สุขภาพ ความงาม อาหารและยา สมุนไพร สาระน่ารู้ >>
การแปรสภาพสมุนไพร
การสับยา
เป็นการนำสมุนไพรสดหรือแห้งมาสับให้มีขนาดเล็กลง
ให้พอเหมาะแก่การใช้ปรุงเป็นยา การสับยายังช่วยทำให้ยาสดที่เก็บมาผึ่งแห้งได้เร็ว
ไม่ก่อให้เกิดเชื้อรา ยาที่มีปริมาณน้ำมากๆ ควรสับให้เป็นแผ่นบางๆ
เพื่อให้ยาแห้งทันก่อนที่จะเกิดเชื้อรา
อุปกรณ์ที่ใช้
- มีด และ เขียง สำหรับสับยา
- ถาดขนาดใหญ่ สำหรับใส่ยาที่สับแล้ว
- กระสอบป่านหรือผ้าใบ สำหรับปูรองรับยา
- ผ้านวม หรือ แผ่นยาง สำหรับรองเขียงกันเสียงดังเกินไป
ขั้นตอนการสับยา
- ปูกระสอบป่านหรือผ้าใบบนโต๊ะสับยา
- วางถาดลงบนกระสอบป่านหรือผ้าใบ
- วางเขียงลงในถาด โดยใช้ผ้านวมหรือแผ่นยางรองใต้เขียง
- นำชิ้นยาสมุนไพรมาสับตามขนาดที่ต้องการ ระวังอย่าให้ยากระเด็นออกนอกถาด หรือนอกแนวผ้าใบ
การเก็บยา
- นำยาที่สับแล้วไปใส่ลงตามลิ้นชักที่มีชื่อยานั้นๆ หรือนำไปอบให้แห้ง
- นำยาที่สับได้ใส่ปีบหรือถุงสำรองยา เขียนชื่อ และวันที่ติดให้เรียบร้อย ล้าง เช็ดอุปกรณ์การสับยาให้เรียบร้อย ผึ่งให้แห้ง แล้วนำเก็บเข้าที่
การอบยา
เป็นการทำให้ยาแห้งสนิท ป้องกันเชื้อรา และฆ่าเชื้อโรค
ตัวยาที่จะนำมาอบ ควรเป็นตัวยาที่ไม่ระเหย หรือเปลี่ยนสภาพเมื่อถูกความร้อน เช่น
พิมเสน การบูร เมลทอล ยางไม้ เป็นต้น ยาที่จะนำมาอบ อาจเป็นยาเดี่ยวๆ
หรือยาตำรับก็ได
ขั้นตอนการอบยา
- นำตัวยาที่จะอบใส่ลงในถาดอบยา อย่าให้อัดทับกันแน่นหรือหนามากเกินไป
- เขียนชื่อยาหรือตัวยา, น้ำหนักยา, วัน/เดือน/ปี, หมายเลขถาดยา ติดข้างถาด
- นำถาดยาเข้าตู้อบเรียงตามลำดับเลขที่
- บันทึกรายชื่อยาขนานต่างๆ หรือ ตัวยาที่นำเข้าตู้อบ
การบดยา
ยาที่จะนำมาบดจะต้องย่อยเป็นชิ้นขนาดเล็กเสียก่อน7
ขั้นตอนการบดยา
- นำยาที่ย่อยและอบแล้วใส่ลงไปในเครื่อง 1/4 ของความจุของเครื่อง เช่น เครื่องบดได้ 2 ก.ก. ก็ใส่ตัวยาลงไป 500 กรัม เป็นต้น
- บดยาครั้งที่ 1 ใช้เวลานาน 1/2 ชั่วโมง หยุดเครื่อง
- ใส่ตัวยาที่เหลือลงไปให้เต็มตามขนาดจุของเครื่อง
- เขียนชื่อยา น้ำหนักยาก่อนบด เวลาเริ่มบด ปิดไว้บนฝาเครื่องบดยา
- เดินเครื่องบดยานาน 3 ชั่วโมง หยุดเครื่อง
