ศาสนา ลัทธิ ความเชื่อ นิกาย พิธีกรรม >>
จิตปรมัตถ์
เจตสิกปรมัตถ์
รูปปรมัตถ์
นิพพานปรมัตถ์
สงเคราะห์ปรมัตถธรรม 4
สังขารทั้งปวงไม่เที่ยง
สังขารทั้งปวงเป็นทุกข์
ธรรมทั้งปวงเป็นอนัตตา
ขันธ์ 5
สงเคราะห์ปรมัตถธรรม 4
จิต เจตสิก รูป นิพพาน เป็นปรมัตถธรรม เป็นสภาพธรรมที่มีจริง ที่รู้ว่าจิต
เจตสิก รูป เป็นสภาพธรรมที่มีจริงเพราะ จิต เจตสิก รูป เกิดดับสืบต่อกัน
จึงปรากฏให้รู้ได้เช่น ขณะที่เห็นรูป ได้ยินเสียง และนึกคิด เป็นต้น
จิตเกิดดับสืบต่อกันทำกิจการงานต่างๆ เช่น จิตบางดวงเห็นสี บางดวงได้ยินเสียง
บางดวงคิดนึก เป็นต้น ทั้งนี้ตามประเภทของจิตและเหตุปัจจัยที่ทำให้เกิดจิตนั้นๆ
การเกิดดับสืบต่อกันของจิต เจตสิก รูปนั้น เป็นไปอย่างรวดเร็วมาก
จนทำให้ไม่เห็นการเกิดดับ ทำให้เข้าใจว่ารูปค่อยๆ เปลี่ยนแปลงไป
และทำให้เข้าใจว่าจิตนั้นเกิดขึ้นเมื่อคนหรือสัตว์เกิด
จิตนั้นดับเมื่อคนหรือสัตว์ตาย ถ้าไม่ศึกษา ไม่พิจารณา
และไม่อบรมเจริญสติและปัญญาให้รู้ลักษณะของจิต เจตสิก รูปที่กำลังปรากฏ ก็จะไม่
รู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม คือ จิต เจตสิก รูป
ซึ่งเกิดดับสืบต่อกันอยู่ตลอดเวลา
สภาพธรรมใดที่เกิดขึ้น สภาพธรรมนั้นต้องมีปัจจัยปรุงแต่งให้เกิดขึ้น
เมื่อไม่มีปัจจัยก็ไม่เกิด ท่านพระสารีบุตรเกิดความเลื่อมใสในคำสอนของพระผู้พระภาค
ก็เพราะได้เห็นท่านพระอัสสชิ ซึ่งเป็นภิกษุรูปหนึ่งในภิกษุปัจจวัคคีย์
ท่านพระสารีบุตรเห็นท่านพระอัสสชิมีความน่าเลื่อมใสเป็นอันมาก
จึงได้ตามท่านพระอัสสชิไป และถามท่านพระอัสสชิว่าใครเป็นศาสดา
และศาสดาของท่านสอนท่านว่าอย่างไร ท่านพระอัสสชิตอบว่า
เย ธมฺมา เหตุปฺปภวา เตสํ เหตํ ตถาคโต (อาห)
เตสญฺจ โย นิโรโธ เอวํวาที
มหาสมโณติ ฯ
[พระวินัยปิฏก มหาวรรค ภาค 1 มหาขันธกะ ข้อ 65]
ธรรมเหล่าใดเกิดแต่เหตุ
พระตถาคตทรงแสดงเหตุแห่งธรรมเหล่านั้น และความดับแห่งธรรมเหล่านั้น
พระมหาสมณะทรงสั่งสอนอย่างนี้
ถ้าพระผู้มีพระภาคไม่ทรงแสดงธรรมที่พระองค์ทรงตรัสรู้
พร้อมทั้งเหตุปัจจัยของธรรมนั้นๆ ก็จะไม่มีผู้ใดรู้ว่าธรรมใดเกิดจากเหตุปัจจัยใด
ไม่มีผู้ใดรู้ว่าจิตปรมัตถ์ เจตสิตปรมัตถ์ รูปปรมัตถ์ แต่ละประเภทนั้นเกิดขึ้น
เพราะมีธรรมใดเป็นปัจจัย พระผู้มีพระภาคทรงตรัสรู้ธรรมทั้งปวง
พระองค์จึงได้ทรงแสดงว่าธรรมทั้งหลายที่เกิดขึ้นนั้น
มีเหตุปัจจัยปรุงแต่งให้เกิดจึงเกิดขึ้น และทรงแสดงเหตุปัจจัยที่ทำให้เกิดธรรมนั้นๆ
ธรรมทั้งปวงที่เกิดขึ้นนั้นจะเกิดขึ้นโดยไม่มีปัจจัยไม่ได้
ที่กล่าวว่า คนเกิด สัตว์เกิด เทวดาเกิด เป็นต้นนั้น คือ จิต เจตสิก รูป
เกิดนั่นเอง เมื่อจิต เจตสิก ประเภทหนึ่งเกิดขึ้นพร้อมกับรูป ก็บัญญัติว่าคนเกิด
เมื่อจิต เจตสิก เกิดขึ้นพร้อมกับรูปของเทวดา ก็บัญญัติว่าเทวดาเกิด เป็นต้น
การเกิดของคน สัตว์ เทวดา เป็นต้นนั้น
ต่างกันเพราะเหตุปัจจัยที่ทำให้เกิดนั้นต่างกัน เหตุปัจจัยที่ทำให้เกิดนั้นมีมาก
และสลับซับซ้อนมาก แต่ด้วยพระสัพพัญญุตญาณของพระผู้มีพระภาค
ผู้ทรงตรัสรู้ธรรมทั้งปวง พร้อมทั้งเหตุปัจจัยของธรรมทั้งปวงนั้น
พระองค์จึงได้ทรงแสดงธรรม ตามสภาพความจริงของธรรมแต่ละประเภท ว่าธรรมใดเกิดขึ้น
ธรรมนั้นมีปัจจัยทำให้เกิดขึ้น ธรรมที่เกิดขึ้นเป็นสังขารธรรม
ที่รู้ได้ว่ามีจิต เจตสิก รูป ก็เพราะว่า จิต เจตสิก รูปเกิดขึ้น และที่จิต
เจตสิก รูปเกิดขึ้นก็เพราะมีปัจจัย จิต เจตสิกและรูปเป็นสังขารธรรม
พระธรรมคำสอนของพระผู้มีพระภาคนั้น สมบูรณ์ พร้อมทั้งอรรถและพยัญชนะ
ธรรมข้อใดที่อาจจะมีผู้เข้าใจผิดได้ พระองค์ก็ทรงบัญญัติคำกำกับให้ชัดเจนยิ่งขึ้น
เพื่อไม่ให้ผู้ใดเข้าใจความหมายของธรรมข้อนั้นผิด เมื่อพระองค์ทรงบัญญัติว่า
ธรรมที่เกิดขึ้นมีปัจจัยทำให้เกิดขึ้นเป็นสังขารธรรม
เพื่อไม่ให้ผู้ใดเข้าใจผิดว่าธรรมที่เกิดขึ้นนั้น
เมื่อเกิดขึ้นแล้วก็ตั้งอยู่ตลอดไปเรื่อยๆ พระองค์จึงทรงบัญญัติว่า
ธรรมที่เป็นสังขารธรรม (ธรรมที่มีสภาพปรุงแต่ง) นั้นเป็นสังขตธรรม
(ธรรมที่ปรุงแต่งแล้ว) สังขตธรรม คือ ธรรมที่เกิดขึ้นแล้วดับไป [อังคุตรนิกาย
ติกนิบาต จูฬวรรคที่ 5 สังขตสูตร ข้อ 486] พระองค์ทรงบัญญัติคำว่าสังขตธรรม
กับคำว่าสังขารธรรม เพื่อให้รู้ว่าธรรมใดที่เกิดขึ้น ธรรมนั้นมีปัจจัยทำให้เกิดขึ้น
เมื่อปัจจัยดับ ธรรมที่เกิดขึ้นเพราะปัจจัยนั้นก็ต้องดับไป
สังขตธรรมคือธรรมที่เกิดขึ้นแล้วดับไป
ฉะนั้นสังขารธรรมคือธรรมที่มีปัจจัยปรุงแต่งนั้น จึงเป็นสังขตธรรม [ธรรมสังคณีปกรณ์
นิกเขปกัณฑ์ จูฟันตรทุกะ ข้อ 702] จิตปรมัตถ์ เจตสิกปรมัตถ์ รูปปรมัตถ์
เป็นสังขารธรรม เป็นสังขตธรรม
สพฺเพ สงฺขารา อนิจฺจาฯ สังขารทั้งปวงไม่เที่ยง
สพฺเพ สงฺขารา ทุกขาฯ
สังขารทั้งปวงเป็นทุกข์
สพฺเพ ธมฺมา อนตฺตาฯ ธรรมทั้งปวงเป็นอนัตตา
[ขุททกนิกาย มหานิทเทส
สุทธัฎญกสุตตนิทเทส ข้อ 131]