ศาสนา ลัทธิ ความเชื่อ นิกาย พิธีกรรม >>

ปรมัตถธรรม

จิตปรมัตถ์
เจตสิกปรมัตถ์
รูปปรมัตถ์
นิพพานปรมัตถ์
สงเคราะห์ปรมัตถธรรม 4
สังขารทั้งปวงไม่เที่ยง
สังขารทั้งปวงเป็นทุกข์
ธรรมทั้งปวงเป็นอนัตตา
ขันธ์ 5

จิตปรมัตถ์

ขณะที่เห็นสีต่างๆ ทางตานั้น ตาไม่เห็นอะไร ตาเป็นเพียงปัจจัยที่ทำให้เกิดการเห็น ซึ่งเป็นจิต เมื่อเสียงกระทบหู หูไม่ใช่จิต เพราะเสียงและหูไม่รู้อะไร แต่สภาพธรรมที่ได้ยินเสียง หรือรู้เสียงนั้นเป็นจิต ฉะนั้น จิตปรมัตถ์จึงเป็นสภาพธรรมที่รู้สี รู้เสียง รู้สิ่งต่างๆ ปรมัตถธรรมคือ สภาพธรรมที่มีจริงนี้เป็นอภิธรรม เป็นธรรมที่เป็นอนัตตา ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของผู้ใดทั้งสิ้น เป็นสภาพธรรมที่เป็นไปตามเหตุปัจจัย แม้พระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะไม่ประสูติ และตรัสรู้ สภาพธรรมทั้งหลาย ก็ย่อมเป็นไปตามเหตุปัจจัยอยู่แล้ว [อังคุตตรนิกาย อุปปาทสูตร ข้อ 576] พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงเป็นพระบรมศาสดา เพราะพระองค์ทรงตรัสรู้ธรรมทั้งปวงด้วยพระองค์เองว่า ธรรมทั้งปวงไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล และธรรมทั้งปวง ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของผู้ใดทั้งสิ้น

คำว่า อภิ แปลว่ายิ่งใหญ่ อภิธรรม คือ ธรรมที่ยิ่งใหญ่ เพราะเป็นอนัตตา ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของผู้ใด เมื่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสรู้แล้ว พระองค์ทรงเทศนาธรรมทั้งปวงที่ทรงตรัสรู้ พร้องทั้งเหตุปัจจัยของธรรมทั้งปวงนั้น โดยสภาพความเป็นจริงของธรรมนั้นๆ พระองค์ทรงเคารพธรรมที่ทรงตรัสรู้ [สังยุตตนิกาย คารวสูตรที่ 2 ข้อ 560] พระองค์มิได้ทรงเทศนาว่า ธรรมทั้งปวงอยู่ในอำนาจของพระองค์ แต่ทรงเทศนาว่า แม้พระองค์เองก็ไม่สามารถบันดาลให้ผู้ใดพ้นทุกข์ หรือบรรลุมัคค์ ผล นิพพานได้ การประพฤติปฏิบัติธรรมเท่านั้น ที่เป็นปัจจัยให้ผู้ปฏิบัติบรรลุมัคค์ ผล นิพพาน และพ้นทุกข์ได้

ปรมัตถธรรม หรืออภิธรรมนั้น มิใช่ธรรมที่เหลือวิสัยที่จะเข้าใจได้ เพราะปรมัตถธรรมเป็นธรรมที่มีจริง ฉะนั้น ความเห็นถูก ความเข้าใจถูก จึงเป็นการรู้ความจริงของปรมัตถธรรม ตามสภาพลักษณะของปรมัตถธรรมนั้นๆ

 

จิตเป็นปรมัตถธรรมที่เกิดขึ้น รู้สี รู้เสียง รู้กลิ่น รู้รส รู้สัมผัส รู้สิ่งต่างๆ ตามประเภทของจิตนั้นๆ เช่น จิตที่เกิดขึ้นเห็นสีทางตาเป็นจิตประเภทหนึ่ง จิตที่เกิดขึ้นได้ยินทางหูเป็นจิตประเภทหนึ่ง จิตที่เกิดขึ้นรู้เย็น รู้ร้อน รู้อ่อน รู้แข็ง รู้ตึง รู้ไหวทางกายเป็นจิตประเภทหนึ่ง จิตคิดนึกที่เกิดขึ้นรู้เรื่องต่างๆ ทางใจเป็นจิตประเภทหนึ่ง ดังนี้เป็นต้น ทั้งนี้ตามประเภทของจิต และตามปัจจัยที่ทำให้เกิดจิตประเภทนั้นๆ

ในขณะที่จิตกำลังเห็นสิ่งใดอยู่นั้น ขณะนั้นมิได้มีแต่เฉพาะจิตที่เห็นเท่านั้น หรือมิได้มีแต่เฉพาะสิ่งที่จิตเห็นเท่านั้น แต่ต้องมีทั้งจิตเห็นและสิ่งที่จิตเห็น เมื่อมีสิ่งที่ถูกเห็นขณะใด ก็แสดงว่าขณะนั้นต้องมีสภาพเห็น คือจิตเห็นด้วย แต่ถ้ามุ่งสนใจแต่เฉพาะวัตถุ หรือสิ่งที่ถูกเห็นเท่านั้น ก็จะทำให้ไม่รู้ความจริงว่า สิ่งที่ถูกเห็นนั้นจะปรากฏได้ก็เพราะจิตเกิดขึ้นทำกิจเห็นสิ่งนั้น ในขณะคิดนึกก็เช่นเดียวกัน เมื่อจิตคิดนึกเรื่องใด เรื่องราวนั้นเป็นคำที่จิตกำลังคิดนึกอยู่ขณะนั้น เมื่อจิตเกิดขึ้นรู้สิ่งใด สิ่งที่จิตรู้นั้น ภาษาบาลีเรียกว่า อารมฺมณ

คำว่า อารมฺมณ (อารมณ์) หรือ อาลมฺพน ในพระธรรมคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น หมายถึงสิ่งที่จิตรู้ ขณะใดที่จิตเกิดขึ้น เห็นสิ่งที่ปรากฏทางตา สิ่งที่ปรากฏทางตาก็เป็นอารมณ์ของจิตนั้น ขณะใดที่จิตเกิดขึ้นได้ยินเสียง เสียงก็เป็นอารมณ์ของจิตขณะนั้น ขณะใดที่จิตเกิดขึ้นรู้กลิ่น กลิ่นก็เป็นอารมณ์ของจิตขณะนั้น ขณะใดที่จิตเกิดขึ้นลิ้มรส รสก็เป็นอารมณ์ของจิตขณะนั้น ขณะใดที่จิตเกิดขึ้นรู้เย็น รู้ร้อน รู้อ่อน รู้แข็ง รู้ตึง รู้ไหว เย็นร้อนอ่อนแข็งตึงไหวก็เป็นอารมณ์ของจิตขณะนั้น ขณะใดที่จิตเกิดขึ้นคิดนึกถึงเรื่องราวต่างๆ เรื่องราวต่างๆ ก็เป็นอารมณ์ของจิตที่กำลังคิดนึกขณะนั้น ดังนี้ เป็นต้น เมื่อมีจิตก็ต้องมีอารมณ์คู่กันไปทุกครั้ง จิตเกิดขึ้นขณะใด จะต้องรู้อารมณ์ขณะนั้น เมื่อจิตเกิดขึ้นแล้วไม่รู้อารมณ์ไม่ได้ หรือจะมีแต่จิตซึ่งเป็นสภาพรู้ โดยไม่มีอารมณ์ ซึ่งเป็นสิ่งที่ถูกรู้ ก็ไม่ได้

จิตซึ่งเป็นสภาพธรรมที่รู้อารมณ์นั้น มิใช่มีแต่ในพระพุทธศาสนา หรือเฉพาะในมนุษย์เท่านั้น จิตเห็น จิตได้ยิน เป็นต้นนั้นเป็นปรมัตถธรรม ไม่ใช่เชื้อชาติใดๆ ทั้งสิ้น การที่บัญญัติว่าเป็นบุคคลนี้เห็น สัตว์นั้นได้ยิน เป็นต้น ก็โดยอาศัยรูปและการจำ ถ้าไม่มีรูปและการจำ ก็ย่อมจะบัญญัติจิตเห็น จิตได้ยินนั้นๆ ว่าเป็นบุคคลนี้เห็น หรือเป็นสัตว์นั้นได้ยินไม่ได้ จิตเป็นปรมัตถธรรม ไม่ว่าจะเป็นจิตเห็นของสัตว์ใด บุคคลใด จิตเห็นที่เกิดขึ้นนั้น ก็จะต้องเห็นสิ่งที่ปรากฏทางตา จิตได้ยินก็จะต้องได้ยินเสียง จิตเห็นจะรู้เสียงไม่ได้ และจิตได้ยินจะรู้สิ่งที่ปรากฏทางตาไม่ได้ ไม่มีผู้ใดมีอำนาจบังคับบัญชา ให้ปรมัตถธรรมเปลี่ยนลักษณะ และสภาพของปรมัตถธรรมนั้นๆ เป็นอย่างอื่นได้ จิตซึ่งเป็นปรมัตถธรรมที่เกิดขึ้นรู้อารมณ์นั้น เกิดขึ้นได้เพราะมีเหตุปัจจัยที่ทำให้เกิดขึ้น เมื่อไม่มีปัจจัย จิตก็เกิดไม่ได้ เช่น เมื่อเสียงไม่เกิดขึ้นกระทบหู จิตได้ยินก็เกิดขึ้นไม่ได้ เมื่อกลิ่นไม่เกิดขึ้นกระทบจมูก จิตรู้กลิ่นก็เกิดไม่ได้ จิตแต่ละประเภทจะเกิดขึ้นได้ ก็เพราะมีปัจจัยที่ทำให้เกิดจิตประเภทนั้นๆ ฉะนั้น จิตที่เกิดขึ้นจึงต่างกันเป็น 89 ประเภท หรือ 121 ประเภท โดยพิเศษ (ซึ่งเรียกว่า 89 ดวงหรือ 121 ดวง) และปัจจัยที่ทำให้เกิดจิตประเภทหนึ่งๆ นั้นก็ไม่ใช่เพียงปัจจัยเดียว แต่ต้องมีหลายปัจจัย เช่น จิตเห็นเกิดขึ้นเพราะมีปัจจัย คือตาซึ่งได้แก่ จักขุปสาท และรูป คือสิ่งที่ปรากฏทางตา เป็นต้น

จิตเป็นปรมัตถธรรมที่ไม่ใช่รูป ปรมัตถธรรมใดไม่ใช่รูป ปรมัตถธรรมนั้นเป็นนามธรรม จิต เจตสิก นิพพานเป็นนามธรรม รูปเป็นรูปธรรม [ธรรมสังคณีปกรณ์ นิกเขปกัณฑ์ ข้อ 844]

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย