ศาสนา ลัทธิ ความเชื่อ นิกาย พิธีกรรม
» พระสูตร
พระไตรปิฎกฉบับประชาชน
พระวินัยเล่มที่ ๑
ชื่อมหาวิภังค์ (เป็นวินัยปิฎก)
ทุติยปาราชิกกัณฑ์
(ว่าด้วยปาราชิกสิกขาบทที่ ๒)
เริ่มเรื่องเล่าว่า พระผู้มีพระภาคประทับ ณ เขาคิชฌกูฏ ใกล้กรุงราชคฤห์.
ครั้งนั้น ภิกษุหลายรูปที่เป็นมิตรสหายกัน ได้ทำกุฏีหญ้า จำพรรษาอยู่ ณ ที่นั้นด้วย.
ภิกษุอื่น ๆ เมื่ออกพรรษาก็รื้อกุฎีหญ้า เก็บหญ้า เก็บไม้ แล้วจาริกไปสู่ชนบท. ส่วนพระธนิยะคงอยู่ในที่นั้นไม่ไปไหนตลอด ๓ ฤดู ขณะที่เข้าไปบิณฑบาตยังหมู่บ้าน พวกคนเก็บหญ้า เก็บไม้ มารื้อกุฎี นำหญ้าและไม้ไป ท่านต้องทำใหม่ แต่พวกนั้นก็มารือ ขโมยหญ้าและไม้ไปอีกถึง ๓ ครั้ง ท่านพระธนิยะจึงคิดสร้างกุฎีดิน เพราะเป็นผู้ชำนาญในการผสมดินปั้นหม้อมาก่อน เมื่อตกลงใจดั่งนั้น จึงเอาดินเหลวมาขยำ แล้วทำเป็นกุฎีดินล้วน เอาหญ้าไม้และมูลโคมาสุมกุฎีที่ทำไว้แล้ว ให้เป็นกีฎีดินเผา สวยงามมีสีแดงดังตัวแมลงเต่าทอง.
กิตติศัพท์ของกุฎีนี้ที่ว่าสวยงาม แพร่ไป พระพุทธเจ้าทรงทราบ ตรัสสั่งให้ทุบทำลายเสีย เพื่อมิให้ภุกษุรุ่นหลังเอาอย่าง เพราะ (การขุดดินเอามาทำกุฎี) อาจทำสัตว์ให้ตายได้ แล้วทรงบัญญัติสิกขาบทห้ามทำกุฎีดินล้วน ปรับอาบัติทุกกฏแก่ผู้ล่วงละเมิด.
ท่านพระธนิยะไม่ยุติเพียงเท่านั้น เข้าไปหาคนเฝ้าโรงเก็บไม้ของหลวง เล่าความให้ฟังถึงเรื่องที่คนรื้อกุฎีหญ้า ขโมยหญ้า และไม้ไปถึง ๓ ครั้ง ท่านจึงคิดทำกุฎีดินเผา ก็ถูกสั่งให้ทำลายเสีย จึงมาขอไม้จากคนเฝ้าโรงเก็บไม้ของหลวง. คนเฝ้าปฏิเสธว่า ตนไม่มีไม้ที่จะให้ มีแต่ไม้ที่เป็นของพระราชาหวงแหน เพื่อใช้ซ่อมพระนคร เก็บไว้ในคราวมีอันตราย.
ถ้าพระราชาพระราชทานก็นำไปได้. พระธนิยะตอบว่า พระราชาพระราชทานแล้ว. คนเฝ้าโรงไม้เชื่อว่าเป็นพระคงไม่พูดปด จึงอนุญาตให้นำไป.
ท่านพระธนิยะก็นำไม้มาตัดเป็นท่อนเล็กท่อนน้อยใส่เกวียนขนไปทำกุฎีไม้.
เมื่อวัสสการพราหมณ์ อำมาตย์ผู้ใหญ่ มาตรวจ พบว่าไม้หายไป จึงไต่สวน แล้วนำความกราบทูลพระเจ้าพิมพิสาร มีรับสั่งให้นำตัวคนเฝ้าโรงไม้เข้าไปเฝ้า เขาจึงถูกมัดนำตัวไป.
ท่านพระธนิยะเห็นคนเฝ้าไม้ถูกมัดนำตัวไป จึงสอบถามได้ความแล้ว ก็ตามไปด้วย. พระเจ้าพิมพิสารถวายนมัสการท่านพระธนิยะ แล้วตรัสถามว่า เป็นความจริงหรือที่ว่า พระองค์ถวายไม้นั้น.
ท่านพระธนิยะตอบว่า เป็นความจริง. พระเจ้าพิมพิสารตรัสว่า พระองค์เป็นพระราชา มีกิจธุระมาก ถวายไปแล้ว อาจนึกไม่ออกก็ได้ ถ้าท่านพระธนิยะนึกออก ก็ขอให้ชี้แจงมา.
ท่านพระธนิยะทูลถามว่า ทรงระลึกได้หรือไม่ ที่ทรงเปล่งวาจาในวันอภิเษกเสวยราชย์ว่า หญ้า ไม้ และน้ำ เป็นอันข้าพเจ้าถวายแก่สมณพราหมณ์ทั้งหลาย ขอจงใช้สอยเถิด.
ตรัสตอบว่า ทรงระลึกได้ แต่ที่ตรัสอย่างนั้น ทรงหมายสำหรับสมณพราหมณ์ผู้มีความละอาย ผู้มีความรังเกียจ ใคร่ต่อการศึกษา ผู้เกิดความรังเกียจ แม้ในความชั่วเพียงเล็กน้อย และทรงหมายถึงสิ่งของที่ไม่มีใครหวงแหนในป่า. ท่านถือเอาไม้ที่มิได้ให้ด้วยเลสนี้ คนอย่างพระองค์จะพึงฆ่า จองจำ หรือเนรเทศสมณะหรือพราหมณ์ได้อย่างไร ท่านจงไปเถิด ท่านพ้นเพราะเพศ (บรรพชิต) ต่อไปอย่าทำอย่างนี้อีก.
มนุษย์ทั้งหลายพากันติเตียนด้วยประการต่าง ๆ ความทราบถึงพระผู้มีพระภาค จึงทรงเรียกประชุมสงฆ์ ทรงไต่สวน เมื่อท่านพระธนิยะรับเป็นสัตย์แล้ว จึงทรงถามภิกษุผู้เคยเป็นมหาอำมาตย์ผู้พิพากษา ซึ่งเข้ามาบวชว่า พระเจ้าพิมพิสารทรงจับโจรได้ ทรงประหารชีวิต จองจำหรือเนรเทศ ด้วยกำหนดทรัพย์เท่าไร ก็ได้รับคำตอบว่า บาทหนึ่ง หรือมีราคาเท่ากับบาทหนึ่ง หรือเกินกว่าบาทหนึ่ง.
ครั้งนั้น ในกรุงราชคฤห์ บาทหนึ่งเท่ากับ ๕ มาสก.
จึงทรงบัญญัติสิกขาบท มิให้ภิกษุถือเอาสิ่งของที่เจ้าของเขาไม่ให้ ผู้ใดทำเช่นนั้น ได้ราคาที่พระราชาจับโจรได้ประหารชีวิต จองจำ หรือเนรเทศ ต้องอาบัติปาราชิก.
อนุบัญญัติ (ข้อบัญญัติเพิ่มเติม)
สมัยนั้น ภิกษุฉัพพัคคีย์ (พวก ๖ คือเป็นพวกร่วมใจกัน ๖ รูป) ไปที่ลาน (ตากผ้า) ของช่างย้อมขโมยห่อผ้าของช่างย้อมนำมาแบ่งกัน ความทราบถึงภิกษุทั้งหลาย เธอแก้ตัวว่า นี่เธอไปลักในป่า ไม่ได้ลักในบ้าน สิกขาบทที่บัญญัติมุ่งหมายถึงลักในบ้าน (ความจริงในตัวสิกขาบท มิได้ระบุสถานที่) แต่เพื่อที่จะปิดมิให้ข้อโต้เถียงต่อไป พระผู้มีพระภาคจึงทรงบัญญัติเพิ่มเติมว่า ลักของจากบ้านก็ตาม จากป่าก็ตาม (ในเรื่องที่เกิดขึ้นนี้ ทรงตัดสินว่า ต้องอาบัติปาราชิก).
ต่อจากนั้น เป็นคำอธิบายสิกขาบททุกคำโดยละเอียด พร้อมทั้งเติมถ้อยคำที่กันข้อแก้ตัว เช่น คำว่า ของตั้งอยู่บนพื้น บนบก บนอากาศ (เช่น นก) บนเวหาส (เช่น ของแขวนไว้) ในน้ำ บนเรือ บนยาน บนเครือ่งแบก (เช่น ศีรษะ, สะเอว) ในอาราม ในวิหาร ในนา ในสวน ในบ้าน ในป่า เป็นต้น
ลักษณะที่ไม่ต้องอาบัติ มี ๘ ประการ คือ
๑. ภิกษุถือเอาด้วยเข้าใจว่าเป็นของตน (หยิบผิด)
๒. ถือเอาด้วยเข้าใจว่าคุ้นเคยกัน แม้เจ้าของรู้ก็คงไม่ว่า
๓. ถือเอาโดยเป็นของยืม
๔. ถือเอาของที่ผู้ล่วงลับไปแล้วหวงแหน (ไม่รับรองสิทธิของคนที่ตายไปแล้ว
เว้นแต่จะมีผู้รับมรดกต่อ)
๕. ถือเอาของที่สัตว์หวงแหน (เช่น เสือกัดเนื้อตาย ภิกษุถือเอามาบางส่วน
เพื่อเป็นอาหาร)
๖. ถือเอาด้วยบังสุกุลสัญญา คือเข้าใจว่าเป็นของเขาทิ้งแล้ว
๗. ภิกษุเป็นบ้า
๘. ภิกษุผู้เป็นต้นบัญญัติ.
วินีตวัตถุ (เรื่องที่ทรงวินิจฉัยชี้ขาด)
ต่อจากนั้น มีการแสดงตัวอย่างที่ภิกษุทำไปเกี่ยวกับสิกขาบทนี้ ในลักษณะต่าง ๆ กัน ประมาณ ๑๔๙ เรื่อง พระผู้มีพระภาคทรงวินิจฉัยไต่สวนแล้ว ทรงชี้ขาดว่าต้องอาบัติปาราชิกหรือไม่ ตามควรแก่กรณี.
เวรัญชกัณฑ์
ปฐมปาราชิกกัณฑ์
ทุติยปาราชิกกัณฑ์
ตติยปาราชิกกัณฑ์
จตุตถปาราชิกกัณฑ์
ภูตคามวรรค
อนิยตกัณฑ์
พระวินัยเล่มที่ ๑
พระวินัยเล่มที่ ๒
พระวินัยเล่มที่ ๓
พระวินัยเล่มที่ ๔
พระวินัยเล่มที่ ๕
พระวินัยเล่มที่ ๖
พระวินัยเล่มที่ ๗
พระวินัยเล่มที่ ๘