สุขภาพ ความงาม อาหารและยา สมุนไพร สาระน่ารู้ >>
สมุนไพรใกล้ตัว
เพ็ญศรี นันทสมสราญ
จากจดหมายข่าวชมรมผู้สูงอายุ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
พืชสมุนไพรเป็นพืชที่คนไทยรู้จักกันมานาน และมีการนำมาใช้เป็นเครื่องยา อาหาร
เครื่องสำอาง และอื่น ๆ การประกอบอาหารมีการใช้พืชสมุนไพร เครื่องเทศ และผักสวนครัว
มาใช้ในชีวิตประจำวันจำนวนหลายชนิด เช่น ขิง ข่า ตะไคร้ ใบมะกรูด กะเพรา โหระพา
ใบแมงลัก
การปลูกพืชสมุนไพรที่เป็นไม้ล้มลุกหรือผักสวนครัว
ทำได้เช่นเดียวกับการปลูกพืชทั่วๆ ไป แต่สิ่งสำคัญคือ
สรรพคุณที่จะนำมาประยุกต์ใช้กับชีวิตประจำวันและเป็นภูมิปัญญาไทยที่มีความสำคัญ
และมีเทคนิคการใช้
ผู้เขียนหวังว่าคงจะเป็นประโยชน์พอสมควรต่อผู้อ่านซึ่งเป็นผู้บริโภคที่ได้ใกล้ชิดกับต้นไม้ใบหญ้า
พืชสมุนไพรใกล้ตัวที่จะนำเสนอมีดังนี้
กระเจี๊ยบแดง
กระเจี๊ยบแดง มีชื่อเรียกอื่นๆ เช่น กระเจี๊ยบเปรี้ยว (ภาคกลาง)
ส้มพอเหมาะ ผักเก็งเค็ง (ภาคเหนือ) ส้มพอดี (ภาคอีสาน) ส้มตะเลงเครง (ตาก) ใบส้มม่า
(ระนอง) ส้มปู (เงี้ยว-แม่ฮ่องสอน)
สรรพคุณ :
- เมล็ด เป็นยาแก้อ่อนเพลีย บำรุงกำลัง บำรุงธาตุ แก้ดีพิการ ขับปัสสาวะ
- ทั้งต้น เป็นยาฆ่าตัวจี๊ด เตรียมโดยนำมาใส่หม้อต้ม น้ำ 3 ส่วน เคี่ยวไฟให้งวดเหลือ 1 ส่วน ผสมกับน้ำผึ้งครึ่งหนึ่ง รับประทานวันละ 3 เวลา หรือรับประทานน้ำยาเปล่าๆ จนหมด
- กลีบเลี้ยง ชงกับน้ำรับประทานเพื่อลดความดัน ลดไขมันในเส้นเลือด ทำแยม
กระเจี๊ยบเขียว
กระเจี๊ยบเขียว มีชื่อเรียกอื่นๆ เช่น มะเขือทวาย
มะเขือมอญ
สรรพคุณ :
- ผลแห้ง ป่นนำมาชงกับน้ำ กินบำบัดโรคกระเพาะอาหาร มีเพคตินและสารเมือกช่วยเคลือบกระเพาะอาหาร แก้ไอ บำรุงกำลัง
- ผลอ่อน เป็นยาหล่อลื่น ใช้ในโรคหนองใน
- ดอก ลดไขมันในเลือด ลดอุณหภูมิในร่างกาย แก้กระหายน้ำ
กระชาย
กระชาย มีชื่ออื่นๆ เช่น ว่านพระอาทิตย์ (กรุงเทพฯ) ละแอน
(ภาคเหนือ) กะแอน ขิงทราย (แม่ฮ่องสอน) จี๊ปูชีพู (เงี้ยว-แม่ฮ่องสอน) เป๊าะสี่
(กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน)
สรรพคุณ :
- เหง้า เป็นยาแก้โรคปากเปื่อย ปากเป็นแผล ปากแห้ง ขับระดูขาว ขับปัสสาวะ รักษาโรคบิด แก้ปวดมวนท้อง
- ราก (นมกระชาย) มีรสเผ็ดร้อน ขม มีสรรพคุณคล้ายโสม แก้กามตายด้าน
บำรุงความรู้สึกทางเพศ ทำให้กระชุ่มกระชวย โดยใช้นมกระชายตำและหัวดองสุรา
