ศาสนา ลัทธิ ความเชื่อ นิกาย พิธีกรรม >>

ปรมัตถธรรม

จิตปรมัตถ์
เจตสิกปรมัตถ์
รูปปรมัตถ์
นิพพานปรมัตถ์
สงเคราะห์ปรมัตถธรรม 4
สังขารทั้งปวงไม่เที่ยง
สังขารทั้งปวงเป็นทุกข์
ธรรมทั้งปวงเป็นอนัตตา
ขันธ์ 5

เจตสิกปรมัตถ์

ในขณะที่จิตเกิดขึ้นรู้อารมณ์นั้น มีนามปรมัตถ์อีกประเภทหนึ่งเกิดร่วมกับจิต และรู้อารมณ์เดียวกับจิต นามปรมัตถ์นั้นคือเจตสิก เจตสิกได้แก่ ความโกรธ ความรัก ความสุข ความทุกข์ ความตระหนี่ ความริษยา ความเมตตา ความกรุณา เป็นต้น สภาพธรรมเหล่านี้เป็นเจตสิกปรมัตถ์ ไม่ใช่จิตปรมัตถ์

ความโกรธ ความรัก ความสุข ความทุกข์ เป็นต้นนั้น เป็นสภาพธรรมที่มีจริง ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล เป็นสภาพธรรมที่ต้องเกิดกับจิต ถ้าไม่มีจิต เจตสิกคือ ความโกรธ ความรัก ความทุกข์ เป็นต้นนั้น ก็เกิดไม่ได้ เจตสิกปรมัตถ์มี 52 ประเภทหรือเรียกว่า 52 ดวง เช่น ความโกรธ (โทสะ) ก็เป็นเจตสิกชนิดหนึ่ง มีลักษณะหยาบกระด้างดุร้าย ความรักก็เป็นเจตสิกชนิดหนึ่ง คือ โลภเจตสิก มีลักษณะยึดติด ไม่สละและปรารถนาอารมณ์ จะเห็นได้ว่า เจตสิกแต่ละประเภทเป็นสภาพธรรมแต่ละอย่าง ไม่ใช่สภาพธรรมอย่างเดียวกัน นอกจากมีลักษณะต่างกัน กิจของเจตสิกแต่ละอย่างก็ต่างกัน ผลคืออาการที่ปรากฏก็ต่างกัน และเหตุปัจจัยที่ทำให้เกิดเจตสิกแต่ละประเภทก็ต่างกัน

จิตปรมัตถ์และเจตสิกปรมัตถ์ เป็นนามธรรมที่รู้อารมณ์และเกิดร่วมกัน เจตสิกเกิดพร้อมกับจิต ดับพร้อมกับจิต รู้อารมณ์เดียวกับจิต และเกิดที่เดียวกับจิต คือ จิตเกิดดับที่ไหน เจตสิกก็เกิดดับที่นั่น จิตปรมัตถ์และเจตสิกปรมัตถ์นั้นไม่แยกกัน คือไม่เกิดดับแต่เพียงปรมัตถ์เดียว จิตเป็นใหญ่ เป็นประธานในการรู้อารมณ์ ส่วนเจตสิกต่างๆ ที่เกิดร่วมกับจิต ก็รู้อารมณ์เดียวกับจิต แต่มีลักษณะและหน้าที่ในการรู้อารมณ์นั้นต่างกันไปตามลักษณะ และกิจการงานของเจตสิกแต่ละประเภท เพราะเหตุที่จิตแต่ละดวงที่เกิดขึ้นนั้น มีเจตสิกเกิดขึ้นร่วมด้วยมากน้อยต่างๆ กัน และเป็นเจตสิกต่างประเภทกัน จึงทำให้จิตต่างกันเป็น 89 หรือ 121 ประเภท โดยพิเศษ จิตแต่ละประเภทนั้นไม่เหมือนกัน โดยรู้อารมณ์ต่างกันบ้าง โดยทำกิจต่างกันบ้าง โดยเจตสิกที่เกิดร่วมด้วยต่างกันบ้าง เช่น จิตบางดวงมีสิ่งที่ปรากฏทางตาเป็นอารมณ์ จิตบางดวงมีเสียงเป็นอารมณ์ จิตบางดวงทำกิจเห็น จิตบางดวงทำกิจได้ยิน เป็นต้น จิตบางดวงมีโลภเจตสิกเกิดร่วมด้วย จิตบางดวงมีโทสเจตสิกเกิดร่วมด้วย ดังนี้เป็นต้น

 

เมื่อเวไนยสัตว์ฟังพระอภิธรรม ก็พิจารณาสภาพปรมัตถธรรมที่ปรากฏ ด้วยปัญญาที่ได้อบรมสะสมมาแล้วในอดีต จึงรู้ความจริงของปรมัตถธรรมในขณะนั้นได้ ด้วยเหตุนี้ในครั้งพุทธกาล เมื่อพระบรมศาสดาทรงแสดงธรรมจบลง จึงมีผู้บรรลุมรรคผลนิพพานเป็นจำนวนมาก เพราะท่านเหล่านั้นฟังพระธรรมเข้าใจ และพิจารณารู้ความจริงของสภาพปรมัตถธรรม ที่กำลังปรากฏในขณะนั้น เช่น เมื่อพระองค์ทรงเทศนาว่า จักขุวิญญาณ คือจิตที่ทำกิจเห็นนั้นไม่เที่ยง ท่านเหล่านั้นก็มีสติสัมปชัญญะ รู้สภาพลักษณะของจิตในขณะที่กำลังเห็นนั้นได้ถูกต้อง ว่าเป็นสภาพธรรมที่เป็นนามธรรม ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ในขณะที่กำลังได้ยิน ท่านเหล่านั้นก็มีสติสัมปชัญญะรู้ลักษณะของสภาพธรรมในขณะที่กำลังได้ยินนั้น เมื่อปัญญารู้แจ้งลักษณะไม่เที่ยง เกิดดับ เป็นทุกข์ ของปรมัตถธรรมที่ปรากฏในขณะนั้น แล้วก็ละคลายความยินดีเห็นผิด ที่ยึดถือปรมัตถธรรมเหล่านั้นเป็นตัวตน เที่ยง และเป็นสุข ฉะนั้น พึงเข้าใจให้ถูกต้องว่า พระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงตรัสรู้ และทรงเทศนาสั่งสอน ซึ่งได้รวบรวมบันทึกไว้เป็นพระไตรปิฎกนั้น เป็นเรื่องความจริงของสภาพธรรมทั้งปวง เมื่อศึกษาและเข้าใจปรมัตถธรรมแล้ว ก็ควรพิจารณาปรมัตถธรรมที่กำลังปรากฏ เพื่อรู้แจ้งลักษณะความจริงของ ปรมัตถธรรมที่กำลังปรากฏนั้น จึงจะละความสงสัยและความไม่รู้ ในสภาพลักษณะของปรมัตถธรรมได้อย่างแท้จริง

การศึกษาเพื่อให้เข้าใจปรมัตถธรรมนั้น จะต้องพิจารณาถึงเหตุผลจึงจะเข้าใจได้แจ่มแจ้ง เช่น จะต้องรู้ว่าสภาพที่เห็นกับสภาพที่ได้ยินนั้นเหมือนกันหรือไม่ ถ้าเหมือนกัน เหมือนกันอย่างไร ถ้าไม่เหมือน ไม่เหมือนกันอย่างไร สภาพเห็นและสภาพได้ยินเป็นจิตปรมัตถ์ก็จริง แต่ไม่ใช่จิตเดียวกัน เพราะเหตุปัจจัยที่ทำให้เกิดต่างกัน จิตเห็นนั้นต้องอาศัยสิ่งที่ปรากฏทางตากระทบกับจักขุปสาทเป็นปัจจัยจึงจะเกิดได้ ส่วนจิตได้ยินต้องอาศัยเสียงกระทบกับโสตปสาทเป็นปัจจัยจึงจะเกิดได้ จิตเห็นและจิตได้ยินมีกิจต่างกันและเกิดจากปัจจัยต่างกัน

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย