ศาสนา ลัทธิ ความเชื่อ นิกาย พิธีกรรม >>
จิตปรมัตถ์
เจตสิกปรมัตถ์
รูปปรมัตถ์
นิพพานปรมัตถ์
สงเคราะห์ปรมัตถธรรม 4
สังขารทั้งปวงไม่เที่ยง
สังขารทั้งปวงเป็นทุกข์
ธรรมทั้งปวงเป็นอนัตตา
ขันธ์ 5
นิพพานปรมัตถ์
ปรมัตถธรรมอีกประเภทหนึ่ง คือ นิพพานปรมัตถ์ พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกว่า นิพพาน
เพราะออกจากตัณหาคือวานะ [อรรถกถา ขุททกนิกาย ธาตุสูตร ข้อ 222]
นิพพานปรมัตถ์เป็นสภาพธรรมที่ดับทุกข์ จิต เจตสิก รูป
เป็นทุกข์เพราะไม่เที่ยง เกิดขึ้นแล้วดับไป การที่จะดับทุกข์ได้นั้นจะต้องดับตัณหา
เพราะตัณหาเป็นสมุทัย เป็นเหตุให้เกิดทุกข์ เป็นสมุทัยให้เกิดขันธ์ ซึ่งได้แก่ จิต
เจตสิก รูป การที่จะดับตัณหาได้นั้นก็ด้วยการอบรมเจริญปัญญา
จนรู้แจ้งชัดในลักษณะเกิดดับของจิต เจตสิก รูป
แล้วละคลายความยินดียึดมั่นเห็นผิดในจิต เจตสิก รูป ได้ด้วย
การรู้แจ้งนิพพานซึ่งเป็นสภาพธรรมที่ดับตัณหา ดับทุกข์ ดับขันธ์
นิพพานจึงเป็นธรรมที่มีจริง เป็นปรมัตถธรรม เป็นสภาพธรรมที่รู้แจ้งได้
นิพพานปรมัตถ์ โดยปริยายแห่งเหตุมี 2 อย่าง [ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ
ธาตุสูตร ข้อ 222 และอรรถกถา] คือ
สอุปาทิเสสนิพพานธาตุ 1
อนุปาทิเสสนิพพานธาตุ 1
คำว่าอุปาทินี้
เป็นชื่อของขันธ์ 5 คือ จิต เจตสิก รูป สอุปาทิเสสนิพพาน
คือความสิ้นไปของกิเลสทั้งหมด แต่ยังมีขันธ์เกิดดับสืบต่ออยู่ อนุปาทิเสสนิพพาน
คือการดับขันธ์ทั้งหมด เป็นการปรินิพพานของพระอรหันต์
คำว่าโดยปริยายแห่งเหตุ คือ การอ้างถึงมีขันธ์เหลือ และไม่มีขันธ์เหลือ
ซึ่งเป็นเหตุในการบัญญัตินิพพาน 2
เมื่อพระผู้มีพระภาคทรงตรัสรู้ใต้ร่มพระศรีมหาโพธิ์
พระองค์ทรงบรรลุสอุปาทิเสสนิพพานธาตุ กิเลสและธรรม (ซึ่งได้แก่จิตและเจตสิกอื่นๆ)
ที่เกิดร่วมกับกิเลสนั้นดับหมดสิ้น และไม่เกิดอีกเลย แต่ยังมีขันธ์ คือ จิต เจตสิก
(ที่ปราศจากกิเลส) และรูปเกิดดับสืบต่ออยู่ พระผู้มีพระภาคตรัสกะภิกษุทั้งหลายว่า
"ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็สอุปาทิเสสนิพพานเป็นไฉน
ภิกษุในธรรมวินัยนี้เป็นพระอรหันตขีณาสพ อยู่จบพรหมจรรย์ ทำกิจที่ควรทำเสร็จแล้ว
ปลงภาระลงได้แล้ว มีประโยชน์ของตนอันบรรลุแล้ว มีสังโยชน์ในภพสิ้นรอบแล้ว
หลุดพ้นแล้ว เพราะรู้โดยชอบ ภิกษุนั้นย่อมเสวยอารมณ์ทั้งที่พึงใจและไม่พึงใจ
ยังเสวยสุขและทุกข์อยู่เพราะความที่อินทรีย์ 5 เหล่าใดเป็นธรรมชาติไม่บุบสลาย
อินทรีย์ 5 เหล่านั้นของเธอยังตั้งอยู่นั่นเทียว ดูกรภิกษุทั้งหลาย
ความสิ้นไปแห่งราคะความสิ้นไปแห่งโทสะ ความสิ้นไปแห่งโมหะของภิกษุนั้น
นี้เราเรียกว่า สอุปาทิเสสนิพพานธาตุ"
[ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ ธาตุสูตร ข้อ 222 และอรรถกถา]
อนุปาทิเสสนิพพาน คือ นิพพานที่ไม่มีขันธ์เหลือ
เมื่อพระผู้มีพระภาคทรงดับขันธปรินิพพานระหว่างไม้สาละคู่ เป็นอนุปาทิเสสนิพพาน
[ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค ปาสาทิกสูตร ข้อ 120] ดับขันธ์หมดสิ้นโดยรอบ
ดับสนิทซึ่งภพทั้งหลายโดยประการทั้งปวง ดับจิต เจตสิก รูป ทั้งหมด
ไม่มีการเกิดอีกเลย
พระโสดาบัน พระสกทาคามี พระอนาคามี เป็นพระเสกขบุคคล
เพราะยังต้องศึกษาเจริญธรรมยิ่งๆ ขึ้นเพื่อดับกิเลสที่เหลืออยู่ให้หมดไป
ส่วนพระอรหันต์เป็นพระอเสกขบุคคล เพราะดับกิเลสทั้งหมดเป็นสมุจเฉทได้แล้ว
ไม่ต้องศึกษาเพื่อดับกิเลสอีก [ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส อชิตมานวกปัญหานิทเทส ข้อ 92]
นิพพานปรมัตถ์ ว่าโดยความแตกต่างแห่งอาการ มี 3 อย่าง คือ
สุญญตะ 1
อนิมิตตะ 1
อัปปณิหิตะ 1
พระนิพพาน ชื่อว่า
สุญญตะ เพราะเป็นสภาพสูญจากสังขาร ทั้งปวง ชื่อว่า อนิมิตตะ
เพราะไม่มีนิมิตคือสังขารทั้งปวงชื่อว่า อัปปณิหิตะ
เพราะไม่มีที่ตั้งคือสังขารทั้งปวง
เมื่อบุคคลมนสิการสภาพธรรมโดยเป็นสภาพไม่เที่ยง ย่อมหลุดพ้นไป
(คือรู้แจ้งอริยสัจจธรรม) ด้วยอนิมิตตวิโมกข์ เมื่อมนสิการโดยสภาพเป็นทุกข์
ย่อมหลุดพ้นไปด้วยอัปปณิหิตวิโมกข์ เมื่อมนสิการโดยสภาพเป็นอนัตตา
ย่อมหลุดพ้นไปด้วยสุญญตวิโมกข์
วิโมกข์ 3 ย่อมมีในขณะต่างกันด้วยอาการ 4 [ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามัคค์
วิโมกขกถา ข้อ 509] คือ
- ด้วยความเป็นใหญ่ บุคคลเมื่อมนสิการโดยความเป็นสภาพไม่เที่ยง
อนิมิตตวิโมกข์ย่อมเป็นใหญ่ เมื่อมนสิการโดยความเป็นทุกข์
อัปปณิหิตวิโมกข์ย่อมเป็นใหญ่ เมื่อมนสิการโดยความเป็นอนัตตา
สุญญตวิโมกข์ย่อมเป็นใหญ่
- ด้วยความตั้งมั่น บุคคลเมื่อมนสิการโดยความเป็นสภาพไม่เที่ยง
ย่อมตั้งจิตไว้มั่นด้วยสามารถแห่งอนิมิตตวิโมกข์ เมื่อมนสิการโดยความเป็นทุกข์
ย่อมตั้งจิตไว้มั่นด้วยสามารถแห่งอัปปณิหิตวิโมกข์
เมื่อมนสิการโดยความเป็นอนัตตา ย่อมตั้งจิตไว้มั่นด้วยสามารถแห่งสุญญตวิโมกข์
- ด้วยความน้อมจิตไป บุคคลเมื่อมนสิการโดนความเป็นสภาพไม่เที่ยง
ย่อมน้อมจิตไปด้วยสามารถแห่งอนิมิตวิโมกข์ เมื่อมนสิการโดยความเป็นทุกข์
ย่อมน้อมจิตไปด้วยสามารถแห่งอัปปณิหิตวิโมข์ เมื่อมนสิการโดยความเป็นอนัตตา
ย่อมน้อมจิตไปด้วยสามารถแห่งสุญญตวิโมกข์
- ด้วยความนำออกไปบุคคลเมื่อมนสิการโดยความเป็นสภาพไม่เที่ยง ย่อมนำจิตออกไปสู่นิพพานอันเป็นที่ดับ ด้วยสามารถแห่งอนิมิตตวิโมกข์ เมื่อมนสิการโดยความเป็นทุกข์ ย่อมนำจิตออกไปสู่นิพพานอันเป็นที่ดับ ด้วยสามารถแห่งอัปณิหิตวิโมกข์ เมื่อมนสิการโดยความเป็นอนัตตา ย่อมนำจิตออกไปสู่นิพพานอันเป็นที่ดับ ด้วยสามารถแห่งสุญญตวิโมกข์