione peroxidase) เป็นต้น
- กลุ่มของสารและโปรตีนบางชนิด ได้แก่ กลูตาไธโอน (glutathione) ยูเรต (urate) ยูบิควินอล (biquinol) อัลบูมิน (albumin) และทรานส์เฟอริน (transferrin) เป็นต้น
- กลุ่มของสารอาหารบางชนิด ได้แก่ วิตามิน เบต้า-แคโรทีน (beta-carotene) และฟลาโวนอยด์ (flavonoid) เป็นต้น
สารต่างๆเหล่านี้เรียกว่าเป็นสารต้านอนุมูลอิสระหรือสารแอนติออกซิเเดนท์
ซึ่งจะทำหน้าที่ต่อต้านหรือยับยั้งการเกิดปฏิกิริยาออกซิเดชัน
หยุดปฏิกิริยาลูกโซ่ของอนุมูลอิสระ
หรือแม้กระทั่งป้องกันไม่ให้อนุมูลอิสระไปมีผลทำลายเซลล์ต่างๆในร่างกาย
ถึงแม้ว่าในร่างกายจะมีระบบแอนติออกซิแดนท์ทำหน้าที่ในการกำจัดอนุมูลอิสระแล้วก็ตาม
แต่ในปัจจุบันมนุษย์ต้องสัมผัสกับมลภาวะอันเป็นพิษในสิ่งแวดล้อมซึ่งทำให้ต้องรับเอาอนุมูลอิสระเข้าสู่ร่างกายมากขึ้น
ระบบแอนติออกซิแดนท์ในร่างกายจึงไม่สามารถกำจัดอนุมูลอิสระส่วนเกินนี้ได้
ผลที่ตามมาก็คือเกิดการเสื่อมทำลายของเซลล์อันเนื่องมาจากอนุมูลอิสระ
รวมทั้งก่อให้เกิดโรคต่างๆได้อีกด้วย
สารต้านอนุมูลอิสระมีประโยชน์อย่างมากต่อระบบที่สำคัญต่างๆ ในร่างกายทั้ง 5
ระบบได้แก่ ระบบหลอดเลือดและหัวใจ ระบบภูมิคุ้มกัน
กลุ่มเซลล์ประสาทที่ทำงานเฉพาะในสมอง การต่อต้านการเกิดโรคมะเร็งต่างๆ
และการชะลอความชรา เป็นที่ทราบกันดีว่า ผัก ผลไม้
ธัญพืชที่ไม่ขัดสีเป็นแหล่งอาหารที่อุดมไปด้วยสารต้านอนุมูลอิสระ
ซึ่งกลุ่มของสารต้านอนุมูลอิสระที่เป็นที่รู้จักกันโดยทั่วไปได้แก่
- วิตามินซี
เป็นวิตามินที่จำเป็นสำหรับร่างกายเพราะทำให้ร่างกายทำงานได้เป็นปกติ
และเป็นวิตามินที่ร่างกายไม่อาจผลิตขึ้นได้เอง
วิตามินซีเป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่ดีชนิดหนึ่ง
และยังช่วยเสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายได้อย่างดีโดยจะทำงานร่วมกับเซลล์เม็ดเลือดขาวนอกจากนี้วิตามินซียังช่วยลดปริมาณการเกิดไนโตรซามีน
(nitrosamine) ซึ่งเป็นสารก่อมะเร็งในระบบทางเดินอาหารอีกด้วย
วิตามินซีมีความสำคัญอีกประการหนึ่งคือ
เป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มสารชีวเคมีที่สร้างคอลลาเจน (collagen)
ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงสร้างกระดูกของมนุษย์และเป็นส่วนประกอบสำคัญของผิวหนัง
กล้ามเนื้อ และปอด ถ้าร่างกายได้รับวิตามินซีน้อย
โครงสร้างของร่างกายในส่วนต่างๆก็จะอ่อนแอลง
เซลล์ที่ผิดปกติจะสามารถฝังตัวหรือแพร่กระจายออกไปตามส่วนต่างๆและก่อให้
เกิดเนื้องอกหรือมะเร็งได้ในที่สุด
วิตามินซีจะสร้างเสริมคอลลาเจนมากขึ้นซึ่งคอลลาเจนเป็นโปรตีนชนิดหนึ่งที่สามารถยับยั้งการแพร่กระจายของเซลล์มะเร็งได้
- วิตามินอี เป็นวิตามินที่ละลายในไขมัน
เมื่อรับประทานวิตามินอีเข้าไปจะถูกดูดซึมเข้าสู่ร่างกายและถูกนำไปสะสมตามเซลล์ต่างๆ
โดยมักสะสมอยู่บนผนังเซลล์ซึ่งเป็นด่านแรกในระบบป้องกันร่างกาย
วิตามินอีบนผนังเซลล์จะทำหน้าที่คอยจับอนุมูลอิสระที่ผ่านจากเลือดเข้ามาเพื่อป้องกันไม่ให้อนุมูลอิสระเข้าทำลายเซลล์
วิตามินอีบนผนังเยื่อปอดจะช่วยป้องกันอันตรายจากมลพิษในสิ่งแวดล้อมให้กับเยื่อปอด
วิตามินอีในเลนส์ตาจะช่วยป้องกันปฏิกิริยาที่ทำให้เกิดต้อกระจก
และวิตามินตามผิวหนังจะช่วยป้องกันผนังเซลล์ ทำให้ผิวหนังสดชื่น
และช่วยชะลอความแก่
- เบต้า-แคโรทีน เป็นสารสีหรือรงควัตถุที่พบได้ทั่วไปในพืชหลายชนิด
ส่วนมากเป็นสารที่ให้สีส้ม เหลือง หรือแดงในผักและผลไม้
เบต้า-แคโรทีนเป็นสารในกลุ่มแคโรทีนอยด์ (carotenoid) ซึ่งพบใน คลอโรพลาสต์
(chloroplast) ของพืช
ในผักและผลไม้ที่ยังไม่สุกจะพบแคโรทีนอยด์น้อยกว่าผักและผลไม้ที่สุกแล้ว
เนื่องจากผักใบเขียวหรือผลไม้ที่ยังดิบอยู่แคโรทีนอยด์จะอยู่ในส่วนของคลอโรพลาสต์
ในขณะที่ผักหรือผลไม้สุกนั้นแคโรทีนอยด์จะถูกสังเคราะห์ขึ้นในโครโมพลาสต์
(chromoplast) เป็นปริมาณมากเนื่องจากเอนไซม์ที่ใช้ในการสังเคราะห์มีมากขึ้น
เบต้า-แคโรทีนเป็นสารที่มีประสิทธิภาพสูงในการป้องกันการเกิดอนุมูลอิสระ
และยังสามารถดักจับอนุมูลอิสระเข้าไว้ในโมเลกุลโดยมีประสิทธิภาพดีกว่าวิตามินอี
ทั้งนี้เนื่องจากเมื่อเบต้า-แคโรทีนดักจับอนุมูลอิสระไว้แล้ว
โมเลกุลของเบต้า-แคโรทีนจะอยู่ในลักษณะที่เป็นเรโซแนนซ์ (resonance)
ที่มีความเสถียร
- ฟลาโวนอยด์ เป็นสารในกลุ่มสารประกอบฟีนอลิค (phenolic compounds) มีสูตรโครงสร้างทางเคมีเป็นวงแหวนอะโรมาติก (aromatic ring) ที่มีจำนวนหมู่ไฮดรอกซิล (hydroxyl group) รวมอยู่ในโมเลกุล สามารถละลายน้ำได้ ส่วนใหญ่มักพบอยู่รวมกับน้ำตาลในรูปของสารประกอบไกลโคไซด์ (glycoside) สารในกลุ่ม ฟลาโวนอยด์มีสมบัติเป็นสารต้านอนุมูลอิสระโดยทำหน้าที่ในการหน่วงเหนี่ยวหรือป้องกันการเกิดปฏิกิริยาออกซิเดชัน นอกจากนี้ยังสามารถทำให้อนุมูลอิสระที่เกิดขึ้นกลายเป็นสารที่มีความเสถียร จึงช่วยหยุดปฏิกิริยาลูกโซ่ของอนุมูลอิสระได้
จะเห็นได้ว่าในธรรมชาติมีสารต้านอนุมูลอิสระอยู่ในอาหารที่มาจากพืชมากมายการรับ ประทานอาหารจำพวกพืชผักและผลไม้จึงทำให้ร่างกายได้รับสารต้านอนุมูลอิสระมากขึ้น เนื่องจากมนุษย์ได้รับอนุมูลอิสระเพิ่มมากขึ้นจากมลพิษในสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ไม่ได้เอาใจใส่กับการบริโภคอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกายซึ่งเป็นอันตรายต่อสุขภาพเพราะก่อให้เกิดอนุมูลอิสระอันเป็นสาเหตุของโรคภัยไข้เจ็บต่างๆได้
การรับประทานอาหารที่ด้อยคุณค่าทางโภชนาการเป็นเหตุผลหนึ่งที่สำคัญซึ่งทำให้ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายทำงานอย่างไม่มีประสิทธิภาพ ตรงกันข้าม การรับประทานอาหารที่อุดมไปด้วยสารต้านอนุมูลอิสระจะช่วยให้ระบบภูมิคุ้มกันทำงานได้เต็มที่ การรับประทานผักและผลไม้เป็นประจำจะทำให้มั่นใจได้ว่าร่างกายได้รับสารต้านอนุมูลอิสระมากมายโดยไม่มีไขมันส่วนเกิน
ดังนั้นเพื่อการมีสุขภาพที่สมบูรณ์และแข็งแรงจึงควรรับประทานอาหารจำพวกผักทุกมื้อให้หลากหลายชนิดสลับกันไป
ส่วนผลไม้ควรรับประทานเป็นประจำสม่ำเสมอโดยเฉพาะหลังอาหารหรือรับประทานเป็นอาหารว่างแทนการรับประทานขนมหรือของหวาน
เอกสารอ้างอิง
- พรทิพา พิชา. (2549). สมุนไพรต้านมะเร็ง. การประชุมวิชาการกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก. กรุงเทพมหานคร.
- เพ็ญนภา ทรัพย์เจริญ. (25497. สมุนไพรในอุทยานแห่งชาติภาคใต้. กรุงเทพฯ : สามเจริญพาณิชย์.
- Huang, M., Ho, C., and Lee, C. (1992). Phenolic compounds in food and their effects on health II: Antioxidants and cancer prevention. New York: American Chemical Society.
- Jithesh, M.N., Proshonth, B.R., Sivaprokash, K.R., and Parida, A.K. (2006). Oxidative response mechanism in halophyte: their role in stress defense. J. Gent. 85(3): 237-254.
- Seo, Y., Lee, H.J., Kim, Y.A., Youn, H.J., and Lee, B.J. (2005). Effect of several salt marsh plants on mouse spleen and thymus cell proliferation using MTT assay. Ocen. Sci. J. 40(4):209-212.
» กานพลู
» สมุนไพรรักษาโรคแผลในกระเพาะอาหารและลำไส้
» ประโยชน์และโทษ สรรพคุณสมุนไพรจีน
» ชะคราม วัชพืชสมุนไพรต้านอนุมูลอิสระในป่าชายเลน
» มะรุม
» สะระแหน่