จากการทดลอง พบว่าใช้สารสกัดแอลกอฮอล์และคลอโรฟอร์มมีฤทธิ์ต้านเชื้อราที่ทำให้เกิดโรคผิวหนังและแผลในปากได้ดีพอสมควร
กระถิน
กระถิน มีชื่ออื่นๆ เช่น กระถิ่น (ภาคกลาง)
บุหงาอินโดนีเซีย (กรุงเทพฯ) กระถินหอม ดอกคำใต้ คำใต้มอนคำ (ภาคเหนือ) มอนคำ
(เงี้ยว-แม่ฮ่องสอน) ถิน (ภาคใต้) บุหงาเซียม (มลายู-ภาคใต้) บุหงาละสะมะนา
(มลายู-ปัตตานี) เกากรึนอง (กะเหรี่ยง-กาญจนบุรี)
สรรพคุณ :
- ราก มีรสเฝื่อนฝาด กินเป็นยาอายุวัฒนะ ทาแก้พิษแมลงสัตว์กัดต่อย ต้มน้ำอมแก้ปวดฟัน แก้อักเสบ
- ยาง เข้ายาแก้ไอ บรรเทาอาการระคายคอ
- ใบอ่อน ตำพอกแก้แผลเรื้อรัง
- ดอก ชงดื่ม แก้อาหารไม่ย่อย ดองเหล้าดื่ม แก้ปวดท้อง
กล้วยน้ำว้า
กล้วยน้ำว้า มีชื่อเรียกอื่นๆ เช่น กล้วยมะลิอ่อง
(จันทบุรี) กล้วยใต้ (เชียงใหม่,เชียงราย) กล้วยอ่อง (ชัยภูมิ) กล้วยตานีอ่อง
(อุบลราชธานี)
สรรพคุณ :
- ผลดิบ ใช้รักษาอาการท้องเสียและบิด
- ผลสุก เป็นยาระบายอ่อน ๆ
- หัวปลี เป็นยาแก้ร้อนใน กระหายน้ำ โรคโลหิตจาง บำรุงน้ำนม แก้โรคเกี่ยวกับลำไส้ ลดน้ำตาลในเส้นเลือด
กะเพรา
กะเพรา มีชื่อเรียกอื่น ๆ เช่น กะเพราขน กะเพราขาว กะเพรา
(ภาคกลาง) กอมก้อ กอมก้อดง (เชียงใหม่) อีตู่ไทย (ภาคอีสาน)
สรรพคุณ :
- ใช้ทั้งต้น เป็นยาขับลม แก้ปวดท้อง และคลื่นไส้อาเจียน
- รากและต้น มีรสเผ็ดร้อน แก้พิษตาซาง แก้ไข้สันนิบาต แก้ท้องขึ้น ท้องอืด ท้องเฟ้อ บำรุงธาตุ
- ใบ มีรสเผ็ดร้อน บำรุงไฟธาตุ แก้ปวดท้อง ขับผายลม ทำให้เรอ แก้จุกเสียด แก้คลื่นไส้อาเจียน น้ำคั้นจากใบกินขับเหงื่อ แก้ไข้ ขับเสมหะ ทาผิวหนัง แก้กลากเกลื้อน ใบสดหรือแห้ง ชงกับน้ำร้อน ดื่มบำรุงธาตุ ขับลมในเด็กอ่อน
- เมล็ด มีรสเผ็ด กินบำรุงเนื้อหนังให้ชุ่มชื้น
ขมิ้นชัน
ขมิ้นชัน มีชื่ออื่นๆ เช่น ขมิ้น (ภาคกลาง, ภาคใต้)
ขมิ้นแกง ขมิ้นหยวก ขมิ้นหัว (เชียงใหม่) ขี้หมิ้น (ภาคใต้)
สรรพคุณ :
- เหง้าสด เป็นยารักษาโรคเหงือกบวมเป็นหนอง รักษาแผลสด แก้โรคกระเพาะ แก้ไข้คลั่งเพ้อ แก้ไข้เรื้อรัง ผอมเหลือง แก้โรคผิวหนัง แก้ท้องร่วง แก้บิด พอกแผล แก้เคล็ดขัดยอก ขับผายลม คุมธาตุ หยอดตา แก้ตาบวม ตาแดง ทาแก้แผลถลอก แก้โรคผิวหนังผื่นคัน แก้ท้องอืดเฟ้อ รักษาแผลในกระเพาะอาหาร
- เหง้าแห้ง บดเป็นผงเคี่ยวกับน้ำมันพืช ทำน้ำมันใส่แผลสด ผสมน้ำ ทาผิว แก้เม็ดผดผื่นคัน สารสกัดจากเหง้าแห้ง ป้องกันออกซิเดชั่น ชะลอความแก่ของผิวหนัง ทำครีมทาผิว
ข่า
ข่า มีชื่อเรียกอื่นๆ เช่น กฎุกโรหินี (ภาคกลาง) ข่าตาแดง
ข่าหยวก ข่าหลวง (ภาคเหนือ) เสะเออเคย สะเอเชย (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน)
สรรพคุณ :
- เหง้าแก่สดหรือแห้ง มีรสเผ็ดร้อน ขม แก้อาการท้องอืด ท้องเฟ้อ และปวดท้อง ใช้รักษาโรคผิวหนัง (เกลื้อน) แก้โรคบิด แก้ปวดเจ็บเสียดท้อง แก้ท้องอืดเฟ้อ แก้ไฟลวก น้ำร้อนลวก แก้ลมพิษ และโรคลมป่วง แก้สันนิบาตหน้าเพลิง ตำกับน้ำมะขามเปียกและเกลือให้สตรีกินหลังคลอดเพื่อขับน้ำคาวปลา
- หน่อ มีรสเผ็ดร้อน หวาน แก้ลมแน่นหน้าอก บำรุงไฟธาตุ
ขิง
ขิง มีชื่อเรียกอื่นๆ เช่น ขิงแกลง ขิงแดง (จันทบุรี)
ขิงเผือก (เชียงใหม่) สะเอ (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน)
สรรพคุณ :
- ราก มีรสหวาน เผ็ดร้อน ขม แก้ลม บำรุงเสียง แก้พรรดึก แก้คอมีเสมหะ เจริญอาหาร
- เหง้า มีรสเผ็ดร้อน ใช้เหง้าแก่ทุบหรือบดเป็นผง ชงน้ำดื่มแก้คลื่นไส้อาเจียน แก้จุกเสียดแน่นเฟ้อ
- เหง้าสด ตำคั้นน้ำผสมน้ำมะนาวและเกลือเล็กน้อย จิบแก้ไอ ขับเสมหะ ขับลม แก้ท้องอืด จุกเสียดแน่นเฟ้อ คลื่นไส้อาเจียน แก้หอบไอ ขับเสมหะ แก้บิด และเจริญธาตุ
- ต้น มีรสเผ็ดร้อน ขับลมในลำไส้ แก้ท้องร่วง จุกเสียด
- ใบ มีรสเผ็ดร้อน แก้ฟกช้ำ แก้นิ่ว แก้ขัดปัสสาวะ แก้โรคตา ฆ่าพยาธิ
แคบ้าน
แคบ้าน มีชื่อเรียกอื่นๆ ว่า แค แคบ้านดอกแดง แคขาว
(ภาคกลาง) แคแดง (เชียงใหม่)
สรรพคุณ :
- ราก น้ำคั้นจากรากผสมกับน้ำผึ้ง เป็นยาขับเสมหะ
- เปลือกต้น มีรสฝาด ใช้รักษาท้องเดิน แก้บิด มูกเลือด คุมธาตุ ถ้ากินมากทำให้อาเจียน ใช้เป็นยาฝาดสมานทั้งภายนอกและภายใน ชะล้างบาดแผล
- ใบ มีรสจืดมัน แก้ไข้เปลี่ยนฤดู ไข้หวัด ถอนพิษไข้ ดับพิษและถอนพิษอื่นๆ
- ยอดอ่อน ใช้รักษาไข้หัวลม
- ดอก มีรสหวานเย็น แก้ไข้เปลี่ยนฤดู
ชุมเห็ดเทศ
ชุมเห็ดเทศ มีชื่ออื่นเรียกว่า ขี้คาก ลับมืนหลวง
หมากกะสิงเทศ (ภาคเหนือ) ชุมเห็ดใหญ่ ตะสีพอ (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน)
สรรพคุณ :
- ฝัก มีรสเอียน แก้พยาธิ เป็นยาระบายขับพยาธิตัวตืด พยาธิไส้เดือน
- ใบ เป็นยาถ่าย รักษาขี้กลากและโรคผิวหนังอื่นๆ
- ใบและดอก ทำยาต้มรับประทาน ขับเสมหะในรายที่หลอดลมอักเสบ และแก้หืด
- เมล็ด มีกลิ่นเหม็น รสเอียนเล็กน้อย ใช้ขับพยาธิ แก้ตาซาง แก้ท้องขึ้น แก้นอนไม่หลับ
ตะไคร้
ตะไคร้ มีชื่อเรียกอื่นๆ เช่น จะไคร้ (ภาคเหนือ) ไคร
(ภาคใต้) ห่อวอตะไป่ (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน) คาหอม (เงี้ยว-แม่ฮ่องสอน) หัวสิงโต
(เขมร-ปราจีนบุรี)
สรรพคุณ :
- เหง้า มีรสหอมปร่า แก้กระษัย แก้เบื่ออาหาร บำรุงไฟธาตุ ขับลมในลำไส้ แก้ขัดปัสสาวะ แก้นิ่ว ดับกลิ่นคาว เจริญอาหาร
- ใบ มีรสหอมปร่า แก้ไข้ ลดความดันโลหิต
- ทั้งต้น มีรสหอมปร่า แก้ปวดท้อง หืด ขับปัสสาวะ ขับเหงื่อ และบำรุงธาตุ
ตำลึง
ตำลึง มีชื่อเรียกอื่นๆ เช่น ผักแคบ(ภาคเหนือ)
แคเด๊าะ(กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน)
สรรพคุณ :
- ราก มีรสเย็น แก้ตาขึ้นฝ้า ดับพิษทั้งปวง แก้ไข้ แก้อาเจียน ต้มน้ำกินเป็นยาระบาย
- หัว มีรสเย็น ดับพิษทั้งปวง
- ใบ มีรสเย็น ปรุงเป็นยาดับพิษร้อน เช่น ยาเขียว ใบสดตำให้ละเอียด
ทับทิม
ทับทิม มีชื่อเรียกอื่น ๆ ว่า มะเก๊าะ(ภาคเหนือ)
พิลา(หนองคาย) พิลาขาว มะก่องแก้ว(น่าน) หมากจัง(เงี้ยว-แม่ฮ่องสอน) เขียะลิ้ว(จีน)
สรรพคุณ :
- เปลือกผลแก่ ตากแห้งรักษาอาการท้องร่วง ฝนกับน้ำข้นๆ กินวันละ 1-2 ครั้ง กินมากเป็นอันตรายได้ หรือฝนกับน้ำทาแก้น้ำกัดเท้า
- ราก ใช้ฆ่าพยาธิตัวตืด
- น้ำทับทิม (จากเนื้อหุ้มเมล็ด) ใช้ลดความดันโลหิต ใช้ร่วมกับบัวบก ลดภาวะโรคเหงือก
สะระแหน่
สรรพคุณ :
- ทั้งต้นสด กินเป็นยาขับลม ขยี้ทาขมับแก้ปวดหัว แก้ปวดท้อง จุกเสียด แน่นเฟ้อ ดมแก้ลม ทาแก้ฟกช้ำ บวม
บัวบก
บัวบก มีชื่อเรียกอื่น ๆ ว่า ผักหนอก (ภาคเหนือ) ผักแว่น
(ภาคใต้)
สรรพคุณ :
- ทั้งต้น มีรสหอมเย็น แก้ช้ำใน แก้อ่อนเพลีย ขับปัสสาวะ รักษาบาดแผล แก้ร้อนในกระหายน้ำ แก้โรคปวดศีรษะข้างเดียว (ไมเกรน) แก้โรคเรื้อน แก้กามโรค แก้ตับอักเสบ บำรุงหัวใจ บำรุงกำลัง
- ใบ มีรสขม เป็นยาดับร้อน ลดอาการอักเสบบวม แก้ปวดท้อง แก้บิด แก้ดีซ่าน ใบต้มกับน้ำซาวข้าวกินแก้นิ่วในทางเดินปัสสาวะ ตำพอกหรือต้มน้ำกินแก้ฝีหนอง แก้หัด ต้มกับหมูเนื้อแดงกินแก้ไอกรน
- เมล็ด มีรสขมเย็น แก้บิด แก้ไข้ แก้ปวดศีรษะ
» กานพลู
» สมุนไพรรักษาโรคแผลในกระเพาะอาหารและลำไส้
» ประโยชน์และโทษ สรรพคุณสมุนไพรจีน
» ชะคราม วัชพืชสมุนไพรต้านอนุมูลอิสระในป่าชายเลน
» มะรุม
» สะระแหน่