- เมื่อบดยาเสร็จแล้ว ตักยาออกใส่ภาชนะเตรียมร่อนยาต่อไป
- ยาที่ร่อนแล้วเอากากมาบดอีก เป็นครั้งที่ 2 บดนาน 3 ชั่วโมง
- เมื่อบดยาเสร็จแล้ว เช็ดทำความสะอาดเครื่องบดยา ด้วยผ้าชุบน้ำให้ทั่ว แล้วเช็ดด้วยผ้า เป่าลมให้แห้งและไล่ฝุ่นผงตามซอกต่างๆ ปิดฝาเครื่อง
การร่อนยา
เป็นการนำเอายาที่บดแล้วมาร่อนด้วยตะแกรงหรือแร่ง
เอาเฉพาะยาส่วนที่ละเอียดตามที่ต้องการ การร่อนยา อาจใช้เครื่อง
หรือร่อนยาด้วยมือก็ได้ ตามแต่ปริมาณของงานที่ทำ ตะแกรงร่อนยาที่นิยมใช้กันมีอยู่ 3
ขนาด คือ
- เบอร์ 100 จะได้ผงยาที่ละเอียด
- เบอร์ 80 ได้ผงยาขนาดปานกลาง
- เบอร์ 60 ได้ผงยาหยาบ
ที่ใช้ประจำคือ เบอร์ 100 และ เบอร์ 80
ขั้นตอนการร่อนยา
- นำยาที่บดแล้วมาใส่ลงในตะแกรงร่อนยาตามขนาดที่ต้องการ
- ชั่งเนื้อยาที่ร่อนได้ และกากยาที่เหลือ แยกใส่ถุงมัดให้แน่น
- เขียนชื่อยา น้ำหนัก วัน/เดือน/ปี และชื่อผู้ร่อนยา ปิดไว้ที่ข้างถุง
การดูแลรักษาตะแกรงร่อนยา
- ใช้แปรงปัดทำความสะอาดตามตะแกรงและขอบตะแกรง
- ใช้ผ้าชุบน้ำเช็ดตะแกรงและขอบตะแกรง แล้วเช็ดหรือเป่าลมให้แห้งสนิท
- ใช้เกรียงโป๊วขูดตะแกรงเบาๆ และใช้แหนบถอนเอาเสี้ยนยาออกให้หมด
- เก็บตะแกรงร่อนยาเข้าตู้
การดูแลรักษาเครื่องร่อนยา
ปัดฝุ่นผง เช็ดเครื่องร่อนยาด้วยผ้าชุบน้ำ เป่าลมให้แห้งสนิท
ปิดฝาเครื่อง
การทำยาลูกกลอน
ยาลูกกลอนเป็นรูปแบบของการทำยาแผนโบราณ
มีลักษณะเป็นเม็ดกลม ทำมาจากผงยาสมุนไพรผสมกับกระสายยา
นิยมใช้น้ำผึ้งเป็นกระสายยาปั้นลูกกลอน เพราะน้ำผึ้งทำให้การจับเม็ดได้ดี แตกตัวช้า
ออกฤทธิ์ได้นาน ช่วยบำรุงร่างกายผู้ป่วย และช่วยให้รสยาดีขึ้น นอกจากใช้น้ำผึ้งแล้ว
ยังสามารถใช้สารยึดเหนี่ยวอื่นๆ ได้
การทำยาลูกกลอนน้ำผึ้ง
การเคี่ยวน้ำผึ้ง เพื่อไล่น้ำออกจากน้ำผึ้ง ทำให้เหนียว
เม็ดยาจับกันแน่น
- ตวงน้ำผึ้งหนักเท่ากับน้ำหนักของยาผงที่จะใช้ทำลูกกลอนโดยประมาณ หากยาผงประกอบด้วยเกลือ ยาดำ มหาหิงค์ ก็ใช้น้ำผึ้งน้อยลงไป ใส่ลงในหม้อ
