ศาสนา ลัทธิ ความเชื่อ นิกาย พิธีกรรม

หอพระไตร

» พระวินัยปิฎก

» พระสุตตันตปิฎก

» พระอภิธรรมปิฎก

» พระสูตร

พระไตรปิฎกฉบับประชาชน

พระวินัยเล่มที่ ๑

ชื่อมหาวิภังค์ (เป็นวินัยปิฎก)

ตติยปาราชิกกัณฑ์

(ว่าด้วยปาราชิกสิกขาบทที่ ๓)

เริ่มเรื่องเล่าว่า พระผู้มีพระภาคประทับ ณ เรือนยอด ป่ามหาวัน ใกล้กรุงเวสาลี พระองค์ได้ทรงแสดงอสุภกถา คือถ้อยคำปรารภสิ่งที่ไม่สวยงาม สรรเสริญคุณแห่งอสุภะ และคุณแห่งการเจริญอสุภะ คือ การพิจารณาเห็นร่างกายโดยความเป็นของไม่งาม กับทั้งคุณแห่งอสุภสมาบัติ (การเข้าฌานมีอสุภะเป็นอารมณ์) โดยปริยายเป็นอันมาก.

ครั้นแล้วตรัสว่า ทรงพระประสงค์จะหลีกเร้นอยู่ตามลำพังพระองค์ตลอดกึ่งเดือน ใคร ๆ ไม่พึงเข้าไปเฝ้า เว้นแต่ภิกษุผู้นำอาหารเข้าไปเพียงรูปเดียว.

ภิกษุทั้งหลายปฏิบัติอสุภภาวนา (การเจริญอสุภกัมมัฏฐาน คือการพิจารณาร่างกายโดยความเป็นของไม่งาม) ก็เกิดเบื่อหน่าย รังเกียจด้วยกายของตน เหมือนชายหนุ่มหญิงสาวที่ชอบการประดับตกแต่ง อาบน้ำ ดำเกล้าแล้ว รังเกียจซากศพงู ซากศพสุนัข ซากศพมนุษย์ อันคล้องอยู่ที่คอฉะนั้น เมื่อเบื่อหน่ายรังเกียจด้วยกายของตนอย่างนี้ ก็ฆ่าตัวตายบ้าง ฆ่ากันแลกันบ้าง เข้าไปหานายมิคลัณฑิกะ ผู้แต่งตัวเหมือนสมณะ จ้างด้วยบาตรจีวรให้ฆ่าบ้าง โดยนัยนี้ นายมิคลัณฑิกะก็รับจ้างฆ่าภิกษุทั้งหลายวันละหนึ่งรูปบ้าง สองรูป สามรูป สี่รูป ห้ารูป จนถึงหกสิบรูปบ้าง.

เมื่อครบถึงเดือนแล้ว เสด็จกลับจากที่เร้น ทรงทราบเรื่องนั้น จึงทรงเรียกประชุมสงฆ์ ทรงสั่งสอน อานาปานสติสมาธิ (คือการทำใจให้ตั้งมั่นโดยกำหนดกำหนดลมหายใจเข้าออก) โดยปริยายต่าง ๆ แล้วทรงปรารภเรื่องภิกษุฆ่าตัวตาย ฆ่ากันและกัน รวมทั้งจ้างผู้อื่นให้ฆ่าตน ทรงติเตียน แล้วบัญญัติสิกขาบท ห้ามมิให้ภิกษุฆ่ามนุษย์หรือใช้ให้คนอื่นฆ่า ทรงปรับอาบัติปาราชิกแก่ผู้ล่วงละเมิด.

อนุบัญญัติ (ข้อบัญญัติเพิ่มเติม)

สมัยนั้น อุบาสกคนหนึ่งไม่สบาย ภิกษุฉัพพัคคียื (มีพวก ๖) เกิดพอใจในภริยาของอุบาสกนั้น จึงพูดพรรณนาคุณแห่งความตาย อุบาสกนั้นเชื่อ ก็ตั้งหน้ารับประทานแต่ของแสลง เป็นเหตุให้โรคกำเริบและตายด้วยโรคนั้น. ภริยาของอุบาสกจึงติเตียน ยกโทษภิกษุฉัพพัคคีย์เหล่านั้น ความทราบถึงพระพุทธเจ้า ทรงเรียกประชุมสงฆ์ ไต่สวน ได้ความเป็นสัตย์แล้ว จึงทรงติเตียน และทรงบัญญัติเพิ่มเติม ห้ามการพรรณนาคุณของความตาย หรือชักชวนเพื่อให้ตาย ว่าผู้ใดละเมิด ต้องอาบัติปาราชิกด้วย.

ต่อจากนั้น เป็นคำอธิบายในคำบัญญัติสิกขาบทโดยละเอียด และมีข้อความแสดงเรื่องอนาบัติ (การไม่ต้องอาบัติ) ว่ามี ๖ ประเภท คือ

๑. ภิกษุไม่รู้ (เช่น ทำของตกทับคนตายโดยไม่มีเจตนาฆ่า)
๒. ไม่ประสงค์จะให้ตาย
๓. ภิกษุเป็นบ้า
๔. ภิกษุมีจิตฟุ้งซ่าน (เป็นบ้าไปชั่วขณะ)
๕. ภิกษุผู้กระสับกระส่ายเพราะเวทนากล้า (ไม่รู้สึกตัว)
๖. ภิกษุผู้เป็นต้นบัญญัติ.

วินีตวัตถุ (เรื่องที่ทรงวินิจฉัยชี้ขาด)

มีเรื่องต่าง ๆ เกิดขึ้น ประมาณ ๑๐๐ เรื่อง เกี่ยวกับการกระทำของภิกษุที่มีปัญหาว่าจะต้องอาบัติปาราชิกเพราะสิกขาบทนี้หรือไม่ พระผู้มีพระภาคได้ทรงไต่สวน และทรงชี้ขาดว่า ต้องอาบัติบ้าง ไม่ต้องอาบัติบ้าง ตามควรแก่กรณี. เฉพาะเรื่องสุดท้ายเกี่ยวกับการกระทำของนางภิกษุณี.

<< ย้อนกลับ  ||  หน้าถัดไป  >>

เวรัญชกัณฑ์
ปฐมปาราชิกกัณฑ์
ทุติยปาราชิกกัณฑ์
ตติยปาราชิกกัณฑ์
จตุตถปาราชิกกัณฑ์
ภูตคามวรรค
อนิยตกัณฑ์


พระวินัยเล่มที่ ๑
พระวินัยเล่มที่ ๒
พระวินัยเล่มที่ ๓
พระวินัยเล่มที่ ๔
พระวินัยเล่มที่ ๕
พระวินัยเล่มที่ ๖
พระวินัยเล่มที่ ๗
พระวินัยเล่มที่ ๘

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย