ศาสนา ลัทธิ ความเชื่อ นิกาย พิธีกรรม >>
จิตปรมัตถ์
เจตสิกปรมัตถ์
รูปปรมัตถ์
นิพพานปรมัตถ์
สงเคราะห์ปรมัตถธรรม 4
สังขารทั้งปวงไม่เที่ยง
สังขารทั้งปวงเป็นทุกข์
ธรรมทั้งปวงเป็นอนัตตา
ขันธ์ 5
สังขารทั้งปวงไม่เที่ยง
สังขารธรรมทั้งหมดไม่เที่ยง ความเสื่อม
ความไม่เที่ยงของรูปธรรมนั้นพอจะปรากฏให้เห็นได้
แต่ความไม่เที่ยงของนามธรรมนั้นรู้ยาก ดังที่พระผู้มีพระภาคตรัสกะภิกษุทั้งหลาย ณ
พระวิหารเชตวัน อารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐีว่า
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ปุถุชนผู้ไม่ได้สดับจะพึงเบื่อหน่ายบ้าง คลายกำหนัดบ้าง
หลุดพ้นบ้าง ในร่างกายอันเป็นที่ประชุมแห่งมหาภูตทั้ง 4 นี้ ข้อนั้นเพราะเหตุไร
เพราะว่า ความเจริญก็ดี ความเสื่อมก็ดี การเกิดก็ดี การตายก็ดี
ของร่างกายอันเป็นที่ประชุมแห่งมหาภูตทั้ง 4 นี้ย่อมปรากฏ
แต่ปุถุชนผู้มิได้สดับ
ไม่อาจจะเบื่อหน่ายคลายกำหนัด หลุดพ้นในจิตเป็นต้นนั้นได้เลย ข้อนั้นเพราะเหตุไร
เพราะเหตุว่า จิตเป็นต้นนี้อันปุถุชนผู้มิได้สดับรวบรัดถือไว้โดยตัณหา
ยึดถือด้วยทิฏฐิว่านั่นของเรา นั่นของเรา นั่นเป็นตัวตนของเรา ดังนี้ ตลอดกาลช้านาน
ฯลฯ จิตเป็นต้นนั้น ดวงหนึ่งเกิดขึ้น ดวงหนึ่งดับไป ในกลางคืนและในกลางวัน
[สังยุตตนิกาย อัสสุตวตาสูตรที่ 2 ข้อ 235-6]
แม้ว่าจิต เจตสิก รูป จะเกิดดับอยู่ตลอดเวลาก็ยากที่จะรู้และเบื่อหน่าย
ละความยินดี คลายความยึดถือในนามรูปได้ การที่จะเบื่อหน่าย ละความยินดี
ความยึดถือในรูปนามนั้นต้องพิจารณาเห็นด้วยปัญญา ดังที่ได้ทรงแสดงว่า
สพฺเพ สงฺขารา อนิจฺจาติ ยทา ปญฺญาย ปสฺสติ
อถ นิพฺพินฺทติ ทุกฺเข เอส
มคฺโค วิสุทฺธิยา ฯ
สพฺเพ สงฺขารา ทุกฺขาติ ยทา ปญฺญาย ปสฺสติ
อถ นิพฺพินฺทติ ทุกเข เอส มคฺโค
วิสุทธิยา ฯ
สพฺเพ ธมฺมา อนตฺตาติ ยทา ปญฺญาย ปสฺสติ
อถ นิพฺพินฺทติ ทุกฺเข เอส มคฺโค
วิสุทธิยา ฯ
[ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท ข้อ 30]
เมื่อใด บุคคลพิจารณาเห็นด้วยปัญญาว่า สังขารทั้งปวงไม่เที่ยง
เมื่อนั้น เขาย่อมเบื่อหน่ายในทุกข์ นี้เป็นทางแห่งความบริสุทธิ์
เมื่อใด บุคคลพิจารณาเห็นด้วยปัญญาว่า สังขารทั้งปวงเป็นทุกข์
เมื่อนั้น เขาย่อมเบื่อหน่ายในทุกข์ นี้เป็นทางแห่งความบริสุทธิ์
เมื่อใด บุคคลพิจารณาเห็นด้วยปัญญาว่า ธรรมทั้งปวงเป็นอนัตตา
เมื่อนั้น เขาย่อมเบื่อหน่ายในทุกข์ นี้เป็นทางแห่งความบริสุทธิ์
ผู้ใดที่ไม่เห็นความเกิดขึ้นและดับไปของนามธรรม และรูปธรรมจนละคลาย
ผู้นั้นจะบรรลุอริยสัจจ์ 4 เป็นพระอริยบุคคลไม่ได้ พระอริยบุคคลเห็นความเป็น "พุทธ"
ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า โดยเห็นธรรมที่พระองค์ทรงตรัสรู้ ไม่ใช่เพียง
แต่ศึกษาพระธรรมที่พระองค์ทรงเทศนาเท่านั้น พระอริยบุคคลหมดความสงสัยในพระธรรม
ที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสรู้ เพราะพระอริยบุคคลได้บรรลุธรรมนั้น [สังยุตตนิกาย
เสขสูตร ข้อ 1031-7] และได้ประจักษ์ในความเป็น "พุทธ" ว่า
พระธรรมที่พระองค์ทรงแสดงนั้น ไม่ใช่โดยคาดคะเน
แต่โดยตรัสรู้ธรรมทั้งปวงตามความเป็นจริงของธรรมนั้นๆ
ผู้ใดเห็นธรรมผู้นั้นย่อมเห็นตถาคต [สังยุตตนิกาย วักกลิสูตร ข้อ 118]
ผู้ใดศึกษาและปฏิบัติเพื่อให้รู้แจ้งธรรม ผู้นั้นย่อมสามารถรู้แจ้งธรรม
และดับกิเลสเป็นพระอริยบุคคลตามลำดับ คือ ตั้งแต่พระโสดาบัน พระสกทาคามี พระอนาคามี
จนถึงพระอรหันต์ [ขุททกนิกาย อุทาน อุโปสถสูตร ข้อ 118]