- นำหม้อน้ำผึ้งไปตั้งไฟเคี่ยวด้วยไฟแรง คนไปเรื่อยๆ จนฟองเดือดเล็กลง ใช้เวลาประมาณ 10-15 นาที ทดลองนำน้ำผึ้งมาหยดลงในน้ำ ถ้าน้ำผึ้งรวมเป็นก้อนแข็งจึงจะใช้ได้ ถ้ายังเหนียวไม่แข็ง ก็เคี่ยวต่อไป ทดลองทำใหม่ จนได้ที่ดี
- เติมน้ำสะอาดปริมาณเท่ากับน้ำผึ้งในตอนแรกลงไปเคี่ยวต่อ แล้วลองหยดน้ำผึ้งลงในน้ำ ถ้าน้ำผึ้งจับตัวแข็งเป็นก้อนก็ยกลงจากเตา
- กรองน้ำผึ้งที่เคี่ยวแล้วด้วยผ้ากรอง ในขณะที่ยังร้อนอยู่ และคนต่อไปจนกว่าน้ำผึ้งจะเย็น เป็นอันเสร็จการเคี่ยวน้ำผึ้ง
การผสมน้ำผึ้งกับผงยา
- ชั่งผงยาที่จะทำเม็ดเทลงในกาละมังที่แห้งสะอาด
- ตักน้ำผึ้งที่เคี่ยวแล้ว เทราดลงบนผงยาทีละทัพพี คลุกเคล้าให้เข้ากับน้ำผึ้งไปเรื่อยๆ จนเนื้อยาเข้ากันดี ทดลองปั้นเม็ดด้วยมือ หากได้ที่ดี ยาจะไม่ติดมือ บีบเม็ดยาดูจะไม่แตกร่วน การคลุกเคล้ายาทำด้วยมือ ควรสวมถุงมือ ถ้ามือไม่แห้ง จะทำให้ยาเกิดเชื้อราได้ง่าย
การปั้นลูกกลอน
การทำลูกกลอนด้วยเครื่องปั้นลูกกลอน
เครื่องมือและอุปกรณ์
- เครื่องปั้นลูกกลอน
- เครื่องรีดเส้น
- ถาดใส่เส้นยาและเม็ดยาสำเร็จ
- แปรงทองเหลือง สำหรับขจัดยาที่ติดเครื่องรีดเส้น
- กาต้มน้ำขนาดใหญ่ สำหรับต้มน้ำล้างเครื่องทำยา
การเตรียมเครื่องมือ
- ทำความสะอาดเครื่องปั้นลูกกลอนและเครื่องรีดเส้นยา โดยใช้น้ำร้อนเดือดเทราดลงในเครื่อง เอากาละมังรองน้ำทิ้ง เช็ดให้แห้ง แล้วเช็ดด้วยแอลกอฮอล์
- เตรียมถาดมาวางเพื่อรองรับเส้นยา และ ลูกกลอน
การผลิต
- นำยาที่ผสมกับน้ำผึ้งแล้ว ใส่ลงในเครื่องรีดเส้น 1-2 ครั้ง เพื่อให้เนื้อยาแน่นและเรียบ ใช้มีดตัดเส้นยาที่รีดออกจากเครื่องให้มีขนาดยาวพอดีกับความกว้างของเครื่องทำเม็ดลูกกลอน
- เปิดเครื่องทำลูกกลอน นำเส้นยาไปวางขวางบนเครื่องทำเม็ด เส้นยาจะถูกตัดออกกลิ้งให้เป็นเม็ดกลมๆ ตกลงไปบนถาดรับเม็ดยา
- คัดเม็ดยาที่ไม่ได้ขนาดออก นำเม็ดยาที่ได้ไปแต่งเม็ดในถังเคลือบเม็ดยา เปิดเครื่องหมุนถังเคลือบเม็ดยา จนได้เม็ดยากลมเรียบดี
- นำเม็ดยาใส่ถาดอย่าให้ทับกันหนามากเกินไป นำเข้าเครื่องอบยาที่อุณหภูมิ 50-55 องศาเซลเซียส นาน 4-6 ชั่วโมง จนยาแห้งสนิทดี ทิ้งไว้ให้เย็น
- บรรจุยาใส่ขวดหรือถุงปิดให้สนิทเพื่อป้องกันความชื้น
การทำลูกกลอนด้วยรางกลิ้งยา
เครื่องมือและอุปกรณ์
- รางกลิ้งยาและฝาประกบ
- ถาดใส่เส้นยาและเม็ดยา
- น้ำมันพืชหรือน้ำมันที่ไม่มีกลิ่น
- ชามขนาดกลาง 2 ใบ
- ผ้าสะอาด
- กาต้มน้ำขนาดใหญ่
- โต๊ะวางรางกลิ้งยา
การเตรียมเครื่องมือ
- ล้างทำความสะอาดรางกลิ้งยาและฝาประกบ โดยราดน้ำร้อนแล้วเช็ดให้แห้ง และเช็ดด้วยแอลกอฮอล์อีกครั้งหนึ่ง ทิ้งไว้ให้แห้งสนิทก่อนนำมาใช้กลิ้งยา
- วางรางกลิ้งยาบนโต๊ะ จัดวางถาดรับเม็ดยาท้ายรางกลิ้งยา
- เทน้ำสุกใส่ชาม ครึ่งชาม และเทน้ำมันพืชลงไปอีก 1/4 ของชาม นำผ้าสะอาดผืนเล็กๆ ชุบน้ำสุก แล้วบิดให้หมาด นำมาแช่ลงในชามน้ำผสมน้ำมัน เพื่อไว้เช็ดรางยาเมื่อยาเริ่มจะติดราง
การกลิ้งยาลูกกลอน
- นำยาที่ผสมกับน้ำผึ้ง มารีดเป็นเส้น หรือคลึงด้วยมือให้ได้ขนาดเท่ากับร่องของรางกลิ้งยา ตัด ขนาดยาวเท่าความกว้างของรางกลิ้งยา
- นำเส้นยามาวางขวางบนรางกลิ้งยา นำฝาประกบมาวางทับลงบนเส้นยา เลื่อนฝาประกบไปมา ค่อยๆ ลงน้ำหนักกดฝาประกบลงไป จนฝาประกบและรางกลิ้งยาชิดกัน แล้วกลิ้งไปมาอีก 3-4 ครั้งจนยาเป็นเม็ดดีแล้ว จึงดันฝาประกบไปข้างหน้า เพื่อทำให้เม็ดยาตกลงไปในถาดรับเม็ดยา
- เมื่อกลิ้งยาไปหลายๆ ครั้งจนยาเริ่มจะติดราง ผิวเม็ดยาเริ่มหยาบ ให้เอาผ้าชุบน้ำผสมน้ำมัน บิด พอหมาดๆ เช็ดรางกลิ้งยา ไม่ควรถูไปมาสวนทางกัน
- เมื่อได้เม็ดยาตามต้องการ นำเม็ดยาใส่ถาด นำเข้าเครื่องอบยาที่อุณหภูมิ 50-55 องศาเซลเซียส นาน 4-6 ชั่วโมง จนยาแห้งสนิทดี ทิ้งไว้ให้เย็น
- บรรจุยาใส่ขวดหรือถุงปิดให้สนิทเพื่อป้องกันความชื้น
สาเหตุที่ทำให้ยาไม่เป็นเม็ดหรือได้เม็ดไม่สวย
- ใส่น้ำผึ้งน้อยเกินไป ทำให้เส้นยาแห้งปละแข็ง
- ใส่น้ำผึ้งมากเกินไป ทำให้ยานิ่มไม่เป็นเม็ด
- เส้นยาเล็กกว่าร่อง ทำให้ยาไม่เต็มเม็ด หรือมีร่องกลางเม็ด
- ใช้แรงกดฝาประกบแรงเกินไปทำให้เส้นยาแบน ไม่เป็นเม็ด
- เช็ดรางยาเปียกโชคเกินไป ทำให้ผิวเม็ดยาเปียกหลุดติดรางยา
นอกจากจะใช้เครื่องปั้นลูกกลอนและรางกลิ้งยาแล้ว
ยังสามารถปั้นเม็ดทีละเม็ดด้วยมือก็ได้ แต่ทำได้ช้าและดูไม่ค่อยสะอาด
ไม่เหมาะสำหรับการทำยาทีละมากๆ ได้ขนาดไม่สม่ำเสมอ
ส่วนมากนิยมใช้ปั้นยาลูกกลอนตามแบบโบราณ คือใช้น้ำผึ้งสดๆ มาผสมปั้นเม็ด
ทำเก็บไว้รับประทานได้ไม่เกิน 2-3 วัน แล้วทำใหม่อีก
ถ้าทำทิ้งไว้นานจะเสียและเกิดรา เหมาะสำหรับทำรับประทานเอง
การทำยาเม็ดพิมพ์มือ
เครื่องมือและอุปกรณ์
- เครื่องพิมพ์เม็ดยาด้วยมือ (แม่พิมพ์ทองเหลือง)
- กระจกใส 1 x 1 ฟุต
- ถาดใส่เม็ดยา
- แป้งมัน
การเตรียมเครื่องมือ
ล้างแม่พิมพ์ทองเหลืองด้วยน้ำร้อน และล้างกระจกให้สะอาด เช็ดให้แห้ง
แล้วเช็ดด้วยแอลกอฮอล์ อีกครั้งหนึ่ง ทิ้งให้แห้งสนิทก่อนนำมาพิมพ์เม็ดยา
วิธีทำ
- กวนแป้งมันทำเป็นแป้งเปียกใสๆ ปริมาณพอเหมาะกับยาผง
- เอายาผงใส่กาละมัง เทแป้งเปียกลงคลุกเคล้ากันทีละน้อยๆ จนเข้ากันดี
- นำยาที่ผสมแล้ว มาแผ่ลงบนกระจก หนาตามความต้องการ
- นำแม่พิมพ์ทองเหลืองมากดลงบนแผ่นยา
- กดเอาเม็ดยาออกจากแม่พิมพ์ใส่ลงในถาด
- นำเข้าเครื่องอบยาที่อุณหภูมิ 50-55 องศาเซลเซียส นาน 4-6 ชั่วโมง จนยาแห้งสนิทดี ทิ้งไว้ให้เย็น
- บรรจุยาใส่ขวดหรือถุงปิดให้สนิทเพื่อป้องกันความชื้น
การตอกเม็ดยา
วิธีทำ
วัตถุส่วนประกอบ
1. ผงยา 2000 กรัม
2. แป้งมัน 100 กรัม
3. แป้งเปียก 10 % 150 กรัม
4. ผงทัลคัม 70 กรัม
5. แมกนีเซียม สเตียเรต 60 กรัม
ขั้นตอนการทำงาน
- นำผงยาและแป้งมัน ในข้อ 1 และ 2 ซึ่งร่อนดีแล้ว มาผสมให้เข้ากันดี
- นำแป้งมันตามข้อ 3 เติมน้ำ 1500 กรัม กวนเป็นแป้งเปียก 10 %
- ผสมแป้งเปียกกับผงยาที่ผสมแป้งมันแล้ว ไปผ่านแร่งเบอร์ 14 นำแกรนูลที่ได้ไปอบที่อุณหภูมิ 50-55 องศาเซลเซียส นำยามาผ่านแร่งเบอร์ 18
- ผสมผงยาที่ได้กับทัลคัมและแมกนีเซียมสเตียเรต ตามข้อ 4 และ 5
- นำผงยาที่ได้ไปตอกเม็ด ควบคุมน้ำหนักเม็ดยาให้ได้มาตรฐาน
- นำเม็ดยาไปอบที่อุณหภูมิ 50-55 องศาเซลเซียส นาน 4-6 ชั่วโมง
- ทดสอบการแตกตัวของเม็ดยา ไม่ควรเกิน 30 นาที
การเคลือบยาเม็ดด้วยน้ำตาล
วัตถุประสงค์ของการเคลือบเม็ดยา
- เพื่อกลบรส กลิ่น และสีของยา ทำให้ยาน่ารับประทานยิ่งขึ้น
- ป้องกันไม่ให้สาระสำคัญเสื่อมสลายเร็ว
- ทำให้สะดวกในการกลืนยา
- ควบคุมการออกฤทธิ์ของยาที่มีการระคายเคือง หรือใช้ในยาที่ต้องการให้ไปออกฤทธิ์ในส่วนลำไส้ เช่น ยาแก้ริดสีดวงทวาร เป็นต้น
วัสดุอุปกรณ์
1. แป้งทัลคัม
2. น้ำตาลทราย
3.น้ำ
4. กัมอาคาเซีย
5. แชลแล็ค
6. แอลกอฮอล์
7. ขี้ผึ้งคานูบา
8. ขี้ผึ้งขาว
9. คาร์บอนเตทตระคลอไรด์
10. สีผสมอาหาร
11. เครื่องเคลือบเม็ดยา
12. เครื่องขัดเงาเม็ดยา
ขั้นตอนการเคลือบเม็ดยา
- นำยาลูกกลอนที่แห้งดีแล้วใส่ในเครื่องเคลือบเม็ดยา ละลายแชลแล็ค 4 ส่วน ด้วยแอลกอฮอล์ 6 ส่วน เทลงในถังเคลือบเม็ดยาที่กำลังหมุน ใช้ลมเย็นเป่าจนแชลแล็คแห้งดีแล้วคัดเม็ดยาที่ติดกันออก ทำซ้ำ 1-2 ครั้ง
- ทำน้ำแป้งทัลคัม โดยใช้แป้งทัลคัม 20-35%, กัมอาคาเซีย5-10%, น้ำตาล 40-50%, น้ำ 20-30% ต้มให้ละลายเป็นเนื้อเดียวกัน
- นำเม็ดยาที่ได้จากข้อ 1 ใส่ลงในถังเคลือบเม็ดยา เดินเครื่องแล้ว เทน้ำแป้งทัลคัมลงไป พร้อมกับโรยแป้งทัลคัม ใช้ลมร้อนอุณหภูมิ 60-70 องศาเซลเซียส เป่าเม็ดยา เมื่อแห้งดีแล้ว แยกเอาเม็ดยาที่ติดกันออก ทำซ้ำ 8-10 ครั้ง จนเม็ดยาเป็นสีขาว
- เคลือบสีรองพื้น โดยนำสีเพียงเล็กน้อยมาผสมน้ำแป้งทัลคัม เทลงในถังเคลือบเม็ดยาในขณะเดินเครื่อง เป่าให้แห้ง แล้วทำซ้ำ 3-4 ครั้ง
- เคลือบสี โดยใช้น้ำตาล 2 ส่วน กับน้ำ 1 ส่วน ทำเป็นน้ำเชื่อม เติมสีตามความต้องการ นำไปเคลือบซ้ำบนเม็ดยา จนได้สีตามต้องการ
- เคลือบเงา โดยใช้ ขี้ผึ้งคานูบา 40 ส่วน ผสมขี้ผึ้งขาว 4 ส่วน ละลายในคาร์บอนเตทตระคลอไรด์ 95% นำมาใส่ในเครื่องเคลือบเม็ดยา
- นำเม็ดยามาขัดเงาด้วยเครื่องขัดเงาจนสวยงามตามต้องการ
การสุมยา
ขั้นตอนการสุมยา
- นำตัวยาที่จะสุม มาสับเป็นชิ้นเป็นท่อนขนาดพอเหมาะ ใส่ลงในหม้อดินใหม่
- นำดินสอพองมาบดผสมน้ำพอข้นๆ โป๊วยาแนวฝาหม้อให้สนิท
- นำไปสุมไฟตามกรรมวิธีของการสตุหรือฆ่าฤทธิ์ของตัวยานั้นๆ เช่น หัวงูเห่าหรือสมุนไพรที่มีพิษ สุมด้วยไฟแกลบทั้งคืน, ตัวยาอื่นๆ อาจสุมด้วยฟืนหรือถ่านได้
- เมื่อสุมจนตัวยากลายเป็นถ่านหมดทั่วกันแล้ว ทิ้งไว้ให้เย็น จึงนำไปผสมยา
ที่มา : http://www.samunpri.com
» กานพลู
» สมุนไพรรักษาโรคแผลในกระเพาะอาหารและลำไส้
» ประโยชน์และโทษ สรรพคุณสมุนไพรจีน
» ชะคราม วัชพืชสมุนไพรต้านอนุมูลอิสระในป่าชายเลน
» มะรุม
» สะระแหน่